นิคมโรจนะวิกฤตท่วมเรียบทุกโรงงาน

เขตอุตสาหกรรมโรจนะถึงขั้นวิกฤตหนักโรงงานทุกแห่งตกเป็นเหยื่ออุทกภัยไม่ สามารถป้องกันได้ กระทบแรงงาน 90,000 คน  "วรรณรัตน์" เรียกเอกชนหารือผลกระทบน้ำท่วม ด้านผู้ผลิตเตรียมหาวัตถุดิบจากแหล่งอื่นแทน

โรจนะวิปโยค-ท่วมเรียบทุกโรงงาน

9 ต.ค. 54 - นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม  กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในเขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา ขณะนี้อยู่ในขั้นวิกฤตหนัก โดยน้ำได้เข้าไปท่วมโรงงาน 198 แห่งหมดแล้ว เพิ่มจากวันที่ 8 ต.ค. ที่ท่วมโรงงานเพียง 10-20 แห่งเท่านั้น  และไม่สามารถกู้ได้แล้ว  แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้เร่งสร้างคันกั้นน้ำให้สูงเพิ่มเป็น 6.5 เมตร จากเดิมอยู่ที่ 5.1 เมตรก็ตาม แต่กระแสน้ำแรงมาก  เบื้องต้นได้ประสานขอกำลังทหารช่างเข้ามาช่วยในพื้นที่แล้ว

นาย ประยูร ติ่งทอง อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า  มูลค่าลงทุนในเขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะอยู่ในระดับที่ 70,000 ล้านบาท มีแรงงาน 90,000 คน  อย่างไรก็ตามหลายโรงงานได้ขนของรวมถึงสต็อกและเครื่องจักรที่มีราคาแพง และมีน้ำหนักไม่มากไปไว้ที่สูงเกือบหมดแล้ว โดยเฉพาะผู้ผลิตรถยนต์ ฮอนด้าที่ขนรถยนต์ที่เพิ่งผลิตเสร็จ 3,000 คันได้ทันเวลา

อุตฯเรียกเอกชนถกเยียวยาโรงงานน้ำท่วม

นาย พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า  ในวันที่10 ต.ค. น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม จะเรียกภาคเอกชนทั้งส.อ.ท. และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เข้าพบเพื่อหารือถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้ รวมทั้งหามาตรการเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจร่วมกัน

ทั้งนี้ผลกระทบ ที่เกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพราะโรงงานที่น้ำท่วมเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนป้อนโรงงานประกอบ ทั้งในกลุ่มของยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต้องวางแผนการจัดหาวัตถุดิบมาป้อนโรงงาน ใหม่ ซึ่งอาจจะใช้จากแหล่งผลิตอื่นในประเทศ หรือนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย จีน เกาหลี เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีโรงงานที่ได้รับความเสียหายในจังหวัดอื่นๆ ได้แก่ นครสวรรค์ ลพบุรี โดยในลพบุรีมีโรงงานของบริษัทอินโดราม่า ผู้ผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ขนาดใหญ่ถูกน้ำท่วมเช่นเดียวกัน

สำหรับมาตรการเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจผู้ประกอบการต้องการให้มีการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วนหลังน้ำลด เช่น การทำงานของบริษัทประกัน ในการประเมินความเสียหายหลังน้ำท่วม การซ่อมแซมเครื่องจักร ถนน เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนได้อีกครั้ง และผู้ประกอบการจะได้กลับมาดำเนินการอย่างเร็วที่สุด

"ต้องการให้มี การฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน เพราะผู้ประกอบการมีภาระมาก โดยเฉพาะในด้านแรงงาน ที่จำเป็นต้องรักษาไว้ โดยโรงงานในอยุธยาทั้งหมดมีการจ้างงานกว่า  2 แสนคน ซึ่งหากดำเนินการล่าช้าโรงงานขนาดเล็กจะต้องรับภาระมากที่สุด" นายพยุงศักดิ์ กล่าว

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรมหลังจากนี้อาจจะเกิดปัญหาขาดแคลน วัตถุดิบในการผลิตได้  เนื่องจากโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนขนาดใหญ่หยุดผลิตกันหมดแล้ว ทั้งในจังหวัดอยุธยา และจังหวัดอื่นๆ ในพื้นที่ภาคกลาง โดยในจังหวัดลพบุรีก็มีโรงงานที่ได้รับความเสียหายไปแล้วกว่า 20 โรง โดยเฉพาะโรงงานผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ขนาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นสิ่งทอต้นน้ำก็ได้รับความเสียมาก

ดังนั้นในนิคม อุตสาหกรรมบางปะอิน และนิคมฯบ้านหว้า (ไฮเทค) ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมให้ดี เพราะในนิคมฯบ้านหว้า มีโรงงานผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นอยู่ หากรวมกับที่ลพบุรี 2 โรงงานนี้มีกำลังการผลิตรวมเป็น 40% ของประเทศ หากน้ำท่วมจะกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอทั้งหมด

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: เดลินิวส์, โพสต์ทูเดย์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท