ศาลปกครองพิจารณาคดี "สลายม็อบท่อก๊าซ" ตุลาการฯ ยัน ตร.ใช้อำนาจละเมิดเสรีภาพการชุมนุม

 

คดีสลายการชุมนุมค้านท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ปี 49 ตุลาการแถลงเห็นยืนตามศาลปกครองสงขลาให้ สตช.ชดเชยผู้เสียหายรายละหมื่น ชี้การชุมนุมสงบอยู่ในกรอบ รธน.ด้ามธงเป็นอาวุธตามสภาพ ชาวบ้านไม่มีเจตนาพกพาเพื่อก่อเหตุ
 
 
 
วันนี้ (13 ก.ย.54) ที่สำนักงานศาลปกครอง มีการพิจารณาคดีนัดแรก ในคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการละเมิดเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ กรณีสลายการชุมนุมท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองสงขลาต่อศาลปกครองสูงสุด ในประเด็นว่าศาลปกครองสงขลาพิพากษาเกินกว่าคำร้องที่รับฟ้อง และการปราบปรามเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการชุมนุมเป็นการชุมนุมโดยมิชอบ
 
สืบเนื่องจาก ศาลปกครองสงขลาได้มีคำพิพากษา (คดีหมายเลขแดงที่ 51/2549) เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2549 ให้ สตช.ต้องชำระเงินแก่ชาวบ้านรายละ 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในคดีที่นายเจะเด็น อนันทบริพงศ์ กับพวกรวม 25 คน ซึ่งเป็นชาวบ้าน ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ยื่นฟ้อง สตช., จังหวัดสงขลา และกระทรวงมหาดไทย เรื่องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกระทำละเมิดจากการใช้อำนาจ เข้าสลายกลุ่มชาวบ้านที่มาชุมนุมคัดค้านโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซ และโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย ในวันที่ 20 - 21 ธ.ค.45 ให้ สตช.ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี 
 
นายชาญชัย แสวงศักดิ์ หัวหน้าคณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด และองค์คณะรวม 5 คน ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดี โดยเปิดโอกาสให้คู่ความสองฝ่ายแถลงเพิ่มเติมต่อศาล ซึ่งวันนี้ฝ่าย สตช.ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ไม่ส่งผู้แทนมาร่วมการพิจารณา ขณะที่ฝ่ายชาวบ้านมีนางสุไรด๊ะห์ โต๊ะหลี ผู้ร้องลำดับที่ 4 เป็นตัวแทนกล่าวคำแถลงด้วยวาจาต่อศาล ก่อนที่นายสมศักดิ์ ตัณฑเลขา ตุลาการผู้แถลงคดีจะแถลงความเห็นเกี่ยวกับสำนวนคดีให้องค์คณะรับทราบ ส่วนการนัดฟังคำพิพากษายังไม่มีการกำหนด แต่จะมีการแจ้งวันให้คู่ความทราบอีกครั้งหนึ่ง โดยให้ไปรับฟังคำพิพากษาที่ศาลปกครองสงขลา
 
หลังกระบวนการพิจารณา นายสุรชัย ตรงงาม ทนายความโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (ENLAW) ทนายความผู้ฟ้อง กล่าวว่า ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นให้ยืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสงขลาให้ สตช.ชดเชยแก่ผู้เสียหายทั้งสภาพร่างการและจิตใจรายละ 10,000 บาท โดยคำแถลงมีสาระสำคัญคือ คำพิพากษาของศาลปกครองสงขลาไม่เกินกว่าคำฟ้อง และการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดเสรีภาพการชุมนุม เนื่องจากการชุมนุมของชาวบ้านเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แม้จะมีการยึดอาวุธ เช่น หนังสติ๊ก ด้ามไม้ มีดสปาต้า แต่จำนวนน้อยเมื่อเทียบกับผู้มาชุมนุมจึงถือเป็นกรณีเฉพาะราย ส่วนกรณีการใช้ด้ามธงต่อสู้กับกระบองของตำรวจนั้น ถือเป็นอาวุธตามสภาพ ชาวบ้านไม่ได้มีเจตนาพกพาเพื่อก่อความรุนแรง 
 
“เราเชื่อมั่นว่าชาวบ้านทำในสิ่งที่ถูกต้อง การที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ในทางกฎหมาย เราเชื่อว่าชาวบ้านจะต้องได้รับความเป็นธรรม” นายสุรชัย กล่าวแสดงความเห็นต่อกรณีที่ความเห็นตุลาการผู้แถลงคดี ถือเป็นความเห็นตามกระบวนพิจารณาคดีปกครอง แต่ไม่ได้ผูกพันองค์คณะในการพิพากษาคดี ซึ่งอาจทำให้ผลการพิพากษาแตกต่างออกไป 
 
นายสุรชัย กล่าวด้วยว่า การพิจารณาคดีครั้งนี้ถือเป็นการวางแนวทางที่สำคัญในเรื่องการชุมนุมในที่สาธารณะ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีคดีที่พูดถึงประเด็นการใช้อำนาจตามกฎหมายในการสลายการชุมนุมที่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ โดยการพิจารณาคดีทำให้เห็นว่าการชุมนุมโดยสงบภายใต้กรอบสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร และเจ้าหน้าที่รัฐควรดำเนินการอย่างไรเมื่อเกิดการชุมนุมประท้วง 
 
ขณะที่ นางสุไรด๊ะห์กล่าวว่า แม้คดียังไม่ชัดเจน แต่การพิจารณาของตุลาการวันนี้เป็นเรื่องดี เพราะตุลาการเห็นด้วยว่าตำรวจทำเกินกว่าเหตุ ใช้ความรุนแรงในการเข้าสลายการชุมนุมโดยสงบของชาวบ้าน ซึ่งเป็นการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ ตามหลักศาสนา 
 
นางสุไรด๊ะห์ เล่าว่า วันนั้นชาวบ้านไม่มีอาวุธ ชาวบ้านไม่ได้ไปรบ เพียงแต่ต้องการเข้ายื่นหนังสือต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่เดินทางไปที่โรงแรมเจบี.หาดใหญ่ จึงอยากไปพบเพื่อคัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย – มาเลเซีย นอกจากนั้นชาวบ้านยังมีหลักฐานเป็นเอกสารว่า เจ้าหน้าที่มีเจตนาต้องการที่จะสลายการชุมนุมอยู่แล้ว เพราะมีสมมติฐานก่อนหน้าว่าชาวบ้านจะใช้ความรุนแรง ถึงแม้จะชุมนุมโดยสงบยังไงก็ถูกสลาย  
 
นางสุไรด๊ะห์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านไม่เคยหยุดนิ่ง ในการเคลื่อนไหวต่อสู้ เพราะในพื้นที่มีโครงการพัฒนาอีกหลายโครงการที่จะเกิดขึ้น ทั้งแลนบริดจ์ สงขลา-สตูล ท่าเรือน้ำลึกปากบารา เขื่อน การขุดคลอง 7 สาย ฯลฯ ซึ่งเมื่อลองมาดูแล้วสิ่งที่มีมาให้นี้ไม่ใช่สิ่งที่ชาวบ้านได้รับประโยชน์ แต่เป็นผลกระทบพันเปอร์เซ็นต์ และจะนำความล่มสลายมาให้บ้านเกิด ดังนั้นเมื่อพ้นจากคดีนี้ไปแล้วชาวบ้านก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องต่อสู้อยู่ต่อไป
 
“เราอยากปกป้องบ้านเกิด ปกป้องทรัพยากรที่สืบทอดมาตั้งแต่ปู่ย่าตาทวด เอาไว้ให้ลูกหลาน” นางสุไรด๊ะห์กล่าว
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท