TCIJ: 3 เครือข่ายชาวบ้าน รวมพลต้าน 3 เหมืองในลำปาง เรียกร้องยุติสัมปทาน

เครือข่ายชาวบ้าน 500 คนรวมตัวศาลากลาง บี้จังหวัดอย่าให้สัมปทาน 3 บริษัททำเหมือง ชี้นักการเมืองใหญ่หนุนหลัง ยันหากเจรจาไม่ได้ปักหลักยาว ปิดถนน สุดท้ายทำข้อตกร่วมกับจังหวัด พร้อมสลายการชุมนุม 20 ก.ย. 54 เวลา 11.30 น. ที่ศาลากลางจังหวัดลำปาง กลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่น 3 ชุมชนในจังหวัดลำปาง นำโดย น.ส. แววรินทร์ บัวเงิน แกนนำกลุ่มอนุรักษ์บ้านแหง อ.งาว นายเป๊ก คำภิรธรรม แกนนำกลุ่มอนุรักษ์แม่ถอด อ.เถิน และนายสุก มักแม่น แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทุ่งผึ้ง อ.แจ้ห่ม พร้อมกลุ่มผู้ชุมนุมราว 500 คน ได้เรียกร้องขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดยุติการเปิดสัมปทานการทำเหมืองแร่ หลังจากมีบริษัทที่มีนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง 3 บริษัทขอสัมปทานทำเหมืองแร่ในจังหวัดลำปาง ทั้งนี้ 3 บริษัทใหญ่ที่ขอประทานบัตรการทำเหมืองทั้ง 3 แห่งในจังหวัดลำปาง ได้แก่ บ.ทวีทรัพย์ล้านนาจำกัด บ.กรีนซีเมนต์ และ บ.เขียวเหลือง ร่วมกันเสนอการขอประทานบัตรต่ออุสาหกรรมจังหวัดลำปาง รายงานจากพื้นที่แจ้งว่า บริษัทผู้ขอประทานบัตรเหมืองแร่ได้ให้ผู้รับช่วงต่อ เข้ากว้านซื้อที่ดินของชาวบ้านโดยระบุว่าจะซื้อที่ดินเพื่อการปลูกป่า บางส่วนก็ติดต่อประสานงานกับกรมป่าไม้เพื่อขอทำวณอุทยานจำนวนกว่า 2000 ไร่ โดยชาวบ้านในพื้นที่หวั่นเกรงว่า หากการกว้านซื้อที่ดินดังกล่าวไม่สำเร็จ อาจเกิดความรุนแรงเกิดขึ้น ด้านนายสุวรรณ กล่าวสุนทร รองผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งมารับเรื่องแทนผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวว่า ขั้นตอนในการขอประทานบัตรการทำเหมืองแร่ทั้งสามแห่ง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการยื่นขอ ทางหน่วยงานราชการมีหน้าที่ในการรับเรื่อง เปรียบเสมือนเป็นไปรษณีเท่านั้น การกำหนดให้ใครได้หรือไม่ได้ ทางจังหวัดไม่สามารถทำได้ ขึ้นอยู่กับการทำประชาคมของชาวบ้านในพื้นที่ว่าเห็นสมควรหรือไม่ ซึ่งต้องรับฟังความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหลัก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เหตุการณ์ชุมนุมที่ศาลากลางเริ่มมีความตรึงเครียด หลังจากหน่วยงานราชการชี้แจงและถูกกลุ่มชาวบ้านซักถาม ซึ่งต่างผ่ายหาขอยุติไม่ได้ จนในที่สุดต้องมีการขอกำลังเสริมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อมาดูแลความสงบ ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมยื่นยันปักหลักค้างแรม พร้อมทั้งยืนยันว่าหากเจรจากันไม่เป็นผลก็พร้อมจะใช้วิธีการปักหลักปิดถนน อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดกลุ่มชาวบ้านได้ทำบันทึกความตกลงร่วมกันกับทางจังหวัดและหน่วยราชการ โดยข้อตกลงมีดังนี้ 1. ยุติขั้นตอนการทำประทานบัตรการทำเหมืองทั้งสามแห่ง 2. ยกเลิกการทำรังวัดปักหมุดของอุตสาหกรรมจังหวัดในการสำรวจการทำเหมืองทั้งสามแห่ง 3. การเข้ามาทำการทำรังวัดใหม่ต้องแจ้งชาวบ้านในพื้นที่ได้รับทราบ พร้อมยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษร 4. จังหวัดต้องส่งเสริมให้พื้นที่การทำเหมือง ซึ่งมีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติและป่าไม้ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แทน 5. จัดให้พื้นที่การทำเหมืองที่เป็นป่าโซน E ให้เป็นป่าชุมชน 6. การชุมนุมครั้งนี้เป็นการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ และเป็นการชุมนุมโดยสงบ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้เป็นที่พอใจ และชาวบ้านยุติการชุมนุมไปในเวลา 20.30 น.โดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใดๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท