“ฟีมูฟ” ผนึก “สอช.” ชุมนุมวันที่อยู่อาศัยสากล จี้รัฐฯ สร้างกลไกร่วมแก้ปัญหา

ตัวแทนพีมูฟ-สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนฯ เคลื่อนขบวนวันที่อยู่อาศัยสากล จี้รัฐเร่งแก้ปัญหา ด้านตัวแทนรัฐบาลเผยรับข้อเสนอตั้งคณะกรรมการร่วมแก้ปัญหา - โฉนดชุมชนเดินต่อ – คดีเร่งด่วนส่งสำนักนายกช่วยรายกรณี

 
วันนี้ (3 ต.ค.54) ที่บริเวณประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล ชาวบ้านในขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (Pmove) และสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) กว่า 4,000 คน ร่วมชุมนุมเพื่อรอผลการหารือเรื่องการกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกับรัฐบาล หลังจากที่มีการเปิดแถลงข่าวเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ในงานวันที่อยู่อาศัยสากลซึ่งจัดโดยเครือข่ายสลัม 4 ภาค หนึ่งในเครือข่ายของ Pmove และมีการออกแถลงการณ์เรื่อง “ความทุกข์ยังหมักหมม ความจนยังขี่ข่ม คนจนจึ่งทวงถาม” ระบุถึงการนัดหมายชุมนุม
 
การชุมนุมครั้งนี้ Pmove และสอช.ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 6 “เปิดการเจรจา เร่งแก้ปัญหา ตามสัญญาประชาคม” ระบุว่า เนื่องในวันที่อยู่อาศัยสากล แม้ปัญหาของเครือข่ายฯ ในหลายเรื่องจะถูกบรรจุไว้ในนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา แต่ยังมีอีกหลายกรณีปัญหาที่ยังคลุมเครือและขาดความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติ อีกทั้งมีหลายกรณีที่ต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โอกาสนี้ จึงเป็นนิมิตหมายใหม่ในการสะสางปัญหาที่คั่งค้าง และแก้ไขให้เป็นรูปธรรม โดยเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการเจรจาอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งสร้างกลไกการแก้ไขปัญหาที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในการชุมนุม มีชาวบ้านจากทุกภูมิภาคของประเทศที่ประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน คดีความเกี่ยวกับกรณีที่ดินในเขตป่า และปัญหาโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ รวมทั้งกลุ่มชาวบ้านที่ต้องการเรียกร้องการบังคับใช้กฎหมาย เช่นกรณีกลุ่มคนไทยผลัดถิ่นเข้าร่วม โดยมีการชูป้ายผ้า และธงกระดาษเขียนระบุข้อเรียกร้องด้วย
 
นายบุญมี คำเรือง ชาวบ้านสมัชชาคนจน (สคจ.) กรณีเขื่อนปากมูล กล่าวว่า ชาวบ้านมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องกลไกการแก้ไขปัญหาร่วมกันจากรัฐบาล โดยเมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา ชาวบ้านก็ได้มารวมตัวกันเพื่อมาทวงสัญญาที่ตัวแทนพรรคการเมืองให้ไว้ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งเมื่อเดือนสิงหาคมแล้วครั้งหนึ่ง แต่ช่วงนั้นเป็นช่วงที่รัฐบาลเพิ่งได้รับการโปรดเกล้า ส่วนปัญหาหลักของชาวบ้านที่มาเรียกร้องไม่ว่าป่าไม้ ที่ดิน ที่สาธารณะ หรือกรณีเขื่อนล้วนเป็นเรื่องความมั่นคงทางอาหารและที่อยู่อาศัย ถือเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต
 
“รัฐควรรับผิดชอบเรื่องนี้ อย่างรัฐที่แล้วก็มีนโยบายอยู่ แต่มันก็สิ้นกลไกลงไป มาคราวนี้เราก็มาเสนอว่าให้รัฐนั้นสร้างกลไกที่มีอยู่แล้วขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อดำเนินการต่อ” นายบุญมี กล่าว และขยายความว่า กลไกที่ว่านั้นคือคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งประกอบด้วย รัฐบาล ข้าราชการ และชาวบ้าน เป็นกลไกการทำงาน 3 ส่วนร่วมกัน
 
ขณะที่ นายสนั่น อุ่นให้ผล ประธานสหกรณ์เคหะสถานบ้านมั่นคงรุ่งเรืองพัฒนาจำกัด จ.จันทบุรี กล่าวถึง เหตุผลการมาร่วมเรียกร้องในครั้งนี้ ว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันเพิกเฉย ไม่มีนโยบายแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินให้คนจน ทั้งที่ที่ผ่านมาชาวบ้านมีการดำเนินการร่วมแก้ปัญหาด้วยตนเองในโครงการบ้านมั่นคง และการจัดทำโฉนดชุมชนแต่ก็ไม่ได้รับความสนใจ ดังนั้นจึงมีการเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อแก้ปัญหาระหว่างรัฐบาลกับประชาชน นอกจากนั้นยังมีกรณีเรื่องเงินงบประมาณโครงการบ้านมั่นคง 6,000 ล้านบาท ที่คงค้างอยู่อีก 3,000 ล้านบาท จากรัฐบาลชุดที่แล้วยังไม่ได้มีการเบิกจ่าย  
 
นายสนั่น กล่าวด้วยว่าในส่วนของ สอช.ขณะนี้ประเด็นหลักที่มีการเคลื่อนไหว คือ เรื่องที่อยู่อาศัย และกองทุนเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งกองทุนนี้จะมาจากเงินออมของชาวบ้านเพื่อการจัดซื้อที่ดิน โดยให้ชาวบ้านบริหารจัดการเอง และให้รัฐมีส่วนช่วยสมทบ    
 
“รัฐบาลนี้น่าจะมีพลังมากกว่ารัฐบาลที่แล้ว น่าจะทำอะไรได้เร็วกว่า และเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งด้วย” นายสนั่นแสดงความเห็น
 
ส่วนนางอรวรรณ ทรายคำ สมาชิกโครงการบ้านมั่นคงรอยพระพุทธบาตร เครือข่ายบ้านมั่นคง จ.เชียงราย กล่าวว่า เครือข่ายฯ จากเดินทางมาร่วมเรียกร้องกรณีที่อยู่อาศัยกว่า 50 คน โดย จ.เชียงรายขณะนี้มีโครงการบ้านมั่นคงทั้งหมด 10 โครงการ แต่ปัจจุบันมีปัญหาเรื่องการกู้เงิน และต้องการมาทวงสัญญาที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้หาเสียไว้ ทั้งที่บอกว่าจะช่วยเปิดทางเพื่อการกู้เงินสร้างบ้าน โครงการรถไฟฟ้า และโครงการเรียนฟรี
 
“โครงการบ้านหลังแรก หรือรถคันแรกไม่ได้เอื้อกับคนจน แต่เอื้อให้กับคนรวยมีเงินเดือน” นางอรวรรณกล่าว และว่า อยากให้รัฐบาลหันมาคุย มาให้ความสนใจกับชาวบ้านบ้าง
 
เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น.ตัวแทนผู้ชุมนุม จำนวน 32 คนได้เข้าร่วมเจรจาในทำเนียบรัฐบาลกับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะตัวแทนของนายรัฐมนตรี จากที่ก่อนหน้านี้เมื่อเวลาประมาณ 11.30 น.ทางกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมได้ส่งผู้แทนจำนวน 10 คนเข้าร่วมเจรจาภายในทำเนียบรัฐบาลแต่การเจรจาไม่ได้ข้อสรุป โดยมีการแจ้งให้กับผู้ชุมนุมรับทราบว่าไม่มีตัวแทนของผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจเข้าร่วมในการเจรจา
 
หลังใช้เวลาในการเจรจาราวหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ตัวแทนผู้ชุมนุมได้เดินทางออกมาจากทำเนียบรัฐบาล โดยมีรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองเดินทางออกมาร่วมชี้แจงข้อสรุปจากการประชุมให้ผู้ชุมนุมได้รับทราบ อาทิ นายกรัฐมนตรีรับข้อเสนอเรื่องการตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายฯ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการ ส่วนเรื่องโฉนดชุมชนถือเป็นโครงการที่ดีซึ่งจะมีการเดินหน้าต่อ นอกจากนั้น ในส่วนคดีความเร่งด่วนเห็นควรส่งให้สำนักนายกรัฐมนตรีพิจารณาช่วยเหลือเป็นรายกรณี ส่วนคดีความอื่นๆ ที่มีการรวบรวมเป็นเล่มจะมีการส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมดำเนินการต่อไป
 
จากนั้น ตัวแทนผู้ชุมนุมได้มอบเงินจำนวน 13,930 บาทที่มีการรวมรวมจากสมาชิกเครือข่าย ให้กับตัวแทนของรัฐบาลเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และก่อนที่จะมีการสลายตัวกลุ่มผู้ชุมนุมได้ทำสัญญาประชาคมร่วมกันว่าจะกลับมารวมตัวกันอีกครั้งหากรัฐบาลบิดพลิ้วไม่ทำตามสิ่งที่รับปากไว้
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในช่วงเช้า ก่อนที่จะมารวมตัวกันที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล กลุ่มผู้ชุมนุมได้ทำกิจกรรมเดินรณรงค์เพื่อที่อยู่อาศัย โดยขบวน Pmove และเครือข่ายสลัม 4 ภาค นัดหมายกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ส่วน สอช.นัดหมายที่ลานพระบรมรูปทรงม้า จากนั้นเดินขบวนจากไปยังสำนักงานองค์การสหประชาชาติ (UN) ประจำประเทศไทย ยื่นหนังสือถึงผู้แทนเลขาธิการสหประชาชาติเนื่องในวันที่อยู่อาศัยสากล
 
 
 
 
แถลงการณ์ ฉบับที่ 6
เปิดการเจรจา เร่งแก้ไขปัญหา ตามสัญญาประชาคม
 
เนื่องในวันที่อยู่อาศัยสากล ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (Pmove) ร่วมกับเครือข่ายสลัมสี่ภาค และสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) ได้ทำการรณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกร่วมของคนในสังคมให้ตระหนักในความสำคัญของการมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง อันรวมถึงความมั่นคงในการประกอบอาชีพที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งความมั่นคงในการดำเนินชีวิต และความมั่นคงในอาชีพตามความถนัดของประชาชนชาวไทยที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์
 
ในโอกาสดังกล่าว พวกเรามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องติดตาม ทวงถามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากพันธะสัญญาประชาคม และการส่งข้อมูลถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ผ่านตัวแทนของพรรคเพื่อไทย และบุคลากรของพรรคเพื่อไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ทำการพรรคเพื่อไทย สาขาพรรคเพื่อไทย รวมทั้งที่รัฐสภา และทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งความพยายามในการประสานงานขอเข้าพบเพื่อหารือกับ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่เกิดเวทีการพูดคุยอย่างเป็นทางการเลย
 
แม้ว่าในหลายเรื่องจะถูกบรรจุไว้ในนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา แต่อีกหลายกรณีปัญหาก็ยังคลุมเครือและขาดความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติ ซึ่งมีอีกหลายกรณีที่ยังต้องการการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เช่น กรณีคดีพิพาทอันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่ดินและทรัพยากร ที่ส่งผลให้คนจนจำนวนมากต้องถูกฟ้องร้อง จองจำ อย่างไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ยังมีการข่มขู่คุกคามจนไม่มีความมั่นคงในการดำเนินชีวิต อันเป็นการจำกัดเสรีภาพ ที่ขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิ สังคม และวัฒนธรรมที่ประเทศไทยเข้าไปลงนามร่วมด้วย
 
ในโอกาสนี้ จึงน่าจะเป็นนิมิตหมายใหม่ สำหรับการนำนโยบายของรัฐบาลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพวกเรา มาร่วมมือกันในการสร้างรูปธรรม และสะสางปัญหาอื่นที่คั่งค้างอยู่มาเร่งดำเนินการแก้ไขให้เป็นรูปธรรม อันเป็นการขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความอยุติธรรมให้หมดไปจากประเทศไทย
 
พวกเราเชื่อมั่นว่า การแก้ไขปัญหาที่มีอยู่จะลุล่วงได้ก็ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งรัฐบาล ราชการ รวมทั้งภาคประชาชน เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมและเรียกว่าเป็นกระบวนการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการที่จะเป็นความสำเร็จร่วมกันของทุกส่วน
 
วันนี้ พวกเราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล ทำการเปิดเจรจาอย่างเป็นทางการ โดยมี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อที่จะกำหนดกรอบ แนวทาง และสร้างกลไกการทำงานร่วมกัน สำหรับสานต่อการแก้ไขปัญหาให้เดินหน้าได้เร็วยิ่งขึ้น
 
ดังนั้น การเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการขึ้นในวันนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพิสูจน์ความจริงใจ และความกล้าหาญของรัฐบาลในการแก้ปัญหาของคนจน ซึ่งจะเป็นบันไดขั้นแรกของการก้าวไปสู่ความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับคนจน อย่างเป็นรูปธรรม      
 
พวกเราหวังว่า ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีจะให้ความสำคัญในการเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งสร้างกลไกการแก้ไขปัญหา โดยมี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยพวกเราจะปักหลักฟังการเจรจาอย่างสงบ
 
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (Pmove)
สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.)
3 ตุลาคม 2554
(หน้าทำเนียบรัฐบาล)
 
 
 
 
 
 
แถลงการณ์ ฉบับที่ 5
ความทุกข์ยังหมักหมม ความจนยังขี่ข่ม คนจนจึ่งทวงถาม
 
พวกเราขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เป็นเครือข่ายของเกษตรกรรายย่อยและคนจนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาประเทศที่ผิดพลาดในอดีต ประกอบด้วย เครือข่ายสลัม 4ภาค, สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.), เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคเหนือ (คปน.), เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) , สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล (สคจ.), เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) ,กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล และคัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จังหวัดอุบลราชธานี
 
Pmove ได้รวมตัวกันเพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรมจากนโยบายและโครงการพัฒนาของรัฐบาลก่อนการเลือกตั้งขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้ร่วมกับองค์กรภาคประชาชนจำนวน 40 องค์กร จัดเวทีสัญญาประชาคมประชาชนพบพรรคการเมืองขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2554 ณ มหาวิทยาลัยรังสิต กรุงเทพมหานคร เพื่อยื่นข้อเสนอและแนวทางการแก้ไขปัญหาของพวกเรา ต่อพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองนำไปบรรจุไว้เป็นนโยบายของรัฐบาลหากชนะการเลือกตั้ง ในวันดังกล่าวพรรคเพื่อไทยได้มอบหมายให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเดินทางไปร่วมเวทีและได้ลงนามในสัญญาประชาคม พร้อมให้คำมั่นว่าหากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง และได้จัดตั้งรัฐบาลจะนำข้อเสนอของภาคประชาชนไปบรรจุไว้เป็นนโยบายรัฐบาล
 
ภายหลังการเลือกตั้งขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้ใช้ความพยายามทุกวิถีทางในการประสานงานขอเข้าพบฯพณฯนายกรัฐมนตรี เพื่อติดตามทวงถามสัญญาประชาคมที่พรรคเพื่อไทยให้คำมั่นไว้กับประชาชน โดยการส่งไปรษณียบัตร การยื่นจดหมายผ่าน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทยและผู้ว่าราชการจังหวัด รวมทั้งการรณรงค์โดยใช้ขบวนมอเตอร์ไซค์เดินทางไปขอเข้าพบท่าน ในระหว่างวันที่ 6-8 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา ซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว และนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ เดินทางมารับข้อเรียกร้องและสัญญาว่าจะนำข้อเรียกร้องทั้งหมด
 
โดยเฉพาะเรื่องการกระจายการถือครองที่ดิน การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย และรวมทั้งปัญหาอื่นของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (Pmove) อันเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำและความเป็นธรรมที่เกิดขึ้นแก่พวกเรา ไปบรรจุไว้ในนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งตัวแทนของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยังยืนยันแก่พวกเราว่าจะสร้างกลไกการแก้ไขปัญหาร่วมระหว่างรัฐบาลกับภาคประชาชน เพื่อสานต่อการแก้ไขปัญหาที่มีการดำเนินการมาแล้วให้ลุล่วงเป็นรูปธรรม
 
ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2554 ตัวแทนของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ในนามเครือข่ายสลัมสี่ภาคได้ยื่นหนังสือต่อสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อนัดหมาย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เพื่อเปิดประชุมหารือกำหนดแนวทางในการทำงานแก้ไขปัญหาร่วมกับพวกเรา ในวันที่ 3 ตุลาคม 2554 นี้
 
ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่า ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี จะเปิดการหารืออย่างเป็นทางการกับพวกเรา ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (Pmove) จึงจำเป็นต้องที่จะต้องชุมนุมเพื่อรอฟังการประชุมที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 ตุลาคม 2554 นี้ โดยพวกเราจะชุมนุมกันอย่างสงบยึดมั่นในแนวทาง อหิงสา อันเป็นการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติไว้
 
อย่างไรก็ตาม พวกเราหวังว่า ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้นำสตรีคนแรกของประเทศไทย ซึ่งมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย จะใจกว้าง เปิดโอกาสให้มีการหารืออย่างเป็นทางการ พร้อมกับรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของพวกเรา และให้ความสำคัญในการเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาที่หมักหมนมายาวนาน ได้ลุล่วงเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
 
คนจนทั้งผองพี่น้องกัน
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
1 ตุลาคม 2554
ศูนย์พักไร้บ้าน สุวิทย์ วัดหนู บางกอกน้อย
 
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท