ทุ่งสงศูนย์กลางโลจิสติกส์ เชื่อมโครงข่ายขนถ่ายสินค้าอาเซียน+จีน

ภาพตัวอย่างศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้ - ทุ่งสง พิจารณาจากสภาพภูมิศาสตร์แล้ว อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช น่าจะเหมาะสมที่สุดที่จะถูกกำหนดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคใต้ เพราะหากเปรียบภาคใต้เป็นคน อำเภอทุ่งสงก็คือสะดือของภาคใต้ ที่มีโครงข่ายคมนาคมเป็นเสมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงร่างกาย ข้อพิจารณาดังกล่าว เป็นเหตุผลของการก่อเกิด “โครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้–ทุ่งสง (Cargo Distribution Center : CDC–Thongsong)” โครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้–ทุ่งสง ถูกหยิบยกขึ้นมาผลักดันในช่วงที่นายภาณุ อุทัยรัตน์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช จากการนำเสนอของนางวานิช พันธุ์พิพัฒน์ ตัวแทนสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช จากนั้นนายทรงชัย วงษ์วัชรดำรง นายกเทศมนตรีเมืองทุ่งสง จึงได้เสนอพื้นที่บริเวณหมวดศิลา รอยต่อตำบลปากแพรก และตำบลชะมาย อำเภอทุ่งสง ซึ่งเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื้อที่ 85 ไร่ เป็นที่ตั้งโครงการ ต่อมา โครงการนี้ได้รับการบรรจุในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดนครศรีธรรมราช และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (ชุมพร สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง) มอบหมายให้เทศบาลเมืองทุ่งสงรับผิดชอบ พร้อมกันนั้น ยังได้รับการสนับสนุนจากนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกันจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ขอความช่วยเหลือด้านเทคนิคจาก Cities Development Initiative For Asia (CDIA) ของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank–ADB) โดยการสนับสนุนของกระทรวงมหาดไทย CDIA ได้จ้างทีมที่ปรึกษาศึกษาความเป็นไปได้ของศูนย์กระจายสินค้าและการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องของเมือง ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2553–พฤศจิกายน 2553 ผลการศึกษาถูกนำเสนอ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการฝ่ายอำนวยการและฝ่ายปฏิบัติการในคณะกรรมการประสานความร่วมมือแบบบูรณาการและติดตามผลการบริหารงานขับเคลื่อนโครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้า (CDC) ภาคใต้–ทุ่งสง เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2554 มีนายสุทธิพงษ์ เทิดรัตนพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานการประชุม ที่ประชุมมีมติให้เทศบาลเมืองทุ่งสงดำเนินการขอเช่าที่จากการรถไฟแห่งประเทศไทย ในรูปแบบหน่วยงานรัฐต่อหน่วยงานรัฐ ผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ส่วนการบริหารจัดการ CDC ต้องทำในรูปแบบบริษัท มอบหมายให้เทศบาลเมืองทุ่งสงไปศึกษาแนวทางการจัดตั้งบริษัท ซึ่งเทศบาลเมืองทุ่งสง ได้ศึกษาการจัดตั้งบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ของกรุงเทพมหานคร เพื่อนำรูปแบบการบริหารจัดการด้านโครงสร้างพื้นฐานของกรุงเทพมหานคร เป็นแนวทาง ส่วนพื้นที่โครงการ ในเบื้องต้นได้มีการเสนอของบประมาณก่อสร้างถนน ทางเข้าโครงการศูนย์กระจายสินค้า วงเงินงบประมาณ 42 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2554 พื้นที่โครงการอยู่ห่างจากสถานีรถไฟทุ่งสงประมาณ 3 กิโลเมตร ติดเส้นทางรถไฟสายทุ่งสง–กันตัง จังหวัดตรัง อยู่ใกล้ทางหลวงหมายเลข 403 ประมาณ 825 เมตร และอยู่ใกล้ทางหลวงหมายเลข 41 ประมาณ 1.2 กิโลเมตร พื้นที่สำหรับการพัฒนาโครงการ เนื้อที่ 60 ไร่ จากทั้งหมด 85.43 ไร่ แบ่งเป็นระยะที่ 1 จำนวน 35 ไร่ ระยะที่ 2 อีก 25 ไร่ วงเงินงบประมาณในการก่อสร้างระยะแรก 486 ล้านบาท ประกอบด้วย การก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ 2 กิโลเมตรจากสถานีชุมทางทุ่งสงมายังศูนย์กระจายสินค้าฯ 28 ล้านบาท และก่อสร้างถนนทางเข้าโครงการ และพื้นที่ขนถ่ายสินค้า ผลศึกษาความเป็นไปได้ของศูนย์กระจายสินค้าและการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องของเมืองระบุว่า เป็นโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ โดยตั้งอยู่ในจุดที่เหมาะสมในการเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้า เสมือนสะดือของภาคใต้ โดยเฉพาะการขนส่งทางราง ที่จะเชื่อมการขนส่งทางรางกับท่าเรือน้ำลึกสงขลา ท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ท่าเรือกันตัง และท่าเรือบ้านนาเกลือ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ท่าเรือระนอง ท่าเรือขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมทั้งท่าเรือปีนังของประเทศมาเลเซีย รองรับการขนถ่ายสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม ในจังหวัดนครศรีธรรมราชและใกล้เคียง คาดว่าจะมีลูกค้ามาใช้บริการขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ปีละ 20,000 ตู้ เนื่องจากปัจจุบันมีสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมอยู่แล้วคือ ปูนซิเมนต์ อุตสาหกรรมสินแร่ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ส่วนสินค้าเกษตร คือ ยางพาราและไม้ยางพาราแปรรูป ปาล์มน้ำมัน กาแฟ ข้าว ซึ่งเป็นผลผลิตของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย และกลุ่มจังหวัดใกล้เคียง ปริมาณสินค้าในพื้นที่ ไม่ต่ำกว่า 1,270,000 ตันต่อปี นอกจากนี้ ยังรองรับการขนส่งสินค้าจากนิคมอุตสาหกรรมนาบอน ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 20 กิโลเมตร แม้เนื้อที่โครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้–ทุ่งสงมีไม่มาก หากเปรียบเทียบกับโครงการขนาดใหญ่อื่นๆ แต่ก็ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมต่อการขนส่งสินค้าในภาคใต้ เชื่อมโยงกับการขนส่งและการจราจรในกลุ่มประเทศอาเซียน เพราะอยู่ในเส้นทางหลักเชื่อมโยงกับประเทศจีน ลงไปจนถึงประเทศสิงคโปร์ ข้อได้เปรียบของศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้–ทุ่งสงคือ อยู่ใกล้ทางรถไฟสายใต้ ห่างจากสถานีชุมทางทุ่งสงในสายทุ่งสง–กันตังประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งในอนาคตการรถไฟแห่งประเทศไทย มีแผนที่จะก่อสร้างรถไฟรางคู่ทั่วประเทศอยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็มีแผนที่จะก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงร่วมกับสาธารณรัฐประชาชนจีน จากกรุงเทพมหานคร ลงไปปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เชื่อมกับประเทศมาเลเซีย และประเทศสิงคโปร์ อันเป็นความต้องการของประเทศจีนที่จะเปิดเส้นทางตอนใต้ของประเทศเข้าสู่อาเซียน ซึ่งเริ่มจากเมืองคุนหมิง เข้าประเทศลาว ผ่านจังหวัดหนองคาย ลงมากรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ อำเภอทุ่งสงก็อยู่ในโครงข่ายถนนเชื่อมโยงตั้งแต่ตอนใต้ของจีนลงไปจนถึงสิงคโปร์ ตามแนวเหนือ–ใต้ เริ่มจากถนนสาย R3A จากเมืองเชียงรุ้ง ประเทศจีน หลวงน้ำทา ประเทศลาว และอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เชื่อมกับโครงข่ายถนนลงมาสู่ภาคใต้ของประเทศไทย เข้าประเทศมาเลเซีย ลงไปจนถึงประเทศสิงคโปร์ อีกเส้นทางคือ สาย R3B ที่เข้าทางประเทศพม่า มาสู่ประเทศไทยที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย อีกเส้นทางในแนวเหนือ–ใต้ เริ่มจากเมืองหลวงน้ำทา เข้าไปยังเมืองหลวงพระบาง เวียงจันทร์ ประเทศลาว แล้วเลาะเลียบฝั่งแม่น้ำโขงทางฝั่งประเทศลาว ลงไปจนถึงชายแดนประเทศกัมพูชา ที่แขวงจำปาสักทางตอนใต้ของลาว เชื่อมต่อไปยังกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา ต่อไปยังเมืองโฮจิมินห์ซิตีของเวียดนาม ส่วนเส้นทางแนวตะวันออก–ตะวันตก ที่เชื่อมพม่า ไทย ลาว และเวียดนาม เริ่มจากกรุงย่างกุ้ง–มะละแหม่ง (พม่า)–ตาก–พิษณุโลก–ขอนแก่น–มุกดาหาร–สะหวันนะเขต (ลาว)–กวางตรี–เว้–ดานัง (เวียดนาม) ถัดลงมาเป็นเส้นทางสายทวาย (พม่า)–กาญจนบุรี–กรุงเทพมหานคร–อุบลราชธานี–จำปาสัก (ลาว) ก่อนจะแยกไปยังเมืองปากซันของประเทศลาว เว้ ดานัง ควิเยน ลงใต้ไปยังเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ของประเทศเวียดนาม เชื่อมกับเส้นทางที่มาจากคุนหมิงของสาธารณรัฐประชาชนจีน และเชื่อมไปยังกรุงพนมเปญของประเทศกัมพูชา กลับมาเข้าประเทศไทยทางภาคตะวันออก ต่อไปยังภาคตะวันตกของไทย เข้าสู่เมืองกาญจนบุรีไปยังเมืองทวายของประเทศพม่า ทั้งสองเส้นทางแนวตะวันออก–ตะวันตก จะตัดกับเส้นแนวเหนือ–ใต้ทั้งสองเส้นทาง กลายเป็นโครงข่ายถนนที่เชื่อมโยงกันทั้งหมดในคาบสมุทรมลายูและคาบสมุทรอินโดจีน โดยมีต้นทางจากเมืองคุนหมิงประเทศจีน มีเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราชอยู่บนเส้นทางหลัก ที่จะเข้าสู่ประเทศมาเลเซียและสิงโปร์ ทั้งเทศบาลเมืองทุ่งสงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างหมายมั่นปั้นมือว่า โครงการนี้จะเกิดขึ้นได้ในไม่ช้า เพราะเป็นโครงการที่มีส่วนสำคัญต่อการขนส่งสินค้าของอาเซียนในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท