Skip to main content
sharethis

สภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย (TCTU) สัมมนา “สหภาพแรงงานบรรษัทข้ามชาติและการเจรจาต่อรองร่วม” ชี้หากผลักดันให้รับ ILO 87 – 98 สหภาพแรงงานไทยเองก็ควรให้คนงานสัญญาจ้างระยะสั้น คนงานเหมาช่วงเหมาค่าแรง คนงานข้ามชาติเข้าร่วมสหภาพแรงงานของตนและทำกิจกรรมร่วมกันไม่แบ่งแยก 29 ก.ย. 54 – ที่ธารามณีรีสอร์ท ต.บ้านกล่ำ อ.แกลง จ.ระยอง สภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย (TCTU) จัดงานสัมมนาเรื่อง “สหภาพแรงงานบรรษัทข้ามชาติและการเจรจาต่อรองร่วม” ในหัวข้อ “มาตรฐานแรงงานสากล” โดย วรดุลย์ ตุลารักษ์ นักวิจัยด้านแรงงาน กล่าวว่า มาตรฐานแรงงานสากลที่สำคัญ โดยเฉพาะอนุสัญญาหลักขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 เสรีภาพในการรวมกลุ่ม และ 98 สิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม เป็นมาตรฐานแรงงานที่ยอมรับกันทั่วโลก โดยนายจ้างและรัฐบาลต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าวแม้ว่ารัฐบาลไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันก็ตาม ที่สำคัญสำหรับประเทศไทยก็คือ การไม่แทรกแซงการจัดตั้งสหภาพ การดำเนินกิจกรรมของสหภาพ และการยอมรับการเจรจาต่อรองร่วมกับตัวแทนคนงานด้วยความสุจริตใจ นอกจากนี้รัฐบาลก็ควรให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวเพื่อปรับปรุงกฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับเนื้อหาของอนุสัญญา ส่วนสหภาพแรงงานเองควรนำเอาเนื้อหาของอนุสัญญาดังกล่าวมาปฏิบัติด้วย ยกตัวอย่างเช่น เปิดโอกาสให้คนงานสัญญาจ้างระยะสั้น คนงานเหมาช่วงเหมาค่าแรง คนงานข้ามชาติเข้าร่วมสหภาพแรงงานของตนและเจรจาต่อรองร่วมเพื่อทำข้อตกลงสภาพการจ้างฉบับเดียวกันกับคนงานที่ไม่ใช่คนงานประจำด้วย แนวปฏิบัติขององค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสำหรับบรรษัทข้ามชาติ (OECD Guidelines For MNCs) เป็นมาตรฐานสากลที่สำคัญอีกมาตรฐานหนึ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นสมาชิก OECD กำหนดขึ้นมาให้บรรษัทข้ามชาติในประเทศของตนที่ไปดำเนินการในประเทศอื่นนำไปปฏิบัติแม้จะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายก็ตาม สำหรับสหภาพแรงงาน เนื้อหาที่สำคัญของแนวปฏิบัตินี้คือบทที่ 3 เรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางธุรกิจ โครงสร้างบรรษัท ข้อมูลทางการเงิน เงินเดือนผู้บริหาร ข้อมูลดังกล่าวจะทำให้การเจรจาแบ่งปันผลกำไรกับลูกจ้างเป็นไปได้อย่างเป็นธรรมมีเหตุมีผล ส่วนบทที่ 4 ของแนวปฏิบัตินี้คือการจ้างงานและแรงงานสัมพันธ์ที่เน้นการเคารพสิทธิของคนงานในการมีตัวแทน สิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมอย่างสร้างสรรค์ และที่สำคัญคือการส่งเสริมการปรึกษาหารือและความร่วมมือระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เป็นต้น แนวปฏิบัติของ OECD จะเป็นประโยชน์หากสหภาพแรงงานนำไปเปรียบเทียบกับสภาพการทำงานของคนงานในสถานประกอบการของตน และสามารถนำไปพัฒนาเป็นข้อตกลงสภาพการจ้างได้อีกด้วย ในหัวข้อ “สถานการณ์การเจรจาต่อรองร่วมในภาคตะวันออก” นำเสนอโดย บุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก ได้นำเสนอข้อมูลการเจรจาต่อรองร่วมและปัญหาที่คนงานภาคตะวันออกกำลังเผชิญอยู่ ในปี 2554 จำนวนสถานประกอบการใน จ.ชลบุรี 15,442 แห่ง จ.ระยอง 5,313 แห่ง จำนวนลูกจ้าง จ.ชลบุรี มีลูกจ้างชาย 297,442 คน ลูกจ้างหญิง 288,395 คน จ.ระยอง มีลูกจ้างชาย 167,531 คน ลูกจ้างหญิง 102,061 คน จ.ชลบุรีมีสหภาพแรงงาน 178 แห่ง (ดำเนินกิจกรรม 131 แห่ง) จ.ระยองมีสหภาพแรงงาน 138 แห่ง (ยังดำเนินกิจกรรม 130 แห่ง) ด้านสถานการณ์แรงงานที่สำคัญของ จ.ระยอง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2553 – 25 ก.ย. 2554 พบว่ามีการยื่นข้อเรียกร้องรวม 78 แห่ง ได้ข้อยุติ 58 แห่ง ยังไม่ยุติ 21 แห่ง มีลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 28,379 คน เกิดข้อพิพาทแรงงานรวม 18 แห่ง ยุติไป 16 แห่ง ยังไม่ยุติ 16 แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 7,113 คน เกิดข้อขัดแย้ง 7 แห่ง ยุติไปทั้ง 7 แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 5,330 คน บรรลุข้อตกลงกับนายจ้าง 74 แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 22,705 คน สิทธิประโยชน์ทั้งหมด 2,040,658,853.50 บาท ดังตัวอย่างตัวเลขด้านสถานการณ์แรงงานที่สำคัญของ จ.ระยอง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2553 – 25 ก.ย. 2554 นั้น สหภาพแรงงานในภาคตะวันออกมีความเคลื่อนไหวยื่นข้อเรียกร้องอย่างต่อเนื่องมีทั้งประสบผลสำเร็จ และยังไม่ยุติ ทั้งนี้ก็ขึ้นกับวิธีการเทคนิคของสหภาพแรงงานต่างๆ ความเข้มแข็งของแต่ละสหภาพแรงงาน และการให้ความร่วมมือลงมาเจรจาของฝ่ายนายจ้าง บุญยืนกล่าวถึงตัวกรณีตัวอย่างของสหภาพแรงงานในสถานประกอบการณ์ขนาดเล็กแห่งหนึ่งในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ มีจำนวนคนงานทั้งโรงงาน 50 กว่าคน มีจำนวนสมาชิกสหภาพ 42 คน บริษัทใช้เทคนิคการปิดงานสมาชิกสหภาพฯ และนำคนงานเหมาช่วงเข้ามาทำงานแทน ถึงแม้คนงานจะมีการประท้วงเรียกร้องหน้าโรงงาน แต่ไม่สามารถกลับเข้าไปทำงานได้ เป็นมุมสะท้อนของเรื่อง “กำลัง” ซึ่งหลายคนอาจมองว่าสหภาพแรงงานขนาดเล็กจะบริหารจัดการได้ง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้วการต่อสู้ระยะยาวอาจจะยาก บุญยืนกล่าวว่าสถานการณ์ในปัจจุบัน การเจรจาต่อรองร่วมกันระหว่างสหภาพแรงงานและนายจ้างยังคงเป็นวิธีการที่ต้องปฏิบัติ สำหรับเทคนิคอื่นๆ เช่นการหยุดงานตามสิทธิทางกฎหมายและการงดโอที หลายครั้งที่สถานการณ์บังคับให้คนงานต้องใช้วิธีนี้ ซึ่งนายจ้างเองก็มีเทคนิควิธีที่น่ากลัวนั่นก็คือการนำแรงงานชั่วคราวแรงงานเหมาช่วงเข้ามาทำงานแทน ระบบการผลิตของนายจ้างไม่สะดุด คนงานไม่สามารถรักษาพื้นที่การทำงานในโรงงานไว้ได้ ทำให้หลายครั้งต้องจบด้วยความพ่ายแพ้ของคนงาน แต่บุญยืนกล่าวย้ำว่าวิธีการนัดหยุดงานนั้นเป็นวิธีการที่ต้องใช้ในสถานการณ์ที่เหมาะสม และสหภาพแรงงานต้องหาเทคนิควิธีการเพื่อให้การนำประเด็นปัญหาแรงงานขึ้นมาเจรจาต่อรองได้จะเป็นผลดีที่สุด นอกจากนี้บุญยืนยังกล่าวถึงประเด็นเรื่องระบบประกันสังคม สำหรับแรงงานในระบบประกันสังคมในจังหวัดชลบุรีและระยอง ที่เป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของแรงงานในระบบประกันสังคมทั้งประเทศ พบปัญหาเรื่องสถานพยาบาลให้เลือกไม่เพียงพอ คนงานไปใช้บริการต้องไปตั้งแต่เช้า โรงพยาบาลแออัด เนื่องจากจำวนผู้ใช้บริการมีมากกว่าสัดส่วนของสถานพยาบาล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net