Prachatai Eyes View: ‘คนไทย’ ในป่าแก่งกระจาน

(Backup) Prachatai Eyes View: ‘คนไทย’ ในป่าแก่งกระจาน - 2011

1. เพชรบุรีมีกะเหรี่ยงด้วยหรือ ? เป็นคำถามใสซื่อจากรุ่นน้องคนหนึ่ง เมื่อได้ยินว่า ผมจะไปแก่งกระจาน นอกจากนี้ เขายังทำหน้าตาเหลือเชื่อ หลังจากผมเล่าให้ฟังว่า กะเหรี่ยงที่นั่นถูกเผาบ้านและยุ้งข้าวโดยฝีมือทหารและเจ้าหน้าที่ฯ โทษฐานที่เป็นชนกลุ่มน้อยไม่อาจระบุสัญชาติและเจ้าหน้าที่ฯ ต้องผลักดันออกจากพื้นที่เพราะพัวพันกับยาเสพติด โดยเฉพาะกัญชา ตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำและมีอาวุธร้ายแรงไว้ในครอบครอง แถมพ่วงด้วยข้อหาเป็นหน่วยเสบียงให้กับชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดน พริบพรี - - เพชรบุรีหรือคนเมืองเพชร ล้วนเป็นชื่อที่คุ้นเคยในเชิงประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์วรรณา หัวใจนักเลงและซุ้มมือปืน ลักษณะทางกายภาพที่สำคัญ ทางด้านตะวันตกของจังหวัด ประชิดติดชายแดนพม่าและตามแนวตะเข็บแผนที่ล้วนเป็นแหล่งที่ตั้งของกองกำลังชนกลุ่มน้อยทั้งที่เป็นศัตรูคู่แค้นต่อรัฐบาลทหารพม่า รวมถึงชาวบ้านธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ ซึ่งมีประวัติศาสตร์ร่วมกันตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาหรือเก่ากว่านั้น ‘คน’ ที่ถูกมองว่าเป็นชนกลุ่มน้อย เหล่านี้ มีชีวิตและวัฒนธรรมสืบเนื่องนับร้อยปี

2. บ้านโป่งลึก-บางกลอย1-9 เป็นที่รู้จักของนักล่องแก่งแม่น้ำเพชรบุรีและคนกะเหรี่ยงใจแผ่นดิน มากกว่า 1,000 คน ถูกอพยพลงมาตั้งเป็นชุมชนตั้งแต่ปี 2539 ตามแผนผลักดัน ‘คน’ ออกจากป่าต้นน้ำให้หมดอย่าให้เหลือ อันเป็นแบบแผนการบริหารจัดการป่าต้นน้ำของหน่วยอุทยานฯ ทุกยุค คออี้ กะเหรี่ยงผู้เฒ่าวัย 103 ปี ผู้เจนจัดโลก ยกฝ่ามือขึ้นรวบเส้นผมสีขาวกระจุกที่เหลือไปทางด้านหลัง สะบัดผ้าทอมือสีตุ่นม้วนโพกศีรษะ ผู้เฒ่ายิ้มอย่างยากเย็นกับข้อหาผู้บุกรุกป่าต้นน้ำในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน “ตั้งแต่ปู่ย่าตายายเราอยู่กับธรรมชาติ เคารพดินน้ำป่า ทำไร่หมุนเวียน รักษาผืนป่าแต่เค้าบอกว่า เรา คือ ผู้ทำลายต้นน้ำและป่าไม้ เราจะทำลายบ้านของเราเองทำไม” หากไม่ได้พฤ โอ่โดเชา ผมคงไม่เข้าใจความหมายนั้นของผู้เฒ่าคออี้ คออี้ ผู้เฒ่าเป็นชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าต้นน้ำอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน บริเวณที่เรียกกันว่า ‘ใจแผ่นดิน’ มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก - - กะเหรี่ยง ถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม ที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย แยกออกเป็น สะกอว์และโผว่ - - เฉพาะภาคกลางในจังหวัดราชบุรีและเพชรบุรี กะเหรี่ยงอยู่ร่วมกับคนไทยมาเป็นเวลาช้านาน “ปู่ย่าตายายสอนให้เราเคารพธรรมชาติ เราเชื่อกันตลอดมาว่าข้าวมีค่ากว่าเงินทอง วันนี้ เรากลับได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำลายธรรมชาติเสียเอง ห้ามไม่ให้เราปลูก เราจะมีชีวิตอยู่อย่างไร เราตั้งอยู่บนความสัตย์ซื่อ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข กัญชา สักต้นเราก็ไม่เคยปลูก เอาเรื่องนี้มาจากไหน เราเชื่อ - - สิ่งที่พวกเขาทำกับเราจะคืนกลับไปทำร้ายตัวเขาเอง ด้วยความคิดของเขาเอง ด้วยลมปากของเขาเอง ธรรมชาติมีความสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เราเพียงผู้ขออาศัย ใครทำลายธรรมชาติ เท่ากับ ทำลายบ้านตัวเอง หินที่ขวางลำน้ำโปรดระวังสายน้ำเชี่ยว หากพี่น้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียว เสาบ้านจะกลายเป็นทองคำ เราอยู่กับสัจจะในประเทศของพ่อหลวงแม่หลวง ทำแบบนี้ แผ่นดินของพ่อจะร้อนเป็นไฟ” คออี้ ผู้เฒ่า วัย 103 ปี พนมมือกล่าว ขณะผูกข้อมือคณะผู้มาเยี่ยม

3. ฝ้ายสีขาวปั่นกับน้ำมันงาหอมระเหย หากมีแขกมาถึงเรือนชาน วัฒนธรรมคนกะเหรี่ยงจะต้อนรับด้วยการผูกข้อมือ ง่าย เรียบและจริงใจ - - การโยกย้ายคนกะเหรี่ยงใจแผ่นดิน เกิดขึ้นหลายครั้งในเขตป่าต้นน้ำ อุทยานแห่งชาติป่าแก่งกระจาน จากรายงานแผนอพยพผลักดัน จับกุม ชุมชนชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นับจากปี 2539 เกิดการโยกย้ายครั้งใหญ่ ถึง 57 ครอบครัว จำนวน 391 คน ลงมายังพื้นที่โป่งลึก-บางกลอย พร้อมแผนเยียวยาด้วยการจัดสรรที่ดินทำกินให้ครอบครัวละ 7 ไร่ พัฒนาฐานอาชีพตามโครงการพระราชดำริ บ้านเล็กในป่าใหญ่ด้วยการเสริมอาชีพผ้าทอและปักลาย ปากคำของชาวบ้านหลายคน เล่าว่า เจ้าหน้าที่ฯ จัดสรรที่ดินทำกินให้ครอบครัวละ 7 ไร่ - - ในจำนวน 57 ครอบครัว ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินเพียง 47 ครอบครัว อีก 10 ครอบครัวไม่ได้รับการจัดสรรตามสัญญา เมื่อมีการทวงถาม หัวหน้าหน่วยฯ ยืนยันว่าจะไม่มีการจัดสรรที่ดินเพิ่ม ให้ชาวบ้านช่วยเหลือแบ่งเบากันเอาเอง นอกจากนี้ ที่ดินจัดสรร จำนวน 7 ไร่ บางแห่งทับซ้อนกับเจ้าของที่ดินเดิมซึ่งเป็นชาวบ้านโป่งลึก ที่ดินจัดสรร จำนวน 7 ไร่ ไม่อาจให้ผลผลิตต่อครัวเรือนเพียงพอ เนื่องจาก -กะเหรี่ยงใจแผ่นดินนิยมมีลูกมากเพื่อเป็นแรงงานในการทำไร่ข้าว อย่างต่ำ ก็ 10 คน/ครัวเรือน -ที่ดินจัดสรรบางแห่งเป็นดินทรายกรวดบนพื้นที่ลาดเอียงที่ปลูกอะไรไม่ได้ - - ถึงวันนี้ ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย คนปัจจุบัน ไร้ที่ทำกินเพราะปัญหาพื้นที่ทับซ้อน เหตุนี้ ทำให้บางครอบครัวกลับไปทำไร่ข้าวยังผืนดินเดิมที่เคยเป็นของปู่ย่าตายาย ส่วนคนที่ตัดสินใจอยู่ที่โป่งลึก-บางกลอย กลายสภาพเป็นแรงงานให้หน่วยอุทยานฯ รับจ้างก่อสร้างสะพานแขวนของเทศบาลตำบลหรือลงไปทำงานในตัวอำเภอแก่งกระจานและกรุงเทพฯ ชายคนหนึ่ง ต้องออกไปรับจ้างปลูกมะนาวและข้าว เนื่องจาก ข้าวไม่พอกิน มีหลายครั้งที่เขาต้องไปเอาข้าวจากร้านค้ามากินแล้วนำเงินไปจ่ายทีหลัง ‘หากวันไหนงานหมด ไม่มีเงิน ต้องไปขอยืมข้าวจากร้านค้าจะยืมจากญาติพี่น้องก็ยากจนพอกัน’ จนท้ายที่สุดเขาทนสภาพไม่ไหวจึงเดินทางกลับไปทำกินที่บางกลอยบนพร้อมลูกๆ อีก 10 คน - - เด็กหญิงในวัย ไม่เกิน 18 เล่าว่า เธอออกไปทำงานก่อสร้างที่กรุงเทพฯหลายเดือนแล้ว เพิ่งกลับบ้านมาได้เพียงหนึ่งวัน วันมะรืนเธอจะต้องกลับเข้ากรุงเทพฯ และหากงานหมด - - เด็กหญิงยังไม่รู้อนาคต หลายครอบครัวรับจ้าง จัดสวน ก่อสร้าง ในตัวอำเภอและเมืองใหญ่ ฯลฯ หลายครอบครัว ‘กลับบ้าน’ กลับไปทำไร่ยังพื้นที่เดิม แผ่นดินอันเป็นที่ฝังร่างของปู่ย่าตายาย

4. ใจ เด็กหนุ่ม วัย 16 ปี หนึ่งในครอบครัวที่กลับ ‘บ้าน’ เล่าให้ฟังถึงวันที่เจ้าหน้าที่สนธิกำลังขึ้นไปเผาบ้านและยุ้งฉาง - - โดยไม่มีคำเตือน ใจ หมายมั่นว่า ข้าวและพริกจากหยาดเหงื่อแรงกายในฤดูกาลนี้จะเป็นของขวัญชิ้นแรกแก่ลูกชายของเขา ความฝันพังทลาย เด็กหนุ่มได้ยินคนในหมู่บ้านพูดว่า เจ้าหน้าที่ฯ จะขึ้นไปข้างบนเพื่อผลักดันชนกลุ่มน้อยหรือผู้บุกรุกป่าต้นน้ำ คำว่า ‘ชนกลุ่มน้อย-ผู้บุกรุก’ เขาทวนคำ ในวัย 16 ปี เด็กหนุ่มไม่เคยคิดว่า นั่นหมายถึง เขาและครอบครัวอื่นๆ - - บริเวณลำห้วยคดโค้ง บ้านของใจและอีก 2 ครอบครัว ถูกเผาราบ หลังคายุ้งข้าวถูกเจาะให้น้ำฝนทะลัก หลายคนหนี อีกหลายคนถูกจับ ญาติของใจถูกจับกุมพร้อมสมาชิกในครอบครัว 6 คน บ้านพร้อมกับยุ้งข้าวของพวกเขาถูกไฟไหม้พังลงมาทั้งหลัง ข้าวในแปลงนา กว้างxยาว ด้านละ 2 ศอก ต้นข้าวสูง 1.5-3 เมตร ถูกเผาเรียบ - - ข้าวปี๊บครึ่งที่ปลูกเอาไว้เพียงเพื่อมีกินกันในครอบครัว บางยุ้งฉาง เจ้าหน้าที่ฯ ใช้มีดเจาะฝายุ้งให้ข้าวไหลออกหรือเจาะหลังคา เมื่อข้าวโดนฝนจะงอกออกมาเป็นต้นใช้การไม่ได้ ไม่มีใครรู้ว่า เจ้าหน้าที่จะเผาบ้านและยุ้งข้าว ไม่มีการเตือนมาก่อน เมื่อกลับไปดู ไม่มีอะไรเหลือ ต่อเมื่อมีข่าวออกทีวีทางเจ้าหน้าที่จึงนำเงิน 5,000 บาท ข้าวสาร 3 ถุง ปลากระป๋อง 1 แพ็ค มาแจกจ่ายให้ชาวบ้าน 10 ครอบครัว เบื้องต้น ชาวบ้านประเมินว่ามีครอบครัวคนไทยในแก่งกระจานอย่างน้อย 50 ครัวเรือน ‘ถูก-เผา’ จากปฏิบัติการครั้งนี้ - - เจ้าหน้าที่ของรัฐมีสิทธิ์จะเผาบ้านเรือนของประชาชนหรือไม่ ? สายตาของเด็กหนุ่มตั้งคำถามเอาตรงๆ จากสังคมที่เขาเชื่ออย่างสนิทใจว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของมัน ‘เราอยู่ใจแผ่นดิน เรามีข้าว ไม่ต้องเป็นลูกจ้าง สบายใจ’ ผู้ใหญ่บ้านกล่าว ‘ขนาดหมาแมว คนยังคิดอนุรักษ์กัน(ห้ามกิน)เราเป็นคนเหมือนกัน...ทำไม? ’ เขาพูดได้เพียงนั้นก่อนจะกลืนก้อนสะอื้นลงในลำคอ

5. ‘ใจแผ่นดิน’ ระหว่างรอยต่อประเทศ สุดตะเข็บชายแดนในป่าแก่งกระจาน - -ชาวกะเหรี่ยงที่เคยอยู่ใจแผ่นดินเชื่อว่า มีช่องที่ทะลุลงไปยังใจกลางโลก ศักดิ์สิทธิ์และเทพเจ้า คือ ผู้รักษา เราเป็นเพียงผู้อาศัย อยู่ห่างจากโป่งลึก-บางกลอย 60 กว่า กิโลเมตร ใช้เวลาเดินเท้าแบบไม่หยุดพัก 2 วัน ชาวบ้านทั้งบริเวณถูกอพยพ โยกย้าย ผลักดันออกจากพื้นที่ด้วยข้อหาบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำ เป็นชนกลุ่มน้อยที่อาจจะเป็นภัยต่อความมั่นคง การผลักดัน โยกย้าย ‘ลง’ เกิดขึ้นหลายครั้งในรอบหลายปี หน่วยอุทยานฯ แก้ไขปัญหาด้วยการจัดสรรที่ดินทำกิน จำนวน 7 ไร่/1 ครอบครัว แต่ความเป็นจริง บางครอบครัวไม่ได้รับการจัดสรรหรือบางแห่งที่ทำกินให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อสมาชิกในครอบครัว หลายที่เป็นดินกรวดทรายตามทางลาดเนินที่ไม่สามารถเพาะปลูกอะไรได้จนหลายครอบครัวต้องออกไปรับจ้างกับหน่วยอุทยานฯ ราชบุรี สวนผึ้ง เพชรบุรีหรือแม้แต่ในกรุงเทพฯ ขณะอีกหลายครอบครัวหนีกลับขึ้นไปข้างบน จนเกิดเหตุการณ์เผาบ้านและยุ้งข้าว ด้วยฐานความคิดว่าเป็นชนกลุ่มน้อย บุกรุกป่าต้นน้ำและปลูกกัญชา การเผาทำลายทรัพย์สินถือเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุโดยไม่คำนึงถึงสิทธิในความเป็นชุมชนดั้งเดิม แม้แต่ ทางอบต. เองก็ยืนยันหนักแน่นว่า ไม่คิดว่าจะมีการเผาทำลายบ้านและยุ้งข้าวเกิดขึ้น ต่อเรื่องนี้ ลุงทอง สุฤทธิ์ มีบุญ ชาวกะเหรี่ยงจากสวนผึ้ง เครือข่ายกะเหรี่ยงและวัฒนธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นว่า ‘บรรพบุรุษของเราไม่เคยสอนให้เราหาเงินหาทอง แต่สอนให้เราปลูกข้าว เท่านี้ชีวิตของเราก็อยู่ได้ การย้ายคนลงมาอยู่ข้างล่าง(โป่งลึก-บางกลอย)เท่ากับทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราผิดแผกไปจากเดิมซึ่งรูปแบบชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เราสูญเสียความเป็นตัวตน เช่นเดียวกับชาวกะเหรี่ยงที่สวนผึ้งซึ่งวันนี้ต้องไปเป็นลูกจ้างรีสอร์ท จัดสวนและทำงานบ้านให้กับคนรวย’ ‘วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลง อาหารการกินเปลี่ยนแปลง ความคิดเปลี่ยนแปลง วัฒนธรรมย่อมเปลี่ยนแปลง’ เขากล่าว ทางด้าน พฤ โอ่โดเชา ให้ความเห็นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เขารู้สึกหายใจไม่ออก เรามองเห็นปัญหาแต่ไม่รู้ว่าจะแก้ไขปัญหาหรือหาทางออกได้อย่างไร หน่วยงานรัฐสร้างสถานการณ์อะไรก็ได้เพราะสังคมไทยยังรู้สึกว่า ‘ชาวเขาทำลายป่า’ ค้ายาหรือเป็นชนกลุ่มน้อยที่ต้องผลักดันออกนอกพื้นที่ประเทศไทย “แนวคิดรัฐยังไม่มีความเข้าใจเรื่องการปรับตัวอยู่กับธรรมชาติอย่างสอดคล้องสมดุลได้แต่จัดสรรที่ดินทำกินให้อย่างไร้หลักเกณฑ์และความเข้าใจในวิถีวัฒนธรรมของคนกะเหรี่ยง” เขากล่าว เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ดินน้ำป่า ให้ความเห็นว่า เราต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ได้ว่าชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอย ไม่ใช่กลุ่มคนที่เข้าไปตัดไม้ทำลายป่า เกี่ยวพันกับยาเสพติดหรือมีอาวุธเอาไว้ในครอบครอง สิ่งสำคัญ คือ การพิสูจน์ประเด็นการโยกย้ายพวกเขาลงมายังพื้นราบเป็นการทำลายพื้นที่ทางวัฒนธรรม สูญสิ้นเอกลักษณ์ ซึ่งไม่สอดคล้องกับทางเลือกที่รัฐเป็นผู้ยื่นข้อเสนอให้ ทางด้าน นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ให้ความเห็นว่า สิ่งสำคัญ คือ เราต้องสรุปและยืนยันในเรื่องสิทธิของความเป็นชุมชนดั้งเดิม การเผาทำลายบ้านเรือนและยุ้งข้าว คือ การทำลายทรัพย์สินส่วนบุคคลซึ่งทางเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจในการทำเช่นนั้นได้ แม้จะมีการอ้างมาตรา 22 ของกฎหมายอุทยานแห่งชาติและการโยกย้ายคนลงมายังพื้นที่ที่จัดสรรเป็นการทำลายวิถีทางวัฒนธรรมดั้งเดิม เมื่อคนอยู่ไม่ได้ บางส่วนจึงย้ายกลับขึ้นไปอยู่ยังที่เดิมหรือบางส่วนออกไปรับจ้างอันเป็นทำลายสิทธิชุมชนซึ่งทางราชการไม่มีความเข้าใจในส่วนนี้ “การยืนยันเรื่องสิทธิชุมชนมีส่วนเข้าไปจัดการดูแลทรัพยากรของชุมชนเป็นสิ่งที่หน่วยงานในพื้นที่ไม่ได้ให้ความสำคัญ” คุณหมอกล่าว

6. หากเรามีที่ดินทำกินเพียงพอ เราคงไม่ต้องไปขอข้าวและไม่มีความจำเป็นต้องออกไปรับจ้าง ปู่ย่าตายายของเราผูกพันกับผืนป่า อยู่กันมานานนับร้อยปี ตั้งแต่เสือยังเดินเล่นในไร่ข้าว เราอยู่กันอย่างสมถะกลางผืนป่า สายน้ำลำห้วย ทำไร่ข้าว ปลูกพืชผักพอกิน ละเว้นประเวณีและการกินเนื้อ ไม่พูดปดพูดหยาบ ถือศีลอย่างเคร่งครัด ชีวิตของเราไม่ถูกควบคุมด้วยเงินทองและงานรับจ้าง - - วันนี้ เราต้องออกจากป่ามายังพื้นราบ จากต้นน้ำมายังปลายน้ำเพียงเพราะว่าเราเป็นชนกลุ่มน้อยซึ่งเราไม่เคยคิด สายตาคออี้ ผู้เฒ่า เหม่อออกไปไกล ไม่มีใครรู้ความคิดของเขา - - ‘ทำยังกับเขาไม่ใช่คน’ จึงมิใช่คำจำกัดความที่เกินเลยในความคิดของใครหลายคนในวินาทีนั้น “จะกลับไปอีกไหม” พฤ โอ่โดเชา ถามคออี้ผู้เฒ่า วัย 103 ปี ก่อนลมหายใจสุดท้ายจะมาถึง เราขอไปอยู่เคียงข้างภรรยาในไร่ข้าว เป็นคำตอบของเขา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท