Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 หมายเหตุ: เมื่อ 17 ต.ค. ที่ผ่านมา บล็อก "ประเทศไทยอยู่ตรงไหน?" ได้เผยแพร่บทความ "เรือยนต์ช่วยไล่น้ำได้แค่ไหน?" โดยรายละเอียดของบทความมีดังนี้

000

เรือยนต์ช่วยไล่น้ำได้แค่ไหน ?
ที่มา: บล็อก ประเทศไทยอยู่ตรงไหน | 17 ต.ค. 54
 
หลังจากรัฐบาลประกาศโครงการเรือประชาอาสาผันน้ำลงทะเล เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ที่ผ่านมา [1] หลายคนเกิดข้อสงสัยว่าแนวทางนี้สามารถทำได้จริงหรือไม่ ทำไปแล้วให้จะได้ผลมากน้อยเพียงใด ที่ผ่านมาดูเหมือนทุกคนจะเชื่อว่ามันช่วยได้ในทางทฤษฏี แต่ไม่มีใครรู้แน่ว่ามันช่วยได้มากหรือน้อยแค่ไหน
 
จนถึงวันนี้ (17 ตุลาคม) หลังจากใช้เรือ 1,149 ลำ ดำเนินการผลักน้ำลงทะเล ข้อสรุปของฝ่ายรัฐบาลคือ “ได้ผลในระดับหนึ่ง” แต่ยังต้องการเรือเพิ่มอีก 75,000 ลำ [2]
 
แอดมินคิดว่า สิ่งสำคัญต่อการถกเถียงเรื่องนี้อย่างสร้างสรรค์คือการมุ่งไปที่ “ตัวเลข” ซึ่งสามารถวัดได้ พิสูจน์ได้ คิดคำนวณได้ มากกว่าใช้ความเชื่อหรือการประเมินอย่างคลุมเครือเป็นสำคัญ เพราะการวัดผล คือหัวใจของการตัดสินใจอื่นๆทางนโยบาย เช่น ต้นทุนที่เสียไป ผลที่ได้รับ ค่าเสียโอกาส หรือทางเลือกอื่นในการดำเนินการ

ด้วยเหตุนี้ แอดมินจึงพยายามหาคำตอบต่อคำถามข้างต้น โดยมุ่งไปที่คำตอบในเชิงปริมาณ (Quantitative) ให้มากที่สุด แม้จะรู้ดีว่าเป็นไปได้ยากเนื่องจากมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องเยอะมาก ซึ่งในทางวิชาการแล้ว การทดลองทำจริงและมีการวัดผลอย่างเป็นระบบ คือหนทางเดียวที่จะศึกษาเรื่องนี้ได้อย่างแน่นอนที่สุด
 
ในการนี้ แอดมินได้รับความช่วยเหลือจาก คุณมติพล ตั้งมติธรรม (@Matipon Tangmatitham) ผู้ทำการวิเคราะห์ทางฟิสิกส์ในระดับผิวเผินเกี่ยวกับเรื่องนี้ และอนุญาตให้แอดมินนำมาเผยแพร่ สาเหตุที่ว่าผิวเผินเป็นเพราะการวิเคราะห์การไหลของน้ำต้องใช้การทำแบบจำลอง เชิงเลข (numerical simulation) มาอธิบายเนื่องจากเป็นระบบที่ซับซ้อนเกินกว่าจะใช้สมการอธิบายได้ในเชิง วิเคราะห์ (analytic) อย่างไรก็ตาม ภายใต้สมมติฐานชุดหนึ่ง (รายละเอียดในบทความฉบับเต็มในไฟล์ PDF) เราสามารถหาคำตอบเบื้องต้นได้ว่าการใช้เรือดันน้ำมีผลมากเพียงใด 
 
จากการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่า

1. หากใช้เรือขนาดใหญ่ระดับ ร.ล. แสมสาร (ระวางขับน้ำ 328 ตัน) 10 ลำ จะทำให้อัตราการไหลของน้ำเพิ่มขึ้นในหลัก 150 ล.บ.เมตร/วินาที หรือประมาณ 3% ในแม่น้ำอุดมคติ (แม่น้ำในชีวิตจริงจะได้ผลน้อยกว่านี้)  
 
2. หากใช้เรือหางยาวหรือเรือหางกุด 1,000 ลำจะให้ผลประมาณ 6% ในแม่น้ำในอุดมคติ 
 
3. ในความเป็นจริง อย่างไรก็ตามตัวเลข 3-6% นี้ยังไม่คิดประสิทธิภาพในการดันน้ำของใบพัด และคำนึงถึงแรงลากของน้ำและการสูญเสียพลังงานไปกับริมตลิ่ง รวมทั้งการที่เทคนิคการดันน้ำจะใช้ได้เฉพาะเวลาน้ำลง คือ น้อยกว่า 12 ชั่วโมง/วัน   
 
ต่อคำถามที่ว่า การเพิ่มอัตราการไหลของแม่น้ำมีผลอย่างไรต่อน้ำท่วม? 
 
หากสมมติว่าเรารวมค่าเบื้องต้นจากเรือหางยาว 1,300 ลำและสรุปว่าโครงการนี้สามารถดันน้ำได้เพิ่มขึ้น 10% ตลอดเวลาดำเนินการ หมายความว่าในเวลาที่เดินเครื่องอยู่นั้น การไหลของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะเพิ่มจาก 4000 ลบ.ม./วินาที เป็น 4400 ลบ.ม./วินาที แต่เมื่อหยุดเดินเครื่องการไหลของแม่น้ำก็จะกลับสู่ระดับปรกติ ดังนั้นหากสมมติว่าเราสามารถเดินเครื่องได้ 12 ชม.ต่อวัน จะหมายความว่าเราสามารถดันน้ำได้เพิ่มขึ้นเป็นค่าเฉลี่ย 5% ต่อวัน หรือเทียบเท่าน้ำปริมาณ 15 ล้านลบ.ม.ที่ไหลเพิ่มลงอ่าวไทยต่อวัน 
 
ตัวเลขนี้อาจจะฟังดูเยอะ แต่ขอให้คำนึงด้วยว่า น้ำมีการไหลลงทะเลโดยธรรมชาติอยู่แล้วประมาณ 300 ล้านลบ.ม. ต่อวัน ถ้าเปรียบเทียบก็คือ ในพื้นที่ที่เดิมทีอาจต้องใช้เวลาสิบวันกว่าน้ำจะลด หากเราดำเนินเครื่องดังกล่าวเป็นเวลาสิบวัน น้ำจะลดลงภายใน 9.5 วัน หรือก็คือน้ำจะลดลงเร็วขึ้นครึ่งวัน ในพื้นที่ๆในสิบวันระดับน้ำอาจจะลดลงไป 10 ซม. ก็จะทำให้ระดับน้ำลดลงไปเพิ่มขึ้น ครึ่งซม. 
 
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเข้าไปดาวน์โหลดรายละเอียดการวิเคราะห์ทั้งหมดพร้อมความเห็นของผู้วิเคราะห์ได้ที่ลิ้งก์ [3] http://www.whereisthailand.info/download/MT_water_push_final.pdf
 

ใน การทำโครงการใดๆ ผู้รับผิดชอบงานนโยบายต้องประเมินความเป็นไปได้ 3 ระดับเสมอ หากระดับหนึ่งผ่านแล้วจึงค่อยเลื่อนขึ้นไปพิจารณาระดับต่อๆไป ดังนี้
 
1. เป็นไปได้ในทางฟิสิกส์ไหม? เพราะหากเป็นไปไม่ได้ในทางฟิสิกส์ก็คือขัดหลักธรรมชาติ ไม่สามารถทำได้
2. หากเป็นไปได้ในทางฟิสิกส์ เป็นไปได้ในทางวิศวกรรมไหม?
3. หากเป็นไปได้ในทางฟิสิกส์และวิศวกรรม คุ้มค่าทางเศรษฐกิจไหม?
 
บางอย่างเป็นไม่ได้ในทางฟิสิกส์ เช่น GT-200
บางอย่างเป็นไปได้ในทางฟิสิกส์ แต่ยังทำไม่ได้ในทางวิศวกรรม เช่น ควอนตัมคอมพิวเตอร์
และบางอย่างเป็นไปได้ในทางฟิสิกส์และวิศวกรรม แต่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ทองคำสามารถสังเคราะห์ขึ้นได้โดยการยิงนิวตรอนพลังงานสูงใส่ธาตุปรอท แต่ทำแล้วไม่คุ้มเพราะแพงกว่าทองคำตามธรรมชาติ
 
จากการวิเคราะห์ทางฟิสิกส์ข้างต้น เราน่าจะพอเห็นภาพคร่าวๆแล้วว่า ภาย ใต้สมมติฐานแม่น้ำอุดมคติ ที่ไม่มีแรงเสียดทาน ไม่มีการไหลย้อนกลับของน้ำ ไม่มีการสูญเสียพลังงานใดๆในกระแสน้ำ เราต้องการเรือขนาดเล็กอย่างน้อย 2,600 ลำ เดินเครื่องวันละ 12 ชั่วโมง เพื่อผลักน้ำให้ได้เร็วขึ้น 10% 
 
ในทางวิศวกรรม แม่น้ำในโลกแห่งความเป็นจริงมีแรงเสียดทาน มีการแปรปรวนของกระแสน้ำ มีการสูญเสียพลังงาน ดังนั้นเราจะได้ผลลัพธ์ที่น้อยลงกว่าการคำนวณทางฟิสิกส์ข้างต้น (เช่น อาจได้ผลแค่ 2-3%) หรือไม่ก็อาจต้องการจำนวนเรือเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
 
หากลองเหลียวดูต้นทุนของโครงการนี้ แน่นอนว่าต้นทุนหลักคือน้ำมันซึ่งรัฐบาลเสนอว่าจะออกค่าใช้จ่ายให้กับอาสาสมัครทุกคน [4]
 
หาก เราสมมติให้โครงการนี้ทำงานได้เพียง 20% จากกรณีอุดมคติิ (แม่น้ำมีแรงเสียดทาน มีการสูญเสียพลังงาน) เราจะต้องใช้เรือ 13,000 ลำ เดินเครื่อง 12 ชั่วโมง เพื่อผลักน้ำให้ได้มากขึ้น 10% ต่อวัน ซึ่ง หากประมาณให้เรือแต่ละลำกินน้ำมันโดยเฉลี่ยขั้นต่ำ 1.5 ลิตรต่อหนึ่งชั่วโมง [5] จะต้องใช้น้ำมันทั้งสิ้น 234,000 ลิตรต่อวัน หรือคิดเป็นเงินประมาณวันละ 6,600,000 บาท
 
ประเด็นสำคัญอีกประการหน่ึงคือความต่อเนื่อง – โครงการนี้จะให้ผลชัดก็ต่อเมื่อมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง นั่นแปลว่า สมมติเราต้องต้องใช้เวลา 30 วันในการระบายน้ำทั้งหมดออกทะเล หากเราต้องการไล่น้ำให้เร็วขึ้น 10% เราต้องเดินเครื่องยนต์เรือ 13,000 ลำติดต่อกัน 30 วัน โดยเสียค่าน้ำมันทั้งสิ้น 198 ล้านบาท เพราะหากเราทำเพียงวันเดียว ผลที่ได้จะเท่ากับ 0.3% ของการระบายน้ำปกติ
 
อ้างอิง 
[1] http://www.most.go.th/main/index.php/organization-news/2444.html
[2] http://news.voicetv.co.th/thailand/20871.html
[3] ดาวน์โหลดรายงานการวิเคราะห์ฉบับเต็ม http://www.whereisthailand.info/download/MT_water_push_final.pdf
[4] http://www.most.go.th/main/index.php/organization-news/2444.html  
[5] http://www.novabizz.com/NovaIntertrade/OutboardCamouflage.htm 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net