Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

-1- เรื่องเล่าของปกาเกอะญอเฒ่าแห่งผืนป่าแก่งกระจาน [1] การสอบถามเรื่องราวของปู่คออี้ หรือนายโคอิ หรือนายจออี้ เป็นเรื่องที่ยาก ลำบาก(ใจ) ด้วยเพราะปู่คออี้มีอาการอ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา สาเหตุหลักน่าจะเป็นเพราะวัยที่ยืนยาวมาถึงร้อยปี ประกอบกับล่าสุดเพิ่งเข้ารับการผ่าตัดต้อตา ยิ่งไปกว่านั้นทุกคนรู้ดีว่ายังมีความทุกข์ในใจที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสังขารที่ถดถอย ด้วยคำบอกเล่าจากลูกชายถึงบ้านที่ถูกเผาและยุ้งข้าวที่ถูกรื้อทำลาย ข้าวเปลือกร่วม 400ถังถูกทำลายและสูญหาย โดยเจ้าหน้าที่(ไม่ทราบหน่วยงานแน่ชัด) ลูกหลานต้องแตกกระสานซ่านเซ็น นอแอะ-ลูกชายคนโตก็มาถูกจับ ถูกตั้งข้อหาว่ามีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง (แม้มันจะเป็นปืนแค่ปืนแก๊ปก็ตาม) [2] นอแอะหรือหน่อแอะ-ลูกชายคนโตช่วยแปลและเสริมข้อมูลว่า พ่อเล่าให้ฟังว่าพ่อเกิดที่บ้านบางกลอยบน หรือคีลอในภาษากะเหรี่ยง และไม่เคยโยกย้ายไปอยู่ที่อื่น ประกอบกับการพูดคุย เมื่อตรวจสอบกับเอกสารฉบับสำเนา-ทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้าน หรือท.ร.ชข.-พยานเอกสารชิ้นเดียวที่บอกถึงที่มาที่ไปของผู้เฒ่าปาเกอะญอ-มันเป็นเอกสารที่ถูกจัดทำขึ้นโดยกรมประชาสงเคราะห์ในปีพ.ศ.2531 ภายใต้โครงการสำรวจข้อมูลประชากรชาวเขาหรือโครงการสิงห์ภูเขา (เป็นการสำรวจชาวเขาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2527) พบชื่อของผู้เฒ่าคออี้ ถูกเขียนว่านายโคอิ เป็นหัวหน้าครอบครัว บันทึกว่าเกิดเมื่อปีพ.ศ.2454 ที่จังหวัดเพชรบุรี ประเทศไทย พ่อชื่อ มิมิ แม่ชื่อพินอดี ทุกคนเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง และนับถือผี ข้อมูลฉบับนี้เป็นหนึ่งในทะเบียนท.ร.ชข.ของบ้านบางกลอย 4 ครอบครัวของผู้เฒ่าถูกนับเป็นครอบครัวที่สามจากยี่สิบครอบครัว เวลานั้นบ้านบางกลอย 4 ขึ้นกับพื้นที่กิ่งอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี นายกระทง โชควิบูลย์ (นามสกุลเดิม-จีโบ้ง) ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย นายลอย จีโบ้ง ผู้ใหญ่บ้านโป่งลึก นายนิรันดร์ พงษ์เทพ ประธานองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี [3] -ทุกคนเกิดที่บ้านบางกลอยบนและรู้จักผู้เฒ่าคออี้เป็นอย่างดีตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะผู้ใหญ่กระทง สมัยเด็กๆ เคยอาศัยอยู่ที่บ้านญาติคือนายจอโจ่ [4] ซึ่งตั้งบ้านอยู่ใกล้กับบ้านของผู้เฒ่าคออี้ (ห่างกันประมาณหนึ่งชั่วโมงเดินเท้า) ไม่เฉพาะสามคนนี้ คนอื่นๆ ในชุมชนบางกลอยบนต่างก็รู้จักและจดจำผู้เฒ่าคออี้ได้ดี ด้วยร่างกายที่สูงใหญ่ เป็นพรานที่มีชื่อเสียงและเป็นคนที่ชุมชนให้การนับถือ ในทางกลับกัน ด้วยวัยที่ยืนยาวมาถึงร้อยปี จึงไม่เกินเลยที่จะกล่าวว่า ผู้เฒ่าโคอิต่างหากที่เป็นผู้รู้เห็นความเป็นไปของผืนป่าใจแผ่นดิน บางกลอยเป็นอย่างดี ทั้งยังรู้เห็นการเกิดและการเติบโตของผู้ใหญ่กระทง ผู้ใหญ่ลอย รวมถึงประธานอบต.นิรันดร์ และอีกหลายชีวิตในผืนป่าใจแผ่นดิน-บางกลอย นอกจากนี้ผู้เฒ่าโคอิยังมีเหรียญชาวเขา นอแอะเล่าว่าตั้งแต่เด็กจนโต “มันเป็นของพ่อ” พ่อเล่าว่าประมาณหนึ่งหรือสองปีหลังเขื่อนแก่งกระจานสร้างเสร็จใหม่ๆ (เขื่อนสร้างเสร็จเมื่อปี 2509) นายอำเภอท่ายางในสมัยนั้นเรียกชาวบ้านไปรับเหรียญชาวเขา ตรงกับคำบอกเล่าของผู้ใหญ่กระทงและนายดุ๊อู จีโบ้ [5] ที่เล่าว่า นายอำเภอคนนั้นชื่อถวัลย์ แต่จำนามสกุลไม่ได้ เรียกให้ชาวบ้านไปรับมอบเหรียญชาวเขาจากทางอำเภอ ผู้ใหญ่กระทงเล่าว่า หลังจากนั้นประมาณช่วงปี 2526 นายอำเภอท่ายางได้เรียกให้ชาวบ้านมาทำบัตรประชาชนคนไทย ผู้ใหญ่กระทงเป็นหนึ่งในคนที่ไปทำบัตรประชาชน เวลานั้นเขาไม่เข้าใจว่าบัตรประชาชนคนไทยหมายถึงอะไร