รัฐสภาอาเซียนเพื่อพม่าร้องกดดันพม่าปฏิรูป ปชต. ปรับปรุงสิทธิมนุษยชน

กรุงพนมเปญ 21 กันยายน 2554 กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อพม่า หรือ ASEAN Inter-Parliamentary Myanmar Caucus (AIPMC) เผยแพร่เอกสาร ‘สิทธิทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจยังคงเป็นสิ่งขาดหายไปในพม่า’ เรียกร้องให้สมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) จัดการกับข้อห่วงใยพื้นฐานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เสรีภาพและประชาธิปไตยในพม่า เนื่องจากพม่ากำลังเข้ามาเป็นสมาชิก AIPA อย่างเต็มตัว และกำลังขอเป็นประธานอาเซียนในปี พ.ศ.2557 ที่จะถึงนี้ เอกสารดังกล่าวระบุว่า “นับว่าเป็นเวลาดีในประวัติศาสตร์ที่พม่าจะได้ปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง” “เราขอให้รัฐสมาชิกอาเซียนผลักดันให้พม่าริเริ่มปฏิรูปประชาธิปไตยอย่างก้าวหน้า และปรับปรุงด้านสิทธิมนุษยชนให้เท่าเทียมกับมาตรฐานสากลซึ่งบัญญัติไว้ในกฏบัตรอาเซียนและกฏหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศก่อนปี พ.ศ.2557ตามกฏบัตรอาเซียนซึ่งพม่าได้ลงนามไว้ เรียกร้องให้รัฐสมาชิก “ยึดมั่นในหลักการ ประชาธิปไตย...การเคารพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน” AIPMC มีความห่วงใยว่าการปกครองที่นำโดยกองทัพในพม่าไม่อาจทำให้เกิดการปฏิรูปประชาธิปไตยได้ ซึ่งขัดต่อหลักการในกฏบัตรอาเซียน ในปี พ.ศ.2553 รัฐธรรมนูญและกฏหมายเลือกตั้งที่ปราศจากความเป็นประชาธิปไตยได้ พรากสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งไปจากพรรคพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ National League of Democracy (NLD) “ดังนั้นเราขอเรียกร้องให้ AIPA เชื้อเชิญให้รัฐบาลพม่าทำการปฎิรูปอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้แน่ใจว่า สิทธิในการมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตยของทุกฝ่ายได้รับการปกป้อง ทั้งนี้รวมไปถึงการให้การยอมรับพรรค NLD ทางกฏหมาย ในฐานะเสียงฝ่ายค้านตามระบอบประชาธิปไตยของพม่าโดยชอบธรรม รวมทั้งจัดให้มีการเจรจากับกลุ่มต่อต้านต่างๆ ทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่ผู้นำชนกลุ่มน้อยทั้งหลาย” AIPMC ระบุว่า การปล่อยตัวนางอองซานซูจีเน้นย้ำให้เห็นอิทธิพลของตัวแสดงระดับนานาชาติ ซึ่งรวมถึงรัฐสมาชิกของอาเซียนในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและยืนยาวในพม่า แต่ถึงจะมีการปล่อยตัวนางอองซานซูจีแล้วก็ตาม ก็ยังมีนักโทษการเมืองอีกมากกว่า 2000 คนที่ยังถูกกักขังอยู่ในคุกพม่า พวกเขาจำนวนมากต้องทนทุกข์จากการทรมานและการปฎิบัติที่โหดร้ายทารุณระหว่างถูกคุมขัง ผู้จัดทำรายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในพม่า กล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า “การปล่อยตัว (นักโทษการเมือง) คือย่างก้าวที่จำเป็นและสำคัญในอันที่จะนำมาซึ่งการปรองดองแห่งชาติ และจะนำผลดีให้พม่าในการมุ่งสู่ประชาธิปไตย” AIPMC ยังเรียกร้องให้ AIPA เน้นย้ำข้อคิดเห็นดังกล่าว และลงมือทำเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการปลดปล่อยนักโทษการเมือง นักโทษทางความคิดหรือนักการเมืองที่มีลักษณะเดียวกัน โดยไม่มีข้อแม้ และโดยทันที เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิมนุษยชน ขอให้ AIPA มั่นคงและกล้าหาญในการเรียกร้องให้หยุดสงครามในพม่าโดยทันทีในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยหลายแห่งเช่น รัฐคะฉิ่น รัฐฉาน และรัฐกะเหรี่ยง ยังคงมีอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการวิสามัญฆาตกรรม การล่วงละเมิดทางเพศ การจับกุมตามอำเภอใจ การกักขัง และการพลัดถิ่นภายในประเทศ ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือบรรดาประชากรที่มีความเสี่ยงเช่น ชนกลุ่มน้อย ผู้พลัดถิ่น ผู้หญิงและเด็ก “เราจึงขอเรียกร้องให้ AIPA ร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศในการผลักดันให้ทหารพม่าปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วยการหยุดความขัดแย้งที่รุนแรง และขอให้ AIPA เชื้อเชิญให้รัฐบาลพม่าเจรจาสันติภาพกับภาคส่วนอื่นที่ไม่ใช่รัฐเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ ประชาธิปไตยและเสรีภาพได้อย่างสันติ “พวกเรายังมีความกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีความเชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาในพื้นที่ชนกลุ่มน้อย โครงการพัฒนาต่างๆเหล่านั้นได้นำไปสู่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การยึดที่ดิน การไร้ที่อยู่อาศัย การทรมาน ข่มขืน และการละเมิดสิทธิอย่างเป็นระบบในรูปแบบอื่นๆ โดยที่ไม่มีกฏหมายภายในประเทศข้อใดปกป้องประชาชนพม่าและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น พวกเราจึงขอเรียกร้องให้รัฐสมาชิกของ AIPA กระตุ้นให้รัฐบาลพม่าให้ความสำคัญต่อการปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมด้วยการออกกฏหมายมาบังคับใช้ รัฐสมาชิกของ AIPA ควรงดเว้นจากการลงทุนในโครงการพัฒนาในพม่าจนกว่าจะมีมาตรการทางกฏหมายดังกล่าว” นอกจากนี้ในเอกสาร AIPMC ชี้ว่า ยังมีความจำเป็นที่ต้องมีมาตรการในการตรวจสอบกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า เพื่อค้นหาความจริง และความยุติธรรม อีกทั้งเป็นการเยียวยาผู้ถูกละเมิดและครอบครัว และเพื่อล้มเลิกการงดเว้นไม่เอาโทษผู้กระทำผิดซึ่งขัดต่อการแสวงหาความยุติธรรมและสันติภาพในพม่า การตรวจสอบดังกล่าวควรเกิดขึ้นในลักษณะที่เป็นอิสระ เป็นกลาง และเชื่อถือได้ โดยได้รับการสนับสนุนจากประชาคมนานาชาติ “เราจึงขอเรียกร้องให้รัฐสมาชิกของ AIPA สนับสนุนการตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ หรือ Commission of Inquiry (CoI) โดยสหประชาชาติ” “เราขอเรียกร้องให้รัฐสมาชิก AIPA ริเริ่ม กระบวนการที่เป็นรูปธรรมสู่เสรีภาพ ความยุติธรรม และประชาธิปไตยในพม่าโดยการร่างและผ่านมติดังต่อไปนี้ 1) มติที่สะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีการเจรจาระดับชาติ ระหว่างรัฐบาล พม่าและกลุ่มต่อต้านต่างๆรวมถึงผุ้นำชนกลุ่มน่อย 2) มติเรียกร้องให้มีการปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชากรพม่า ร่วมถึงการหยุดละเมิดสิทธิ์ในพื้นที่ชนกลุ่มน่อยและปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด และ 3) มติสนับสนุนการตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (CoI) อนึ่ง กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อพม่าก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2547 โดยสมาชิกรัฐสภาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความสนใจและมีอุดมการณ์ร่วมกันในการติดตามกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศพม่า มีวัตถุประสงค์หลักในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า ปัจจุบันมีสมาชิกจาก 6 ประเทศคือ มาเลเซีย ไทย กัมพูชา สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท