Skip to main content
sharethis

18 ก.ย. 54 เวลา 13.00 น. กลุ่มนิติราษฎร์ แถลงเนื่องในโอกาส ครบรอบการก่อตั้ง “คณะนิติราษฎร์” 1 ปี เสนอ 4 ประเด็น แนวคิดลบล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยา, การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, กระบวนการยุติธรรมกับผู้ต้องหาหรือจำเลยและการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายภายหลังรัฐประหาร และการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กลุ่มคณาจารย์ คณะนิติราษฎร์ ได้จัดงานแถลงข้อเสนอทางวิชาการ เรื่อง “5 ปี รัฐประหาร 1 ปี นิติราษฎร์” เพื่อเป็นการรำลึกถึง 5 ปี เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และครบรอบ 1 ปี ของการก่อตั้งคณะนิติราษฎร์ โดยมี คณาจารย์ นักศึกษาสื่อมวลชน และประชาชน เข้าร่วมงาน ประมาณ 100 คน โดย รศ.ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หนึ่งในสมาชิกคณาจารย์คณะนิติราษฎร์ เป็นผู้อ่านแถลงการณ์ ( ตามรายละเอียดด้านล่าง ) อาจารย์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กล่าวว่า “ข้อเสนอนั้นต้องการแสดงให้เห็นว่า การคัดค้านรัฐประหารที่สมบูรณ์ ควรเป็นคัดค้านที่รุกกลับฝ่ายเผด็จการด้วย ไม่ใช่การพูดแค่ลมปาก ทางกลุ่มนิติราษฎร์จึงเสนอให้ป้องการการัฐประหารและวางรากฐานประชาธิปไตยใหม่นั่น คือ ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2550 ซึ่งเป็นผลพวงและมรดกตกทอดจากคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรต้องเป็นประชามติที่แท้จริง โดยประชาชนมีสิทธิ์เลือก ตามหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ผลจากการหารือของคณะนิติราษฎร์ มีความเห็นว่า ประเทศไทยควรที่จะนำรัฐธรรมนูญฉบับแรกภายหลังการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง และรัฐธรรมนูญปี 2540 มาปรับใช้ เป็นแนวทางเพราะรัฐธรรมนูญ 2475(ชั่วคราว), ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 และ ฉบับ 2489 มีหลักการและเจตจำนงของหลักการประชาธิปไตยเป็นของประชาชน ซึ่งหลังการรัฐประหาร 9 พฤศจิกายน 2490 เรื่อยมาทำให้ หลักการ การรับรองและตีความกฎหมายของตุลาการ เป็นไปเพื่อรับรอง อำนาจคณะรัฐประหารในฐานะองค์รัฐฐาธิปัตย์ในการใช้อำนาจเพื่อล้มล้างระบอบประชาธิปไตยไปในที่สุด ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็สามารถหยิบจุดเด่น/จุดด้อยต่างๆมาปรับใช้ได้ จากนั้น นำให้ประชาชนลงมติ เพื่อให้ความเห็นชอบ โดยชี้ให้เห็นว่าการกระทำดังกล่าว จะทำให้รัฐธรรมนูญพ้นคราบภัยของความเป็นเผด็จการ และสามารถป้องกันการยึดอำนาจในอนาคตได้” ต่อข้อซักถามที่ว่า จะสามารถป้องกันได้จริงหรือไม่นั้น อาจารย์วรเจตน์ เห็นว่า เราตระหนักดีว่า ลำพังกระดาษ ใครก็สามารถฉีกได้ แต่การสร้างจิตวิญญาณในการปกป้องรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยให้ปลอดจากการยึดอำนาจสามารถใช้แนวทาง คำประกาศแห่งรัฐขึ้นมา เพื่อเป็นหลักยึดให้ผู้ใช้อำนาจอธิปไตยเป็นแนวทางในการป้องกันและต่อสู้กับอำนาจนอกระบบได้ในที่สุด เช่นในบางประเทศ บัญญัติว่าประมุขของรัฐมีหน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เป็นต้น ในอดีตรัฐธรรมนูญ ปี 2517 ได้ระบุ ห้ามมีการนิรโทษกรรมจากการล้มล้างรัฐธรรมนูญ แต่ภายหลังการยึดอำนาจเกิดขึ้นต่อมา หลักการนี้จึงหายไป ด้าน อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล ได้กล่าวถึงกรณีข้อเสนอที่ให้ลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร 19 ก.ย. ปี 2549 ว่า ทางกลุ่มมีความเห็นสมควรให้คำพิพากษาศาลคำสั่งที่เป็นผลพวงจากการทำรัฐประหาร เสียเปล่า และถือว่าไม่เคยเกิดขึ้น และไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย ส่วนประเด็นที่ขอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น คณะนิติราษฎร์เห็นควรให้มีการแก้ไขให้เหมาะสมกับอัตราโทษ ตามหลักการหมิ่นประมาท ซึ่งตามหลักการประชาธิปไตย เราไม่สามารถเรียกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้ แต่ทางกลุ่มยืนยันว่า ควรใช้คำว่า “ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ” อาจารย์ปิยบุตรยังได้อธิบายว่า ทางกลุ่มเห็นความจำเป็นในการเสนอให้ยกเลิกประกาศคณะรัฐประหาร 19-30 กันยายน 2549 เนื่องจาก เป็นต้นตของการวางรากฐานนิรโทษกรรมการกระทำผิดของผู้ยึดอำนาจไว้ ในขณะเดียวกันในข้อเสนอกลุ่มที่ ระบุไปที่ มาตรา 36-37 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 ที่ระบุให้คำสั่ง คปค. มีความชอบธรรมและนำไปสู่ ความคลางแคลงใจของประชาชนรวมทั้งการต่อรองผลประโยชน์ของชนชั้นนำเท่านั้นแบบที่เคยเป็นมา นอกจากนั้น ทางคณาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ได้ย้ำให้เห็นว่า ประโยชน์ประการหนึ่งของเสนอนี้คือ การไม่ยอมรับการใช้อำนาจนอกระบบอย่างชัดแจ้งที่สุด และมีผลทางด้านรูปธรรมในการคัดค้านรัฐประหาร คณะนิติราษฎร์ เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑ ปีนิติราษฎร์ ประเด็นที่ ๑ การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทำลายนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และยังเป็นต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ คณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้มีการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ดังต่อไปนี้ ๑. ประกาศให้รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ และการกระทำใดๆที่มุ่งต่อผลในทางกฎหมายของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จนถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย ๒. ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๗ เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย ๓. ประกาศให้คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) และคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นผลต่อเนื่องจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาที่เกิดจากการเริ่มกระบวนการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย ๔. ประกาศให้เรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นเจ้าหน้าที่ และเรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นศาล ที่เกิดจากการเริ่มเรื่องโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นอันยุติลง ๕. การประกาศความเสียเปล่าของบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาตามข้อ ๓ และการยุติลงของกระบวนการตามข้อ ๔ ไม่ใช่เป็นการนิรโทษกรรมหรือการอภัยโทษหรือการล้างมลทินแก่บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด และไม่ใช่เป็นการลบล้างการกระทำทั้งหลายทั้งปวงของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ดังนั้น หากจะเริ่มดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวใหม่ก็สามารถกระทำไปตามกระบวนการทางกฎหมายปกติได้ ๖. เพื่อความชอบธรรมทางประชาธิปไตย คณะนิติราษฎร์เสนอให้นำข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นไปจัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ ประเด็นที่ ๒ การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ตามที่คณะนิติราษฎร์ได้จัดทำข้อเสนอการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ และนำเสนอสู่สาธารณะตั้งแต่วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๔ แล้วนั้น ๑. คณะนิติราษฎร์ยังยืนยันว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ มีปัญหาทั้งในแง่ตัวบทกฎหมาย การบังคับใช้ และอุดมการณ์ และจำเป็นต้องแก้ไข บุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ควรปฏิเสธว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ไม่มีปัญหาและไม่จำเป็นต้องแก้ไข ทั้งที่ยังไม่มีการศึกษาและอภิปรายในวงกว้างอย่างจริงจัง ๒. คณะนิติราษฎร์เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นเรื่องความสมดุลระหว่างความร้ายแรงของการกระทำอันเป็นความผิดกับโทษที่ผู้กระทำความผิดนั้นควรได้รับ จึงไม่เป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุซึ่งได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๙ ๓. คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในประเด็นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ เพื่อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีต่อไปตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๑๙ (๓) ประเด็นที่ ๓ กระบวนการยุติธรรมกับผู้ต้องหาหรือจำเลย และการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายภายหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ สืบเนื่องจากการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ประเทศไทยต้องตกอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองเรื่อยมา มีการชุมนุมของฝ่ายต่างๆ มีการใช้ความรุนแรง มีผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด และมีผู้ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน ดังนั้น เพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย และเพื่อบรรเทาความเสียหายของประชาชน คณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้ดำเนินการดังต่อไปนี้โดยเร่งด่วน และเป็นรูปธรรม ๑. คณะนิติราษฎร์ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่มีเป้าหมายแอบแฝงเพื่อยุติกระบวนการพิสูจน์ความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี สิทธิของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง หรือมีประเด็นทางการเมืองเป็นองค์ประกอบอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับการประกันตามกระบวนการที่ถูกต้องและเป็นธรรม (Due Process) ในลักษณะที่ไม่แตกต่างจากผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในกรณีทั่วไป สิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวต้องถูกพิจารณาโดยเคร่งครัดและอย่างเป็นภาวะวิสัย ในขณะที่การเรียกประกันหรือหลักประกันก็ต้องไม่เกินความจำเป็นแก่กรณี ตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑๐ วรรคท้าย แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งสอดคล้องกับหลักให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) และก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๓๙ ๒. โดยอาศัยหลักความรับผิดของรัฐ คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาออกมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความช่วยเหลือหรือจ่ายค่าทดแทนแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ อย่างไม่เลือกปฏิบัติ โดยอาจแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมารับผิดชอบโดยเฉพาะ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราค่าทดแทน สามารถอาศัยแนวทางตามกฎหมายที่มีอยู่แล้ว เช่น พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๔๔ หรือพระราชบัญญัติสงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติหรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ.๒๕๔๓ เป็นต้น และการได้รับค่าทดแทนดังกล่าวไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ผู้เสียหายพึงได้ตามกฎหมายอื่น ๓. คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติติดตามตรวจสอบการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยองค์กรต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๘ ประเด็นที่ ๔ การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ เป็นผลพวงต่อเนื่องจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จึงมีปัญหาความชอบธรรมทางประชาธิปไตย แม้ว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวผ่านการออกเสียงประชามติก็ตาม แต่กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ และกระบวนการจัดให้มีการออกเสียงประชามติไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ๑. คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม “หมวด ๑๖ การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่” ๒. คณะนิติราษฎร์เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่จะนำมาใช้เป็นต้นแบบในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ สมควรเป็นพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ และอาจนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ในส่วนของการประกันสิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนโครงสร้างสถาบันการเมืองและองค์กรทางรัฐธรรมนูญเท่าที่สอดคล้องกับพัฒนาการในยุคร่วมสมัยมาเป็นแนวทางในการยกร่าง ๔. เพื่อมิให้การรัฐประหารทำลายหลักการอันเป็นรากฐานของนิติรัฐ-ประชาธิปไตยจนหมดสิ้น คณะนิติราษฎร์เสนอให้มีการจัดทำ “คำประกาศว่าด้วยคุณค่าอันเป็นรากฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย” แม้คำประกาศดังกล่าวจะไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย แต่คำประกาศดังกล่าวเป็นวิญญาณของระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ไม่มีบุคคลใดหรือไม่มีวิธีใดทำลายหรือทำให้สูญสิ้นไปได้ ๕. คำประกาศว่าด้วยคุณค่าอันเป็นรากฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย ยืนยันว่ามนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย ไม่มีผู้ใดและไม่มีวิธีใดที่จะพรากไปจากราษฎรได้ การปกครองโดยกฎหมายที่ยุติธรรมเป็นคุณค่าพื้นฐานของรัฐ และการแบ่งแยกอำนาจเป็นอุดมการณ์ในการจัดรูปการปกครองที่ต้องธำรงไว้ให้มั่นคงตลอดกาล ๖. หลังจากสภาร่างรัฐธรรมนูญให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปออกเสียงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จันทจิรา เอี่ยมมยุรา ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล ธีระ สุธีวรางกูร สาวตรี สุขศรี ปิยบุตร แสงกนกกุล ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร ท่าพระจันทร์, ๑๘ กันยายน ๒๕๕๔

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net