กรรมตาม concept พุทธศาสนา (พระพุทธเจ้าไม่งี่เง่า)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

คำอธิบายของดังตฤณที่ว่า “ขนาดของอวัยวะเพศเป็นผลของกรรมเก่า” (ดูดังตฤณ “ขนาดอวัยวะเพศชาย เล็กหรือใหญ่ บุญทำกรรมแต่ง !?” http://men.mthai.com/content/4970) และทัศนะเรื่องกรรมแบบ ท.เลียงพิบูลย์ หลวงพ่อจรัญ แม่ชีทศพร เป็นต้น เป็นคำอธิบายที่ตรงกับ “ลัทธิกรรมเก่า” ที่เรียกในภาษาบาลีว่า “ปุพเพกตวาท” คือลัทธิที่เชื่อว่า “ทุกอย่างที่เป็นตัวตนทางกายภาพ/จิตใจของเรา และความเป็นไป หรือชะตากรรมทั้งหมดในชีวิตเราเป็นผลของกรรมเก่า” ความเชื่อเรื่องกรรมเก่าในความหมายนี้มีอยู่ในวัฒนธรรมทางศาสนาของอินเดียโบราณ หรือดินแดนที่เรียกว่า “ชมพูทวีป” ที่มีศาสนาพราหมณ์เป็นแกนหลัก ศาสนาพราหมณ์นั้นเป็นศาสนาเก่าแก่ (ต่อมาพัฒนามาเป็นศาสนาฮินดู) เกิดก่อนพุทธศาสนาราว 5,000-3,000 ปี จะว่าไปศาสนาหรือลัทธิความเชื่ออื่นๆ (เช่นพุทธศาสนา ศาสนาเชน ลัทธิครูทั้ง 6 เป็นต้น) ที่เกิดในอินเดียล้วนแต่มีพัฒนาการมาจาก และ/หรือมีปฏิกิริยาแอนตี้ความเชื่อบางประการของศาสนาพราหมณ์ทั้งสิ้น แต่ที่น่าสังเกตคือทุกศาสนาที่มีคำสอนเรื่องกรรม ล้วนรับเอาความเชื่อเรื่อง “กรรมเก่า” มาจากศาสนาพราหมณ์ แต่มีรายละเอียดบางแง่มุมแตกต่างกันไป พุทธศาสนาแบบดั้งเดิม (ที่ยังไม่ผ่านการเติมแต่งสีสันมากเกิน) ปฏิเสธความเชื่อกรรมเก่าที่ว่า “ทุกอย่างที่เป็นตัวตนทางกายภาพ/จิตใจของเรา และความเป็นไป หรือชะตากรรมทั้งหมดในชีวิตเราเป็นผลของกรรมเก่า” แม้พุทธศาสนาจะสอนเรื่องกรรมเก่า แต่ก็มีสาระสำคัญคือ 1) ไม่เชื่อว่าความเป็นไป หรือชะตากรรมทุกอย่างในชีวิตเป็นผลของกรรมเก่าทั้งหมด แต่ขึ้นอยู่กับกรรมใหม่ที่เราทำอยู่ทุกวันในปัจจุบันด้วยอย่างมีนัยสำคัญ หมายความว่า เราสามารถกำหนดชะตากรรมของตนเองจากการกระทำในปัจจุบันมากกว่า 2) เชื่อว่ากรรมเก่ามีความสัมพันธ์กับคุณภาพทางจิตใจและการมีชีวิตที่มีคุณค่าในลักษณะเชิงพัฒนาการต่อเนื่อง (เช่น พัฒนาการทางจิตใจของพระโพธิสัตว์ที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ จากการสะสมกรรมดีในภพชาติต่างๆ) เราจะเข้าใจชัดขึ้น ถ้าวิเคราะห์ตามที่พระพุทธเจ้าพูดถึง “กรรม” (แปลว่า “การกระทำ/actions”) สองความหมาย คือ 1. การกระทำในเชิงข้อเท็จจริง (factual actions) เช่น การกระทำอาชีพการงานต่างๆ การกระทำในความหมายนี้สัมพันธ์โดยตรงกับสถานภาพทางสังคม เช่น พระพุทธเจ้ากล่าวว่า คนทำโครักขกรรมก็เป็นคนเลี้ยงโค คนทำหน้าที่นักรบก็เป็นกษัตริย์ คนสอนศาสนาก็เป็นพราหมณ์ คนค้าขายก็เป็นแพศย์ คนทำงานรับใช้ก็เป็นศูทร เป็นต้น 2. การกระทำทางศีลธรรม (moral actions) คือ การกระทำที่มีค่าดี ชั่ว ถูก ผิด ควร ไม่ควร การกระทำทางศีลธรรมสัมพันธ์โดยตรงกับการมีชีวิตที่มีคุณค่า “ความเชื่อเรื่องกรรม” (กรรมสัทธา) ตามที่พระพุทธเจ้าสอน หมายถึง ความเชื่อกรรมในความหมายที่ 2 คือให้เราเชื่อว่า การกระทำทางศีลธรรมจะส่งผลให้ชีวิตเรามีคุณค่า เมื่อเรากระทำความดี (กุศลกรรม) จะส่งผลให้ชีวิตเรามีคุณค่า และเมื่อเรากระทำความชั่ว (อกุศลกรรม) จะเป็นการบั่นทอนคุณค่าชีวิตลง ข้อสังเกตคือ เวลาเราพูดถึง “ความเชื่อ” มันมีสองความหมาย คือ 1) ความเชื่อ (faith ) ในคุณค่า (value) เช่น เชื่อในคุณค่าของความรัก เชื่อในคุณค่าของความยุติธรรม เชื่อในคุณค่าของความดีงาม ฯลฯ และ 2) ความเชื่อ (belief) เกี่ยวกับข้อเท็จจริง (facts) เช่น เชื่อว่าชมพูรักขาว เชื่อว่าพรุ่งนี้น้ำจะท่วม กทม.ฯลฯ ประเด็นคือ สิ่งที่เรียกว่า “คุณค่า” นั้นสัมพันธ์โดยตรงกับศรัทธา/faith หรือความเชื่อมั่น ความรู้สึกซาบซึ้ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ในเชิงข้อเท็จจริงเสมอไป (เช่น ศรัทธาในพระเจ้า เพราะเราเชื่อว่าพระเจ้าคือสิ่งสูงส่ง ไม่ใช่เพราะเราพิสูจน์แล้วว่าพระเจ้ามีหน้าตาอย่างไร ศรัทธาในความรัก ก็ไม่ใช่เพราะเรารู้ว่าหน้าตาของความรักเป็นอย่างไร เป็นต้น) แต่ “ข้อเท็จจริง”สัมพันธ์กับความรู้หรือความเชื่อแบบ belief ซึ่งต้องพิสูจน์ได้ เช่น เชื่อว่าชมพูรักขาว ก็ต้องตรวจสอบได้ก่อนว่าเป็นเช่นนั้นจริงไหม เชื่อว่าพรุ่งนี้น้ำจะท่วม กทม.ก็ต้องถามว่าเชื่อจากหลักฐานอะไร และวันถัดมาน้ำท่วม กทม.จริงหรือไม่ ความเชื่อเรื่องกรรม คือความเชื่อในคุณค่า ได้แก่เชื่อในหลักการว่า “ทำดีได้ (ความ) ดี” “ทำชั่วได้ (ความ) ชั่ว” ฉะนั้น concept เรื่องกรรมในพุทธศาสนา จึงมุ่งหมายให้เราศรัทธาในความดีว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตเรามีคุณค่า แต่ภาษาที่สอนหรือธิบายกันในเรื่องกรรม เป็นภาษาที่พูดถึงทั้งเรื่องคุณค่าและข้อเท็จจริงปะปนกันอยู่ (ซึ่งมักทำให้เกิดความสับสนเสมอ) เช่น “ให้ทานแล้วจะมีความสุข และได้ไปสวรรค์” ตามวิธีอธิบายดังกล่าว คำว่า “ทาน” หมายถึง การทำความดีอย่างหนึ่ง เมื่อเรามีศรัทธาหรือเชื่อมั่นว่า ทานเป็นสิ่งที่ดีและจึงให้ทาน การให้ทานนั้นเป็นการทำสิ่งที่ดีเสร็จสิ้นในตัวมันเองแล้ว หรือเท่ากับ “ทำดีได้ (ความ)ดี” เสร็จสิ้นในตัวแล้ว แต่คำว่า “มีความสุข” และ “ไปสวรรค์” เป็นคำที่ระบุถึงข้อเท็จจริงที่สัมพันธ์กับความรู้ หรือการพิสูจน์ เช่น เราจะรู้ว่าให้ทานแล้ว “มีความสุข” ก็ต่อเมื่อให้ทานแล้วเกิดความสุขขึ้นในใจของเรา และเราจะรู้ว่าให้ทานแล้วไปสวรรค์จริงหรือไม่ เมื่อเราตายแล้วได้ไปจริงๆ (หรือนายแดงตายแล้วไปสวรรค์ แล้วกลับมาบอกทุกคนได้จริงๆ) ประเด็นตรงนี้คือ นตรงนี้คือ ตาม concept ของพุทธศาสนา เราต้องแยกระหว่าง “ความดี” กับ “ข้อเท็จจริง” และต้องไม่ใช้ข้อเท็จจริงมาเป็นเกณฑ์ตัดสินค่าของความดี เช่น เมื่อเราให้ทานก็หมายความว่า การให้ทานของเราเป็นความดีเสร็จสิ้นในตัวของมันเองแล้ว แม้ว่าตามข้อเท็จจริงความสุขจะเกิด หรือไม่เกิดขึ้นในใจของเราก็ตาม หรือเราจะได้ไปสวรรค์หรือไม่ก็ตาม ซึ่งหมายความว่า ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำที่เป็นความดีทางศีลธรรม กับผลที่เป็นข้อเท็จจริงต่างๆ ในชีวิตและสังคมไม่ได้มีความสัมพันธ์ “อย่างจำเป็น” (necessary) แต่การกระทำที่ดีสัมพันธ์อย่างจำเป็นกับชีวิตที่มีค่า หรือการสร้าง/การรักษา/การปกป้องค่านิยม บรรทัดฐานที่ถูกต้องต่างๆ ในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น พระพุทธเจ้าเคยเกิดเป็นพระโพธิสัตว์ในชาติต่างๆ นับไม่ถ้วน แต่ไม่ว่าจะเกิดเป็นสัตว์ต่างๆ เป็นคนที่มีสถานะทางสังคมต่างๆ เช่น เป็นจัณฑาล เป็นทาส เป็นพราหมณ์ เป็นกษัตริย์ ฤาษี หน้าตาดี หรืออัปลักษณ์ แต่คุณสมบัติที่คงเส้นคงวาของพระองค์คือ \การทำความดี การมีจิตใจดีงาม และการมีชีวิตในภพชาตินั้นๆ อย่างมีคุณค่า\" ผมไม่แน่ใจว่า เรื่องราวการเกิดในภพชาตินับไม่ถ้วนของพระโพธิสัตว์เป็น \"ข้อเท็จจริง\" หรือไม่ แต่ \"ความคิดหลัก\" ของตัวอย่างที่ยกมานี้คือ เป็น “การยืนยันความสัมพันธ์อย่างจำเป็นระหว่างการกระทำที่ดีกับการมีชีวิตที่มีคุณค่า และ/หรือพัฒนาการทางจิตใจ\" นี่หมายความว่า เมื่อเราทำความดี หรือเป็นคนดีแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าชีวิตจะมีแต่ความสุขสบาย มีแต่ความเจริญก้าวหน้า ไม่มีทุกข์ใดๆ เสมอไป แต่เป็นไปได้ว่าเมื่อทำดี หรือเป็นคนดีแล้วอาจต้องเผชิญ หรือฟันฝ่าความทุกข์ และอันตรายอย่างแสนสาหัสก็ได้ เช่น โสเครตีส พระเยซู มหาตมะ คานธี ที่แม้จะทำความดีอย่างมากแล้ว แต่ก็ต้องเผชิญกับความลำบากและจบชีวิตลงด้วยการถูกฆ่า ทว่าไม่ได้หมายความว่า การทำความดี หรือการเป็นคนดีของคนเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่มีคุณค่าในตัวมันเอง ย้อนไปกรณีการให้ทาน เมื่อให้ทานแล้วเราอาจทุกข์ใจก็ได้ (เช่น พระเวสสันดรบริจาคลูกให้ไปเป็นทาส ย่อมทุกข์ใจอย่างแสนสาหัส) แต่ไม่ได้หมายความว่าการให้ทานนั้นไม่ใช่สิ่งที่ดี หรือเปรียบเทียบได้กับการเสียสละบางอย่างที่ส่งผลเชิงข้อเท็จจริงให้ผู้เสียสละต้องเจ็บปวด หรือกระทั่งตาย (เช่น กรณีการเสียสละของลุงนวมทอง ไพรวัลย์) แต่ผลอันเป็น “ความทุกข์เชิงข้อเท็จจริง” นั้น ก็ไม่ใช่สิ่งตัดสินว่าการเสียสละนั้นไม่ใช่ “สิ่งที่ดี” ปัญหาของวิธีอธิบายเรื่องกรรมของดังตฤณ ท.เลียงพิบูลย์ หลวงพ่อจรัญ แม่ชีทศพร (เป็นต้น) คือการไปนิยาม “สิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงทุกอย่างที่คนต้องการ” ว่าเป็น “สิ่งที่ดี” และเข้าใจว่า การกระทำความดีเป็นเพียง “วิถี” (means) หรือ เป็นอุปกรณ์ เป็นเครื่องมือไปสู่สิ่งที่ดีต่างๆ นั้น เช่น การทำความดีด้วยการให้ทานเป็นวิถีไปสู่สิ่งที่ดี (ที่เป็นข้อเท็จจริง) เช่น การมีความสุขสบาย ร่ำรวย เจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน มี “อวัยวะเพศขนาดพองาม” (ที่ดังตฤณกล่าวว่า “ขนาดกลาง เกิดจากกรรมอันสมควรแก่ความเป็นชาย”) ไปสวรรค์ ฯลฯ แต่ตามหลักเหตุผลแล้ว “ข้อเท็จจริงที่คนถือว่าเป็นสิ่งที่ดี” (เพราะคนชอบสิ่งพวกนั้น) เช่น รวย สวย หล่อ ก้าวหน้าในการงาน กระทั่ง “อวัยวะเพศขนาดพองาม” ฯลฯ สัมพันธ์โดยตรงกับ “กรรมในเชิงข้อเท็จจริง” เช่น การกระทำอาชีพการงาน (ปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรม) หรือ ข้อเท็จจริงทางชีวภาพ การทำศัลยกรรม ฯลฯ (ในคัมภีร์อรรถกถาอธิบายการให้ “ผลเชิงข้อเท็จจริง” ของกรรมว่า ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหรือตัวแปรต่างๆ เช่น กาลเวลา สถานที่ สถานการณ์ทางสังคม ฯลฯ ซึ่งแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำทางศีลธรรมกับผลเชิงข้อเท็จจริงว่า เป็น “ความสัมพันธ์แบบบังเอิญ/contingent”) ประเด็นสำคัญคือ การอ้าง \"ผลลัพธ์เชิงข้อเท็จจริงที่คนชอบ\" เป็นเกณฑ์ตัดสินกรรมดี และอ้าง \"ผลลัพธ์เชิงข้อเท็จจริงที่คนไม่ชอบ\" เป็นเกณฑ์ตัดสินกรรมชั่ว ทำให้มีปัญหามาก เช่น 1) กรณีการทำดีของคานธี มาร์ติน ลูเธอร์คิงส์ จูเนียร์ (เป็นต้น) ที่ส่งผลลัพธ์เชิงข้อเท็จจริงให้บางคนเกลียดชังและฆ่าพวกเขาตาย ทำให้เกิดปัญหาว่า \"ทำไมทำดีไม่ได้ดี\" 2) กรณีคนบางชนชั้นมีอำนาจล้นฟ้า โกง รวยอย่างตรวจสอบไม่ได้ และได้รับการยกย่องสรรเสริญ ทำให้เกิดปัญหาว่า \"ทำไมทำชั่วแล้วได้ดี\" 3) ทำให้คนไม่เห็นคุณค่าของ “การทำความดีเพื่อความดี” หรือเพื่อการมีชีวิตที่มีคุณค่า เช่น ชาวพุทธไม่มีวัฒนธรรมปลูกฝังให้คนเห็นคุณค่าของการทำความดีในความหมายของการต่อสู้เสียสละเพื่อความเสมอภาค ความเป็นธรรมทางสังคมซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการมีชีวิตอยู่อย่างมีค่าและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นต้น โดยนัยที่กล่าวมา ขนาดของอวัยวะเพศจึงสัมพันธ์โดยตรง/อย่างจำเป็นกับข้อเท็จจริงทางชีวภาพ คือพันธุกรรม ที่เกี่ยวโยงกับการกระทำกรรมเชิงข้อเท็จจริงอีกที คือ “การร่วมรัก” ของพ่อแม่เรา ไม่เกี่ยวโดยตรง/อย่างจำเป็นกับการให้ทานแต่อย่างใด ที่อธิบายแบบที่ว่ามานี้ เพราะผมยึด \"หลักการทั่วไป\" ของพุทธศาสนา ที่ว่า “ธรรมะคือสิ่งที่เราสามารถตรองตามให้เห็นจริงได้” หมายความว่า เราสามารถไตร่ตรองให้เห็นความสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นผลของคำสอนเรื่องต่างๆ ของพระพุทธเจ้าได้ (ไม่ว่าจะเป็นอริยสัจ ไตรลักษณ์ ฯลฯ เราสามารถไตร่ตรองเห็นความเป็นเหตุเป็นผลได้ทั้งนั้น) แต่เรื่อง “การทำความดี” ด้วยการให้ทาน กับ “ขนาดของอวัยวะเพศ” ผมตรองแล้วตรองอีกจนหัวจะระเบิด ก็ไม่อาจเห็นความสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นผลที่พอจะทำให้เชื่อว่าจะเป็นจริงตามที่ดังตฤณอธิบายได้ ผมจึง “งึดแสนงึด” ว่า “กูรูทางพุทธศาสนา” ยุคปัจจุบันเขาอธิบายกันแบบนั้นได้อย่างไร แต่ที่แน่ๆ ผมไม่เชื่อเด็ดขาดว่า คนที่เป็นถึง “พระพุทธเจ้า” จะสอนอะไรงี่เง่าทำนองนี้! แต่ถ้าถามว่า คำสอนเรื่องกรรมในสังคมพุทธทำไมจึงถูกใส่สีตีไข่อย่างวิจิตรพิสดาร (กระทั่งวิตถาร?) ผมเข้าใจว่าพุทธศาสนาในอินเดียระยะหลังรับอิทธิพลความเชื่อเรื่องกรรมเก่าแบบพราหมณ์มาเต็มๆ ดังคำสอนเรื่องกรรมเก่าแบบพราหมณ์ปรากฏเต็มไปหมดในคัมภีร์อรรถกถา (ราว 900 ปี หลังพุทธปรินิพพาน) ที่แต่งโดยพระพุทธโฆษาจารย์ซึ่งท่านเคยเป็นพราหมณ์มาก่อน หลักสูตรการศึกษาปริยัติธรรมของสงฆ์ไทย ตั้งแต่เปรียญ 1-2 ถึงเปรียญ 9 ก็ศึกษาคัมภีร์ที่แต่งโดยพระพุทธโฆษาจารย์เป็นส่วนใหญ่ อีกส่วนหนึ่ง ชาวพุทธเราก็มี “วัฒนธรรมโปรโมทการทำบุญ” อย่างเข้มข้น โดยอ้าง “ผลลัพธ์เชิงข้อเท็จจริงที่คนชอบ” เป็นแรงจูงใจมากกว่าที่จะอ้างคุณค่าทางศีลธรรมที่ส่งผลต่อการมีชีวิตที่มีคุณค่า เช่น สร้างโบสถ์ วิหาร ฯลฯ ตายไปจะเกิดในสวรรค์เป็นเทพบุตรมีนางฟ้า 500 เป็นบริวาร เป็นต้น นี่เป็นการโปรฯ ภายใต้วัฒนธรรมผู้ชายเป็นใหญ่ แต่ที่ดังตฤณโปรฯนี้เป็นการโปรฯ ภายใต้ค่านิยมที่ผู้ชาย (หรือหญิง?) ให้ความสำคัญกับ “ขนาดของอวัยวะเพศ” และอีกอย่างที่ผมคิดว่าสำคัญไม่แพ้กันคือ มันเป็นนิสัยของ “พวกกู (ไม่) รู้ทางพุทธศาสนา” ที่ต้องการแสดงภาพลักษณ์ความเป็น “สัพพัญญู” ของตนเอง!"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท