Skip to main content
sharethis

ทุกวันจันทร์แรกในเดือนตุลาคมของทุกปี สหประชาชาติได้กำหนดให้เป็นวันที่อยู่อาศัยโลก (World Habitat Day) มาตั้งแต่ปี 1989 เพื่อให้ประเทศต่างๆ ในโลกได้ให้ความสนใจกับสถานการณ์ที่อยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ตลอดจนสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม และเพื่อสร้างความตระหนักในความรับผิดชอบร่วมกันในการจัดการให้มนุษย์ทุกคน มีที่อยู่อาศัย อันเป็นปฏิบัติการร่วมกันทั่วโลก ภายใต้การแก้ปัญหาตามแผน 40/202 วันที่ 17 ธันวาคม 1985 สำหรับประเทศไทย องค์การที่อยู่อาศัยแห่งสหประชาชาติ (UN–HABITAT) ให้ความสนใจการดำเนินงานภายใต้โครงการบ้านมั่นคง ในการสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัยของคนจนในชุมชนแออัด โดยชุมชนเป็นแกนหลักในการดำเนินงานพัฒนาร่วมกับท้องถิ่น และเชื่อมโยงกับภาคีพัฒนาที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบในแต่ละเมือง ใน 200 เมืองทั่วประเทศ ภายใน 4 ปี (2548–2551) UN–HABITAT เห็นว่าเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับ Millennium Development Goals และ Cities Without Slum จึงประสานความร่วมมือกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดงานมหกรรมวันที่อยู่อาศัยโลกขึ้น ทั้งในส่วนของกิจกรรมวันที่อยู่อาศัยโลกของประเทศไทย และการจัดสัมมนานานาชาติ งานวันที่อยู่อาศัยโลกในปี 2552 ของประเทศไทย ซึ่งเคยจัดเฉพาะขบวนคนจนเมือง หันมาผนึกกำลังกับขบวนที่ดินในชนบท ด้วยการนำเสนอประสบการณ์การแก้ปัญหาที่ดินในชนบท เพื่อเสนอให้รัฐบาลช่วยทะลุทะลวงอุปสรรคหลายๆ ประการในระดับปฏิบัติการ และระดับนโยบายเพื่อให้การแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยโดยชุมชนและท้องถิ่นประสบความสำเร็จ ทั้งในส่วนของชุมชนผู้เดือดร้อน ให้มีหนทางและเกิดความมั่นคงทั้งเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน หน่วยงานท้องถิ่นสามารถออกกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนได้อย่างถูกจุด รวดเร็วและเป็นธรรม ในระดับนโยบายคือรัฐบาลได้ช่วยแก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินซึ่งมีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่เป็นปัญหาของประเทศไทยได้สำเร็จ กระทั่ง มาถึงปี 2554 วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม ตรงกับวันที่ 3 ตุลาคม 2554 งานวันที่อยู่อาศัยโลกปีนี้ สหประชาชาติได้กำหนดหัวข้อหลักว่า “Cities And Climate Change” หรือ “เมืองและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ถึงกระนั้นสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และเครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศ ยังคงร่วมกันจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินโดยขบวนชุมชนและท้องถิ่น โดยเริ่มงานตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2554–วันที่ 18 พฤศจิกายน 2554 มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันนโยบายที่ดินทำกินในรูปแบบการแก้ไขปัญหาทั้งตำบล และที่อยู่อาศัยเมืองโดยขบวนองค์กรชุมชนและท้องถิ่น เชื่อมโยงเข้าสู่ปฏิบัติการ “ท้องถิ่นจัดการตนเอง” รองรับกระแสการปฏิรูปประเทศ ที่กำลังมีการรณรงค์อย่างเอาจริงเอาจังอยู่ในขณะนี้ ในภาคใต้กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 10–12 ตุลาคม 2554 เริ่มเคลื่อนขบวนแรลลี่ ในเวลา 08.00 น. ที่ตำบลลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง ไปยังตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เวลาประมาณ 13.40 น. จากนั้นขบวนแรลลี่จะเคลื่อนไปถึงโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง อำเภอเมือง จังหวัดพังงา กระทั่งเวลาประมาณ 14.00 น. ของวันที่ 11 ตุลาคม 2554 จนเวลาประมาณ 19.30 น. ขบวนแรลลี่จะไปถึงจุดหมายสุดท้าย ณ ชุมชนท่าเรือใหม่รัษฎา ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต สำหรับตำบลลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง ถูกเลือกเป็นจุดเปิดงานวันที่อยู่อาศัยโลกของภาคใต้ ในปี 2554 เพราะเป็นชุมชนที่เข้มแข็งสามารถจัดการตนเองได้ ภายใต้การทำงานของเครือข่ายสินธุ์แพรทอง ส่งผลให้ตำบลลำสินธุ์เป็นชุมชนแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานของแต่ละกลุ่ม กระทั่งเกิดศูนย์การเรียนรู้หลักสูตรเกษตรพอเพียง เป็นศูนย์กลางของการอบรมเรียนรู้แลกเปลี่ยนของคนในตำบลลำสินธุ์ ระหว่างปี 2513–2523 ตำบลลำสินธุ์เป็นพื้นที่สีแดง เป็นสมรภูมิสู้รบระหว่างรัฐกับกองกำลังพรรคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีการส่งกองกำลังทหารเข้ามาปราบปราม และจับกุมบุคคลต้องสงสัยเป็นพลพรรคของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไปสอบปากคำ อุทัย บุญดำ “มีชาวบ้านจำนวนมากถูกยัดเยียดกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เกิดโศกนาฏกรรมจับชาวบ้านยัดลงถังแดงเผา มีคนตายสูญหายประมาณ 3,008 คน เด็ก ผู้หญิง คนชรา หนีกระเจิดกระเจิงเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะไร้ทางเลือกไม่สามารถไว้วางใจรัฐได้” พี่เล็ก หรือนายอุทัย บุญดำ ผู้ประสานงานเครือข่ายสินธุ์แพรทอง ซึ่งระหกระเหินขึ้นเขาบรรทัดเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เล่าว่า ระหว่างปี 2513-2523 ตำบลลำสินธุ์กลายเป็นพื้นที่สีแดง เป็นสมรภูมิสู้รบระหว่างรัฐกับกองกำลังพรรคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กระทั่งปี 2523 รัฐบาลประกาศใช้นโยบาย 66/23 การเมืองนำการทหาร จนสามารถยุติการสู้รบลงได้ ปี 2527 กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เข้ามาสนับสนุนให้ชาวบ้านลำสินธุ์จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มพัฒนาชุมชน กลุ่มสาธารณสุขทุกหมู่บ้าน แต่ด้วยความไม่พร้อมของชุมชน กลุ่มต่างๆ พากันล้มระเนระนาด เหลือเพียงไม่กี่กลุ่มที่พอบริหารจัดการได้ กลุ่มออมทรัพย์เปรียบเสมือนเส้นเลือดของชาวบ้าน ไม่ว่าค่าใช้จ่ายใดๆ ฝากความหวังไว้ที่กลุ่มนี้ เพราะชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน จึงไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ คนส่วนหนึ่งที่ออกจากพรรคคอมมิวนิสต์ฯ ลงมาจากภูเขา ก็ไม่เชื่อในกระบวนการของรัฐ ชาวบ้านลำสินธุ์จึงหารือกันตามงานวัด และงานเทศกาล เห็นว่ากลุ่มที่บริหารจัดการได้ สมควรจะให้กลุ่มที่ยังบริหารจัดการไม่เป็น ได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้ จนถึงปี 2544 ชาวบ้านจึงมีนัดนั่งแลกเปลี่ยนพูดคุยกันถึงปัญหาของตำบลลำสินธุ์ ทุกวันที่ 9 ของทุกเดือน จนมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายสินธุ์แพรทอง มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ทำงานของแต่ละกลุ่ม โดยได้รับงบประมาณจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน จนสามารถแก้ปัญหาการจัดการกลุ่มได้ “เราเน้นสร้างคนเพื่อสร้างองค์ความรู้ในการแก้ปัญหาสาธารณะ โดยไม่เน้นการแก้ปัญหาที่ดินโดยตรง เรามองว่าที่ดินเป็นปัญหาสาธารณะอย่างหนึ่ง ที่สามารถจะเชื่อมโยงคนได้ทั้งตำบล เนื่องจากแนวทางการแก้ไขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราจึงมีเวทีหารือสรุปกันทุกเดือนเพื่อร่วมกันทบทวน และหาแนวทางแก้ปัญหา” นายอุทัย อธิบาย นายอุทัย เล่าว่า ที่นี่เป็นที่เดียวที่ชาวบ้านสามารถล้มต้นยางได้โดยไม่ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามาฟันต้นยางทิ้ง เป็นพื้นที่ที่ไม่มีปัญหากับกรมป่าไม้ เพราะเราพยายามพัฒนาคน ไม่รุกล้ำพื้นที่ป่าไม้เพิ่มเติม เราทำข้อมูลแผนที่ทำมือ มีเป้าหมายเพื่อขอพิสูจน์สิทธิ์ กระทั่งเชื่อมโยงแผนที่ 1:4000 จนพบพื้นที่ว่างเปล่าบริเวณควนรงค์ว่า ไม่ได้อยู่ในเขตป่าสงวน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตป่าไม้ สามารถนำมาออกโฉนดที่ดินให้กับชาวบ้าน ที่มีปัญหาเรื่องที่ดิน ที่ทำกินได้ครึ่งหนึ่ง กระทั่งปี 2551 เครือข่ายสินธุ์แพรทอง ได้เปิดศูนย์เรียนรู้การใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง เรียนรู้วัฒนธรรมชุมชน มีวิทยากรท้องถิ่นที่มีความรู้เฉพาะด้านคอยให้ความรู้ ด้านการผลิตไม้ผล ศูนย์รวบรวมผลผลิต กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร เป็นต้น โดยให้ผู้เข้าอบรมพักกับครอบครัวเกษตรกรเพื่อที่จะทำการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และภูมิความรู้ที่มีของแต่ละคน คนเข้ามาอบรมรุ่นหนึ่งๆ จำนวน 100 คน กระจายลงบ้านต่างๆ ซึ่งมีสมาชิกในครอบครัว 4–5 คน แต่ละครอบครัวต้องมีแผนพัฒนาในระดับครอบครัวด้วย แล้วจะมีการประเมินและขยายผลต่อไปว่า แต่ละครอบครัวจะต้องพัฒนาอะไรต่อไปบ้าง เช่น ปลูกผักสวนครัวกี่ชนิด ผักอะไรบ้าง จะลดพลังงานอย่างไร จะเผาถ่านใช้เอง หรือทำก๊าซชีวภาพใช้ในครัวเรือน ศูนย์เรียนรู้ของเครือข่ายฯ สร้างเงื่อนไขให้คนมาอบรมเป็นการบ้านไปนั่งคุยกับชาวบ้านว่า มีระบบการใช้ชีวิตในวิถีพอเพียงอย่างไร ทำอะไรกี่เรื่อง เริ่มจากเรียนรู้จากการสังเกตกันภายในครัวเรือน แลกเปลี่ยนกันระหว่างคนมาอบรมกับชาวบ้าน จากนั้นเรียนรู้จากคนรอบบ้าน ให้ไปสอบถามคนข้างบ้านว่า คนนี้อยู่แบบนี้จริงหรือจัดฉากขึ้นมา ฉากที่เห็นตอนนี้ กับที่เห็นเห็นแรกๆ ต่างกันอย่างไร นอกจากชาวบ้านจะพัฒนาครอบครัวตัวเองแล้ว ยังต้องพัฒนาครัวเรือนข้างๆ ด้วย แล้วจะนำมาสรุป สรุปเท็จไม่ได้ เนื่องจากคนมาอบรมสัมผัสได้ หากเพื่อนบ้านช่วยกันโกหกว่า บ้านนี้ไม่เกี่ยวข้องยาเสพติด เราจะให้ผู้เข้าอบรมสังเกตลูกของชาวบ้านตาลอยๆ อยู่หรือเปล่า พ่อบ้านกินเหล้าหรือไม่ ความอบอุ่นในครอบครัวสื่อออกมาจากอะไร คุยกับเราเขาสื่อด้วยสายตา ด้วยใจ ด้วยภาษากายอะไรไหม เมื่อลงไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากชาวบ้าน มีการนั่งคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ผสมผสานกับประสบการณ์ของแต่ละคน ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้เรียนรู้ คนที่มาร่วมแลกเปลี่ยนก็ได้ประโยชน์ “เราใช้โครงการฝึกอบรมบุคคลข้างนอกเป็นเครื่องมือพัฒนาชาวบ้านในชุมชนไปในตัว พอทำสักพักก็นำมาทบทวนว่าเป็นไปตามเป้าหมาย ตามแผนพัฒนาของเราหรือไม่ เกิดความรู้อะไรไปบ้างไหม ทุกคนซึ่งมีแผนพัฒนาของตัวเอง จะต้องนำมาสรุปและถอดบทเรียนขยายความรู้ที่เพิ่มขึ้นมา” นายอุทัย บอก “เราเน้นสร้างคนเพื่อสร้างองค์ความรู้ในการแก้ปัญหาสาธารณะ โดยไม่เน้นการแก้ปัญหาที่ดินโดยตรง เรามองว่าที่ดินเป็นปัญหาสาธารณะอย่างหนึ่งที่เชื่อมโยงคนในระดับตำบล ซึ่งแนวทางในการแก้ไขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ซึ่งมีเวทีหารือสรุปกันทุกเดือนเพื่อมาร่วมกันนั่งทบทวนและหาแนวทางในการแก้ปัญหา” “จากการที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเลือกพื้นที่ตำบลลำสินธุ์ เป็นจุดเปิดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปีนี้ เพราะต้องการให้ชุมชนได้เสนอกระบวนการการเรียนรู้แบบใหม่ ที่ไม่ใช่เน้นแค่ที่อยู่ ที่ทำกิน แต่หมายถึงเรื่องกระบวนการ การทำงาน การจัดการตัวเองของชุมชนโดยองค์กรของชาวบ้านเอง” นายอุทัย อธิบาย ทั้งนี้เพื่อให้เห็นรูปธรรมของชุมชนจัดการตนเอง อันจะนำไปสู่แนวทางการปฏิรูปประเทศไทยต่อไปในวันข้างหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net