Skip to main content
sharethis

30 ก.ย.54 ห้องพิจารณาคดี 801 ศาลอาญา ถนนรัชดาฯ มีการสืบพยานในคดีที่พนักงานอัยการฟ้อง นายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 61 ปี เป็นจำเลยในความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินีฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จฯ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 กรณีที่มีการส่งข้อความสั้น (SMS) เข้าสู่โทรศัพท์มือถือนายสมเกียติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 4 ครั้ง ในวันที่ 9, 11, 12, 22 พ.ค.53 ในช่วงเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยในวันนี้เป็นการสืบพยานจำเลย 3 ปาก ได้แก่ ตัวจำเลย หลานสาววัย 11 ปีของจำเลย และนางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายจำเลย โดยศาลมีคำสั่งเบิกตัวจำเลยจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เข้าให้การ ภายในห้องพิจารณามีผู้สนใจฟังการสืบพยานราว 20 คน รวมถึงครอบครัวจำเลยซึ่งประกอบด้วย ภรรยา ลูกสาว 3 คน และหลานสาวอีก 4 คน อายุ 4-11 ปี ทั้งนี้ ศาลนัดพิพากษาในวันที่ 23 พ.ย.54 เวลา 9.00 น. ห้องพิจารณาคดี 801 จำเลยเบิกความว่าไม่ได้เป็นผู้ส่งข้อความดังกล่าว และระบุว่า ทำงานขับรถส่งของมากว่า 20 ปี ก่อนจะออกมาอยู่บ้านเลี้ยงหลานๆ ราว 10 ปี ไม่ทราบว่าเบอร์ที่ส่งข้อความดังกล่าวเป็นของใคร และไม่เคยทราบเบอร์โทรของเลขานุการส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีมาก่อน อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าโทรศัพท์ของกลางเป็นของจำเลยจริง ซึ่งมักจะเอาไว้ในตู้ที่บ้าน บางครั้งก็นำติดตัวไปข้างนอกด้วย เป็นโทรศัพท์ที่ได้มาตั้งแต่ปี 2551 ใช้จนกระทั่งเครื่องเสีย และนำไปซ่อมในช่วงเดือน เม.ย. หรือ พ.ค. 53 จำไม่ได้แน่ชัดว่าวันใด เมื่อนำกลับมาใช้ได้พักหนึ่งก็เสียอีกในช่วงก่อนถูกจับกุมประมาณ 1 เดือน จากนั้นตนจึงนำซิมมาใส่เครื่องของภรรยา เขาเบิกความอีกว่า ในวันจับกุม (3 ส.ค.53) เวลาประมาณ 5.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกมาที่ห้องเช่าเพื่อจับกุมเขา และถามถึงโทรศัพท์มือถือที่ใช้ เมื่อนำเครื่องที่ใช้อยู่ซึ่งเป็นของภรรยามาให้ ตำรวจได้ถามถึงเครื่องอื่นๆ เขาจึงเดินเข้าไปหยิบเครื่องที่เสียและวางในตู้ให้เจ้าพนักงานด้วยตนเอง จำเลยเบิกความตอบทนายถามเรื่องสถาบันฯ ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า จำเลยเคารพและเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ และรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งกับเรื่องที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมาจำเลยเคยพาหลานๆ ไปลงนามถวายพระพรที่ รพ.ศิริราช ในช่วงปิดเทอม ในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพของพระเจ้าพี่นางเธอฯ จำเลยก็ได้ไปร่วมด้วย อัยการถามค้านว่าในวันเกิดเหตุจำเลยอยู่ที่ใด จำเลยตอบว่าจำไม่ได้ เมื่อถามว่าภายในบ้านมีบุคคลอื่นเข้าออกได้หรือไม่ จำเลยตอบว่ามีเพื่อนๆ ของภรรยาที่เข้าออกบ้านเป็นประจำ ด.ญ. เอ (นามสมมติ) หลานสาววัย 11 ปีของจำเลย เบิกความต่อศาลผ่านนักจิตวิทยาว่า จำเลยเคยพาไปลงนามถวายพระพรในหลวงเมื่อปี 2552 และที่ผ่านมาไม่เคยเห็นจำเลยใช้โทรศัพท์มือถือส่ง SMS ใช้แต่เพียงรับสายโทรเข้า และโทรออกโดยดูเบอร์ต่างๆ ที่จดไว้ในสมุด ทนายจำเลยเบิกความว่า ได้ติดต่อผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโทรคมนาคมประมาณ 4 คน ทั้งนักวิชาการและช่างซ่อมโทรศัพท์มือถือ โดยพยายามติดต่อนับสิบครั้งเพื่อให้มาเป็นพยานในคดีนี้ ทุกคนยินดีให้ข้อมูลแต่ไม่มีใครกล้ามา จึงต้องสอบถามข้อมูลและมาเบิกความเป็นพยานเอง โดยข้อค้นพบที่ได้จากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญและการค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตพบว่า เลข EMEI (อีมี่) ซึ่งเป็นเลข 15 หลักเฉพาะของโทรศัพท์มือถือแต่ละเครื่อง ซึ่งตำรวจใช้เป็นหลักฐานในคดีนี้นั้น สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แม้โดยหลักการจะออกแบบมาเฉพาะแต่ละเครื่อง เมื่อสอบถามช่างซ่อมมือถือก็ระบุว่า หากมีเครื่องมือและโปรแกรมเฉพาะก็สามารถแก้ไขได้ โดยใช้เวลาเฉลี่ยเพียงครึ่งชั่วโมง แต่ต้องแก้ให้เป็นเลขที่มีอยู่ในระบบของเครือข่ายต่างๆ อยู่แล้ว ซึ่งในอดีตนั้นคนจะแก้เลขอีมี่เพื่อทำให้โทรศัพท์ที่ใช้ไม่ได้กับบางระบบสามารถใช้การได้ หรือบางกรณีก็ลักลอบแก้ไขเพื่อให้หาหลักฐานติดตามตัวไม่ได้ ทนายจำเลยกล่าวต่อว่า ส่วนเลข 15 หลักนั้นจากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญและศึกษาเองพบว่า เลขหลักสุดท้ายเรียกว่า check digit ซึ่งจะตรวจสอบความถูกต้องของเลข 14 หลักแรก แต่ผู้ให้บริการในเมืองไทยจะเก็บตัวเลขเพียง 14 หลัก ซึ่งหากมีโทรศัพท์ที่หมายเลขอีมี่ตัวเลขสุดท้ายแตกต่างกัน ระบบก็จะประมวลผลเสมือนว่าเป็นเครื่องเดียวกันได้ ทั้งนี้ พยานได้นำส่งเอกสารข้อมูลจากเว็บไซต์วิกิพีเดียที่อธิบายเรื่องนี้ด้วย ขณะที่ก่อนหน้านี้พยานฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จากบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ทั้งดีแทคและทรู ให้การตรงกันว่า บริษัทเก็บข้อมูลอีมี่เพียง 14 หลัก เพราะหลักสุดท้ายไม่มีความสำคัญ และระบบจะกำหนดให้เองอัตโนมัติ โดยเจ้าหน้าที่จากดีแทคระบุว่าหมายเลขอีมี่ไม่สามารถแก้ไขได้ แต่เจ้าหน้าที่จากทรูระบุว่าหมายเลขอีมี่นั้นสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ส่วน พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโทรคมนาคมและหัวหน้าชุดสืบสวนคดีนี้ จาก กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ระบุว่า การเก็บหลักฐานหมายเลขอีมี่ 14 หลักของบริษัทผู้ให้บริการนั้นเป็นหลักการที่ทำกันโดยทั่วไปและอีมี่จะไม่ซ้ำกัน อย่างไรก็ตาม เลขอีมี่สามารถแก้ไขได้ และจะต้องปรากฏในระบบ ส่วน ร.ต.อ.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย พนักงานสืบสวนจาก ปอท. ให้การว่า หมายเลขที่ส่งข้อความนั้นเป็นโทรศัพท์มือถือระบบเติมเงิน ไม่สามารถตรวจสอบเจ้าของได้ จึงตรวจสอบอีมี่เครื่องกับบริษัทผู้ให้บริการต่างๆ จากนั้นนำเลขอีมี่ไปตรวจสอบกับเครือข่ายต่างๆ อีกว่าเครื่องนี้ใช้กับเบอร์ใดบ้าง เมื่อพบว่ามีหมายเลขของทรูที่ใช้ปรากฏอีมี่นี้ จึงตรวจสอบว่าเบอร์ดังกล่าวติดต่อกับใคร แล้วออกหมายเรียกผู้นั้นมาสอบสวน นอกจากนี้ยังมีการนำข้อความ SMS ดังกล่าวไปสอบถามกับ นายธงทอง จันทรางศุ และผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา ซึ่งระบุตรงกันว่าข้อความดังกล่าวเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งนี้ นายอำพล ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 3 ส.ค.53 ที่ห้องเช่า และคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จนได้ประกันตัวเมื่อวันที่ 4 ต.ค.53 กระทั่งเมื่ออัยการส่งฟ้อง จึงถูกคุมตัวยังเรือนจำเดิมอีกครั้งเมื่อวันที่ 18 ม.ค.54 ทนายยื่นประกันตัวหลายครั้งแต่ได้รับการปฏิเสธ ทำให้จำเลยยังถูกขังอยู่จนปัจจุบัน โดยมีอาการป่วยเป็นโรคมะเร็งช่องปาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net