Skip to main content
sharethis

7 ต.ค. 54 สืบเนื่องจากกรณีที่คนงานจาก บริษัท เอจีซี อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) ถูกเลิกจ้าง 61 คน เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา และได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) โดยได้มีการนัดคนงานและนายจ้างนัดแรกเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 54 แล้วนั้น ตัวแทนคนงานระบุว่าการนัดให้ข้อมูลนัดแรก มีเพียงตัวแทนฝ่ายคนงานเท่านั้นที่เข้าไปพบ ครส. ส่วนตัวแทนฝ่ายนายจ้างไม่ได้มาให้ข้อมูล โดยให้เหตุผลว่ารอให้ ครส. ตั้งคณะกรรมการสอบก่อนตัวแทนฝ่ายนายจ้างจึงจะไปให้ข้อมูล ทั้งนี้ตัวแทนคนงานที่ถูกเลิกจ้างกล่าวว่าทาง ครส. เองก็ยังไม่ได้กำหนดวันเวลาว่าจะตั้งคณะกรรมการเสร็จเมื่อไหร่ เพียงแต่บอกว่าจะแจ้งให้คนงานทราบภายหลัง ซึ่งผลกระทบในเรื่องปัญหาปากท้องนั้น ตัวแทนคนงานที่ถูกเลิกจ้างกล่าวว่าคนงานมีความยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง บางส่วนต้องรับจ้างทั่วไป ขายของตามตลาดนัด กอปรกับปัญหาน้ำท่วมใน จ.อยุธยา ยิ่งทำให้คนงานที่ขาดรายได้ลำบากขึ้นไปอีกเท่าตัว ตัวแทนคนงานที่ถูกเลิกจ้างยังกล่าวต่ออีกว่านอกจากที่มีความหวังให้ ครส. มีคำสั่งชี้ให้นายจ้างรับคนงานกลับเข้าไปทำงานแล้ว คนงานเองก็อยากจะเจรจากับประธานบริษัทที่เป็นคนญี่ปุ่นโดยตรง เพราะในการเจรจาที่ผ่านมาประธานบริษัทฯ ไม่ได้เข้าร่วมเจรจา ซึ่งอาจจะทำให้ไม่ได้ข้อมูลความเดือดร้อนที่เป็นจริงจากคนงาน อนึ่ง บริษัท เอจีซี อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ส่งออกต่างประเทศรายใหญ่ของไทย ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา โดยเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 54 คนงานจำนวน 61 คน ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าฯพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากถูกปลดจากงานโดยไม่เป็นธรรม ทั้งนี้ พนักงานที่ถูกไล่ออกทั้ง 61 คน เป็นแกนนำของ 2 สหภาพคือสหภาพแรงงานเอจีซี อิเล็กทรอนิกส์และสหภาพแรงงานเอจีซี อิเล็กทรอนิกส์สัมพันธ์ จากข้อมูลของสหภาพแรงงาน โรงงานแห่งนี้มีพนักงาน 4,500 คน ประมาณ 70%เป็นพนักงานจ้างรายวัน วันละประมาณ 200 บาท กระทั่งเมื่อ วันที่ 12 กรกฎาคม บริษัทแจ้งว่า จำเป็นต้องหยุดการจ้างงานชั่วคราวและใช้มาตรา 75 ตามกฎหมายแรงงานต่อคนงาน 3,200 คน จ่ายค่าแรงให้ 75% ของสัญญาจ้างงาน โดยอ้างมียอดสั่งสินค้าลดลงเหตุการณ์ดังกล่าวทางสหภาพแรงงาน 2 แห่งของบริษัท ไม่เห็นด้วย มีการประท้วงหยุดงานในช่วงบ่ายวันที่ 12 กรกฎาคม จนเป็นสาเหตุให้เจ้าของโรงงานไม่พอใจ และสั่งปลดแกนนำของ 2 สหภาพ ดังกล่าว โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแรงงาน จากนั้นในวันที่ 11 ส.ค. 54 นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) พร้อมด้วยพนักงานของบริษัท เอจีซี อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 30 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือเรียกร้องขอความเป็นธรรม กรณีบริษัทฯ ประกาศเลิกจ้างกรรมการ สหภาพแรงงาน เอจีซี สัมพันธ์แห่งประเทศไทย และสหภาพแรงงาน เอจีซี เทคโนโลยี ประเทศไทย และสมาชิก รวม 61 คน โดยนายปกรณ์ อมรชีวิน รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ได้เป็นผู้รับเรื่องซึ่งได้พูดคุยถึงขั้นตอนกระบวนการถูกเลิกจ้างและรับปากว่าจะช่วยดูแลในเรื่องดังกล่าว แต่ทั้งนี้ปัญหาของคนงานยังไม่ได้รับการแก้ไข จึงทำให้คนงานที่ถูกเลิกจ้างต้องยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) ดังที่ได้กล่าวไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net