เสนอ "กลไกคุ้มครองผู้บริโภค" ให้ว่าที่ กสทช.-ย้ำคำนึงถึงสิทธิพลเมืองด้วย

สืบเนื่องจากมาตรา 31 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 หรือ พ.ร.บ.กสทช. กำหนดให้ กสทช. มีหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินการของผู้ประกอบกิจการของผู้ประกอบกิจการกระจาย เสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม โดยให้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นสองคณะ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และด้านกิจการโทรคมนาคม

(5 ต.ค.54) ที่สำนักงาน กสทช. คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม จัดเสวนา "ร่วมออกแบบกลไกคุ้มครองผู้บริโภคในยุค กสทช." โดยมีว่าที่ กสทช. 4 คนเข้าร่วมรับฟัง โดยสารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวถึงข้อเสนอต่อว่าที่ กสทช. ว่า โครงสร้างหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ควรมีความเป็นอิสระในการบริหารงาน เพื่อให้ทำงานได้คล่องตัว มีประสิทธิภาพ โดยอาจมีสถานะเป็นสถาบันหรือสำนัก เทียบเท่าสำนักอื่นๆ ใน กสทช. ทำงานขึ้นตรงต่อ กสทช. โดยมีหน่วยรับเรื่องร้องเรียนจุดเดียว จากนั้นค่อยส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อความสะดวกของผู้บริโภค

สำหรับที่มาของคณะอนุกรรมการทั้งสองชุด สารีกล่าวว่า ควรยึดรูปแบบการสรรหาคณะอนุกรรมการตามแบบของ สบท. และให้มีคณะอนุกรรมการ จำนวนตั้งแต่ 5-9 คน ซึ่งจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น ด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์

โสภิดา วีรกุลเทวัญ จากมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ กล่าวในเชิงหลักการว่า ควรออกแบบขอบเขตการตรวจสอบ คุ้มครองของคณะอนุกรรมการฯ ให้ชัดเจน เพราะเมื่อพูดถึงเรื่องสื่อแล้ว นอกจากประชาชนจะเป็นผู้บริโภค ยังมีมิติของความเป็นพลเมืองด้วย เช่น เมื่อพูดถึงสิทธิในการใช้คลื่นวิทยุจะถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคไหม หรือเมื่อมีกรณีการปิดเว็บไซต์จะร้องเรียนที่ไหน นอกจากนี้ ในสัดส่วนของคณะอนุกรรมการด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งมีข้อเสนอให้มีตัวแทนจากผู้ประกอบอาชีพสื่ออยู่ด้วยนั้น ตั้งคำถามว่า จะตรวจสอบความเป็นตัวแทนได้แค่ไหน เนื่องจากก่อนหน้านี้ยังมีข้อถกเถียงเรื่องสื่อแท้และสื่อเทียม และในอนาคต ซึ่งจะมีโทรทัศน์ดาวเทียมอีกมหาศาล แล้วใครจะเป็นตัวแทนของโทรทัศน์ดาวเทียม

ด้าน ฉัตรชัย เชื้อรามัญ ผู้อำนวยการสำนักข่าวเด็กและเยาวชน เสนอว่า คณะอนุกรรมการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการ โทรทัศน์ต้องทำงานในเชิงรุกด้วย โดยตรวจสอบการทำหน้าที่ของสื่อวิทยุโทรทัศน์ ที่มีโฆษณาแฝงในรายการเล่าข่าว ละเมิดสิทธิผู้ถูกกล่าวหาโดยเสนอภาพขณะขึ้นศาล หรือพยายามถ่ายภาพของเด็ก ซึ่งขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้มีการวิจัยเพื่อจัดเกณฑ์เรทติ้งให้ชัดเจนด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท