Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บรรณาธิการใหญ่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ‘พิชาย ชื่นสุขสวัสดิ์’ ทำหนังสือแจงสาธารณะกรณีอดีตนักข่าวต่างชาติ ‘เอริก้า ฟราย’ เขียนบทความลง Columbia Journalism Review กรณีถูกฟ้องหมิ่นประมาท ยืนยันบางกอกโพสต์ไม่เคยทอดทิ้งนักข่าวของตนเอง สืบเนื่องจากบทความ “Escape from Thailand” เขียนโดยเอริก้า ฟราย ที่ตีพิมพ์ลงในปริทัศน์วารสารศาสตร์โคลัมเบีย และประชาไทได้นำมาแปลและตีพิมพ์เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมาในชื่อ “หลบลี้หนีภัยจากประเทศไทย” นั้น เนื้อหาบางส่วนของบทความดังกล่าวได้พาดพิงถึงหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์และบุคลากรหลายคน เช่น ทนายความ บรรณาธิการฝ่าย และบรรณาธิการบริหารของบริษัทบางกอกโพสต์ ทางพิชาย ชื่นสุขสวัสดิ์ บรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ จึงได้ส่งหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงในฐานะผู้ที่ถูกกล่าวหาและพาดพิง ประชาไทจึงนำมาแปลเพื่อนำเสนอข้อมูลจากอีกด้าน ดังนี้ 0000 ในอาชีพการงานของเรา เราต่างรู้กันดีว่าเรื่องราวต่างๆ มักจะมีมากกว่าด้านเดียว บทความ “หลบลี้หนีภัยจากประเทศไทย” ของเอริก้า ฟราย กล่าวหาหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ว่าล้มเหลวในการสู้คดีหมิ่นประมาทต่อเธอ ต่อบรรณาธิการและบริษัท เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่จริง และเรื่องของเธอก็เล่าความข้างเดียว การตอบนี้ มิใช่เป็นเพื่อแก้ต่างให้กับระบบหรือกระบวนการยุติธรรมของไทย ไม่มีข้อสงสัยเลยว่ามันต้องมีการปรับปรุงมหาศาล การใช้ระบบอุปถัมภ์และอิทธิพลส่วนตัวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมากมายในหลายส่วนของสังคมไทย ถึงแม้ว่าจะมีบางส่วนของบทความของเธอที่ถูกต้อง แต่ก็มีหลายส่วนที่สำคัญที่ไม่ถูกต้องและไม่ตรงตามความเป็นจริง เป็นเรื่องน่าเศร้าที่บางย่อหน้านั้น ไม่มีอะไรมากกว่าการเสียดสี การคาดเดา และการกล่าวหากันอย่างลอยๆ แน่นอนว่า นางสาวฟรายถูกจ่ายงานให้ทำเรื่องการขโมยความคิด (plagiarism) ซึ่งต่อมาส่งผลให้หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์และบรรณาธิการถูกฟ้องหมิ่นประมาท งานเขียนชิ้นดังกล่าวถูกอนุมัติให้ตีพิมพ์โดยบรรณาธิการหลายคนที่เกี่ยวข้อง และก็ถูกต้องว่า บรรณาธิการอาวุโสผู้หนึ่งแสดงความกังวลว่าหนังสือพิมพ์มีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้อง และความจริงที่ว่านางสาวฟรายไม่รู้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้อง และความจริงก็คือ เรื่องนี้ได้รับการอนุมัติให้ตีพิมพ์ เรื่องนี้ไม่มีข้อถกเถียง การถูกจำคุก ถึงแม้ว่าเพียงชั่วคราวเป็นเวลาหนึ่งวัน และอยู่ในต่างประเทศ ก็ย่อมเป็นประสบการณ์ที่น่าตระหนกและบอบช้ำทางจิตใจ ถึงแม้ว่าผมไม่เคยอยู่ในคุกต่างประเทศมาก่อน แต่ผมก็เคยถูกคุมขังในเรือนจำชั่วคราว ในสถานการณ์เดียวกันกับที่นางสาวฟรายได้เคยเผชิญมา ส่วนบรรณาธิการและผู้สื่อข่าวคนอื่นๆ ก็เคยผ่านประสบการณ์นี้มาแล้วเช่นกัน ผมย่อมเข้าใจได้ว่าเธอรู้สึกอย่างไร ปกติแล้ว เมื่อคดีหมิ่นประมาทขึ้นไปยังชั้นศาล และจำเลยต้องการจะสู้คดี ศาลจะต้องใช้เงินประกันเพื่อไปค้ำประกัน เมื่อศาลเห็นชอบ ทนายจะต้องทำเรื่องเป็นทางการเพื่อขอประกัน และการอนุมัติก็จะใช้เวลา มันอาจจะใช้เวลาราวสองสามชั่วโมงในช่วงพักเที่ยง หรือนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่และกระบวนการของศาล ในระหว่างที่จำเลยรอการพิจารณาอนุมัติประกันของศาล เขาจำเป็นต้องถูกคุมขังในเรือนจำชั่วคราว หนังสือพิมพ์หลายแห่งในประเทศไทย เช่น บางกอกโพสต์ ปรกติจะขออนุญาตสำหรับบรรณาธิการหรือผู้สื่อข่าวที่รอการประกันตัว ให้รออยู่ในห้องพักมากกว่าในเรือนจำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลแต่ละแห่งว่าจะเห็นด้วยกับคำขออนุญาตนี้หรือไม่ ในบางครั้ง ศาลในกรุงแทพฯ อาจจะเห็นชอบกับคำขอดังกล่าว แต่ก็ไม่เสมอไป โดยเฉพาะในกรณีของศาลในต่างจังหวัด เช่น ในนครปฐม ซึ่งเป็นที่ที่คดีหมิ่นประมาทดังกล่าวนี้กำลังดำเนินอยู่ นางสาวฟรายกล่าวว่า เธอไม่มีความมั่นใจในตัวทนายของบางกอกโพสต์ รณชัย เนตรอัมพร เนื่องจากหลายสาเหตุด้วยกัน หนึ่งคือ การที่เขาไม่สามารถให้รายละเอียดเรื่องแบล็กลิสต์ได้ สิ่งที่ผมสามารถกล่าวได้คือว่า บ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่กล่าวว่ามันมีแบล็กลิสต์เช่นนั้นอยู่จริงๆ แต่มันอาจจะขอดูได้ยากถึงแม้ว่าจะพยายามแล้ว นี่เป็นเหตุผลเพียงพอแล้วหรือที่ทำให้เธอขาดความมั่นใจ? นางสาวฟรายยังกล่าวด้วยว่า เธอขาดความมั่นใจในตัวทนายเพราะเขาพูดภาษาอังกฤษได้น้อยมาก และไปไกลจนกระทั่งเขียนว่า “ทนายที่ฉันรู้จักบอกฉันว่า รณชัยไม่เคยว่าความคดีไหนชนะให้บางกอกโพสต์เลย” นี่เป็นเรื่องที่ไม่จริงเลย และไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่างานเขียนที่ชุ่ยๆ คุณรณชัย ได้ว่าความให้บรรณาธิการสามคนและฝ่ายจัดการของบางกอกโพสต์ในคดีหมิ่นประมาทมามากกว่า 15 ปี แน่นอนว่ามีบางกรณีที่บางกอกโพสต์แพ้ แต่ก็คิดเป็นสามคดี คุณรณชัยได้ว่าความอย่างประสบความสำเร็จกว่า 40 คดี ในคดีที่ฟ้องต่อบางกอกโพสต์และโพสต์ทูเดย์ จะเห็นว่า การขาดความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษของคุณรณชัยมิได้เป็นอุปสรรคต่อการต่อสูคดีให้บางกอกโพสต์แต่อย่างใด คุณรณชัย หรือทนายคนไทยใดๆ ก็ตาม ไม่มีอำนาจควบคุมเหนือกระบวนการทางกฎหมายหรือจังหวะขั้นตอน เขาไม่สามารถควบคุมการตัดสินใจของศาลที่ในตอนแรกปฏิเสธไม่ให้นางสาวออกนอกประเทศได้ แต่ในท้ายที่สุด คุณรณชัยก็ได้ทำหน้าที่ของเขาและทำให้ศาลอนุญาติให้เธอออกนอกประเทศเพื่อไปทำข่าวได้ ซึงบางกอกโพสต์ก็ได้เป็นผู้ค้ำประกัน ในกรณีนี้ โจทก์ ศุภชัย หล่อโลหการ ได้เข้ามาปรึกษากับบางกอกโพสต์หลังจากที่เขาได้ยื่นฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาท นางสาวฟรายก็ได้อยู่ด้วยในการปรึกษาหารือขั้นต้นนี้ พร้อมๆกับบรรณาธิการอาวุโสท่านอื่น ทางโจทก์ ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อการประนีประนอมว่า เป้าหมายหลักๆ ของเขาคือนายวิน เอลลิส ซึ่งเป็นแหล่งข่าวหลักของนางสาวฟราย และถูกฟ้องโดยโจทก์ ที่จริงแล้ว โจทก์และนายเอลลิสได้เคยเป็นหุ้นส่วนในธุรกิจกันมาก่อน และมีเป็นคู่คดีในศาลกันมาหลายครั้งแล้วหลังจากที่เขาได้แยกทาง โจทก์กล่าวว่า บรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ พัฒนพงศ์ จันทรานนท์วงศ์ และนางสาวฟราย มิได้เป็นเป้าหมายหลักของเขา และโจทก์ได้เสนอว่าจะถอนฟ้องข้อกล่าวหาต่อบรรณาธิการและนางสาวฟราย (หากนางสาวฟรายให้ปากคำในศาลว่าการสัมภาษณ์ของเธอกับนายวิน เอลลิสนั้นถูกต้อง) และหากนสพ. บางกอกโพสต์เอาเรื่องดังกล่าวออกจากฐานข้อมูลออนไลน์ของบางกอกโพสต์ บรรณาธิการได้ปรึกษาคุณรณชัย ผู้แนะนำว่า คำร้องในการขอถอนบทความออกจากช้อมูลออนไลน์ของบางกอกโพสต์ไม่มีส่วนกับรูปคดีของบางกอกโพสต์ การร้องขอให้ถอนบทความออก เป็นการขอเพื่อกันการเสียหน้ามากกว่า เนื่องจากบางกอกโพสต์ได้กล่าวชัดเจนแล้วว่าจะไม่ถอนเรื่องออก และจะสู้คดีต่อในศาล การที่ผู้สื่อข่าวถูกเรียกโดยจำเลย เพื่อให้การในฐานะพยานต่อต้านโจทก์ในคดีหมิ่นประมาทนั้นเป็นเรื่องปกติ จำเลยเพียงต้องการให้ผู้สื่อข่าวยืนยันว่าบทสัมภาษณ์กับโจทก์ (คือนายเอลลิส) ถูกต้อง มันไม่ใช่การสารภาพความผิด มันเป็นการยืนยันว่าการสัมภาษณ์ดังกล่าวถูกต้องและตรงตามความเป็นจริง หนังสือพิมพ์และผู้สื่อข่าวหลายคนที่ถูกฟ้องเป็นโจทก์ เพื่อที่ว่าจำเลยจะนำการให้ปากคำมาใช้ต่อโจทก์อีกคนในคดี นางสาวฟรายไม่เห็นด้วยกับสิ่งนี้ และเรียกร้องให้คดีที่มีต่อเธอยกฟ้องโดยทันทีก่อนที่จะตกลงว่าจะให้ปากคำในศาล ทางโจทก์ก็รับรู้ว่านางสาวเอริก้ายืนยันเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม โจทก์ก็ยังยืนยันเช่นเดิม และถึงแม้ทางโจทก์จะได้รับการร้องขอให้ถอนฟ้องนางสาวเอริก้า ฟราย แต่โจทก์ก็ยังหนักแน่นเหมือนเดิม ทางบรรณาธิการ พยายามจะแก้ไขปัญหานี้หลายครั้งแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ และเพื่อการประนีประนอม บรรณาธิการก็ได้ตัดสินใจทำตามการร้องขอของโจทก์ โดยถอนบทความดังกล่าวออกจากฐานข้อมูลออนไลน์ ทำให้โจทก์ถอนฟ้องคดีต่อบรรณาธิการ แต่คดีระหว่างนางสาวฟรายยังคงมีอยู่เหมือนเดิม ซึ่งในกรณีนี้ โจทก์ต้องการให้เธอให้การในฐานะพยาน บางกอกโพสต์เองก็ไม่ได้วางแผนที่จะยอมความ และตั้งใจจะสู้คดีในศาลต่อไป และจะสู้คดีในศาลฎีกาด้วยถ้าจำเป็น เมื่อนางสาวฟรายตัดสินใจจะออกนอกประเทศ บรรณาธิการฝ่ายของเธอได้ประสานงานโดยตรงกับคุณรณชัย ซึ่งคิดเอาเองว่าบรรณาธิการน่าจะอนุญาต อย่างไรก็ตามบ.ก. ฝ่ายก็ไม่ได้แจ้งให้บรรณาธิการใหญ่ทราบ เมื่อเธอเดินทางมาถึงสิงคโปร์ นางสาวฟรายแจ้งบางกอกโพสต์ว่าเธอจะไม่กลับมาอีกแล้ว และได้เซ็นมอบอำนาจทั้งหมดให้กับทนายอีกคนหนึ่ง และ ณ จุดนั้นเอง บางกอกโพสต์ก็ได้โอนความรับผิดชอบทั้งหมดไปยังทนายของเธอ ก่อนที่ศาลจะเริ่มการว่าความครั้งต่อไป บางทีทนายของเธอ อาจจะไม่ได้แจ้งให้ทราบว่า เมื่อเธอเดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว คดีของเธอจะถูกแขวนเอาไว้ และศาลไทยจะไม่ดำเนินการและพิจารณาคดีใดๆ นอกจากจำเลยจะสามารถมาปรากฎตัวต่อหน้าศาลได้ อย่างไรก็ดังกล่าวก็ดำเนินการต่อไป และท้ายที่สุดคดีของนายศุภชัยซึ่งเป็นโจทก์ก็ถูกยกฟ้อง อย่างไรก็ตาม ในบันทึกยังระบุว่านางสาวฟรายได้หนีประกัน ในบทความ นางสาวฟรายระบุว่า การตัดสินใจทำตามคำขอเพื่อรักษาหน้านั้นเกี่ยวข้องกับการเมือง ว่าเจ้าของนสพ. โพสต์เป็นญาติกับอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือเงินได้เปลี่ยนมือไปแล้ว ช่างน่าเสียใจที่ได้เห็นว่า เธอได้ใส่การคาดเดาที่ไร้มูลเหตุของเธอเพื่อแต่งแต้มสีสันให้กับงานเขียนของเธอ สิ่งที่เธอเขียนขึนมาไม่จริงแต่อย่างใด การใส่สีเกินจริงในเรื่องของเธอ ยังปรากฎในอีกหนึ่งย่อหน้าในบทความของเธอ ที่ระบุว่า “ฉันเป็นฝ่ายถูกทำให้อยู่ในฐานะเสียเปรียบ เพราะสถานะทางกฎหมายของฉันนั้นขึ้นอยู่กับใบอนุญาตทำงานซึ่งบางกอกโพสต์เป็น ผู้ควบคุม ถ้าฉันถูกไล่ออก ในทางทฤษฎีแล้ว ฉันอาจจะถูกจับเข้าไปอยู่ในสถานกักกันในกรมตรวจคนเข้าเมือง ที่มีสภาพแย่กว่าคุก และเป็นที่ที่มีไว้กักกันคนต่างชาติที่สิ้นไร้ไม้ตอก และผู้ลี้ภัย นานเป็นปีๆ” ในฐานะที่ผมทำงานให้บางกอกโพสต์มานานหลายปี และภายใต้การนำของรุ่นต่อๆมา ไม่เคยมีพนักงานต่างชาติคนไหนที่เคยได้รับการปฏิบัติเช่นนั้น ผมไม่เห็นด้วยกับวิธีที่เธอรายงานบทสนทนาระหว่างเราในกรณีนี้ เราใช้เวลากว่าหนึ่งชั่วโมงในการหารือเรื่องคดี และที่แน่นอนคือ ผมไม่ได้ยโสโอหัง และหรือไม่ได้จะปฏิเสธข้อกังวลของเธอ ถูกต้องที่ผมไม่เห็นด้วยที่เธอจะเปลี่ยนทนาย เพราะในความคิดเห็นของผมเรามีทนายที่ดีอยู่แล้ว และการจ้างทนายอีกคนที่ไม่เชี่ยวชาญด้านคดีหมิ่นประมาท จะทำให้รูปคดีเสียมากขึ้น นอกจากนี้ เธอยังได้ยอมรับเองว่า นางสาวฟรายได้ปรึกษาทนายกว่า 10 คน รวมถึงผู้พิพากษา นักธุรกิจ และผู้ใหญ่ เพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ก็ปรากฎว่าความพยายามดังกล่าวของเธอไม่เป็นผล การปรึกษาทนายหลายคน โดยเฉพาะหากพวกเขาไม่เชี่ยวชาญคดีหมิ่นประมาท จะทำให้รังแต่เกิดความสับสนเท่านั้น และในท้ายที่สุด อย่างที่ได้กล่าวไปตอนแรก คดีดังกล่าวก็ถูกยกฟ้อง จึงเรียนมาเพื่อทราบ พิชาย ชื่นสุขสวัสดิ์ บรรณาธิการบริหาร โพสต์ พับลิชชิง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net