Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ก่อนอื่นก็ขอออกตัวไว้ก่อนเลยว่า เรื่องที่จะเล่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่มาจากประสบการณ์ส่วนตัวที่คุ้นเคยกับน้ำท่วมที่บ้านมาตั้งแต่เกิด เพราะว่าเผอิญบ้านที่อยู่เป็นบ้านริมคลองที่มีน้ำท่วมทุกปีอย่างสม่ำเสมอ สาเหตุสำคัญที่ทำให้เราอยากจะเขียนเรื่องนี้เป็นบันทึกออกมาให้คนอ่านกันหลายๆคน ก็มาจากการได้อ่านบทความที่เขียนโดยคุณ สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ออกมาตัดพ้อต่อว่าผ่านทางข้อเขียนในหนังสือพิมพ์มติชน กรณีที่มีชาวบ้านที่ปทุมธานีออกมารื้อทำลายคันกั้นน้ำเพื่อให้น้ำไหลเข้าท่วมชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง ท่านกล่าวว่าเป็นการแสดงออกถึงความตกต่ำทางด้านศีลธรรม (คล้ายกับที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษชี้แจงว่าการตกต่ำของศีลธรรมทำให้เกิดการจลาจลครั้งร้ายแรงในอังกฤษ?) เป็นการกระทำที่ขาดความเห็นอกเห็นใจต่อชาวไทยด้วยกัน การทำแบบนี้ทำให้เจ้าหน้าที่ที่แก้ไขสถานการณ์นั้นหมดกำลังใจทำงาน และท่านก็ยังได้ยกตัวอย่างการแก้ไขปัญหาและการประพฤติตนของชาวญี่ปุ่นที่ประสบภัยธรรมชาติเช่นเดียวกัน แต่มีการประพฤติตัวและจิตสาธารณะที่น่ายกย่องมากกว่าคนไทยมากมายหลายเท่า หลังจากที่เราได้อ่านบทความนี้ ก็รู้สึกว่าท่านไม่ได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเลย น่าเห็นใจว่า ถึงแม้ท่านจะมีความคิดดี แต่คงจะมุ่งไปกับการควบคุมระดับน้ำ จนลืมดูคน, บริบท และสถานการณ์รอบข้างที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมานานต่อเนื่องกันหลายปีก่อนช่วงน้ำท่วมแค่สองเดือนนี้ เพราะท่านไม่ได้คลุกคลีอยู่ในพื้นที่ ก็คงจะไม่มีคนกล้าบอกท่าน ว่าแนวคิดของท่านนั้นคล้ายกับเรื่องในนิยาย ที่มีความจริงเจืออยู่น้อยนิดจนทำให้นำเอาแนวคิดนี้ไปใช้แก้ปัญหาจริงแทบไม่ได้เลย สาเหตุเป็นอย่างไรนั้น ค่อยมาว่ากันต่อไป ก่อนอื่นก็ขอแนะนำพื้นที่ตั้งบ้านของเราก่อน ว่าอยู่ริมคลองมหาสวัสดิ์ บริเวณปากคลองที่ติดกับคลองบางกอกน้อยปัจจุบัน คลองนี้ชาวบ้านเรียกว่าคลองขุด เล่ากันว่ารัชกาลที่ 4 ตรัสให้ขุดคลองนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยในการชลประทานและการขนส่งสินค้าต่างๆจากเมืองนครชัยศรี เพื่อเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม (ปัจจุบันก็คือคลองบางกอกน้อย) ใช้เป็นทางขนข้าว และแหล่งน้ำในการปลูกข้าวในพื้นที่นี้ที่เป็นที่ของหลวง มีเจ้าฟ้าและเชื้อพระวงศ์ต่างๆที่สืบเชื้อสายมาจากพระองค์ มาจับจองอยู่มาก ปัจจุบัน สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็ยังมีที่ให้เช่าในบริเวณนี้อยู่ผืนหนึ่ง พื้นที่นี้เป็นที่ลุ่ม ชาวบ้านที่อยู่แถวนี้ส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนเป็นหลัก บ้านเราก็มีส่วนอยู่แปลงหนึ่ง ทุกคนจะทำคันกั้นน้ำและลอกท้องร่องให้สูงขึ้นทุกปีเพื่อกันน้ำท่วม และช่วงก่อนหน้าน้ำไม่นาน ที่บ้านเราจะไม่ดายหญ้าในสวนเลย จะปล่อยให้รกอยู่อย่างนั้น เพื่อรักษาอาศัยรากของต้นหญ้าที่ขึ้นเป็นแผงหนาเพื่อรักษาหน้าดิน ไม่ให้หลุดไปตามกระแสน้ำหลาก ที่มักจะไหลแรงมากกว่าปกติ ในช่วงก่อนที่กรุงเทพจะสร้างเขื่อนริมคลอง, คันกั้นน้ำ, อ่างกักเก็บน้ำ และประตูระบายน้ำต่างๆ เราจำได้ว่าทุกปีเวลาน้ำหลากจะเป็นช่วงเวลาที่สนุกมาก เพราะหมายถึงเรือสองลำที่จอดไว้ใต้ถุนบ้านจะถูกเอามาซ่อม โดยใช้ชันผสมยาง ค่อยๆทาและอุดรอยรั่วจนหมด และเรือสองลำนี่แหละที่จะเป็นพาหนะหลักในการสัญจรของบ้านเราไปในช่วงนี้ ซึ่งสะพานข้ามคลองที่เป็นแบบเดิมจะสูงมากกว่าสะพานคอนกรีตสมัยใหม่ เรือลอดผ่านได้สบาย เผลอๆจะเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวกกว่าเดิมเสียอีก แถมร้านค้าก็ย้ายตัวเองและสินค้าลงเรือมาขายถึงหน้าบ้าน แทบไม่ต้องออกไปไหนเลย จะมีเรื่องไม่ดีบ้างก็ตอนพวกสัตว์มีพิษพวก งู ตะขาบ มากัดบ้างจนต้องเข้าโรงพยาบาลเป็นบางที แต่เรื่องนี้ก็เป็นแค่เรื่องที่เกิดขึ้นก่อนการสร้างคันกั้นน้ำ เขื่อน และประตูระบายน้ำรอบกรุงเทพในช่วงสิบปีหลังนี้เท่านั้น เพราะหลังจากนั้น เราก็สังเกตว่าเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เรารู้สึกว่าน้ำมันท่วมมากขึ้น น้ำท่วมนานขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่หน้าน้ำ แต่น้ำในคลองก็ไหลแรงขึ้นจนกัดเซาะตลิ่งพังไปหลายแถบ มานั่งสังเกตทีหลังว่าเกิดจากเขื่อนคอนกรีตที่ถูกกั้นน้ำในแนวดิ่ง ที่เพิ่มความแรงของน้ำ ต่างจากตลิ่งธรรมชาติที่เป็นแนวลาดเอียง ลดความแรงของคลื่นก่อนที่จะมาถึงบ้านเราได้ ประกอบกับคลื่นที่เกิดจากการขับเรือหาเจ้าความเร็วในคลองเล็กยิ่งแล้วใหญ่ เครือข่ายคูคลองเดิมที่เคยมีก็ถูกถมทำถนน ที่มีอยู่ก็ไม่มีการขุดลอกอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ตื้นเขินไปเอง ถนนสายใหม่บางสายก็สร้างขวางทางน้ำ(บางทีก็สร้างบนทางน้ำเดิม) ทำให้น้ำไหลช้าและท่วมขัง ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2549 เราเคยนึกสงสัยว่า ทำไมแทบจะไม่มีใครมาช่วยบ้านเรา มาแจกของ หรือแค่มาเยี่ยมเยือนถามทุกข์สุขของบ้านเราบ้างเลย ทั้งๆที่เป็นด่านหน้าของกรุงเทพที่โดนน้ำท่วมทุกปี เพิ่งมาถึงบางอ้อตอนที่มีคนใหญ่คนโตที่ตอนนี้ก็ได้ดีไปแล้วในรัฐบาลใหม่ ท่านนั่งเรือยนต์โก้หรูมาพร้อมผู้ติดตามมาแจกข้าวสารอาหารแห้ง ท่านแจกมาถึงบ้านเพื่อนบ้านของเรา บ้านของเราเป็นบ้านหลังสุดท้าย ย่าเราซึ่งนั่งรอดูท่าอยู่เห็นเรือวกกลับไป ก็ไปคุยกับเพื่อนบ้าน เพื่อนบ้านได้ยินว่า ท่านพูดว่า “บ้านนี้หลังใหญ่ คงจะไม่เดือดร้อนมาก เอาของไปช่วยคนที่เดือดร้อนจริงๆดีกว่า” บ้านเราเป็นบ้านเก่าที่สร้างแบบโบราณ หลังใหญ่ก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนในบ้านจะได้รับความเดือดร้อนน้อยกว่าคนที่อยู่ในบ้านเล็กกว่าเลย สิ่งสำคัญที่สำคัญกว่าคือกำลังใจจากภาครัฐก็พอแล้ว แต่มันก็คงจะเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยในสายตาของท่าน ช่วงน้ำท่วมหลังปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา ก็มีเรื่องแปลกๆบอกมาจากรัฐบาล ว่าพื้นที่รอบนอกของกรุงเทพจะต้อง “เสียสละ” เป็นพื้นที่รับน้ำ ที่ผันมาจากทางเหนือ อ้อมรอบกรุงเทพเพื่อรักษาส่วนที่สำคัญของประเทศเอาไว้ เราเองก็มีความรู้สึกแปลกๆมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว แต่ก็บอกไม่ถูกว่าเกิดจากอะไร มีเพื่อนบ้านมาเล่าให้ฟังว่า คนรู้จักที่ทำสวนผลไม้เป็นอาชีพ คงจะมีพื้นที่มากอยู่เหมือนกัน ได้ทำแนวกันน้ำจากกระสอบทรายและใช้เครื่องสูบน้ำออกจากสวนกันทั้งวันทั้งคืน เพื่อรักษาต้นไม้ในสวนคล้ายกับที่หลายบ้านทำ แต่เรื่องมันก็ต่างกันอีก เพราะว่าในตอนนั้นทุกคนปล่อยให้สวนล่มไปหมดแล้วเพราะสู้น้ำไม่ไหว มีแต่ลุงคนนี้คนเดียวที่ยังสู้อยู่ วันดีคืนร้าย ก็มีคนอ้างว่ามาจากทางการ เล่ากันอีกว่าท่าทางเหมือนทหาร มาพูดจาขอร้องแกมข่มขู่ให้ลุง “เสียสละ” ปล่อยน้ำเข้าสวน เพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่อื่นได้เร็วยิ่งขึ้น เรื่องก็จบลงที่ลุงต้องจำใจไขน้ำให้ท่วมสวน ส่วนลุงจะได้รับเงินชดเชยหรือไม่ คนเล่าก็ไม่ได้บอกต่อ แต่เดาว่าคงไม่ได้ พอฟังเรื่องนี้จบ ทุกคนในบ้านเราที่ล้อมวงฟังกันอยู่ก็เงียบสนิท คนเล่าก็เงียบ คนฟังยิ่งเงียบกริบ มีแต่มองหน้ากันไปมา ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าแต่ละคนคิดอะไรอยู่ แต่เราก็คงจะพอจินตนาการหัวอกของคนที่ต้อง\จำใจ\"ไขน้ำให้ท่วมสวนของตัวเองได้ดี สิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าเรา มันชัดเจนมาก ว่าตอนนี้ คันกั้นน้ำธรรมดาที่เราเห็น ไม่เพียงแค่ทำหน้าที่ในการกันน้ำท่วมได้เท่านั้น แต่มันยังได้ \"แยก\" ผู้คนออกจากกันไปเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นเราก็ได้ยินเรื่องของความเสียสละนี้เรื่อยๆ เราก็ทำหูทวนลมบ้างเพราะรำคาญถึงความดัดจริตของคนพูด ในขณะเดียวกันก็คิดในใจว่าเราจะต้องเสียสละให้กับใครที่ไหน เพื่ออะไร และทำไมเราถึงจะต้องเป็นฝ่ายที่ถูกยัดเยียดให้ต้องจำยอมเสียสละด้วย เพราะว่าเรา ไม่เคยได้รับเงินชดเชย น้ำใจ และกำลังใจจากภาครัฐเลยแม้แต่สักครั้งเดียว เดาว่าชาวบ้านที่ปทุมธานีก็คงรู้สึกไม่ต่างกัน จึงได้ออกมาทำลายคันกั้นน้ำ จนทำให้ก็ท่านออกมาตัดพ้อว่า ไม่เห็นใจคนทำงานหนักที่พยายามแก้ปัญหาอย่างสุดแรงบ้างเลย ซึ่งว่ากันตามตรงก็น่าเห็นใจทั้งสองฝ่าย แต่สำหรับเราแล้ว เรื่องน้ำท่วมนี้เป็นเรื่องปกติของคนที่อยู่แถบนี้มาแต่เดิมแล้ว จะมากจะน้อยก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่ทำให้มันหนักหนาสาหัส ก็คือนโยบายการก่อสร้างและพัฒนาที่ดินของภาครัฐ ที่ถูกสร้างและออกแบบที่ไม่สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติของพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ที่เป็นที่ราบต่ำเกิดใหม่บนแนวดินโคลน ที่มีแนวโน้มน้ำไหลผ่านจำนวนมากในช่วงหน้าฝนเลย กลับไปสร้างกำแพง บีบทางน้ำให้แคบลงและไหลแรงขึ้น พัฒนาเมืองใหญ่ดักกลางทางน้ำเอาเสียดื้อๆ เรียกได้ว่ามีการพัฒนาแบบ\"ขวาง\"ทางน้ำ พอน้ำมามากเข้าจริงๆ ก็รับมือกันไม่ไหว สรุปเอาตรงนี้เลยว่า ภัยครั้งนี้มีสาเหตุส่วนหนึ่งจากธรรมชาติก็จริง แต่ไม่ใช่สาเหตุหลักเหมือนในญี่ปุ่น สาเหตุหลักจริงๆที่ทำให้หนักหนามันมาจาก”คน” นี่แหละ ที่ทำให้น้ำท่วมครั้งนี้หนักกว่าครั้งไหนๆ ...................................................................................... หมายเหตุผู้เขียน จุดประสงค์ของการเขียนบันทึกนี้ คือ ต้องการที่จะเสนอมุมเล็กๆของคนที่อาศัยอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ ในแง่ที่แตกต่างออกไปจากข่าวกระแสหลัก เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่รอบด้านระหว่างคนที่อยู่ในและนอกคันกั้นน้ำกันให้มากขึ้น จากเหตุการณ์ที่ปทุมธานี ทำให้เราต้องยอมรับว่า คนที่ทำลายคันกั้นน้ำอย่างเห็นแก่ตัวและสะเพร่านั้นก็มีจริง แต่ก็ต้องยอมรับว่าคนที่เขาเดือดร้อนอย่างหนัก ถูกละเลยนั้นก็มีมาก บันทึกนี้ จึงถูกเขียนโดยมิได้มีเจตนาที่จะกดดัน หรือสร้างความชอบธรรม ให้ทางกรุงเทพมหานครเปิดน้ำเข้าไปท่วมในกรุงเทพ เพื่อช่วยบรรเทาระดับน้ำที่ท่วมอยู่ในบริเวณรอบนอกกรุงเทพแต่อย่างใด เพราะการปล่อยให้น้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นศูนย์กลางการบริหารราชการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net