แต่ตอนนั้นเขาลงจากบางกลอยบนมาขายพริกที่อำเภอท่ายาง เมื่อเจ้าหน้าที่เรียกให้ไปทำบัตร ก็ไป-แน่นอนว่าเขามีเหรียญชาวเขา-นับจากนั้น ผู้ใหญ่กระทงก็มีบัตรประชาชนไทยที่รับรองว่าเขาเป็นผู้มีสัญชาติไทย และได้รับการกำหนดเลข 13 หลักขึ้นต้นด้วยเลข 3 [6] แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่สนใจที่จะลงมาทำบัตรประชาชน เหตุผลนั้นไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะหลายคนเห็นว่า “ไม่จำเป็น” ด้วยเหตุผลที่ว่าวิถีชีวิตประจำวันแทบจะไม่ได้พึ่งพิงกับการมีหรือไม่มีบัตรประชาชนคนไทย ปู่คออี้, นอแอะ รวมถึงผู้ใหญ่กระทง ผู้ใหญ่ลอย และนายนิรันดร์ พงษ์เทพ ให้ข้อมูลตรงกันว่า โดยเฉพาะกับคนปกาเกอะญอ หรือจะกอ หรือสกอว์ หรือกะเหรี่ยงที่บ้านใจแผ่นดิน-บางกลอยบนแล้ว วิถีชีวิตของพวกเขายังคงหาพอกิน-อยู่-ไม่สะสม ข้าวไร่ พริกและพืชผักอื่นๆ ที่ปลูกแซมอันเป็นผลผลิตจากระบบไร่หมุนเวียนทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้เงินซื้อหา และเห็นจะเป็นพริก-ที่ตลาดท่ายาง แก่งกระจาน สองพี่น้องฯลฯ ให้ความนิยม เมื่อมันมีน้ำหนักเบา เอาใส่กระสอบขึ้นหลัง เดินแบกลงมาขายก็สามารถแลกเป็นเงินเพื่อเปลี่ยนเป็นเกลือและของใช้อื่นที่จำเป็นอีกทอด และนี่อาจเป็นเหตุผลในไม่กี่ข้อที่ปกาเกอะญอที่บ้านใจแผ่นดิน-บางกลอยบนติดต่อกับโลกข้างนอก แคบลงมา-การติดต่อสื่อสารหรือการโยกย้ายเพื่อตั้งบ้านเรือน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้บนสายสัมพันธ์ของเครือญาติหรือความเป็นเพื่อนร่วมชุมชน โลกของปกาเกอะญอที่บ้านใจแผ่นดิน-บางกลอยบนสามารถคำนวณผ่านพื้นที่และระยะทางโดยการเดินเท้า โดยเส้นทางหลักๆ ได้แก่ จากบ้านใจแผ่นดินใช้เวลาหนึ่งวันเดินเท้าลงมายังบ้านบางกลอยบน และอีกหนึ่งวันเดินเท้าต่อลงมาถึงบ้านบางกลอยล่าง และไม่เกินครึ่งวันก็จะถึงบ้านโป่งลึก-บางกลอย หรือหากเดินจากจังหวัดราชบุรี เริ่มต้นเดินทางด้วยรถยนต์จากลำน้ำพาชี จะผ่านห้วยม่วง บ้านห้วยน้ำหนัก สิ้นสุดทางรถยนต์-เริ่มต้นเดินทางจากบ้านพุระกำ แล้วก็จะได้พบว่าตัวเองกำลังไต่ไปตามเทือกเขาตะนาวศรีจุดที่เป็นสันปันน้ำ ซึ่งมีความสูงในระดับร่วมพันเมตรจากน้ำทะเล สำหรับปกาเกอะญอแล้ว ไม่เกินหนึ่งวันก็จะถึงบ้านใจแผ่นดิน เมื่อนอแอะอายุได้ 30 ปี พ่อก็ให้เหรียญชาวเขาแก่เขา จนถึงปัจจุบันนอแอะยังไม่แต่งงานและยังคงอาศัยอยู่กับปู่คออี้ โดยนอสะและนอโพริ-ภรรยาของนายนอสะ ซึ่งมีลูกด้วยกัน 9 คน ทุกคนอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน-บ้านของผู้เฒ่าโคอิ นอแอะบอกว่า หากจะนับเป็นการโยกย้ายบ้านในชีวิตของพ่อ รวมถึงตัวเขาและคนอื่นๆ ในครอบครัว ก็น่าจะเป็นช่วงประมาณปี 2539 ที่เจ้าหน้าที่บอกให้กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ที่บางกลอยบนอพยพลงมายังบ้านโป่งลึก-บางกลอย ครอบครัวของเขาจึงต้องจำใจโยกย้ายลงมา พร้อมกับกะเหรี่ยง 57 ครอบครัว หรือ 391 คน แต่อยู่ไปได้ประมาณสามเดือน นอแอะบอกว่าพ่อทนอากาศร้อนไม่ไหว และคิดถึงเสียงของป่า จึงอพยพกลับไปอยู่ที่บ้านหลังเดิมที่บางกลอยบน และครั้งที่สองของการ(ถูกบังคับให้)อพยพโยกย้ายคือเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา นอแอะถูกจับเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2554 ถูกนำขึ้นเฮลิคอปเตอร์มาส่งที่สถานีตำรวจ และถูกส่งต่อไปยังเรือนจำ ในวันรุ่งขึ้นพ่อของเขาและหลานถูกนำขึ้นเฮลิคอปเตอร์ลงมาที่บ้านบางกลอยล่าง เกือบสองอาทิตย์ต่อมาทุกคนในครอบครัวจึงรับรู้ว่าทั้งบ้านและยุ้งฉางถูกเผาจนไม่เหลืออะไร -2- ผู้เฒ่าโคอิ : ‘คนตกหล่น’(ทะเบียนราษฎร) แห่งผืนป่าแก่งกระจาน ไม่น่าแปลกใจ-ที่ผู้เฒ่าคออี้จะมีสถานะบุคคลตามกฎหมายทะเบียนราษฎรเป็น “คนตกหล่น” เป็นคนไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆ (undocumented person) เพราะแม้การสำรวจจำนวนประชากรและครัวเรือนจะเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่รัตนโกสินทร์ศก 128 แต่การสำรวจภายใต้หลักการที่ว่าเป็นการสำรวจและจัดทำทะเบียนราษฎรทั่วราชาอาณาจักรนั้นเพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปีพ.ศ. 2499-2500 (ตามพ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2499 [7]) แต่ในทางปฏิบัติแล้ว เป็นเรื่องที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยก็ยอมรับมาตลอดว่า ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างครอบคลุมพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรไทยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ห่างไกลอำเภอหรือกิ่งอำเภอ ที่มีภูมิประเทศเป็นภูเขา ในปีพ.ศ.2531 ที่มีการดำเนินการสำรวจทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้านหรือท.ร.ชข ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดกาญจนบุรี ในปีพ.ศ.2531 ภายใต้โครงการสำรวจข้อมูลประชากรชาวเขาหรือโครงการสิงห์ภูเขา (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2527) ผู้เฒ่าโคอิจึงได้รับการบันทึกตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐไทยเป็นครั้งแรก โดยนายโคอิเป็นครอบครัวลำดับที่สามจากยี่สิบครอบครัวของบ้านบางกลอย 4 ในเวลานั้น มีอย่างน้อยอีก 7 ชุมชนที่ได้รับการสำรวจพร้อมกับบ้านบางกลอย 4 คือบ้านบางกลอย 1 บางกลอย 2 บางกลอย 3 บางกลอย 4 บางกลอย 5 บางกลอย 6 บ้านโป่งลึก 1 และบ้านโป่งลึก 2 รวมแล้ว 71 ครอบครัว 367 คน ทั้ง 71 ครอบครัว 367 คน ล้วนถูกบันทึกว่าเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง นับถือผีและเกิดที่จังหวัดเพชรบุรี ในระหว่างปีพ.ศ.2533-2534 กรมการปกครองได้มีโครงการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงและบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูง (บัตรสีฟ้า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2533) [8] รวมถึงโครงการสำรรวจและเพื่อทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวชุมชนบนพื้นที่สูง (บัตรสีเขียวขอบแดง) ซึ่งมีการดำเนินการในช่วงปีพ.ศ.2542 [9] ผู้เฒ่าโคอิ และนอแอะผู้เป็นลูก ก็ยังตกหล่นการสำรวจบัตรสีฟ้า และบัตรเขียวขอบแดงนี้ เมื่อถาม คำตอบจากนอแอะคือ “ไม่ได้ไป” “กะเหรี่ยงบ้านเราเป็นคนไทย เลยไม่อยากไปถือบัตรคนต่างด้าว” เป็นคำอธิบายเพิ่มเติมจากผู้ใหญ่กระทง -3- ผู้เฒ่าโคอิ : ปกาเกอะญอที่เกิดในสยาม หลักกฎหมายสัญชาตินับแต่สยามจนถึงปัจจุบันมีหลักอยู่ว่าการได้มาหรือเสียสัญชาติไทย ย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติฉบับที่บังคับใช้อยู่ในขณะที่บุคคลเกิด ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่ากฎหมายสัญชาติฉบับแรกของสยามที่กำหนดหลักเกณฑ์การได้มา-เสียสัญชาติไทย คือพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2456 นั้น ไม่ครอบคลุมถึงผู้เฒ่าโคอิ หรือกล่าวได้ว่าผู้เฒ่าโคอิไม่ได้-ไม่มีสัญชาติไทยโดยผลกฎหมายสัญชาติฉบับปีพ.ศ.2456 ด้วยเพราะผู้เฒ่าเกิดปีพ.ศ.2454-ก่อนที่กฎหมายสัญชาติฉบับนี้จะประกาศและใช้บังคับประมาณ 2 ปี ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่สยามประกาศและบังคับใช้พ.ร.บ.แปลงชาติ ร.ศ.130 หรือกฎหมายแปลงชาติ ร.ศ.130 [10] ณ ช่วงเวลาที่ไม่มีกฎหมายสัญชาติบังคับใช้ สถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติของผู้เฒ่าจึงไม่มีอยู่ สำหรับผู้เฒ่าโคอิ ณ ช่วงเวลา ปี 2454-2456 จึงเป็นกะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอที่เกิดและเติบโตขึ้นในพระราชอาณาจักรฝ่ายสยาม [11] เฉกเช่นเดียวกับชนชาวประเทศมีเพศภาษาต่างๆ ตลอดเวลาที่ผ่านมา สยาม/รัฐไทยยอมรับว่าปกาเกอะญอหรือกะเหรี่ยงเป็นชาวเขาหรือชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลานานแล้ว [12] หรือเป็นชาวเขาที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานราชการ เช่น กรมประชาสงเคราะห์ ฯลฯ [13] หรือเป็นชาวไทยภูเขาในความหมายของ “บุคคลดั้งเดิมซึ่งเป็นชาวเขาที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนพื้นที่สูง ซึ่งเป็นป่าเขาในประเทศไทย มีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี เชื้อชาติ ภาษา ความเชื่อ ตลอดจนวิถีทางการดำเนินชีวิตแตกต่างไปจากชาวไทยพื้นราบ ได้แก่ ...กะเหรี่ยง...” [14] ที่ปรากฏตัวใน 20 จังหวัด [15] หรือชาวไทยภูเขาในความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อาศัยทำกิน หรือบรรพชนอาศัยทำกินอยู่บนพื้นที่สูงในราชอาณาจักร ซึ่งมีวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ภาษาและการดำเนินชีวิตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว [16] โดยปกาเกอะญอ หรือชาวเขา/ชาวไทยภูเขาสามารถยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านได้หากประสงค์ ในแง่ของกระบวนการรับรองความเป็นคนไทย(ผู้มีสัญชาติไทย) กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดระเบียบที่เกี่ยวข้องจำนวน 3 ฉบับใน 3 ช่วงเวลาคือ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพิจารณาลงสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านให้แก่ชาวเขา พ.ศ.2517, ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านให้แก่ชาวไทยภูเขา พ.ศ.2535 และระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ.2543 -4- ถ้อยคำจากคนนอกพื้นที่ถึงผู้เฒ่าโคอิ วุฒิ บุญเลิศ ปราชญ์ชาวบ้าน และเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงให้ข้อมูลว่า [17] พ่อของอาจารย์วุฒิคือนายระเอิน บุญเลิศ ได้บันทึกไว้ว่าครั้งหนึ่งเคยพาพรานกะเหรี่ยงไปขายนอแรดที่ราชบุรี “ปู่ของผมเป็นกำนัน พ่อผมเป็นครูประชาบาล สอนหนังสือ รู้ภาษาไทย อ่านออก พี่น้องคนปกากะเญอ เอาของไปขาย ก็จะให้คุณพ่อพาไป จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นเพื่อนกับพรานกะเหรี่ยงคนนั้น” ปลายปี 2553 ที่ผ่านมา อาจารย์วุฒิเพิ่งทราบข่าวว่าพรานคนนั้นยังมีชีวิตอยู่และมีอายุประมาณหนึ่งร้อยปีเศษแล้ว นั่นก็คือผู้เฒ่าโคอินั่นเอง อาจารย์วุฒิ บุญเลิศ ไปพบผู้เฒ่าโคอิ หลังจากทราบว่าพรานที่ถือปืนในภาพ ยับมีชีวิตอยู่ และเป็นคนๆ เดียวกับผู้เฒ่าโคอิ ถ่ายเมื่อปี พ.ศ.2493 หน้าร้านยาไทยสมบูรณ์ ร้านของพ่อค้าคนจีนขุนพรรคพานิช (ก๋งบ๋งเตี่ย) ที่รับซื้อนอแรด (ปัจจุบันอยู่ตรงข้ามกับ โรงรับจำนำเก่า ของเทศบาลเมืองราชบุรี) ปีนั้นนายระเอิน บุญเลิศ บิดาของนายวุฒิ บุญเลิศ ได้พากลุ่มนายพรานกะเหรี่ยงไปขายนอแรดที่จังหวัดราชบุรี [18] นายทัศน์กมล โอบอ้อม [19], นายดุลยสิทธิ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, ผู้เฒ่าโคอิและนอแอะ วันที่ 3 กันยายน 2554 นายดุลยสิทธิ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา [20] หลานชายในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เป็นอีกหนึ่งคำยืนยันว่าผู้เฒ่าโคอิ มิมี คือปาเกอญออาวุโสผู้เป็นที่นับถือของปาเกอะญอ แก่งกระจานเป็นสหายของเสด็จตา-พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ในระหว่างการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง [21] นายดุลยสิทธิ์ได้เดินทางมาพบกับผู้เฒ่าโคอิอีกครั้ง และยืนยันว่า “จำปู่คออี้ได้” ว่าเป็นคนเดียวกันซึ่งในสมัยเด็กนั้นตนเรียกว่า “จออี้” โดยจดจำลักษณะรูปร่าง หน้าตา รวมทั้งรอยสักที่แขนได้ นายดุลยสิทธิ์เล่าว่า สมัยนั้นผู้เฒ่าโคอิเดินทางนำเนื้อสัตว์ พริก มาถวายให้เสด็จตาเสมอ และเป็นพรานที่ได้นำเสด็จตาและคณะเข้าป่าล่าสัตว์ ซึ่งมีครั้งหนึ่งได้นำช้างเผือกมาถวาย ซึ่งต่อมาในภายหลังให้ชื่อว่า “จะเด็จ” และมีผู้เฒ่าโคอิเป็นผู้ที่ช่วยแนะนำวิธีการเลี้ยงดูช้างตามวิธีของปาเกอญอ “ผมได้รับการดูแลมากับป่า เพราะความรู้ของกะเหรี่ยงทำให้ผมเลี้ยงช้างรอดชีวิต และเห็นว่าชาวกะเหรี่ยงเป็นตัวอย่างของคนที่ไม่ทำลายป่า ผมอยากย้ำเจตนาของโครงการพระราชดำริว่าให้เอาตัวอย่างคนกะเหรี่ยงเพราะเป็นคนที่ไม่ทำลายป่า และไม่เคยมีนโยบายให้ไล่คนออกจากป่า ชาวบ้านเขาอยู่มานาน บรรพบุรุษเขาก็ฝังกันอยู่ตรงนั้น” -5- “เหมือนเรามีพระจันทร์อีกดวงหนึ่ง และมีดวงดาวอีกดวงหนึ่ง” “มีบัตรประชาชนก็ต้องกินข้าว ไม่มีบัตรประชาชนก็ต้องกินข้าว” นอแอะเล่าถึงคำพูดของพ่อที่เคยพูดไว้เมื่อครั้งที่เคยคุยกันถึงการไปดำเนินเรื่องเพื่อให้มีสัญชาติไทยหรือมีบัตรประชาชน นอแอะเข้าใจดีว่าพ่อของเขาต้องการสอนให้เขาเป็นคนขยันทำมาหากิน ยึดถือในวิถีชีวิตของกะเหรี่ยง มันคือความหมายของประโยคของพฤ โอ่โดเชา ปกากะญอแห่งบ้านป่าคาใน ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ที่พยายามจะอธิบายถึงสิ่งที่ปู่คออี้ รวมถึงปกากะญออย่างเขากำลังคิดอยู่ “ถ้าพูดถึงสัญชาติไทย จินตนาการเรื่องสัญชาติไทย เขาคิดอะไรไม่ออกหรอกว่าสัญชาติไทยมันหมายถึงอะไร เขาคิดแค่ว่าเขาเป็นกะเหรี่ยง เป็นปกากะญอ ที่เกิดที่นี่ (ใจแผ่นดิน บางกลอย) อยู่-กินไป เห็นคนที่พูดปกากะญอหรือจะกอ พูดโปว์ เห็นพูดไทย พูดไม่เหมือนกัน แต่ก็คุยกันรู้เรื่อง” [22] ด้วยเพราะวิถีชีวิตของกะเหรี่ยงแห่งผืนป่าแห่งนี้ ด้วยผลผลิตข้าวไร่ในปริมาณที่เพียงพอสำหรับอาหารแต่ละมื้อของสมาชิกในครอบครัวในแต่ละปี จากไร่หมุนเวียนที่พวกเขายังดำรงรักษาไว้จุนเจือให้เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับป่า สนับสนุนให้พวกเขายังคงสามารถรักษาระยะห่างกับความเป็นเมืองพวกเขาสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงระบบเศรษฐกิจที่รวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพ ที่อำเภอแก่งกระจาน หรือแม้แต่อำเภอท่ายางที่พวกเขามักเอาพริกมาขาย จึงไม่เกินเลยที่จะพูดว่าผู้เฒ่าโคอิ นอแอะหรือปกาเกอะญออีกจำนวนไม่น้อยแห่งผืนป่าแห่งนี้ ไม่รู้ ไม่เข้าใจ (รวมถึงอาจจะไม่สนใจ)ด้วยซ้ำไปว่าพวกเขามีสัญชาติไทยหรือไม่ หลายคนที่ได้ยินได้ฟังคำพูดของผู้เฒ่าโคอิข้างต้น แม้จะเห็นด้วย แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าถ้าปกาเกอะญอกลุ่มนี้ได้รับการรับรองความมีสัญชาติไทยจากอำเภอแก่งกระจานไปก่อนหน้านี้ จริงหรือไม่ว่า-บ้าน ข้าวไร่และยุ้งฉางคงไม่ถูกเผา-ทำลายเสียหายขนาดนี้ รวมถึงจิตใจของพวกเขา -6- ร้อยปีผู้เฒ่าปกาเกอะญอโคอิ กับร้อยปีกฎหมายสัญชาติไทย เมื่อร้อยปีที่แล้ว สัญชาติไทยได้เริ่มต้นขึ้นจากการที่สยามเปิดให้คนต่างประเทศที่มีอายุเต็มบริบูรณ์ตามกฎหมายแห่งชาติของตน [23] ยื่นคำร้องขอแปลงชาติต่อเสนาบดีว่าการต่างประเทศ และเข้าถือน้ำพิพัฒน์สัตยานุสัตย์เพื่อให้ได้มาซึ่งสถานะ “คนในบังคับสยาม” มีคนอังกฤษ คนในบังคับโปรตุเกส ฮอลันดา จีนฯลฯ จำนวนไม่น้อยยื่นคำร้องขอแปลงชาติและได้รับอนุญาตให้แปลงชาติเป็นคนในบังคับสยาม ในปีเดียวกันนั้น ผู้เฒ่าโคอิไม่ได้ไปดำเนินการใดๆ เพื่อให้ตนมีสถานะเป็นคนในบังคับสยาม แน่นอนผู้เฒ่าโคอิซึ่งเกิดที่ป่าแก่งกระจานย่อมไม่รู้ได้ว่าสยามได้ประกาศบังคับใช้กฎหมายแปลงชาติ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นปกาเกอะญอที่เกิดและเติบโตในผืนป่าแก่งกระจานที่ตั้งอยู่ในจังหวัดเพ็ชร์บุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในหกหัวเมืองของมณฑลราชบุรี [24] หรือชาวเกรี่ยงในเวลานั้น ได้รับการยอมรับว่าเป็นราษฎรในจังหวัดเพ็ชร์บุรี [25] การเป็นคนในบังคับสยามจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับพวกเขา สำหรับผู้เฒ่าโคอิ-ในวันที่ชีวิตเดินทางมาถึงปีที่หนึ่งร้อย การที่รัฐไทยจะได้รับรองว่าผู้เฒ่าเป็นเป็นบุคคลตามกฎหมาย โดยการออกเอกสารแสดงตนสักฉบับ หรือรัฐไทยจะรับรองว่าผู้เฒ่าเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทย โดยการเพิ่มชื่อผู้เฒ่าเข้าในทะเบียนบ้านประเภทคนไทยหรือท.ร.14 พร้อมกับออกบัตรประจำตัวประชาชนคนไทยให้กับผู้เฒ่าหรือไม่ ย่อมไม่ใช่คำถามจากปากผู้เฒ่าโคอิเลย แต่อาจกล่าวได้ว่ามันเป็นคำถามของนักกฎหมาย(ที่วุ่นวายไปเอง) ที่เกิดความสงสัยว่า หากคิดตามหลักวิชาคือกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลแล้ว หากจะต้องยืนยันถึงความมีสัญชาติไทยของผู้เฒ่าโคอิจริงๆ ลำพังเหรียญชาวเขา และท.ร.ชข. –มันจะได้รับการยอมรับในฐานะของพยานที่มีน้ำหนักได้หรือไม่ แนวคำตอบที่รอการโต้แย้งมีดังนี้ กรณีของเหรียญชาวเขา ต้องกล่าวว่า ผู้เฒ่าโคอิและนอแอะต่างมีเจตนายึดถือเป็นสมบัติของตนในฐานะตัวแทน/สิ่งของพระราชทานจากพระเจ้าอยู่หัวที่ให้กับคนกะเหรี่ยง ผู้เฒ่าและนอแอะไม่เคยคิดว่ามันจะกลายเป็นวัตถุแลกเปลี่ยนหรือยืนยันให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทย กรณีเอกสารชิ้นเดียวที่ยืนยันว่าผู้เฒ่าโคอิเกิดที่จังหวัดเพชรบุรี นั่นคือท.ร.ชข. ที่อาจถูกติงได้นั้น จากการสอบถามนายสังวาลย์ อ่อนเภา อดีตผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า “การจัดทำเอกสารดังกล่าวเป็นไปเพื่อสำรวจคนที่อยู่ในประเทศไทย เจ้าหน้าที่จะทำหน้าที่ซักถามเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงตามที่แบบสำรวจกำหนด โดยมีล่ามช่วยแปล” [26] และพยานบุคคลที่ทำหน้าที่สำรวจและบันทึกข้อมูลของผู้เฒ่าโคอิเมื่อปีพ.ศ.2531 พร้อมที่จะเป็นพยานบุคคลยืนยัน ดังนั้น น้ำหนักของพยานเอกสารชิ้นนี้จึงควรถูกรับฟังจากมุมที่ว่า ผู้ทำการสำรวจคือเจ้าหน้าที่ของรัฐทำหน้าที่ในการสำรวจข้อมูลประชากร โดยบันทึกตามข้อมูลที่ชาวบ้านให้ถ้อยคำ โดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือมีผลประโยชน์ใดๆ กับผู้ให้ข้อมูล อีกทั้งในช่วงเวลานั้นประเด็นความต้องการมีสัญชาติไทยของคนต่างด้าวยังไม่เกิดเป็นประเด็นน่าห่วงใยในสายตาของภาครัฐ ข้อมูลที่ปรากฎในท.ร.ชข. จึงย่อมสามารถรับฟัง-เชื่อถือได้ และเหรียญชาวเขาสมควรได้รับการพิจารณาในฐานะพยานหลักฐานยืนยันที่อยู่ -7- ร้อยปีผู้เฒ่าปกาเกอะญอโคอิ กับอาเซียนที่กำลังเริ่มต้น ท่ามกลางความตื่นตัวไปกับการเชี่อมโยงตัวเองของภาคส่วนต่างๆ ในสังคมไทยเพื่อพร้อมที่จะเป็นหนึ่งเดียวกับนานารัฐในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations-ASEAN) หรืออาเซียนในปีพ.ศ.2558 กรณีของผู้เฒ่าโคอิและความเป็นชุมชนดั้งเดิมของปกาเกอะญอแห่งผืนป่าแก่งกระจานนี้ยิ่งมีความน่าสนใจ เพราะกรณีนี้เปิดประเด็นที่ชวนให้กลับมามองถึงการดำเนินการของรัฐในสอง-สามประเด็นที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น อาทิการรับรองตัวบุคคลในฐานะที่คนๆ หนึ่งเป็นบุคคลตามกฎหมาย, การรับรองความเป็นผู้มีสัญชาติไทยและการรับรองความเป็นชุมชนดั้งเดิม และแน่นอนว่า-มันเกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการพิสูจน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ...ความน่าสนใจต่อไปก็คือในอาเซียนหรือดินแดนอุษาคเนย์แห่งนี้ รัฐเพื่อนบ้านของเรามีหลักเกณฑ์หรือลงมือดำเนินการอย่างไรบ้างกับคนดั้งเดิมในดินแดนของรัฐ ------------------------------------------ อ้างอิง: ข้อมูลจากการลงพื้นที่ร่วมกับคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและสอบปากคำผู้เสียหายจากการถูกเจ้าหน้าที่รัฐ(ไม่ทราบสังกัด)เผาทำลายบ้านและยุ้งฉางของกะเหรี่ยงแก่งกระจาน เมื่อวันที่ 3-4 กันยายน 2554 ดู ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว, บันทึกร่องรอย-เรื่องราวกะเหรี่ยงบางกลอยบน ย่างเข้าเดือนที่ 2 ที่ถูกอพยพโยกย้าย-ไร้บ้าน สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ, 6 กันยายน 2554 สืบค้นได้ที่ http://www.statelesswatch.org/node/462 เกิดที่บ้านบางกลอยบน ปี 2508 ปรากฎตามเอกสารสำเนาท.ร.ช.ข.แฟ้มบ้านโป่งลึก 2 ครอบครัวที่ 4 เกิดที่บ้านบางกลอยบน ปี 2476 ปรากฎตามเอกสารสำเนาท.ร.ช.ข.แฟ้มบ้านบางกลอย 6 ครอบครัวที่ 2 ชาวกะเหรี่ยงที่เกิดที่บ้านบางกลอย ไม่ปรากฎชื่อในท.ร.ชข. เพราะในช่วงที่มีการสำรวจ ดุ๊อูพร้อมกับลูกชายได้เดินลงมาขายพริกที่อำเภอท่ายาง ปี 2527 เป็นปีแรกที่มีการตั้งระบบเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก โดยคนที่มีสัญชาติ จะมีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 1 (กรณีแจ้งเกิดในกำหนด) และเลข 2 (กรณีแจ้งเกิดเกินกำหนด) ส่วนเลข 3 เป็นกรณีของคนไทยที่เกิดและแจ้งชื่อเข้าในทะเบียนบ้าน (ประเภทคนไทย หรือท.ร.14) ก่อนเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2524 เหตุผลที่ประกาศใช้พ.ร.บ.ฉบับนี้ เนื่องจากว่า แม้สยามจะมีกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรหลายฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.สำหรับทำบาญชีคนในพระราชอาณาจักร ร.ศ.128 (พ.ศ.2452)ฅ พ.ร.บ.การตรวจสอบบัญชีสำมะโนครัว และการจดทะเบียนการเกิดคนตาย คนย้ายตำบล พ.ศ.2461 และฉบับที่ 2 พ.ศ.2479, พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรในเขตต์เทศบาล พ.ศ.2479 อย่างไรก็ดี กฎหมายแต่ละฉบับมีกฎข้อบังคับและระเบียบการวางไว้ให้ถือปฏิบัติอีกก ล้วนแยกเขตแยกอำนาจหน้าที่ไว้อย่างสับสน เช่นในเฉพาะเขตเทศบาล ใช้เฉพาะมณฑทลกรุงเทพฯ ใช้เฉพาะหัวเมือง นอกมณฑลกรุงเทพฯ และนอกเขตเทศบาล เป็นต้น นับว่าเป็นการยากทั้งแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ และแก่ราษฎรผู้จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย จึงสมควรรวบรวมและปรับปรุงยกร่างพระราชบัญญัติเสียใหม่ ให้รวมถึงวิธีการปฏิบัติในการทำทะเบียนราษฎรไว้เสียที่แห่งเดียวกัน, ดูหมายเหตุท้ายพ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2499, ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 73 ตอนที่ 16 วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2499, ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล:2547, อ้างแล้ว โครงการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงและบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูง (บัตรสีฟ้า เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2533 เพื่อสำรวจบุคคลที่อยู่บนพื้นที่สูงทั้งหมด กล่าวคือ ไม่จำกัดเฉพาะชาวเขาเท่านั้น แต่รวมถึงชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นๆ ที่อยู่บนพื้นที่สูง 20 จังหวัด, อ้างจากเอกสารเผยแพร่ซึ่งจัดทำโดยฝ่ายการทะเบียนชนกลุ่มน้อย ส่วนการทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, “ชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย”, มกราคม 2542 โครงการสำรรวจและเพื่อทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวชุมชนบนพื้นที่สูง (บัตรสีเขียวขอบแดง) ซึ่งมีการดำเนินการในช่วงปีพ.ศ.2542 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำสถิติจำนวนชาวเขาที่อาศัยอยู่ในประเทศ โดยรัฐบาลกำหนดนโยบายให้มีสถานะเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยผ่อนผันให้มีสิทธิอาศัยอยู่ชั่วคราว เพื่อรอการพิสูจน์สถานะต่อไป ประกาศใช้เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2454 ปรากฎตามพระราชสาส์นที่รัชกาลที่ 3 มีถึงพระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส เมื่อพ.ศ.2408 เนื้อหาส่วนหนึ่งมีใจความว่า สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎพระเจ้ากรุงรัตนโกสินทร์มหินทรายุธยาเป็นมหาราชธานีใหญ่ในพระราชอาณาจักรฝ่ายสยาม คือ แผ่นดินสยามเหนือใต้และดินแดนต่างๆ อยู่เคียงอยู่ใกล้ เป็นที่อยู่อาศัยของชนชาวประเทศมีเพศภาษาต่างๆ คือ ลาวเฉียง ลาวกาว กัมพูชา มลายูและกะเหรี่ยง ในลิลา วีรวงศ์, ประวัติศาสตร์คนลาว (สมหมาย เปรมจิตต์ แปล) พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2520) หน้า 272. อ้างใน สมชาย ปรีชาศิลปกุล, “100 ปี แห่งสัญชาติไทย ตอนที่ 1” วิภาษา ปีที่ 5 ฉบับที่ 5 (16 กันยายน – 31 ตุลาคม 2554) หน้า 17-18. คู่มือการกำหนดสถานะบุคคลของบุคคลบนพื้นที่สูง เล่ม 1 กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล, สิทธิในเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลในรัฐไทย, วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2547 ข้อ 2 ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพิจารณาลงสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านให้แก่ชาวเขา พ.ศ.2517 ข้อ 4 ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านให้แก่ชาวไทยภูเขา พ.ศ.2535 จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา ตาก สุโขทัย น่าน กำแพงเพชร แพร่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย อุทัยธานี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดเพิ่มเติมภายหลัง ตามข้อ 3 ระเบียบฯ 2535 ข้อ 6 ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ.2543 สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2554 ดูวุฒิ บุญเลิศ, สืบค้นได้ที่http://www.facebook.com/photo.php?fbid=181606275227734&set=a.125272544194441.45186.100001350892849&type=1&theater ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2554 ภายหลังจากสื่อมวลชนเผยแพร่กรณีกะเหรี่ยงแก่งกระจานถูกบังคับโยกย้าย เผาไล่รื้อบ้านและยุ้งฉาง จากการสืบสวนสอบสวนของตำรวจ ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ศาลจังหวัดเพชรบุรีได้ออกหมายจับนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ ในข้อหาขอให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ในวันเดียวกันเวลา 15.40 น.นายชัยวัฒน์ ได้เข้ามอบตัวต่อ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ สุขแสวง รองผบก.ภจว.พบ. ดูรายละเอียดเพิ่มเติม http://manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9540000128092, http://prachatai.com/journal/2011/10/37306,http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=561&contentID=168315 ดูเพิ่มเติม ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว, อ้างแล้ว ให้ข้อมูลกับคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและสอบปากคำผู้เสียหายจากการถูกเจ้าหน้าที่รัฐ(ไม่ทราบสังกัด)เผาทำลายบ้านและยุ้งฉางของกะเหรี่ยงแก่งกระจาน เมื่อวันที่ 3-4 กันยายน 2554 สัมภาษณ์วันที่ 28 กันยายน 2554 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ มาตรา 6 ห้ามมิให้อนุญาตให้แปลงชาติจนกว่า (1) ผู้ร้องขอนั้นเปนคนมีอายุเต็มบริบรูณ์ ตามกำหนดในกฎหมายไทย แลกฎหมายแห่งชาติของตนด้วยแล้ว แล.. รายงานข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี, ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 29 ตุลาคม รัตนโกสินทร ศก 116, น่า 1 แจ้งความประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องบริจาคทรัพย์และให้ข้าวแก่พวกเกรี่ยง, ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 19 ธันวาคม 2469 เล่ม 43 น่า 3456 เวทีสัมมนา มติครม.วันที่ 3 สิงหาคม กับสิทธิการอยู่อาศัยของกะเหรี่ยงดั้งเดิมในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน, จัดโดย ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 28 กันยายน 2554

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net