Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หัวอกของพฤ โอโดเชา หรือพี่พฤวันนี้ หลังจากการเดินทางไปพบปะพี่น้องชาวปกาเกอะญอแห่งผืนป่าแก่งกระจาน เสียงจากปลายสาย ยังเต็มไปด้วยความขื่นเข็ญ “แววตาที่ผมไปเห็น เหมือนต้นไม้ที่ถูกถอนออกมา เอาไปวางไว้ มีแต่จะตรอมใจตายไป ไม่มีหมู ไม่มีไก่ ไม่มีข้าว ไม่มีพิธีกรรม ไม่มีชุมชน ไม่เหลืออะไร มันเจ็บปวด เป็นหมู่บ้านที่ล่มสลาย ” สำหรับพี่พฤ สำหรับปากาเกอะญอ สิ่งสำคัญที่หายไป สิ่งที่บอกว่าจากนี้ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว 1.ไก่กับบัญญัติ 10 ประการ พี่พฤบอกว่า สำหรับปกาเกอะญอ ไก่คือสัตว์สำคัญ หนึ่งในนั้นคือเป็นคำสอนเด็กที่ผูกไว้กับข้อห้ามในการกินส่วนต่างๆของไก่ 10 อย่าง ที่เรียกว่า บัญญัติ 10 ประการคือ หนึ่ง-ห้ามกินหงอนไก่ เพราะจะไม่มีสง่าราศี หรือนัยยะที่ว่าเด็กไม่ควรละเมิดผู้ใหญ่ อะไรที่สูง สอง-ห้ามกินคอไก่ เพราะจะทำให้ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ สาม-ห้ามกินปีกไก่ เพราะจะทำงานอะไรก็ช้า ถ้าเรียนก็สอบได้ที่โหล่ สี่-ห้ามกินตีนไก่ ถ้าเป็นหญิงจะทอผ้าไม่สวย ผู้ชายจะเที่ยวบ่อย ไม่อยู่บ้าน เขียนหนังสือลายมือไม่สวย ห้า-ห้ามกินตูดไก่ เพราะปากจะขยุ้ม เป็นคนชอบนินทา หก-ห้ามกินม้าม เพราะจะทำให้อยากได้ข้าวของคนอื่น เป็นคนอิจฉาริษยา เจ็ด-ห้ามกินกึ๋น เพราะผู้เฒ่าผู้แก่พูดจะไม่เข้าหู ไม่ฟังผู้ใหญ่ แปด-ห้ามกินไส้ เพราะผู้หญิงทอผ้าด้ายจะขาด ผู้ชายเหลาไม้ไผ่จะขาดง่าย เก้า-ห้ามกินไข่กระด้าง(ไข่ในท้อง) เพราะจะทำให้เป็นคนกระด้าง ทำอะไรไม่สำเร็จ สิบ-ห้ามกินตับ เพราะจะทำให้ใจหนัก เป็นคนขี้เกียจ ไม่กระฉับกระเฉง ไม่เอาพวกพ้อง ดังนั้นก่อนกินไก่ ผู้เฒ่าผู้แก่จึงมีการหยิบเอาส่วนต้องห้ามอย่างละนิดแยกเป็น 1 ห่อ หลังจากนั้นเด็กๆจึงกินได้ เพราะถือว่าได้นำสิ่งที่ห้ามออกไปแล้ว ถ้าอธิบายด้วยหลักการและเหตุผล พี่พฤบอกว่า ทั้งสิบอย่างนั้นมันคือสิ่งไม่ดี ที่ผู้ใหญ่ไม่อยากให้ลูกหลานทำทั้ง 10 ประการ มันคือภูมิปัญญาอันแยบยลที่วางไว้กับพฤติกรรมพื้นฐานของผู้คน กับการกิน แม้ว่าปัจจุบันจะมีเด็กๆที่เริ่มตั้งคำถามและโต้แย้ง แต่พี่พฤย้ำว่าถ้าไม่มีคำสอนดังว่าแล้วก็ไม่รู้ว่าจะมีอะไรไว้คอยย้ำเตือน ปลูกฝังลูกหลาน ทุกครั้งที่มีการกินไก่ กุศโลบายที่มาพร้อมกับข้อห้ามกินทั้ง 10 อย่าง สำหรับปกาเกอะญอ “ไก่” คือสิ่งที่ยึดโยงความ “ดีงาม” กับครอบครัวไว้ 2. “ออเบลื้อะ ชอโคทิ เทาะโคทิ” ไก่นี้ผูกมัดครอบครัว หลังจากหนุ่มสาวคู่ใดแต่งงานกันแล้ว จะต้องหาไก่(ชอ) ไว้ 1 คู่ ที่เรียกว่า “ไก่หัวกะทิ”(ชอโคทิ) หรือ “ไก่เก๊า” สำหรับฝ่ายหญิง 1 ตัว และฝ่ายชาย 1 ตัว ไก่นี้จะถูกเลี้ยงดูไว้ ห้ามใครกิน ห้ามซื้อ-ขาย แม้ไก่ตายไปเองก็ห้ามใครมากิน ไก่นี้จะถูกเลี้ยงไว้ เมื่อใดที่มีเหตุที่ไม่ดี ไม่สบายใจ ใครเจ็บป่วยเกิดขึ้นในบ้าน ทำอย่างไรก็ไม่หาย เมื่อนั้นไก่ที่เลี้ยงไว้ ก็จะได้ทำพิธี “ออเบลื้อะ” หมายถึงการกินเพื่อพูดคุย กินสอบสวนหาสาเหตุ หรือในบางครั้งก็มีการกินหมู (เทาะโคทิ) ด้วย มันคือพิธีกรรมทางครอบครัว พิธีกรรมที่พ่อแม่ พี่น้อง ลูกหลาน มาอยู่ร่วม มารวมใจ ถ้าใครป่วยต้องกลับมาดูแล มาพูดคุยกัน หากมีอะไรที่ขัดเคืองใจก็มาอภัยให้กัน ได้บทเรียน ได้แก้ปัญหาร่วมกัน ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มันคือสายสัมพันธ์อันแข็งแรงของคำว่าครอบครัว “ไก่เก๊า” จึงเป็นสิ่งสำคัญทางใจที่เจ้าของต้องดูแลรักษาไว้อย่างดี หากล้มตาย หายไป ก็ต้องไปหามาแทนใหม่ โดยอาจจะหาจากพี่น้อง แต่ไก่ตัวนั้นต้องสืบพันธุ์มาจากไก่ที่เป็น “ไก่เก๊า” มาก่อน หรือเป็นตระกูลที่มีการกินมาก่อน(อาจจะกินเป็นอาหารปกติก็ได้) มันคือสัญลักษณ์ที่ผูกเอาจิตวิญญาณ ความเชื่อ ในการปกป้องชีวิตจากความไม่ดี จากสิ่งเลวร้าย วันที่มีเจ้าหน้าที่อุทยานไปกินไก่ของลุงดุ๊อูกว่า 10 ตัว ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ “ไก่เก๊า” ที่ลุงเลี้ยงไว้[1] ไก่ที่ห้ามคนอื่นมากิน “ได้ยินว่าลุงดุ๊อูต้องเปลี่ยนศาสนา” เพราะลุงไม่มีไก่เก๊าจะทำพิธี คำบอกเล่าหลังกลับจากการลงพื้นที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้รับคำอธิบายจากพี่พฤว่า ไก่เก๊านั้นเป็นของต้องห้ามสูงสุดของปกาเกอะญอ ทุกคนรู้กัน เป็นสิ่งที่เจ้าของต้องดูแลอย่างดี ที่แก่งกระจานมันเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลยสำหรับปกาเกอะญอ ไม่เคยได้ยิน ได้ฟัง เจ้าหน้าที่มากินไก่เก๊า สำหรับคนที่ไก่เก๊าหายไป ถูกกินไป มันคือลางบอกเหตุไม่ดี แม้ว่าถ้าเป็นเหตุจำเป็นแล้วชาวบ้านจะเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ วิญญาณบรรพบุรุษจะรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และเชื่อว่าคนที่มากินจะได้รับการตอบแทนเอง แต่บางคนนั้นก็เครียด ปากเบี้ยว จนถึงขั้นมีอาการทางจิตก็เคยมีมาแล้ว “ทางแก้ก็คือว่าถ้าชาวบ้านมีบ้านใหม่แล้วจะต้องออเบลื้อะ ต้องมีบ้านใหม่ก่อน เพราะต้องมีเตาไฟ มีหม้อตัวผู้ ตัวเมีย มีอุปกรณ์ที่จะทำพิธี แล้วก็ต้องมีไก้เก๊า แต่ชาวบ้านจะไปหาที่ไหน ข้าวจะกินยังไม่มี จะเอาข้าวที่ไหนเลี้ยงไก่ แล้วมีชาวบ้านเขาบอกว่าอุทยานจะไม่ให้เลี้ยงไก่เพราะเขาบอกว่าไก่มันจะไปถ่ายลงแม่น้ำ น้ำจะขุ่น ทำให้จระเข้ในแม่น้ำเปลี่ยนสายพันธุ์” หนทางจากนี้ แม้ทางออกของชาวบ้านทางหนึ่งคือการเปลี่ยนศาสนา “มันโหดร้าย เหมือนต้นไม้ที่จู่ๆก็ถูกถอนรากไปวางไว้ เหมือนปลาที่อยู่ๆถูกจับออกจากน้ำ มันช็อค มันก็จะตาย” ไม่มีการเตรียมใจ ไม่มีการเลือก ไม่มีการเอ่ยลา สำหรับคนที่พร้อมจะเปลี่ยนศาสนา พร้อมจะละทิ้งพิธีกรรมนี้ ก่อนเปลี่ยน พี่พฤบอกว่าจะต้องมีการกินไก่เป็นพิธีกรรมปิดท้าย ไม่ใช่เป็นแบบนี้ เป็นการละทิ้งโดยไม่มีทางเลือก พร้อมกับความรู้สึกช็อค รู้สึกผิด ว่าตนจะต้องพบเจอกับสิ่งเลวร้ายในชีวิต ในวันหน้า พี่พฤบอกว่า สำหรับเขา