Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

คดีของจินตนา แก้วขาว แกนนำของกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติบ่อนอก-หินกรูด ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งถูกฟ้องดำเนินคดีจากบริษัทที่ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนับเป็นตัวอย่างคดีหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติบ่อนอก-หินกรูดเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงของขบวนการประชาชนจากการต่อสู้เพื่อปกป้องชุมชนและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นมาอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะในการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งเดิมเคยมีแผนที่จะก่อสร้างในพื้นที่แห่งนี้ แฟ้มภาพ: ประชาไท แม้ว่าในขณะนี้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจะยกเลิกไปอย่างสิ้นเชิง แต่ก็เฉกเช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวของประชาชนที่มักจะต้องเผชิญกับการดำเนินในทางกฎหมายด้วยข้อหาต่างๆ ในกรณีของกลุ่มอนุรักษ์ฯ บ่อนอก-หินกรูด จินตนาถูกฟ้องว่าได้ร่วมกับพวกจำนวนหลายคนบุกรุกเข้าไปในบริษัทซึ่งดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าหินกรูด และร่วมกันใช้ของเน่าเสียสกปรกขว้างปาและเทลงบนโต๊ะอาหาร ซึ่งขณะนั้นกำลังจัดงานเลี้ยงครบรอบ 3 ปี ของโครงการโรงไฟฟ้า อันเป็นการกระทำผิดฐานบุกรุกจึงได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับจินตนา และต่อมาทางอัยการก็ได้ฟ้องร้องเป็นคดีในชั้นศาล คดีนี้ได้ผ่านการพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ซึ่งมีคำพิพากษาที่แตกต่างกันอย่างน่าสนใจ คำพิพากษาของศาลชั้นต้น หมายเลขแดง 3283/2546 (สรุปสาระและเรียบเรียงโดยผู้เขียน) เห็นว่าตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 บัญญัติเรื่องสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยเอาไว้ในหมวดที่ 3 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง (เสรีภาพในการแสดงความเห็น) มาตรา 44 (เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ) มาตรา 46 (สิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากร) ซึ่งบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ ในรูปแบบที่ต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับในอดีต คดีนี้เกี่ยวข้องกับความมุ่งหมายดังกล่าว จึงต้องพิจารณาพยานหลักฐานด้วยความละเอียดอ่อนมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดหรือคนดีถูกรังแกโดยกลไกทางกฎหมาย ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด อันมีความหมายว่าในการพิจารณาคดีนั้น ศาลจะนำพยานหลักฐานใดมาฟังลงโทษจำเลยได้ก็ต่อเมื่อพยานหลักฐานนั้นไม่มีข้อตำหนิ ข้อบกพร่อง ในการวินิจฉัยของศาลได้ให้เหตุผลว่าพยานโจทก์บางส่วนมีคดีความกับคุณจินตนา และคดียังอยู่ในการพิจารณาของศาล ทำให้คำเบิกความขาดความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้การเบิกความของพยานโจทก์ก็ขัดกัน บางส่วนเห็นคุณจินตนาเป็นผู้นำกลุ่มคัดค้านเข้ามาในบริเวณงานแล้วไปยืนบงการให้มีการเทของเสีย แต่บางส่วนของพยานก็ให้ปากคำว่าเป็นการกระทำของกลุ่มผู้คัดค้านเอง ไม่ได้มีการสั่งจากจำเลย เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์โดยเฉพาะพยานบุคคลล้วนเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัททั้งสิ้น ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องโดยเป็นพนักงานหรือมีผลประโยชน์ในทางอื่น เช่น เป็นผู้รับจ้างมาจัดอาหารในงานเลี้ยง การพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์จึงต้องใช้ความระมัดระวังและเมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้วก็เกิดข้อสงสัยว่าพยานดังกล่าวถูกปั้นแต่งขึ้นมาเพื่อใส่ร้ายจำเลยหรือไม่ ศาลได้ตัดสินว่าพยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมาทั้งหมดยังไม่พอฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง จึงพิพากษายกฟ้อง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 หมายเลขแดงที่ 2355/2548 (สรุปสาระและเรียบเรียงโดยผู้เขียน) คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายคนหนึ่งที่ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินของบริษัทหรือไม่ พยานโจทก์เบิกความว่าขณะที่พยานกำลังจัดเตรียมอาหารและตั้งโต๊ะเพื่อเลี้ยงแขกที่จะมาร่วมงาน จำเลยซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหินกรูดได้เดินนำพวกของจำเลยอีกหลายสิบคนเข้ามาบริเวณที่เกิดเหตุที่มีการตั้งเวทีดนตรีและโต๊ะอาหาร เมื่อจำเลยกับพวกเดินไปถึงบริเวณโต๊ะอาหาร จำเลยพูดว่าพวกเราเอาน้ำปลาวาฬใส่เลยพร้อมกับชี้นิ้วไปบริเวณโต๊ะ หลังจากนั้นพวกของจำเลยก็ได้เทน้ำปลาวาฬและขว้างปาสิ่งปฏิกูลในบริเวณงานเลี้ยง มีพยานจำนวน 4 คน ให้ปากคำในชั้นสอบสวนต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเห็นจำเลยเป็นผู้สั่งการ แต่ในชั้นศาลกลับเบิกความแตกต่างไป บางคนเห็นว่าเดินผ่านไปเฉยๆ ไม่ได้ชี้นิ้วหรือพูดอะไร บางคนเห็นว่าจำเลยไม่ได้สั่ง ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้พยาน 4 คน จะเบิกความแตกต่างกับคำให้การในชั้นสอบสวน “ก็อาจเนื่องจากพยานโจทก์เหล่านี้เกรงกลัวต่ออิทธิพลของจำเลย หรือมิฉะนั้นอาจกลับใจเบิกความเพื่อช่วยเหลือให้จำเลยพ้นจากความผิด” ซึ่งเมื่อได้พิจารณาคำให้การของจำเลยทั้ง 4 คนแล้วเห็นว่าสอดคล้องเชื่อมโยงกับคำเบิกความของพยานโจทก์ปากอื่นๆ จึงเชื่อว่าทั้ง 4 คน “ให้การต่อพนักงานสอบสวนตามความเป็นจริงยิ่งกว่าคำเบิกความของพยานโจทก์เหล่านี้ในชั้นพิจารณา” อีกทั้งพยานโจทก์เหล่านี้ก็ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ทั้งบางคนก็ปฏิบัติการตามหน้าที่ ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งปรักปรำให้ร้ายจำเลย ที่จำเลยนำสืบว่าไม่ได้เข้าไปในบริเวณที่เกิดเหตุก็คงมีเฉพาะตัวจำเลยเบิกความลอยๆ เป็นพยานปากเดียว จำเลยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนในข้อนี้ ทั้งๆ ที่อ้างว่าขณะเกิดเหตุมีพวกของจำเลยอยู่ด้วย พยานจำเลยจึงมีน้ำหนักน้อยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยกับพวกอีกหลายคนได้เข้าไปในบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งเป็นของผู้เสียหาย แล้วจำเลยกับพวกใช้ของเน่าเสียและสิ่งปฏิกูลขว้างปาใส่เวทีแสดงดนตรี โต๊ะอาหาร อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามที่ฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้จำคุก 6 เดือน จะเห็นได้ว่าการพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีการให้ความสำคัญและการให้ความหมายต่อข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันไป อย่างน้อยในประเด็นดังต่อไปนี้ ประการแรก สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ประการที่สอง ความน่าเชื่อถือของพยาน ประการที่สาม การให้ปากคำในชั้นศาลกับชั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ อันนำมาซึ่งผลของการตัดสินที่แตกต่างกัน ไม่ว่าคำพิพากษาของศาลฎีกาจะวินิจฉัยและมีคำพิพากษาไปในลักษณะเช่นใด ระหว่างการลงโทษตามศาลอุทธรณ์หรือยกฟ้องตามศาลชั้นต้น แต่ก็จะเป็นคดีที่เป็นบทเรียนอย่างสำคัญทั้งกับกระบวนการยุติธรรมและการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิของชุมชนท้องถิ่นในสังคมไทย หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่คอลัมน์กฎเมืองกฎหมาย เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ 29 ก.ย.2554

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net