เปิดหลักฐานใหม่:ใบลานจารึกโดยผู้นำกบฎเชียงใหม่

ชาวบ้านหนองจ๊อม จ.เชียงใหม่ เปิดเผยระหว่างวงเสวนา "เล่าขานตำนานล้านนา" เผยหลักฐานใหม่ใบลานธรรมซึ่งเขียนโดยพญาปราบสงคราม ผู้นำกบฎพญาปราบสงคราม หรือกบฎเชียงใหม่ ต่อต้านการเก็บภาษีหมาก พลู เมื่อ พ.ศ. 2432 

 

วงเสวนา "เล่าขานตำนานล้านนา" ที่ลานหน้าวัดสันป่าสัก ต.หนองจ๊อม อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ เมื่อ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา

ธเนศวร์ เจริญเมือง

ใบลานธรรมหนึ่งในหลายฉบับที่ค้นพบที่วัดสันป่าสัก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ซึ่งท้ายใบลานจารึกว่าผู้เขียนคือพญาปราบสงคราม (ภาพนี้ได้รับการเอื้อเฟื้อจากกลุ่มนักข่าวพลเมืองเชียงใหม่)

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา ประชาคมหลายกลุ่มใน อ.สันทราย และอำเภอใกล้เคียงใน จ.เชียงใหม่ ร่วมกันจัดวงเสวนา "เล่าขานตำนานล้านนา" ที่ลานหน้าวัดสันป่าสัก ต.หนองจ๊อม อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ มีวิทยากรคือนายประสิทธิ์ เก่งกาจ นักวิชาการท้องถิ่น ผู้ปริวรรตอักษรล้านนา  และ ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยในงานดังกล่าวได้มีการเปิดเผยหลักฐานใหม่คือใบลานธรรม ซึ่งเขียนโดยพญาปราบสงคราม ผู้นำกบฎพญาปราบสงคราม หรือกบฎเชียงใหม่ พ.ศ. 2432

นายประสิทธิ์ เก่งกาจ กล่าวว่า จากการศึกษาใบลานที่รักษาอยู่ในวัดสันป่าสัก พบว่ามีใบลานนับสิบผูกที่ท้ายธรรมระบุว่าจารึกใบลานโดยหนานเตชะ หรือพญาปราบสงคราม

"อะหังนามะกร บอวรชื่นช้อย ตัวข้าน้อยชื่อว่านันทาภิกขุ ปางเมื่ออยู่วัดสันป่าสัก ยั้งไน พญาปราบแล" ประสิทธิ์อ่านตอนท้ายของใบลานเล่มหนึ่ง

ประสิทธิ์ตั้งข้อสังเกตว่า นอกจากจะระบุถึง "พญาปราบสงคราม" แล้วใบลานที่บันทึกในช่วงพญาปราบสงครามบวชอยู่ที่วัดสันป่าสัก จะจารึกว่านันทาภิกขุ เมื่อสึกแล้วจะระบว่าหนานเตชะ เมื่อรับตำแหน่งขุนนางยังมีการระบุว่า "ท้าวเตชะราชาโพธินาม"

โดยในใบลานบางเล่ม พญาปราบสงครามยังลงท้ายว่าเพื่อเป็นอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับญาติด้วย

ทั้งนี้ตามธรรมเนียมการจารึกใบลานในล้านนา ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา โดยผู้จารึกมักนิยมระบุว่าตนเป็นผู้จารึกใบลานไว้ในตอนท้ายบท

ด้าน ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำเสนอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในช่วงกบฎเชียงใหม่ พร้อมเสนอว่าในชุมชนน่าจะเริ่มกระบวนการแสวงหาความจริง ศึกษา และค้นคว้าประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แม้จะเริ่มศึกษาช้า แต่เชื่อว่าเอกสารเหล่านี้ถ้าอ่านดีๆ จะมีเรื่องสำคัญอยู่

ธเนศวร์ ยังเสนอด้วยว่า มีความจำเป็นต้องศึกษาเอกสารซึ่งรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติในกรุงเทพฯ โดยที่ใครที่มีลูกหลานต้องส่งเสริมให้ได้เรียนหนังสือจะได้มีโอกาสไปค้นคว้าที่หอหมายเหตุแห่งชาติ นอกจากนี้ยังเสนอให้ชุมชน รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการประชุมเพื่อตั้งคณะกรรมการพัฒนาชุมชนวัดสันป่าสักเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและเป็นแหล่งศึกษาทางประวัติศาสตร์ในเรื่องกบฎพญาปราบสงคราม

หนังสือประวัติศาสตร์ล้านนา ของสรัสวดี อ๋องสกุล ระบุว่ากบฎพญาปราบสงครามหรือกบฎเชียงใหม่ เกิดใน พ.ศ. 2432 เมื่อพระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์ ข้าหลวงห้าหัวเมือง รวมทั้งเมืองเชียงใหม่ ได้กำหนดให้เก็บอากรพืชสวนแบบกรุงเทพฯ คือให้เจ้าภาษีนายอากรออกเก็บปีละครั้ง แทนระบบเดิมที่กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ข้าหลวงห้าหัวเมืองก่อนหน้านี้ กำหนดให้เสียภาษีต่อเมื่อมีการซื้อขายเท่านั้น โดยการเก็บภาษีระบบใหม่ทำให้ชาวบ้านแถบสันทรายซึ่งปลูกหมาก พลู หาเงินมาชำระภาษีไม่ทัน และขอเสียภาษีเป็นผลผลิตตามระบบเก็บภาษีแบบดั้งเดิม แต่เจ้าภาษีไม่ยอมกลับจับกุมชาวบ้านใส่ขื่อมือขื่อเท้า ทำให้พญาปราบสงคราม ขุนนางท้องถิ่น และมีตำแหน่งเป็นแม่ทัพเมืองเชียงใหม่ ได้นำชาวบ้านต่อต้านการเก็บภาษีและลุกลามกลายเป็นกบฎ โดยหลังการกบฎมีผู้นำกบฎจำนวนมากถูกประหารชีวิต ส่วนพญาปราบสงครามได้หนีไปพึ่งเจ้าเมืองเชียงตุงและไม่ได้กลับมาเชียงใหม่อีก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท