TCIJ: “มหา’ลัย” มหาหลอก ความคับแค้นของชาวนา ปมปัญหาแย่งชิงที่ดิน

 

ท้องทุ่งกว้างใหญ่นับพันไร่ เป็นแหล่งผลิตข้าว และที่เลี้ยงวัว ของชุมชนบ้านท่าช้างและบ้านใสกลิ้ง มายาวนานนับร้อยปี ชุมชนดังกล่าวได้สั่งสมและถ่ายทอดภูมิปัญญาในการทำนา รวมทั้งการรักษาพันธุ์ข้าว และฐานอาหารจากรุ่นสู่รุ่น เสมือนเป็นวิทยาลัยภูมิปัญญาชาวนา
 
ต้นโตนด ยืนต้นในพื้นที่บ้านใสกลิ้ง ม.6 ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เป็นพยานการทำกินของชุมชน 
 
“ตอนนั้นมีควายฝูงใหญ่มากเป็นของนายเทพ มีป่าบางส่วน แต่บางส่วนก็เป็นพื้นที่ว่างเปล่า และมีต้นไม้ใหญ่ หลายครอบครัวเข้าไปทำกิน พอฉันอายุ 9 ปี เขามาก่อสร้างเรือนจำไว้ขังนักโทษ และมีโรงเรียน ฉันเรียนที่นี่ ชาวบ้านทำไร่ ทำนา ปลูกข้าว มีพันธุ์ช่อจังหวัด ข้าวนางกราย ข้าวจำปาทอง” ยายพลับ หนูสิน อายุ 92 ปี ชาวบ้านใสกลิ้ง ม.6 ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง บอกเล่าถึงสภาพของชุมชนในอดีต ยืนยันความเก่าแก่ของชุมชน
 
แต่แล้ววันหนึ่ง ชุมชนชาวนาแห่งนี้ก็ถูกสถาบันการศึกษาเข้ามาแย่งยึดที่นา โดยมุ่งหมายจะใช้พื้นที่บริเวณนี้ก่อตั้งคณะที่เรียกว่า “วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน” สร้างความแปลกใจให้ชุมชนและสังคมว่า ทำไมมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนวิชาเกี่ยวกับภูมิปัญญาชุมชน โดยเฉพาะภูมิปัญญาในการทำนาจึงปฏิเสธการอยู่ร่วมกับชุมชนชาวนา ซึ่งเป็นผู้สรรค์สร้างองค์ความรู้ดังกล่าว
 
“เราถูก มหา’ลัย รังแก” “เราถูก มหา’ลัย หลอก” : ความคับแค้นของชาวนา 

ป้าเนิม หนูบูรณ์ อายุ 62 ปี ชาวบ้านชุมชนใสกลิ้ง เล่าให้ฟังว่า ครอบครัวของป้าได้ทำนาในพื้นที่บริเวณนี้ตั้งแต่รุ่นพ่อ ทำกินกันมาหลายสิบปี ต่อมา พ.ศ.2528 กระทรวงมหาดไทยได้ออกหนังสือสำคัญที่หลวงทับซ้อนพื้นที่ทำกิน เรียกว่า ที่สาธารณะประโยชน์ “ทุ่งสระ” อยู่ในความดูแลของเทศบาลตำบลพนางตุง อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ชาวบ้านยังคงสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ทำกินได้ตามวิถีชีวิตปกติ 

 
หลังจากนั้น พ.ศ.2533 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หรือ มหาวิทยาลัยทักษิณ ในปัจจุบัน ได้ขอใช้พื้นที่จำนวน 1,500 ไร่ เพื่อขยายวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยฯ เพิ่มเติม จังหวัดพัทลุงเห็นชอบ และได้ส่งเรื่องการขอใช้ที่ดินให้กระทรวงมหาดไทยอนุมัติ แต่กระทรวงมหาดไทยไม่ได้อนุมัติ เพราะมีชาวบ้านทำกินในพื้นที่ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยฯ ได้เดินหน้าก่อสร้างอาคาร โดยไม่รอให้ผ่านขั้นตอนการอนุญาตในทางกฎหมาย
 
“ปี 2537 มหา’ลัยได้เข้ามาขุดที่ดินที่ชาวบ้านทำกินอยู่ เพื่อทำแนวเขต เขาทำลายเหมืองและรางลำเลียงน้ำ ที่สูบน้ำมาจากคลองให้ชาวบ้านทำนา แล้วขุดลอกคลองขึ้นมาใหม่ กว้าง 20 เมตร ลึก 6 เมตร ยาวประมาณ 2 กิโลเมตรครึ่ง แล้วก็ก่อกำแพง ทำให้เกิดน้ำท่วมในปี 2539 แล้วยังขาดน้ำทำนาและเลี้ยงสัตว์ ชาวบ้านใสกลิ้งได้คัดค้าน จึงชะลอโครงการก่อสร้างมหา’ลัย ไปพักหนึ่ง” ป้าเนิม เล่าให้ฟังด้วยสีหน้าและแววตาที่บ่งบอกถึงความคับแค้นใ
 
ต่อมา พ.ศ.2541 มหาวิทยาลัยฯ ได้ย้ายสถานที่ก่อสร้างวิทยาเขตพัทลุง ไปยังที่สาธารณประโยชน์ “ทุ่งลานโย” เนื้อที่ 3,500 ไร่ อยู่ในพื้นที่ ต.บ้านพร้าว อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง แต่ก็ยังเข้ามาใช้พื้นที่ทุ่งสระในปี พ.ศ.2548 จนถึงปัจจุบัน โดยใช้พื้นที่ก่อสร้างอาคารไปแล้วประมาณ 300 ไร่ ทั้งนี้ ได้เปลี่ยนวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างจากเป็นสถานที่จัดตั้งวิทยาเขตพัทลุง เป็นสถานที่จัดตั้งวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ซึ่งมีสถานะเทียบเท่าคณะ 

“เราถูกมหา’ลัยรังแก เขามีที่ดินเยอะแยะ ที่ป่าพะยอมตั้ง 3,500 ไร่ แต่ไม่รู้จักพอ ยังจะมาเอาที่ดินของคนจนๆ ที่นี่อีก เรามีที่ดินทำกินแค่ตรงนี้ คนละไร่ 2 ไร่ มากสุดก็ 10 ไร่ ยังจะมาเอาที่ดินเราไปอีก อ้างว่าเป็นวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน แต่มาทำให้ชุมชนเดือดร้อน คนในชุมชนไม่เห็นด้วยแล้วเป็นวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนได้พรื่อ ” ป้าสมพิศ ใจดำ อายุประมาณ 60 ปี ชาวบ้านชุมชนใสกลิ้ง ผู้ได้รับผลกระทบอีกคนหนึ่ง ทวงถามถึงความชอบธรรมในการก่อสร้างวิทยาลัย
 
เมื่อชาวบ้านชุมชนใสกลิ้งคัดค้านการก่อสร้างวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่อง จึงมีการไปก่อสร้างอาคารของวิทยาลัยที่ชุมชนท่าช้าง ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับบ้านใสกลิ้ง และอยู่ในพื้นที่ทุ่งสระเช่นเดียวกัน ในช่วงแรกชุมชนท่าช้างยินยอมให้มีการก่อสร้างวิทยาลัย พร้อมทั้งสละที่ดินให้ เนื่องจากคิดว่าการจัดตั้งวิทยาลัยจะช่วยให้เศรษฐกิจในชุมชนดีขึ้น แต่ต่อมาก็คัดค้านการก่อสร้างวิทยาลัยเช่นเดียวกัน
 
ภาวนา ช่วยราย อายุประมาณ 40 ปี ชาวบ้านชุมชนท่าช้าง เล่าให้ฟังว่า ครอบครัวของตนและชาวบ้านในชุมชนท่าช้างประมาณ 30 ครัวเรือน ยินยอมสละที่ดินให้วิทยาลัย เพราะคิดว่ามีวิทยาลัยแล้วชุมชนจะเจริญขึ้น คนในชุมชนจะมีงานทำ จะได้ค้าขาย ได้ทำหอพัก ลูกๆ หลานๆ จะได้เรียนใกล้ๆ บ้าน
 
“พี่ถูกมหา’ ลัยหลอก เขาบอกว่าจะให้ครอบครัวเจ้าของที่ดินทำงานด้วย ที่นี่จะมีหลายคณะ นักศึกษาจะมาเรียนที่นี่เยอะ อยู่ไปๆ ก็รู้ว่ามันไม่เป็นไปตามที่เขาพูด มหา’ลัยไปอยู่ที่ป่าพะยอม เขาสร้างที่นี่เป็นอาศรม เป็นที่พัก ไม่มีนักศึกษามาเรียนเลย เจ้าของที่ดินไม่ได้ไปทำงานกับเขาสักคน เขามาหลอกเอาที่ดินของเรา พี่ผิดหวังมาก ปี 52 พี่น้องท่าช้างเลยคัดค้านด้วย พี่คัดค้านไม่ให้ที่ดินที่เหลือถูกมหา’ลัยยึดไปอีก” ภาวนา บอกเล่าถึงความเจ็บปวดจากการสูญเสียที่ดิน
 
 
คูคลองที่มหา'ลัย ขุดลอกขึ้นใหม่ เพื่อกันแนวเขต ทำให้ชาวบ้านขาดน้ำในการทำนา
 
จัดทำโฉนดชุมชน รักษาที่ดินให้ลูกหลาน
 
จากความเดือดร้อนดังกล่าวส่งผลให้ชาวบ้านชุมชนใสกลิ้งและชุมชนท่าช้าง มีการรวมกลุ่มเรียกร้องสิทธิมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้หารือถึงแนวทางแก้ปัญหากับเทศบาลพนางตุง และส่วนราชการต่างๆ ในหลายครั้ง รวมทั้งมีการร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้เป็นตัวกลางในการแก้ปัญหา ในช่วงปี พ.ศ.2551 - 2552
 
ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2552 ให้มหาวิทยาลัยฯ ยุติการก่อสร้างใดๆ จนกว่าจะได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่ให้ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย โดยเคารพต่อสิทธิชุมชน และสิทธิองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ และให้มหาวิทยาลัยฯ ดำเนินการก่อสร้างวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนเฉพาะพื้นที่ที่มีการก่อสร้างไปแล้วเท่านั้น โดยให้เทศบาลพนางตุงดูแลพื้นที่สาธารณะประโยชน์ต่อไป
 
อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยฯ ไม่ได้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสิทธิฯ แต่อย่างใด ยังคงเดินหน้าก่อสร้างอาคารเพิ่มเติม พร้อมทั้งปักป้ายประกาศห้ามชาวบ้านเข้าไปทำกินในที่ดินดังกล่าว และฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้านในข้อหาทำลายทรัพย์สินของมหาลัยฯ จำนวน 2 คดี 20 ราย โดยมีชาวบ้านตกเป็นจำเลยซ้ำซ้อน 2 คน คือ นายวิน ผอมหนู และ นางเนิม หนูบูรณ์
 
“หยุดเถอะ มหา’ลัย พอได้แล้ว ให้ชาวบ้านทำกินมั่ง ถ้าเอาหมดแล้วชาวบ้านทำกินพรื่อ เราทำโฉนดชุมชน ตั้งใจให้เป็นที่ทำกิน สืบทอดไปถึงลูกหลาน วางกฎระเบียบไม่ขาย ไม่จำนอง เรามีที่ดินทำกินเฉพาะตรงนี้ ถ้าเสียไปจะไม่มีอะไรให้ลูกหลานเลย” ป้าเนิม จำเลย 2 คดี กล่าวถึงเจตนารมณ์ในการต่อสู้ของชาวบ้าน
 
ป้าเนิม บอกว่า แม้จะถูกดำเนินคดีถึง 2 คดี แต่ก็มีกำลังใจเต็มร้อย เพราะไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว มีกลุ่มในชุมชน ซึ่งเรียกว่า “เครือข่ายรักแผ่นดินทุ่งสระ” ร่วมกันคิดหาทางแก้ปัญหา โดยยึดแนวทางการจัดการทรัพยากรในรูปแบบโฉนดชุมชน เพื่อปกป้องที่ดินของชุมชนไว้ให้ลูกหลาน และมี “เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด” เป็นเพื่อนร่วมชะตากรรม และที่ปรึกษา
 
นายบุญ แซ่จุ่ง ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด แสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า มหาวิทยาลัยฯ ควรพัฒนาชีวิตคนให้ดีขึ้น ควรต่อยอดความรู้ให้ชุมชน แต่กลายเป็นว่าเข้ามาไล่ล่าที่ดินของชุมชน และทำลายความรู้ของชาวบ้าน ปล้นคำว่าภูมิปัญญาชุมชนมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับการทำธุรกิจการค้าของตนเอง
 
“ที่นาของเขาเป็นวิทยาลัยที่มีชีวิต กลับไปไถ ไปถมจนไม่มีน้ำทำนา พอชาวบ้านไปใช้สิทธิ ก็ไปฟ้องร้องให้จับกุมเขา เขาคือชาวนา ทำนามาทั้งชีวิต ปลูกข้าวให้เรากิน อยากถามด็อกเตอร์ทั้งหลายว่าภูมิใจนักหรือที่ได้แย่งที่ดินและฟ้องร้องชาวนา” ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ กล่าวทิ้งท้ายให้หวนคิด
 
กรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างชุมชนกับมหาวิทยาลัยไม่ได้เกิดขึ้นที่นี่เป็นที่แรก หากแต่ได้เกิดขึ้นมานับสิบปีและเกิดขึ้นบ่อยขึ้นเมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ส่งผลให้มหาวิทยาลัยบางแห่งหันมาทำธุรกิจ จนลืมไปว่ามหาวิทยาลัยเกิดขึ้นได้เพราะภาษีของประชาชน มีหน้าที่พัฒนาคนและสังคม ไม่ใช่ทำลายชุมชน! 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท