Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สืบเนื่องจากบทความที่แล้ว ชื่อ “พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) กับวัฒนธรรมการวิจารณ์ในพุทธศาสนาเถรวาท” ผมมีบางประเด็นที่อยากเขียนต่อคือ ประเด็น “กัลยาณมิตรทางวิชาการ” กับ “การท้าทายทางวิชาการ” ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของสังคมสงฆ์มานาน ผมกลับไปเปิดอ่านหนังสือ “นักวิชาการเทศ-ไทย หาความรู้ให้แน่ใช่แค่คิดเอา[i] ของท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์อีกรอบ ทำให้ผมนึกถึงเรื่องที่ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เล่าให้ฟังเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “คนที่มีอำนาจสูง (เอ่ยชื่อไม่ได้) ที่จริงท่านเป็นคนดี แต่ไม่ใช่เก่งทุกอย่าง น่าเสียดายที่ท่านไม่มีกัลยาณมิตร คนรอบๆ ข้างส่วนมากเป็นพวกประจบสอพลอ และตัวท่านเองก็ไม่เป็นมิตรกับปัญญาชนที่วิพากษ์วิจารณ์ท่านเอาเสียเลย” คำว่า “กัลยาณมิตร” ในความหมายของ อ.สุลักษณ์คือ คนที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ติติงอย่างตรงไปตรงมาด้วยเจตนาดีต่อตัวบุคคลนั้นและส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ผมคิดว่าอาจเป็นไปได้ที่ลูกศิษย์ลูกหาหรือคนรอบๆ ข้างท่านเจ้าคุณ จะไม่ค่อยได้ทำหน้าที่กัลยาณมิตรในความหมายดังกล่าวมากนัก แต่กลับไปทำหน้าที่ “ชงประเด็น” ชงเรื่องให้ท่านมีท่าที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับ “กัลยาณมิตรทางวิชาการ” ที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ท่าน (ซึ่งในบ้านเรามีน้อยอยู่แล้ว) เช่น ผมขอคัดบทสนทนาในหนังสือเล่มดังกล่าวของท่านเจ้าคุณมาให้อ่านข้างล่างนี้ (เข้าใจว่าเป็นบทสนทนาระหว่างท่านเจ้าคุณกับลูกศิษย์ ท่านใช้ชื่อแทนลูกศิษย์ว่า “นักแทรก” และเรียกอีกฝ่ายว่า “ท่าน บก.”) นักแทรก : ท่าน บก.นี้ตามล่าท่านอาจารย์มานานแล้ว พระพรหมคุณาภรณ์ : อะไร ใช้คำนั้นไม่หนักไปหรือ? นักแทรก : เปล่า สงสัยมีเบื้องหลังเบื้องลึกไหม มันชอบกลนะในวารสารพุทธศาสน์ศึกษานั่นน่ะ ท่าน บก.นี่แทบทุกฉบับหรือเปล่า ทำท่าหาทางตีท่านอาจารย์เรื่อย เป็น 10 ปี แล้วนี่ ท่านอาจารย์ (น.250) ......................... นักแทรก : เข้ากับเรื่องที่กำลังพูดนะนี่ ขออ่านเลยนะครับ ท่าน บก.เขียนอย่างนี้ครับ “...เมื่อไม่นานมานี้ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่ง จัดพิมพ์โดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เนื้อหาของหนังสือเป็นบทสนทนาระหว่างท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) กับคณะแพทย์จำนวนหนึ่ง ในการสนทนา บรรดาแพทย์ทั้งหลายได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับทัศนะของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับปัญหาทางจริยธรรมที่เกิดจากความก้าวหน้าทางการแพทย์และชีววิทยา เช่น ปัญหาเรื่องการโคลนมนุษย์ ปัญหาการใช้เซลล์ต้นแบบจากตัวอ่อนมนุษย์ เป็นต้น ท่านเจ้าคุณนั้นเวลาที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธศาสนาในเรื่องต่างๆ ท่านมักองอาจดังพญาราชสีห์ แต่ความองอาจที่เคยเห็นนั้นหายไปมากในหนังสือเล่มนี้ สิ่งที่ผมพยายามคิดหลังจากที่อ่านหนังสือเล่มนี้จบคือ “เกิดอะไรขึ้นกับท่านเจ้าคุณ” เท่าที่ผมอธิบายให้กับตัวเองได้ในเวลานี้คือ นี่อาจเป็นสัญญาณแรกๆ ของการที่พระพุทธศาสนาแบบเดิมที่เราคุ้นเคย ไม่สามารถตอบสนองความต้องการใหม่ๆ ในสังคมสมัยใหม่ได้แล้ว ท่านเจ้าคุณนั้นเป็นปราชญ์ทางพุทธศาสนาในความหมายของผู้ที่ “แม่นทางปริยัติ” แต่ปัญหาทางจริยธรรมในโลกสมัยใหม่ ไม่ต้องการเพียงความแม่นยำในปริยัติเท่านั้น หากแต่ต้องการความเป็นผู้มีสติปัญญาอันกว้างขวางที่จะให้ทางออกอันประกอบด้วยความลึกซึ้ง กินใจ ชวนคิด มีเมตตาแก่ทุกฝ่ายเป็นต้นด้วย การศึกษาพระปริยัติธรรมแบบดั้งเดิมที่คณะสงฆ์ดำเนินการอยู่นั้น ดูท่าจะไม่พอเสียแล้วสำหรับการตอบสนองความต้องการเช่นนี้ หากสิ่งที่ผมคิดถูกต้อง ก็แปลว่าเกิดลางในทางไม่ดีต่ออนาคตของพระพุทธศาสนาอย่างที่อยู่ภายใต้การนำของคณะสงฆ์ไทยในบางด้านเสียแล้ว” พออ่านจบ “นักแทรก” ก็ชงต่อทันทีว่า “นี่เขาด่าคณะสงฆ์ แต่ว่าไม่ใช่ เขาด่ามหาจุฬาฯ ท่านอาจารย์อยู่ในมหาจุฬาฯ ตลอดเลย” พระพรหมคุณาภรณ์: ท่าน บก.จะด่าคณะสงฆ์ หรือด่ามหาจุฬาฯ ก็คงต้องไปถามตัวท่านเอง แต่ก็ถือว่าด่าพระสงฆ์ไทย เป้าอยู่ที่อาตมานี่แหละ (น.255-256) (ข้อความต่อจากนี้เป็นคำอธิบายของท่านเจ้าคุณเกี่ยวกับเรื่องที่ท่านสนทนาถามตอบกับแพทย์เพื่อแก้ข้อวิจารณ์ของท่าน บก.ซึ่งก็มีเหตุผลน่ารับฟัง) ผมไม่แปลกใจที่ลูกศิษย์ท่านเจ้าคุณอ่านข้อความดังกล่าวแล้วสรุปว่านั่นคือการ “ด่า” เพราะดูเหมือนเขาจะต้องการ “ชงประเด็นขัดแย้ง” อยู่แล้ว (โปรดสังเกตในข้อความที่เขาอ่านไม่มีคำว่า “มหาจุฬาฯ” เลยแต่ “นักแทรก” ก็ชงว่าท่าน บก.ด่ามหาจุฬาฯ) แต่ผมแปลกใจมากที่ท่านเจ้าคุณเออออไปกับการชงนั้นด้วย ถึงขนาดบอกว่า “…ก็ถือว่าด่าพระสงฆ์ไทย เป้าอยู่ที่อาตมานี่แหละ” คนที่อ่านข้อความดังกล่าวของท่าน บก.อย่างไม่มีอคติ ย่อมเข้าใจอย่างตรงไปตรงมาว่า “เนื้อหาหลัก” ของข้อความดังกล่าวเป็นการตั้ง “คำถามทางวิชาการ” ต่อความเชี่ยวชาญด้านปริยัติของท่านเจ้าคุณ (หมายถึงท่านเจ้าคุณในฐานะบุคคลสาธารณะผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนา ไม่ใช่ท่านเจ้าคุณในฐานะ “คู่ขัดแย้ง”) และการศึกษาปริยัติแบบที่มีอยู่ในคณะสงฆ์ว่า ไม่น่าจะเพียงพอที่จะสนองตอบต่อปัญหาทางจริยธรรมอันเกิดจากความก้าวหน้าทางวิทยาการใหม่ๆ เช่น ทางการแพทย์และชีววิทยา เป็นต้น มันไม่ใช่ “การด่า” ใดๆ ทั้งสิ้น (แม้แต่สำนวนเปรียบเทียบ “องอาจดุจพญาราชสีห์” ที่เป็นการชมเชยในบางเรื่องที่ท่านเจ้าคุณเก่ง ติหรือตั้งคำถามในบางเรื่องที่ท่านเจ้าคุณอาจไม่เก่ง ก็ไม่น่าถือว่าเป็นคำด่าเลย) ผมคิดว่าคำถามทางวิชาการดังกล่าวของท่าน บก. ชวนให้เราคิดในประเด็นสำคัญอย่างน้อย 3 ประการคือ 1) สะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงของปัญหาทางภูมิปัญญาอันเป็นผลผลิตของระบบการศึกษาสงฆ์ว่า อาจไม่สามารถตอบสนองปัญหาทางจริยธรรมที่ซับซ้อนในโลกสมัยใหม่ได้ (ซึ่งปัญหาการศึกษาของสงฆ์ ท่านเจ้าคุณก็เคยวิจารณ์เอาไว้มากว่า จำเป็นต้องปฏิรูปทั้งระบบ) 2) สะท้อนให้เห็นความห่วงใยของท่าน บก.ต่ออนาคตของพุทธศาสนาในสังคมไทย 3) เป็นคำถามที่ท้าทายต่อท่านเจ้าคุณ และระบบการจัดการศึกษาของสงฆ์เองว่า ควรจะปรับตัวให้สนองตอบต่อปัญหาทางจริยธรรมในโลกสมัยใหม่อย่างไร ฉะนั้น โดยสาระแล้ว คำถามทางวิชาการดังกล่าวควรจะเป็นคำถามที่เป็นประโยชน์ต่อท่านเจ้าคุณ และการปรับปรุงระบบการศึกษาสงฆ์โดยรวมมากกว่าที่จะถูกแปลความว่าเป็น “การด่า” จะว่าไปแล้วคำถามทางวิชาการดังกล่าว เป็นคำถามที่นักวิชาการทางพุทธศาสนาฝ่ายก้าวหน้า (แม้แต่นักวิชาการด้านอื่นๆ) มองเห็นมานานแล้ว (เข้าใจว่าท่านเจ้าคุณก็น่าจะมองเห็นอยู่ด้วย) และเห็นว่าหากพุทธศาสนาจะดำรงอยู่อย่างมีความหมายต่อสังคมยุคใหม่ พุทธศาสนาต้องสามารถตอบสนอง (ในเชิงการถกเถียงแลกเปลี่ยน ให้คำตอบ/ทางออก) ต่อปัญหาทางจริยธรรมใหม่ๆ ได้ เช่น ปัญหาด้านชีวจริยธรรม การทำแท้งถูกกฎหมาย การุณยฆาต ความเป็นธรรมทางสังคมการเมือง สิทธิมนุษยชน เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ เป็นต้น สังเกตไหมครับว่า ปัจจุบันคณะสงฆ์และชาวพุทธอนุรักษ์นิยมยังตั้งโจทย์ความมั่นคงของพุทธศาสนาแบบ “ย้อนยุค” มากเลย เช่น เอาความมั่นคงของพุทธศาสนาไปผูกติดกับความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ หรือผูกติดกับภัยจากศาสนาอื่นๆ เป็นต้น แทบจะไม่ตั้งโจทย์ว่าพุทธศาสนาควรจะตอบสนองต่อปัญหาทางจริยธรรมในโลกสมัยใหม่อย่างไร นี่คือสัญญาณอันตรายต่ออนาคตของพุทธศาสนาที่คนห่วงใยพุทธศาสนาต่างมองเห็น หากไม่แกล้งหลับหูหลับตา ที่พึงสังเกตอย่างยิ่งคือ คำถามท้าทายทางวิชาการดังกล่าว เป็นคำถามของนักวิชาการที่ทำงานวิชาการด้านพุทธศาสนามาตลอดชีวิตของท่าน มีผลงานทางวิชาการพุทธศาสนาปรากฏมากมายทั้งภาษาไทยภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะงานวิชาการเหล่านั้นมุ่งไปที่การประยุกต์หลักการพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์และปรัชญาตะวันตกอธิบายปัญหาทางจริยธรรมใหม่ๆ เช่น ปัญหาชีวจริยธรรม ความยุติธรรม นิติปรัชญา การุณยฆาต ฯลฯ และคำถามดังกล่าวก็ดูเหมือนจะถามด้วยเจตนาห่วงใยพุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์ แต่กระนั้นก็ยังถูกแปลเป็น “คำด่า” ปัญหาที่ผมเห็นว่า “ซีเรียส” มากคือ คำถามทางวิชาการดังกล่าวเป็นคำถามจากนักวิชาการด้านพุทธศาสนา และเป็นคำถามที่ท้าทายทั้งปราชญ์ทางพุทธศาสนาและสังคมสงฆ์ แต่ท่าทีตอบรับคำถามนั้นโดยปราชญ์ทางพุทธศาสนากลับบอกว่า “...แต่ก็ถือว่าด่าพระสงฆ์ไทย เป้าอยู่ที่อาตมานี่แหละ” ขนาดปราชญ์ทางพุทธศาสนายังมองเช่นนี้ แล้วพระสงฆ์ทั่วไปจะมองอย่างไร ผมจึงเกิดคำถามต่อเนื่องจากคำถามท้าทายทางวิชาการดังกล่าวว่า พระสงฆ์ยังไม่มีความพร้อมที่จะเปิดใจรับ “กัลยาณมิตรทางวิชาการ” หรืออย่างไร? คำถามนี้มีความสำคัญไม่น้อยกว่าคำถามท้าทายทางวิชาการของท่าน บก. เพราะพระสงฆ์จะเผชิญกับการท้าทายทางวิชาการอย่างสร้างสรรค์ได้ จำเป็นต้องเปิดใจรับกัลยาณมิตรทางวิชาการในโลกยุคใหม่ได้ นั่นคือกัลยาณมิตรที่วิพากษ์วิจารณ์พระสงฆ์ และพุทธศาสนาอย่างตรงไปตรงมา แต่หากท่าน บก.ที่เป็นนักวิชาการด้านพุทธศาสนาพระสงฆ์ยังรับไม่ได้แล้ว พระสงฆ์จะเผชิญกับการท้าทายทางความคิดจากนักวิชาการ นักคิด นักเขียน หรือปัญญาชนรุ่นใหม่ๆ ที่ยึดมั่นเสรีภาพทางวิชาการและความเสมอภาคในความเป็นคนอย่าง คำ ผกา ภัควดี ไม่มีนามสกุล มุกหอม วงษ์เทศ เป็นต้นได้อย่างไร แล้วยังมีนักวิชาการต่างชาติ ต่างศาสนาอีกมากที่พระสงฆ์ต้องเผชิญอย่างมีใจเปิดกว้างและมีขันติธรรม โลกเปลี่ยนไปแล้ว คนยุคใหม่อยู่ในโลกของข้อมูลความรู้ที่เปิดกว้างหลากหลาย เขารู้เท่าทัน “อำนาจเก่า” ต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคมกันแล้ว ไม่ว่าอำนาจนั้นจะเป็นอำนาจนอกระบบในทางการเมือง อำนาจทางปัญญา ทางศีลธรรม ทางจิตวิญญาณ หรือทางจารีตประเพณีก็ตาม ถ้าเราดูในโลกออนไลน์พระประเภทที่ทำตัวเป็นนักประดิษฐ์วาทกรรมกล่อมประสาทพวกสลิ่ม พระที่ทำตัวเป็น “โหรการเมือง” หรือพระประเภททะลึ่งอ้างพระไตรปิฎกว่า “ผู้หญิงไม่ควรเป็นผู้นำประเทศ” ล้วนเป็นพระที่กลายเป็น “ตัวตลก” ที่ถูกคนรุ่นใหม่เย้ยเยาะอย่างขบขัน แม้แต่พระที่ถูกยกย่องว่าเป็นปราชญ์ ก็ไม่พ้นที่จะถูกตั้งคำถาม หรือวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ต้องพูดถึงความรู้อื่นๆ ที่พระสงฆ์บรรยายแก่ชาวบ้าน (เช่น เทคนิคการมีชีวิตคู่ให้เป็นสุข เทคนิคการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพ ฯลฯ ซึ่งเขาไม่ค่อยเชื่อพระในเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว) แม้แต่ธรรมะที่ออกมาจากปากพระเขาก็กล้าตั้งคำถามมากขึ้น กระทั่งกล้านำเนื้อหาเรื่องราวในพระไตรปิฎกมาวิพากษ์วิจารณ์และอ้างเหตุผลโต้แย้งอย่างน่ารับฟัง (เชื่อไหมครับในเฟซบุ๊คของ “กลุ่มคนไม่มีศาสนา” เขาหยิบประเด็นซีเรียสๆ ทางศาสนามาอภิปรายกันอย่างลึกซึ้งมีเหตุมีผล) พระสงฆ์จะยังคิดว่าชาวบ้านไม่รู้เรื่องพุทธศาสนาเท่าทันตนไม่ได้อีกแล้ว ในโลกเช่นนี้ พระสงฆ์หรือคณะสงฆ์จะปฏิเสธกัลยาณมิตรทางวิชาการไม่ได้เลย ผมจึงรู้สึกเศร้าใจที่เห็นลูกศิษย์ลูกหาชงท่าทีที่ไม่เป็นมิตรกับนักวิชาการแก่ท่านเจ้าคุณ เช่น “นักแทรก” ถามนำว่า “เยอะแยะเลยนี่ ปัญหามากมาย เป็นเรื่องนักวิชาการทั้งนั้น อย่างนี้แล้วจะมองนักวิชาการอย่างไร” (น.265) เพราะถ้าพระสงฆ์มองกัลยาณมิตรทางวิชาการเป็นตัวปัญหา มองคำถามท้าทายทางวิชาการเป็นคำด่า ก็เกรงว่าวิธีคิดและทัศนคติที่สร้างขึ้นผ่านระบบการศึกษา และวัฒนธรรมของสังคมสงฆ์มีปัญหาอย่างน่าเป็นห่วง! ................................................ [i] หนังสือนี้ตีพิมพ์แจกฟรีแล้ว 2 ครั้ง (พิมพ์ครั้งแรก สงกรานต์ 2554 จำนวน 8,000 เล่ม ครั้งที่ 2 เข้าพรรษา 2554 จำนวน 10,000 เล่ม)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net