Skip to main content
sharethis

ตำรวจปราบจลาจลคุ้มกันที่ดินดอยหล่อ 700 ไร่ ให้ รปภ.ของเจ้าที่ดินรื้อถอนพืชผล-สิ่งปลูกสร้างชาวบ้าน กองเลขา สกน.แฉ รปภ.ทำร้าย “สุแก้ว ฟุงฟู” ต่อหน้าตำรวจ ก่อนส่งสอบปากคำ เผยเดิมเป็นที่สาธารณะ “ป้าทักษิณ” เข้าสำรวจ-ออกโฉนดแล้วขายต่อหลายทอด แต่ปล่อยรกร้างกว่า 10 ปีจนชาวบ้านเข้าทำประโยชน์ กองเลขาธิการสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เปิดเผยว่าเมื่อเวลา 8.00 น. วันนี้ (5 ต.ค.) ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ได้สนธิกำลังชุดปราบจลาจลจำนวนมากกว่า 500 นาย เข้าคุ้มกันที่ดินของนายทุนประมาณ 700 ไร่ บริเวณตรงข้ามที่ว่าการอำเภอดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ เพื่อให้นายทุนทำการรื้อถอนทำลายพืชผลทางการเกษตรและสิ่งปลูกสร้างของชาวบ้าน โดยหลังจากกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 500 นายเดินทางถึงพื้นที่พร้อมเจ้าหน้าที่ของบริษัทรักษาความปลอดภัย ซึ่งเจ้าของที่ดินทั้ง 13 รายได้ว่าจ้างและมอบอำนาจให้มาดำเนินการรื้อถอน ชาวบ้านประมาณ 20 คนได้เข้าเจรจากับบริษัท รปภ.แต่ไม่สามารถพูดคุยกันได้จึงถอยออกจากพื้นที่เพื่อให้ไปเจรจากันนอกพื้นที่ ขณะที่ชาวบ้านกำลังเดินทางออกจากพื้นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและชายฉกรรจ์ได้ทำการจับกุมแกนนำชาวบ้านจำนวน 5 คน และเจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ซึ่งเข้าไปช่วยเจรจาขึ้นรถไปยังโรงพัก กองเลขาธิการสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ รายงานด้วยว่า นายสุแก้ว ฟุงฟู กรรมการสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ซึ่งได้รับการประสานงานให้มาช่วยเจรจาเดินทางมาถึงยังที่เกิดเหตุ ได้ถูกคนของบริษัทเข้ารุมทำร้ายร่างกาย จนได้รับบาดเจ็บบริเวณใบหน้าและถูกลากตัวลงจากรถ ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากนั้นผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าของที่ดินได้นำตัวนายสุแก้ว ฟุงฟูไปส่งให้ตำรวจที่โรงพักดอยหล่อ เมื่อตำรวจสอบปากคำแล้ว ไม่มีหมายจับจึงปล่อยตัวนายสุแก้ว นายศราวุฒิ (เจ้าหน้าที่มูลนิธิ) พร้อมชาวบ้านอีก 4 คน ส่วนชาวบ้านอีก 2 คนได้แก่ นางบัวผัน แสงคง และนายณรงค์ แก้วมงคล ถูกจับกุมดำเนินคดี เนื่องจากมีหมายจับตามบันทึกแจ้งความของเจ้าของที่ดิน ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการขอประกันตัว สำหรับที่ดินแปลงนี้เดิมมีสภาพเป็นที่ดินรกร้าง สภาพเป็นป่าละเมาะ ชาวบ้านใช้เป็นที่เลี้ยงวัว ควาย ไม่มีผู้ใดครอบครองเป็นเจ้าของ ต่อมาได้มีโครงการเร่งรัดเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากธนาคารโลก โดยได้มีนายทุนจากจังหวัดเชียงใหม่ คือนางจันทร์สม ชินวัตร ป้าของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นำที่ดินผืนนี้ไปเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินพื้นที่ประมาณ 700 กว่าไร่ ต่อมานางจันทร์สม ผู้ขอออกโฉนดได้ขายที่ดินต่อให้บริษัทพรพรหมพาราไดซ์ มีกิจการสวนสนุกที่ อ.หางดง ซึ่งเลิกกิจกรรมไปแล้ว เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่ธุรกิจและสวนเกษตร แต่ปี 2540 เกิดวิกฤตปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ที่ดินดังกล่าวกลายเป็นหนี้เสีย มีการประกาศขายทอดตลาดและมีนายทุนจากนอกพื้นที่มาประมูลซื้อจำนวน 13 ราย ในจำนวนนั้นมี พญ.ปิยะรัตน์ รัตนวานิช พี่สาวของ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช อดีต ส.ว. สรรหารวมอยู่ด้วย ในปี 2545 ชาวบ้านดอยหล่อจำนวนประมาณ 120 ครอบครัวได้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว โดยไม่ทราบว่าที่ดินมีเอกสารสิทธิหรือไม่ เนื่องจากไม่เคยพบว่ามีผู้ใดเข้าทำประโยชน์ จนกระทั่งในปี 2547 จึงเริ่มมีบุคคลมาแสดงตนว่าเป็นเจ้าของที่ดินแต่ก็ไม่สามารถชี้ขอบเขตที่ดินได้ชัดเจนว่าอยู่ตรงไหน ชาวบ้านจึงร่วมกันเรียกร้องกับรัฐบาลให้ดำเนินการตรวจสอบเอกสารสิทธิในพื้นที่ จึงพบว่ามีการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน ตามโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน ในปี 2533 แต่ถูกทอดทิ้งรกร้างไว้ โดยไม่เคยเข้ามาทำประโยชน์มามากกว่า 10 ปี ซึ่งตามประมวลกฎหมายที่ดิน ชาวบ้านได้เรียกร้องให้รัฐบาลทำที่ดินมาปฏิรูปให้ชาวบ้านและคนจนรวมทั้งเรียกร้องให้ทำการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อย่างต่อเนื่องหลายรัฐบาล แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า ในขณะที่นายทุนได้ทยอยดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีกับแกนนำมาโดยตลอด ในปี 2551 ชาวบ้านซึ่งเป็นสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ได้เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินขึ้นเพื่อเป็นกลไกในการกระจายการถือครองที่ดินประกอบกับเรียกร้องให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า จนกระทั่งรัฐบาลได้อนุมัติการจัดตั้ง “สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน” ขึ้นในรูปแบบองค์การมหาชนและมีมติ ครม.เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 และ 8 มีนาคม 2554 ให้ดำเนินการนำร่องในพื้นที่ 5 หมู่บ้าน จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน และอนุมัติงบประมาณดำเนินการจำนวน 167 ล้านบาท โดยจะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆต่อไป แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากยุบสภา ต้องรัฐบาลชุดใหม่ให้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถาบันฯ ขึ้นก่อน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอการแต่งตั้งกรรมการบริหาร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net