แม้ครอบครัวจะเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ และมีข้อห้ามทางศาสนาไม่ให้ทำพิธีออเบลื้อะ แต่วันนี้พี่พฤกำลังพยายามแหกกฎที่จะกลับมาทำพิธีอีกครั้ง เพื่อให้เป็นหนทางในการรวมครอบครัวให้ได้ “ถ้าไม่มีครอบครัว ถ้าครอบครัวล่มสลาย แล้วชีวิตเราจะมีอะไร” มันคือไก่ ที่ยึดโยงครอบครัวไว้ 3. ไก่-ผู้คน-ชุมชน ที่หายไปจากป่าแก่งกระจาน วันนั้น วันที่ไก่หายไปจากผืนป่าแก่งกระจาน วันที่ไม่มีบ้าน ไม่มีข้าว ไว้เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เพราะลำพังข้าวที่หามาเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวจำนวนหลายชีวิตให้อิ่มพอก็แทบจะเป็นไปไม่ได้แล้ว คือวันที่พี่พฤบอกว่าเขาได้ไปเห็นภาพนั้นมากับตาแล้ว ความเชื่อของคนรุ่นหนึ่งที่ผูกพันจิตวิญญาณไว้ ความเชื่อที่หลอมรวมให้เกิดจารีต ประเพณี พิธีกรรมที่ส่งต่อกันมา ยึดโยงครอบครัวผู้คน จนหลอมรวมเป็นชุมชน วันนี้มันหายไปอย่างตั้งตัวไม่ทัน สำหรับภาพความเจ็บปวดของพี่น้องปกาเกอะญอที่แก่งกระจาน วันที่ไม่มีบ้าน ไม่มีข้าว มันคือความเจ็บปวดของผู้เป็นพ่อที่ไม่มีข้าวเลี้ยงดูครอบครัว บ้านหลังหนึ่งที่สร้างขึ้น สำหรับปาเกอญอ บนนั้นมี “เตาไฟ 3 เส้า” ที่หมายถึงพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย “ขอบกั้น”ที่ล้อมไว้คือลูกสาว ส่วน “เสา” ทั้งสี่คือลูกเขย มีหม้อในการทำพิธี “หม้อตัวเมีย” สำหรับหุงข้าว “หม้อตัวผู้” สำหรับทำหมู ไก่ มีที่ “กวนไม้ไผ่” สำหรับการทำข้าวไก่พิธี มี “ถาดกะทิ” ไว้กินไก่โคทิ พี่พฤกำลังบอกว่าโครงสร้างบ้านของปาเกอญอนั้นมันมีความลึกซึ้งเพียงใด การเผาทำลายทั้งบ้านและข้าว ของอุทยานในครั้งนี้ สิ่งที่มันมอดไหม้ไปจึงยิ่งใหญ่อย่างประเมินค่าไม่ได้เลย ถ้าจะมีข้อเสนอใดๆจากนี้ พี่พฤบอกว่า อยากให้ทางเจ้าหน้าที่เปิดให้คนภายนอก หน่วยงานอื่นเข้าไปสำรวจข้อมูล ข้อเท็จจริงได้ วันนี้คนที่ถูกอพยพลงมา แล้วพร้อมจะอยู่ควรมีการจัดสรรให้เขามีที่ดินที่จะปลูกข้าว ให้พ่อได้ภูมิใจ ที่จะเลี้ยงดู มีข้าวให้ลูกกิน มีข้าวไว้เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ที่จะมีพิธีกรรม ตามวิถีทางที่เขาเลือก ข้อเสนอและคำถามสุดท้าย หากคนที่ไม่พร้อมจะอยู่ อยากกลับไปผืนดินเก่า จะให้เขากลับไปได้ไหม “ผมเห็นแววตาเด็กๆ ผมว่าเขาไม่ต้องการครู เขาอยู่บนนั้น ชาวบ้านเขาคงหลบทุกคน ไม่อยากเจอใครทั้งนั้น ไม่ต้องคิดว่าเขาจะไปเกี่ยวข้องกับฝ่ายไหน เขามีความสุข ไม่ต้องใช้เงิน ครอบครัวปู่คออี้คงได้นอนกอดกันในครอบครัวทุกวัน มากกว่าผม” พี่พฤบอกว่าพี่น้องปกาเกอะญอจากภาคเหนืออยากเอาข้าวไปให้พี่น้องปกาเกอะญอที่แก่งกระจาน [1] อ่าน ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว, “บันทึกร่องรอย-เรื่องราวกะเหรี่ยงบางกลอยบน(แก่งกระจาน) ย่างเข้าเดือนที่ 2 ที่ถูกอพยพโยกย้าย-ไร้บ้าน” ,http://www.statelesswatch.org/node/462

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net