สังคมสงฆ์และพุทธศาสนา มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมพูดในรายการ “ปอกเปลือกข่าว” (ทางสปริงนิวส์ ศุกร์ที่ 23 กันยายน ที่ผ่านมา) ว่า “ถ้ายกเลิกระบบสมณศักดิ์ได้จะดีที่สุด เพราะระบบสมณศักดิ์เป็นระบบศักดินาพระที่เป็นมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์” แต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านเวลาทำให้อธิบายเหตุผลไม่ละเอียดพอ จึงอยากนำมาเขียนเพื่อแลกเปลี่ยนถกเถียงกันต่อไป สังเกตไหมครับ เวลาที่พระหรือนักวิชาการชาวพุทธพูดถึงแนวคิดทางสังคมการเมืองของพุทธศาสนา มักจะยกตัวอย่างว่า พระพุทธเจ้าสร้างสังคมสงฆ์ขึ้นมาเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างจากสังคมระบบชนชั้นแบบกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ของศาสนาพราหมณ์ ระบบสังคมสงฆ์เป็นระบบสังคมในอุดมคติที่มีเสรีภาพ และความเสมอภาค เป็นแบบอย่างของสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตย แต่คำถามคือ ข้ออ้างดังกล่าวจะมีความหมายอะไร ในเมื่อความเป็นจริงคือ สังคมสงฆ์ปัจจุบันมีระบบสมณศักดิ์หรือระบบศักดินาพระอันเป็นมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และโครงสร้างการปกครองของสงฆ์ปัจจุบันก็เป็นโครงสร้างตามกฎหมายเผด็จการคือ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ที่ตราขึ้นในสมัยเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ฉะนั้น ระบบของสังคมสงฆ์ปัจจุบัน จึงเป็นมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์บวกระบบเผด็จการที่เป็นมรดกยุคสฤษดิ์ ซึ่งระบบเช่นนี้ขัดแย้งโดยพื้นฐานกับโครงสร้างสังคมสงฆ์ที่พระพุทธเจ้ากำหนดขึ้นตามพระธรรมวินัย โครงสร้างของสังคมสงฆ์ตามพระธรรมวินัยนั้น พระสงฆ์เสมอภาคกันภายใต้พระธรรมวินัย หมายความว่า พระทุกรูปได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามพระธรรมวินัย และเมื่อประพฤติผิดพระธรรมวินัยก็ได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ได้รับพุทธานุอนุญาตให้ครอบครองไตรจีวรและอัฐบริขารเท่าที่จำเป็นเสมอกัน หากได้รับบริจาคส่วนเกิน เช่นรับบริจาคจีวรเกินกว่าที่มีสิทธิ์ครอบครอง ก็ต้องมอบส่วนเกินนั้นให้เป็นของสงฆ์หรือของส่วนรวม ประชาคมสงฆ์สามารถพิจารณาให้สมาชิกของสงฆ์รูปอื่นซึ่งขาดแคลนนำของส่วนรวมนั้นไปใช้ประโยชน์ได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ยุติธรรมแก่พระทุกรูปอย่างเท่าเทียม สังคมสงฆ์แบบพุทธกาลไม่มีฐานันดร (จะว่าไปพระพุทธเจ้าคือผู้สละฐานันดรมาเป็นสามัญชน แต่พระสงฆ์ปัจจุบัน มีพื้นเพมาจากชนชั้นล่าง แต่พยายามไต่เต้าขึ้นไปสู่ความมีฐานันดร) การแสดงความเคารพต่อกันถืออาวุโสทางพรรษา (บวชก่อน-หลัง) แต่การยกย่องให้มีบทบาทสำคัญ เช่น เป็นพระอัครสาวก เป็นเอตทัคคะ (เป็นเลิศ) ในด้านต่างๆ พิจารณาจากความสามารถ ไม่ได้พิจารณาจากลำดับอาวุโส เช่น พระสารีบุตร กับพระโมคคัลลานะ บวชทีหลังพระปัญจวัคคีย์ แต่ได้รับแต่งตั้งเป็นอัครสาวกซ้าย-ขวา ตามความสามารถของท่านทั้งสอง เป็นต้น แต่โครงสร้างการปกครองสงฆ์ปัจจุบัน การขึ้นสู่ตำแหน่งการปกครองสงฆ์ระดับสูง เช่น เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม หรือเป็นพระสังฆราช ต้องเป็นไปตามลำดับอาวุโสด้านสมณศักดิ์ ทำให้พระหนุ่มๆ ที่มีความรู้ความสามารถไม่มีโอกาสเข้ามาบริหารงานคณะสงฆ์ อีกทั้งโครงสร้างของมหาเถรสมาคมก็เป็นโครงสร้างการบริหารแบบรวบอำนาจ หรือเป็นเผด็จการตาม พ.ร.บ.ที่ออกในยุคสฤษดิ์ดังกล่าวแล้ว นี่ยังไม่รวมถึงการวิ่งเต้นเรื่องสมณศักดิ์ที่มีการ “จ่ายเงินใต้โต๊ะ” ดังที่เป็นข่าว (และไม่เป็นข่าว) ซึ่งนับวันจะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดามากขึ้นในวงการสงฆ์ ทำให้เกิดปัญหาว่า พระที่วิ่งเต้นใช้จ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อให้ถูกเสนอชื่อเลื่อนสมณศักดิ์นั้นถือว่า “ต้องอาบัติปาราชิก” ขาดจากความเป็นพระหรือไม่ หากถือว่าต้องอาบัติปาราชิก ชาวบ้านจะแน่ใจได้อย่างไรว่าพระที่มีสมณศักดิ์ที่กราบไหว้กันอยู่นั้น ได้สมณศักดิ์นั้นๆ มาด้วยการจ่ายเงินใต้โต๊ะหรือไม่ ที่จริงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็มีคณะสงฆ์ฝ่ายก้าวหน้าที่เรียกตัวเองว่า “คณะปฏิสังขรณ์” พยายามเคลื่อนไหวให้มี พ.ร.บ.ปกครองสงฆ์ที่เป็นประชาธิปไตยให้สอดคล้องกับทางบ้านเมือง มีการเข้าพบ นายปรีดี พนมยงค์ ที่บ้านป้อมเพ็ชร จนในที่สุดทำให้เกิด พ.ร.บ.การปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ที่มีโครงสร้างการปกครองสงฆ์แบบประชาธิปไตย คือมีสังฆสภา และสังฆมนตรีคล้ายๆ กับคณะรัฐมนตรีทางบ้านเมือง แต่ต่อมา พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวก็ถูกฉีกทิ้งในยุคสฤษดิ์ ว่ากันว่าเหตุผลที่ต้องฉีก พ.ร.บ.ดังกล่าวทิ้ง เนื่องจากวันหนึ่งจอมพลสฤษดิ์ได้ไปฟัง (บ้างว่าแอบฟังอยู่หน้าประตูห้องประชุม) การประชุมสังฆสภา เห็นบรรยากาศพระถกเถียงกันเหมือนบรรยากาศในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เขาเห็นว่าไม่น่าเลื่อมใส จึงต้องฉีก พ.ร.บ.นั้นทิ้งไป แต่นั่นเป็นวิธีคิดของเผด็จการที่อย่างไรก็รับไม่ได้กับบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว ที่สำคัญเขาต้องการคุมคณะสงฆ์ให้ได้ เช่น ไม่อยากให้พระสอนธรรมะเรื่อง “สันโดษ” เพราะเห็นว่าขัดกับนโยบายพัฒนาประเทศ พระก็ต้องไม่สอน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การกระทำของสฤษดิ์ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในเมื่อเขาเป็นเผด็จการ เขาก็ต้องทำของเขาแบบนั้นอยู่แล้ว แต่การที่พระสงฆ์และชาวพุทธที่มักอ้างว่า “พระพุทธเจ้าสร้างสังคมสงฆ์ให้เป็นสังคมที่มีเสรีภาพ (วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบกันได้) มีความเสมอภาคเป็นแบบอย่างของความเป็นประชาธิปไตย” กลับยังยึดมั่นระบบสมณศักดิ์อย่างเหนียวแน่น และยอมรับกฎหมายเผด็จการจวบปัจจุบันนี่ต่างหากที่เป็นเรื่องแปลกอย่างไม่อาจอธิบายได้ จริงๆ แล้ว หากย้อนไปถึงหลักการที่แท้จริงของพุทธศาสนา ไม่ใช่แค่ระบบสมณศักดิ์และ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับเผด็จการเท่านั้น ที่พระสงฆ์และชาวพุทธพึงปฏิเสธ แม้แต่ “คติทศพิธราชธรรม” พระสงฆ์และชาวพุทธก็ควรยืนยันให้ชัดเจนตามหลักการที่แท้จริงของพุทธศาสนาด้วย เพราะทศพิธราชธรรม พระพุทธเจ้าตรัสสอนในบริบทของการปฏิเสธระบบชนชั้นแบบกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ท่านยืนยันว่ากษัตริย์ไม่ได้ถูกพระเจ้าสร้างมา หรือให้มีอำนาจแบบเทวสิทธิ์มาปกครองประชาชน แต่กษัตริย์ถูกประชาชนสมมติหรือแต่งตั้งขึ้น และการเป็นกษัตริย์ที่ดีต้องมีทศพิธราชธรรม ซึ่งการมีทศพิธราชธรรมนั้นต้องวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้ เพราะหากวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้ จะรู้ได้อย่างไรว่ามีทศพิธราชธรรมอย่างบริบูรณ์ไม่บกพร่องอย่างที่สรรเสริญกัน (อย่าลืมว่าในแง่ความบริสุทธิ์โปร่งใสตามพระธรรมวินัย พระพุทธเจ้าก็เรียกร้องให้ชาวพุทธตรวจสอบพระองค์ได้ อย่างที่เปรียบเทียบว่า “ทองแท้ไม่กลัวไฟ” หรือ “มือที่ไม่มีบาดแผลจุ่มลงไปในหม้อยาพิษก็ไม่เป็นไร”) คำถามคือว่า เวลาคณะสงฆ์หรือชาวพุทธพูดถึงความมั่นคงของพุทธศาสนาในบริบทโลกปัจจุบัน คณะสงฆ์หรือชาวพุทธตั้งโจทย์กันอย่างไร? ความมั่นคงของพุทธศาสนาหมายถึงความมั่นคงของระบบสมณศักดิ์ใช่ไหม หมายถึงความมั่นคงของโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ตาม พ.ร.บ.เผด็จการ 2505 ใช่ไหม ความมั่นคงของพุทธศาสนาต้องขึ้นต่อความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ หรือขึ้นต่ออุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์เท่านั้นใช่หรือไม่ หรือว่าความมั่นคงของพุทธศาสนาจำเป็นต้องสร้างสังคมสงฆ์ตามพระธรรมวินัยที่มีเสรีภาพและความเสมอภาคให้เป็นจริง เป็นสังคมสงฆ์ที่เป็นอิสระจากอำนาจรัฐให้มากที่สุด สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในเชิงจริยธรรมได้ เป็นสังคมสงฆ์ที่เป็นของประชาชน มีความสามารถตอบสนองต่อการแก้ทุกข์ของปัจเจกบุคคลและสังคม ปรับตัวเข้ากับยุคสมัยได้ดี มีความเป็นประชาธิปไตย พระสงฆ์เปิดกว้างทางความคิด รับฟังและเรียนรู้เท่าเท่าความคิดสมัยใหม่มากขึ้น ชาวบ้านเข้ามาตรวจสอบดูแล อุปถัมภ์ค้ำชูด้วยศรัทธา หากเขาเห็นว่าการมีอยู่ของคณะสงฆ์ และพุทธศาสนาเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แล้ว พุทธศาสนาอยู่มาได้เพราะสามารถปรับตัวและตอบสนองต่อปัญหาสังคมได้ในระดับที่สังคมในยุคนั้นๆ ยอมรับ ซึ่งหมายความว่าความมั่นของของพุทธศาสนาอยู่ที่พุทธศาสนาเกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างสมสมัย ฉะนั้น ความมั่นคงของพุทธศาสนาในปัจจุบันและอนาคตก็จำเป็นต้องตอบโจทย์ด้วยเช่นกันว่าพุทธศาสนาจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมปัจจุบันและอนาคตในแง่ไหน อย่างไร แต่หากยังติดอยู่ใน “กับดัก” ของอุดมการณ์หรือจิตสำนึกแบบพุทธมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ทำงานผ่านโครงสร้างสังคมสงฆ์ภายใต้ระบบสมณศักดิ์และ พ.ร.บ.เผด็จการ พ.ศ.2505 ภายใต้กับดักเช่นนี้ รังแต่จะทำให้สถาบันสงฆ์ และบทบาทการชี้นำทางศีลธรรมของพุทธศาสนาโดยรวมอ่อนแอลงเรื่อยๆ!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท