Skip to main content
sharethis

เริ่มด้วยคำถามง่ายๆ ว่า หากมีคนตายอยู่กลางเมืองหลวงแปดสิบกว่าศพ แล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันต้องมี something seriously wrong (บางสิ่งผิดปกติอย่างมหันต์) กับสังคมไทย ทีนี้ถ้าเกิดว่าการฆาตกรรมเกิดขึ้นในนามของนิติรัฐ ก็ต้องมี something seriously wrong กับนิติรัฐ และไม่ใช่แค่กับอภิสิทธิ์และสุเทพ แสดงว่ามีคนให้ท้ายเขา สมรู้ร่วมคิด เห็นด้วยและผลักดัน เชียร์ให้เขาปราบ [เสื้อแดง] ทั้งสื่อ ทั้ง ส.ส. ที่อยู่ร่วมรัฐบาล ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้มีอันจะกิน ผู้ประกอบการในราชประสงค์ คหบดี นักธุรกิจสีลม พวกนี้เป็นกองเชียร์ให้เขาทำ มัน seriously wrong กับคนเหล่านี้ด้วย อะไรคือนิติรัฐ ผมขอใช้ the Rule of Law ทำการปกครองโดยกฎหมาย คำว่ากฎหมาย (Law) ที่เป็น L ตัวใหญ่มีความหมายต่างกับ l ตัวเล็กนะครับ กฎหมายเล็กๆ ต้องขึ้นกับกฎหมายตัวใหญ่ ความจริงแล้วเราต้องเอาศาลขึ้นศาลด้วยในบางกรณี นิติรัฐต้องอยู่ใต้นิติธรรม เหมือนคณะนิติศาสตร์ต้องอยู่ใต้ธรรมศาสตร์ ธรรมะต้องใหญ่เหนือกฎหมาย นี่คือประเด็นที่เราเรียกว่า the Rule of Law the Rule of Law มีการถกเถียงหลายมิติมาก มิติแรก ความเห็นที่ต่างกันเกี่ยวกับเรื่องนิติธรรม-นิติรัฐ ศาลตีความอย่างหนึ่งว่านิติรัฐเป็นอย่างนี้ อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติก็อาจจะตีความอีกอย่างหนึ่ง สมมติพูดว่ากฎหมายต้องเป็นกฎหมาย “law is Law” ถามว่า law ที่เป็นอยู่มี law ที่เลวหรือไม่ มีไหมสิ่งที่ดีที่ควรทำเป็นกฎหมายแต่ยังไม่มีกฎหมาย แล้วกฎหมายที่ไม่ดีควรจะเลิกมีหรือไม่ มีเยอะ เพราะฉะนั้นคุณจะยึด law เป็นสรณะอยู่สูงสุดได้อย่างไร เราต้องแก้ได้ ปรับได้ ยกเลิกได้ “law cannot be always Law” ถ้า law มีความสมบูรณ์แล้วจะมีสภานิติบัญญัติไว้ให้เปลืองเงินราษฎรทำไม อันนี้เป็นการถกเถียงกันระหว่างฝ่ายศาลกับฝ่ายบริหาร มีอีกมิติหนึ่งของการถกเถียงเรื่องนิติรัฐในความหมายที่เป็นอยู่ในระบบกฎหมาย คำว่า Law ตัวใหญ่มิใช่หมายถึงพระราชบัญญัติเล็กๆ แต่หมายถึงระบบกฎหมายทั้งระบบ ตั้งแต่กฎหมายอยู่ได้อย่างไร ต้องผ่านการกลั่นกรองอย่างไร มีใครที่มีสิทธิ์ในการออกกฎหมายได้ รวมทั้งมีการตัดสินพิจารณาคดีอย่างไร อันนี้เป็นแง่ของภายในกรอบของกฎหมายที่พูดถึง the Rule of Law ในฐานะที่หมายถึงระบบกฎหมาย อันนี้คือในความหมายแคบ ที่นี้ the Rule of Law ไม่ได้เฉพาะอยู่แต่ในกฎหมาย แต่มันสัมพันธ์กับระบบการเมือง ระบบศีลธรรม ระบบสังคม อันนี้เป็นความหมายกว้าง และในความหมายกว้างอันนี้มีประเด็นหนึ่งก็คือมีนักคิดคนหนึ่งชื่อ โทมัส ฮอบส์ บอกว่าถ้าไม่มีกฎหมายมันจะเป็นลักษณะปลาใหญ่กินปลาเล็ก the Rule of Law ข้อสำคัญอันหนึ่งคือการที่จะป้องกันมิให้อสูรมาทำร้ายประชาชน คือจะทำร้ายชีวิตประชาชนไม่ได้ แต่ที่เกิดขึ้นที่ราชประสงค์ ที่ราชดำเนิน อันนี้ทำร้ายประชาชน มันขัดตรงๆ กับหลักการ the Rule of Law ฉะนั้นพูดได้อย่างไรว่าทำตามกฎหมาย ใช่ทำในนาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน แต่ไม่ใช่ในนามของนิติธรรมและนิติรัฐ ถ้าศาลตัดสินแบบนี้เราก็ควรจะเอาศาลมาขึ้นศาล ผู้พิพากษาก็ควรได้รับการพิพากษา หลายคนเมื่อเรียนหนังสือก็เคยทราบว่าอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจตุลาการ ต้องแยกกัน คำถามคือทำไมต้องแยกกัน ถ้าแยกกันแล้วจะเอาอะไรผิดอะไรถูก ผมเพิ่งเข้าใจเมื่อเร็วๆ นี้เอง คือปัจจุบันในสังคมไทยเราจะเห็นมากเลยว่าอำนาจไปทางเดียวกันหมด สื่อก็ไปทางเดียวกัน พวก ส.ส. รัฐบาล พวกคหบดีรวมทั้งผู้มีอันจะกินก็ไปทางเดียวกัน คนจำนวนหนึ่งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดก็คิดไปเช่นนั้น ตอนนี้มันเป็น unification (เอกภาพ) ของหลายๆ อำนาจ ทั้งอำนาจของรัฐ แม้แต่ประชาสังคมซึ่งกำลังดี๊ด๊ากันใหญ่ แล้วมีอำนาจอะไรที่เหนือกว่าอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการหรือไม่ รัฐธรรมนูญก็เขียนนี่ครับว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน เป็นอำนาจที่เหนือกว่าสามอำนาจนี้ ควรจะได้ใช้อำนาจเพื่อควบคุมอำนาจทั้งสาม แต่ที่คุมไม่ได้เลยก็คืออำนาจปวงชนไม่ได้คุมอำนาจตุลาการ ดังนั้นอำนาจศาลจะต้องเป็นประชาธิปไตย มีหลายประเทศที่ประชาชนต้องควบคุมตั้งแต่ศาลแขวงระดับเล็กๆ และนี่ทำให้นิติรัฐเป็นนิติรัฐและเป็นนิติธรรม ประเด็นสุดท้าย เราต้องมีลำดับการพิจารณาเป็นชั้นๆ ในท้ายที่สุดไม่ใช่กฎหมายต้องเป็นกฎหมายนะครับ มีอะไรที่เหนือกว่ากฎหมาย เราไม่ต้องถึงพระเจ้าหรอกครับ แต่มีหลักการประชาธิปไตยว่าหลักการของกฎหมายต้องเป็นไปเพื่ออิสระและเสรีภาพของปวงชน อิสระเสรีภาพต้องมาสูงสุด กฎหมายใดที่ขัดกับสิ่งนี้ต้องถือว่า unconstitutional คือการล้มมูลฐานของกฎหมายทั้งปวง สองคือสิทธิทั้งหลาย สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่เอาสิทธิอื่นมาทำลายชีวิต เอาสิทธิของทหารมาใช้ฆ่าคน สาม การที่จะดำเนินชีวิตอย่างผาสุก ถ้าหลักการของกฎหมายไม่เป็นไปเพื่อ 3 ข้อนี้ ก็ถือว่ามีอะไรบางอย่างผิดพลาดเกี่ยวกับกฎหมาย อีกประเด็น หากโยงเรื่องปัญหาการก่อการร้ายกับการมีอาวุธ หลักการประชาธิปไตยคือการให้ต่อสู้กัน คุณจะจัดตั้งเป็นองค์กรได้ไหม จะมีกำลังทรัพย์ของตัวเองได้ไหม จะมีความคิดที่ตรงข้ามกับรูปแบบของรัฐที่มีอยู่ได้ไหม จะมีการโฆษณาทางความคิดได้ไหม ได้ ยกเว้นอันเดียวคือห้ามมีอาวุธ เพราฉะนั้นพรรคการเมืองมีอาวุธไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันตัวหรือไม่ แต่เมื่อห้ามอาวุธ กติกาคือฝ่ายรัฐก็ต้องไม่ใช้อาวุธกับประชาชน ทีนี้กรณีของไทย มีภาษาอังกฤษติดเลย Live Firing Zone (เขตใช้อาวุธจริง) และใช้กองทัพเต็มที่ ใช้รถถังจัดการกับป้อมไม้ไผ่ที่ราชประสงค์ การที่ใช้รถถังออกมาละเมิดข้อตกลงพื้นฐานของกติกาประชาธิปไตย การอ้างชุดดำนั้น นอกจากวันที่ 10 เม.ย. แล้ว ในวันที่ 19 พ.ค. มีทหารคนไหนตายบ้าง การพูดถึงนิติรัฐไม่ใช่แค่สิ่งที่รัฐจะทำกับประชาชน แต่รัฐและสังคมต้องอยู่ภายใต้กรอบกติกาเดียวกัน กฎนี้ต้องควบคุมรัฐด้วย ไม่เช่นนั้นจะบิดเบือนไปเลย ประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากจะเปิดอกคือ เราทุกท่านทราบดีถึงความแตกแยกในสังคมไทย ส่วนหนึ่งการต่อสู้ของคนเสื้อแดงเป็นความสำเร็จของคนที่ต่ำต้อยน้อยหน้า นี่ไม่ได้เป็นวิกฤตอะไรเลย การอยู่เฉยๆ ให้เขาเหยียบสิครับถึงจะเรียกว่าวิกฤต แต่ตอนนี้เป็นเวลาที่เรามาเช็ดน้ำตาเช็ดเลือดกัน ทำยังไงที่เราจะมีวิธีที่จะต่อสู้กันโดยไม่ให้เลือดตกยางออก ขอให้หลายๆ ฝ่ายมาร่วมคิดกัน ไม่ใช่มาดีกันเกี่ยวก้อยเหมือนเด็กประถม แต่อยากคุยกันว่าเราจะมาสู้กันอย่างไรโดยไม่ให้ถึงขั้นที่จะต้องฆ่ากัน อาจจะมีบาดเจ็บ ด่าทอ ซึ่งก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ และถ้ามีการต่อสู้กันอีก ขออย่าใช้รถถัง อาวุธหนัก อาวุธสงครามมาปราบปราม อย่าให้มนุษย์ของเราและอย่าให้คนของเราเป็นผักเป็นปลากันต่อไป หลักคือต้องรักษาชีวิต และวาระซ่อนเร้นคือ ถ้าสู้กันอย่างนั้นเราสู้เขาไม่ได้ ************************************************************** หมายเหตุ:วันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม 2554 ที่ร้าน Book Re:public ไชยันต์ รัชชกูล สถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ ได้รับเชิญเป็นองค์ปาฐกในหัวข้อ \อ่าน คำพิพากษา จากชาติ กอบจิตติ ถึงตุลาการศาลไทย\" ซึ่งเป็นการเสวนา อ่านออกเสียงครั้งที่ 1 “เปิดปาก เปิดพื้นที่เสรีทางความคิด” ที่จะจัดเป็นประจำทุกเดือนร้าน Book Re:public เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศดังกล่าวเราขอนำบทเสวนา “law ไม่ใช่ Law พิพากษาผู้พิพากษา กติกาประชาธิปไตย” ของไชยันต์ รัชชกูล ที่เป็นส่วนหนึ่งในการอภิปรายหัวข้อ “นิติรัฐกับความยุติธรรมแบบไทย” เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2553 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มาเผยแพร่อีกครั้งก่อนที่จะฟังปาฐกถา"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net