ขบวนการ ’ยึดวอลล์สตรีท’ ประกาศกร้าว “เราคือคนจำนวน 99 เปอร์เซ็นต์”

ก้าวเข้าสู่อาทิตย์ที่สามแล้ว สำหรับขบวนการ ‘ยึดวอลล์สตรีท’ (Occupy Wall Street) หรือการชุมนุมบริเวณถนนวอลล์สตรีท ใจกลางกรุงนิวยอร์ค โดยการชุมนุมดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อ 17 กันยายนที่ผ่านมา จากคนหนุ่มสาวจำนวนร้อยกว่าคนที่กางเตนท์ และยึดพื้นที่บริเวณหน้าตลาดหุ้นวอลล์ตรีท บัดนี้ได้เพิ่มจำนวนเป็นหลายพันคน และขยายการชุมนุมไปหลายเมืองในสหรัฐฯ ทั้งบอสตัน ชิคาโก เซนต์หลุยส์ และลอสแองเจลิส ‘ขบวนการขัดขืนที่ไร้ซึ่งผู้นำ’ ขบวนการดังกล่าวอธิบายในเว็บไซต์ของตนเองว่า ‘Occupy Wall Street’ เป็นขบวนการ “ขัดขืนแบบไร้ผู้นำ ประกอบไปด้วยผู้คนจากหลายสี เพศสภาวะและแนวคิดทางการเมือง” หากแต่มีจุดร่วมเดียวกัน คือ “เป็นร้อยละ 99 ที่จะไม่ทนต่อการขูดรีดและคอร์รัปชั่นของคนจำนวนร้อยละ 1” และระบุว่า มุ่งใช้ยุทธศาสตร์แบบสันติวิธีตามวิถีของ ‘อาหรับ สปริง’ หรือการลุกฮือของประชาชนในตะวันออกกลางในต้นปีที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ผู้ชุมนุมดังกล่าว ได้ยึดพื้นที่บริเวณลิเบอร์ตี พลาซ่า หรือสวนสาธารณะซุคคอตติ (Zuccotti Park) อย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่าสองอาทิตย์แล้ว โดยอาศัยการระดมพลหลักๆ จากโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และ reddit และมีเว็บไซต์ของตนเอง คือ occupywallst.org โดยที่มาของความคิดดังกล่าว มาจากเว็บไซต์ของนิตยสารหัวก้าวหน้าอย่าง Adbusters ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการชุมนุมของชาวอียิปต์ในจตุรัสทาห์เรียที่เกิดขึ้นในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และเหตุการณ์ชุมนุมในกรุงมาดริดในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แฮรริสัน ชูลตส์ นักวิเคราะห์การตลาดและดอกเตอร์สาขาสังคมวิทยา หนึ่งในผู้ประสานงานขบวนการ ‘ยึดวอลล์สตรีท’ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว France 24 ว่า คนที่มาชุมนุมในครั้งนี้ประกอบด้วยคนที่มีความคิดแบบถึงราก (radical) และหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอนาธิปไตย สหภาพแรงงาน หรือคอมมิวนิสต์ และยอมรับว่าข้อเรียกร้องของขบวนการยังมีความกระจัดกระจายอยู่ “พวกเขา [ผู้ชุมนุม] ต้องการจะสร้างให้เกิดขบวนการขัดขืนที่คล้ายกับอาหรับสปริง โดยการยึดครองพื้นที่ที่เป็นสัญลักษณ์” เขากล่าว “ผมไม่สามารถพูดแทนทุกคนได้ แต่โดยส่วนตัวแล้วผมอยากจะให้ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลง ผมไม่สนับสนุนสถาบันการเมืองที่ล้าหลังและสถาบันการศึกษาที่เก่าเก็บ เราต้องการมาตรการรองรับทางสังคมที่ดีกว่านี้ และเปลี่ยนแปลงระบบการเงินของประเทศใหม่ทั้งหมด” ภาพประกอบโดย David Shankbone (CC-BY-3.0) วอลล์สตรีท คือ หนึ่งเปอร์เซ็นต์ ? หลายฝ่ายมองว่า การประท้วงของคนจำนวนมากในครั้งนี้ เป็นผลมาจากความไม่พอใจของเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ทำให้เกิดการว่างงานสูง ทำให้คนหนุ่มสาวจำนวนมากไม่สามารถหางานทำได้หลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัย ประกอบกับมาตรการรองรับทางสังคมที่ไม่ทั่วถึง เช่น การรักษาพยาบาล หรือการศึกษา ทำให้คนจำนวนมากหันไปที่สถาบันการเงินใหญ่ๆ ในวอลล์สตรีท ในฐานะสาเหตุของความเหลื่อมล้ำเศรษฐกิจดังกล่าว มาริสา เอเกอร์สตอรม นักศึกษาปริญญาเอกม.ฮาร์วาร์ด หนึ่งในผู้ประท้วง ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพีว่า “ระบบตรวจสอบและถ่วงดุลแบบอเมริกันได้ถูกทำลายลงไปแล้ว ด้วยอิทธิพลของธนาคารและสถาบันทางการเงินขนาดยักษ์ที่ทำให้เสียงของประชาชนไม่มีที่ทางในระบบ” การชุมนุมดังกล่าว นอกจากจะได้รับการสนับสนุนและสมานฉันท์จากสหภาพแรงงานขนส่งแห่งอเมริกา Local 100 และสหภาพแรงงานลูกจ้างภาคบริการแห่งรถใต้ดินนิวยอร์ก 32BJ แล้ว ยังได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการ นักแสดง และผู้กำกับหนัง เช่น นาโอมิ ไคลน์, นอม ชอมสกี้, ไมเคิล มัวร์, ซูซาน ซาแรนดอน, อเล็ก บอล์ดวิน และเศรษฐีพันล้านอย่าง จอร์จ โซรอสด้วย “ใครที่ตาสว่างก็คงจะรู้ว่าลัทธิพรรคพวกในวอลล์ตรีท –โดยทั่วไปก็คือสถาบันทางการเงิน – ได้สร้างความเสียหายให้กับประชาชนของสหรัฐอเมริกาและของโลก และก็ควรจะรู้ด้วยว่าเขาทำอย่างนี้มาตลอด 30 ปีแล้ว และอำนาจทางเศรษฐกิจของพวกเขาก็ได้เพิ่มขึ้นอย่างมากมายพร้อมๆ กับอำนาจทางการเมือง และนั่นก็ทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ที่ทำให้ความร่ำรวยมหาศาลและอำนาจทางการเมือง กระจุกอยู่ในกลุ่มคนเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น...” นอม ชอมสกี้ระบุในข้อความสนับสนุนที่ส่งไปยังกลุ่มผู้ประท้วง “การประท้วงที่กล้าหาญและองอาจที่กำลังดำเนินอยู่ในวอลล์สตรีท จะสามารถนำเรื่องหายนะนี้ออกสู่ความสนใจของสาธารณชน ซึ่งจะนำไปสู่ความพยายามเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสม และทำให้สังคมมีสภาพที่ดีกว่าในปัจจุบัน” เขากล่าว ภาพประกอบจาก David Shankbone (CC-BY-3.0) เหตุการณ์ยังสงบหลังเกิดการปะทะ ตั้งแต่การชุมนุมได้ก่อตัวขึ้น ผู้ชุมนุม ’ยึดวอลล์สตรีท’ ได้เกิดการปะทะและถูกจับกุมจากตำรวจไปแล้วสองครั้ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 กันยายน หลังจากผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งได้เริ่มเคลื่อนขบวนไปยังตัวเมือง ส่งผลให้คนกว่า 80 คนถูกตำรวจจับกุมในข้อหาฝ่าฝืนการจราจร ทั้งนี้ มีพยานเห็นว่าตำรวจใช้สเปรย์พริกไทยจัดการกับผู้ชุมนุมผู้หญิงสามคน ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ส่งผลให้ทางกรมตำรวจนิวยอร์ก หรือเอ็นวายพีดี ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตำรวจที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำการดังกล่าว นอกจากนี้ ในวันเสาร์ที่ผ่านมา (1 ต.ค.) หนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์ได้รายงานว่า ได้มีการจับกุมผู้ชุมนุมกว่า 700 คนในข้อหาก่อความไม่สงบในที่สาธารณะ หลังจากที่ผู้ประท้วงได้เคลื่อนขบวนไปยังสะพานบรุ๊กลิน อย่างไรก็ตาม ผู้ประท้วงส่วนใหญ่ก็ได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา ทิม แฟลนเนลลี โฆษกของสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐ หรือเอฟบีไอ กล่าวว่า เขาไม่คิดว่าผู้ชุมนุมในนิวยอร์คจะกลายเป็นการประท้วงที่มีความรุนแรงเหมือนเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ อย่างไรก็ตาม เขาระบุว่า เอฟบีไอยังคอยจับตาสถานการณ์และตอบสนองตามที่จำเป็น “ณ จุดนี้ เราไม่คาดว่าจะมีเหตุการณ์ความไม่สงบที่ใหญ่กว่านี้เกิดขึ้น แต่ถ้าหากมันเกิดขึ้นในเมือง ทางกรมตำรวจนิวยอร์ค และเอฟบีไอ จะส่งเจ้าหน้าที่และทรัพยากรที่จำเป็นเข้าไปควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ขยายวงกว้างขึ้น” แฟลนเนลลี่กล่าวกับสำนักข่าวเอพี ทั้งนี้ เว็บไซต์ www.occupytogether.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์อย่างไม่เป็นทางการของผู้สนับสนุนกลุ่ม ‘Occupy Wall Street’ ระบุว่า นอกจากขบวนการดังกล่าวจะเกิดขึ้นในกรุงนิวยอร์คแล้ว ยังได้ขยายไปยังเมืองต่างๆ ทั่วสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นซานฟรานซิสโก ชิคาโก อิลลินอยส์ มิชิแกน วิสคอนซิน อัลบามา ฟลอริด้า เท็กซัส ไปจนถึงแคลิฟอร์เนีย นอกจากนี้ การรวมตัวดังกล่าวยังเกิดขึ้นในทวีปอื่นๆ ด้วย เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย รวมถึงหลายประเทศในยุโรป คลิปการชุมนุมบางส่วนของ Occupy Wall Street

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท