Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“ ขอพูดอะไรแรงๆ สักครั้งในชีวิตค่ะ พูดแล้วจะร้องให้...น้ำท่วมไม่กลัว กลัวอย่างเดียว...ผู้นำโง่ เพราะพวกเราจะตายกันหมด” “ดูซิว่า ศปภ.จะทำอะไรโง่ๆ อีกมั้ย” ................................ ข้อความเสียดสีลักษณะนี้กระอักล้นในโซเชียลเน็ตเวิร์คมาร่วมสัปดาห์เห็นจะได้ และนับวันความถี่จะมีมากขึ้นจนฉันต้องปิดรับข้อมูลลงชั่วขณะ ด้วยภาวะเครียดเฉียบพลันในทุกๆ ฤดูน้ำหลากเช่นทุกปี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรีผู้นำฝ่ายบริหาร เจอ “จัดหนัก” กว่าใครๆ ทั้งๆ ที่เพิ่งเข้ามาบริหารประเทศได้เพียงเดือนเศษ แต่คงเป็นคราวซวยที่น้ำดันล้นทะลักในเวลานี้ ทั้งๆ ยัง “มือใหม่” ทั้งการเมืองและการบริหารประเทศ แต่ใจนักสู้ของเกินร้อย เพราะนับแต่วันแรกทีเกิดเหตุภัยพิบัติ ไม่รอช้า เธอเทคแอคชั่นอยู่แถวหน้า ทว่าอาจไม่ถูกใจใคร หรือไม่ทันใจโจ๋ปากไวทั้งหลายแหล่ อีกหน่วยงานที่รับเต็มๆ เห็นจะเป็นการทำงานที่ไม่ทันท่วงทีและการให้ข้อในข้อมูลผิดพลาดบ่อยๆ ของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ศปภ.) และถูกนำมาโจมตีในประเด็นการเมืองโดยถูกดิสเครดิตจากพรรคฝ่ายค้านและประชาชนที่ไม่เอารัฐบาล(ที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ) เป็นเรื่องอะไรบ้างฉันจะไม่พูดซ้ำเพราะข่าวเสนอแทบทุกวัน และหากเทียบกับเหตุการณ์น้ำท่วมอีสานเมื่อปีที่แล้ว นายกฯ คนก่อนออกจะอิดออดที่จะแสดงท่าทีไปสักหน่อย จำได้ว่านั่งเฮลิคอปเตอร์ มาดูน้ำท่วมในเมืองโคราชเพียงครั้งเดียว พายเรือถ่ายรูปแวบเดียวพอได้ภาพข่าวแล้วก็จากไป ส่วนพื้นที่ไกลๆ ในชนบทอย่างบ้านฉัน ไม่ต้องพูดถึง พวกเราเผชิญน้ำท่วมกันร่วมเดือน ฤดูน้ำหลากเช่นนี้ ปัญหาน้ำท่วมถนนถูกตัดขาดในหมู่บ้านชายชอบของฉันมันเป็นเรื่องจำทนและจำต้องน้อมรับสภาพมาร่วมสิบกว่าปีนับจากย้ายถิ่นฐานตามสามีมา เส้นทางตรงที่เคยไปได้ถูกแผ่นน้ำปิดทับสุดลูกหูลูกตา ต้องหาเส้นทางใหม่ในการเดินทาง คืออ้อมไปใช้อีกเส้นทางที่ไกลกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว มาปีนี้ดีขึ้นบ้างที่ทางหลวงชนบทมีงบประมาณทำสะพานที่กว้างขึ้น ถมแนวถนนให้สูงกว่าที่น้ำจะท่วมถึง แต่อีกฝั่งสะพานซึ่งเป็นเขตรับผิดชอบของคนละองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นที่ต่ำ พอน้ำมามากๆ จึงเออล้นและขังตัวสูงอีกตามเคย และนี่คือผลพวงของการพัฒนาแบบแยกส่วน ไม่ว่าระดับท้องถิ่นจนถึงประเทศชาติ ปัญหาเดิมๆ จึงเกิดซ้ำซาก ยากจะยุติ ใช่ว่าฉันจะถือหางพรรคเพื่อไทยหรือนักการเมืองคนไหนเป็นพิเศษ แต่สิ่งที่ให้น้ำหนักอยู่ที่วิธีคิดในลักษณะที่ไม่มีทางออกแบบนั้นมันไม่เป็นเหตุเป็นผลทางตรรกะ เป็นความคิดที่ไม่ก้าวหน้า ย่ำอยู่กับปัญหา และเหยียบคนพลาดให้จมไปกับน้ำ มุ่งหวังแต่เพียงความสะใจ สาแก่ใจมากกว่าจะคิดหาทางแก้ไขร่วมกัน และนับวันคนในสังคมไทยจะมีลักษณะเช่นนี้ คือ “ดีแต่พูด” และ “ถนัดแต่ด่า” หากมองถึงรากปัญหาอย่างถึงที่สุดแล้ว ความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของเหตุเภทภัยในทุกๆ ครั้ง มันมีปัจจัยมากมายให้เกิดขึ้น ทั้งหลายทั้งปวงการโยนบาปหาคนผิด แล้วประณามเพียงคนใดคนหนึ่งมันไม่ยุติธรรมแม้แต่น้อย เปิดใจสักนิดแล้วมองโลกตามภาววิสัยเสียเถิด ไอ้ตรรกะที่บอกว่าเพราะผู้นำเป็นผู้หญิงฟ้าฝนจึงลงโทษมันไร้เหตุผลสิ้นดี ไม่เข้าท่าพอๆ กับที่บอกว่าเพราะมีหญิงกาลีในหมู่บ้าน ฟ้าฝนจึงแห้งแล้งตามความเชื่อโบราณ ฉันคิดว่าสิ่งที่เราจำต้องมีคือ ข้อมูลที่มากกว่าสถานการณ์ตรงหน้าจากรายงานข่าวชนิดทันท่วงทีของสื่อมวลชนที่สร้างความตื่นตระหนกเพื่อหวังเป็นจุดขายแย่งพื้นที่ข่าว เหนืออื่นใด เราต้องรู้ว่าปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้มันมีสาเหตุปัจจัยใดบ้าง... ไม่ใช่เพราะว่าคนตัดไม้ทำลายป่ากันมากหรือที่ทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นทุกปี ทำให้ฝนตกผิดฤดูกาลและยาวนานต่อเนื่องจนน้ำล้น เมื่อป่าร่อยหรอ ดินก็ดูซับน้ำได้น้อยลง ตลอดจนไม่มีทางกั้นน้ำ กระแสน้ำย่อมไหลบ่าอย่างรวดเร็วเป็นธรรมดา หรือ...ไม่ใช่เพราะว่าหน่วยงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่รับผิดชอบหน้าเขื่อนต้องการกักเก็บน้ำให้มากเข้าไว้ หวังเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้พอใช้เพียงอย่างเดียว โดยมองข้ามไปว่าหากน้ำฝนมาเยอะ(อย่างปีนี้) เขื่อนจะรับน้ำไม่ไหว ท้ายสุดแล้วจำต้องปล่อยน้ำกะทันหัน น้ำท่วมบ้านเรือน ไร่สวนเรือกนาของประชาชน ดังนั้นการจัดการเรื่องเขื่อนจำต้องมองกันใหม่และรอบด้านกว่าที่ผ่านมา เพื่อที่ว่าหลักการของการสร้างเขื่อนเพื่อใช้ในการเกษตร ผลิตกระแสไฟฟ้า และเพื่อกักเก็บน้ำป้องกันน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากจะได้คุ้มค่ากับการต้องเสียผืนป่ามหาศาล ประสบการณ์น้ำท่วมภาคอีสานอย่างจังหวัดนครราชสีมาที่บ้านเกิดของฉันเมื่อปี 2553 ยืนยันได้ดีที่สุด ในปีนั้นฝนตกติดต่อกันหลายวันจนเขื่อนลำตะคองรับน้ำไม่ไหว ต้องปล่อยน้ำไปอย่างรวดเร็วโดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า น้ำไหลถึงอำเภอพิมายและท่วมสูงถึงสองเมตรภายในครึ่งวัน ไม่ต้องพูดถึงระบบการเตือนภัยที่ไม่เคยมีประสิทธิภาพนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เครื่องไม้เครื่องมือในการพยากรณ์อากาศที่ล้าสมัย สมควรแก่เวลาที่ต้องสังคายนากันใหม่ทั้งระบบ งบประมาณในส่วนนี้หากที่ผ่านมาน้อยไป เพื่อความปลอดภัยในอนาคตรัฐบาลเองจำต้องทบทวนให้เหมาะสมและ “ทุ่ม” ให้มากกว่าเดิม ตัดทอนงบประมาณในส่วนอื่นๆ ที่จำเป็นน้อยออกไปบ้าง งบพันล้านที่ทหารเคยได้ลดลงสักครึ่งจะได้หรือไม่ เครื่องบิน เรือดำน้ำ รถถังชะลอไว้คงไม่เป็นไร ยุคสมัยนี้จะไปรบกับใครครับท่าน การสร้างถนนหนทาง การสร้างบ้านจัดสรรของนายทุนบางกลุ่มหรอกหรือที่ต้องถมหน้าดินปิดกั้นทางน้ำ ไอ้ที่ระบายน้ำไม่ทัน ดันน้ำไม่ถึงทะเลซะทีก็เพราะเหตุนี้ใช่หรือไม่ ประจวบกับที่ผ่านมาในรอบเดือนที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญพายุใต้ฝุ่นหลายลูก ส่งผลให้น้ำมากกว่าที่คาดการณ์ไว้มากนัก สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับหากคุณมีใจเป็นธรรมในระดับหนึ่ง (ไม่ต้องมากนักก็ได้) ต้องเข้าใจว่าน้ำปีนี้มากกว่าปีที่ผ่านมา หรือแม้กระทั่งมากกว่าน้ำท่วมในปี 2538 หลายเท่า ต่อให้เป็นรัฐบาลไหนๆ ก็ไม่สามารถรับมือได้เช่นกัน ฉันกล้าเอาหัวเป็นประกัน อย่าว่าแต่เมืองไทยเลย ในต่างประเทศทั่วโลกก็ยังไม่มีรัฐบาลไหนที่เจ๋งพอจะงัดข้อกับภัยพิบัติธรรมชาติได้ สึนามิในประเทศญี่ปุ่นเมื่อต้นปีที่ผ่านมายืนยันชัดเจน แน่นอนว่าสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นวัฒนธรรมที่น่าสังคมสำหรับสังคมประชาธิปไตย อย่างน้อยๆ ก็เป็นการสะท้อนปัญหาให้รัฐบาลรับทราบ เหนืออื่นใด เราในฐานะประชาชนคนไทยนอกจากจะวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ แล้ว ก็จำต้องมองถึง “ทางออก” หรือ “ทางแก้” ร่วมกันแบบสร้างสรรค์และยั่งยืน ไม่ใช่มีแต่ด่าๆๆๆๆๆ กันสนุกปาก เหมือนตีหัวแล้วหนีเข้าบ้านอย่างไรอย่างนั้นมันง่ายไป ปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องทำเวลานี้คือร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขไปให้พ้นผ่านนั่นคือเยียวยาผู้ประสบภัยจากมวลน้ำขนาดใหญ่ที่ไหลทะลักและท่วมสูงในหลายพื้นที่ ตลอดจนหาทางดันน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ วิธีไหนเป็นไปได้เสนอเลย อย่ารอช้า นี่คือปัญหาของคุณๆๆๆ ทุกคน อุทกภัยครั้งนี้เป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องประสานกันหลายๆ ภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่ดูแลภาพรวม พรรคประชาธิปัตย์ที่ดูแลบริหารพื้นที่กรุงเทพฯมหานคร ซึ่งไม่อาจจะแยกการจัดการ “น้ำ” ออกจากกันได้เด็ดขาด แต่จำต้องประสานงานและ “แชร์” ข้อมูลซึ่งกันและกันเพื่อสร้างความเป็น “เอกภาพ” ในการแก้ปัญหาเชิงปฏิบัติการร่วมกัน ในระยะสั้นเพื่อรับมือ ฉันอยากเห็น “การรวมศูนย์ของการแก้ปัญหา” ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ หรือนำมาเป็นประเด็นการเมือง และโจมตีซึ่งกันและกัน มันได้แต่เพียงความสะใจไปวันๆ วางเรื่องการเมืองลงสักพักใหญ่ๆ (ไม่ว่าจะในระดับประเทศหรือในโซเชียลเน็ตเวิร์ค) ให้น้ำลดค่อยว่ากันใหม่ ทางที่ดีมาช่วยกันคิดหามาตรการระยะยาวร่วมกันในการจัดการและบริหารน้ำที่มีประสิทธิภาพจะไม่ดีกว่าหรือ ในระยะยาว...ฉันคิดว่าแผนการหลังน้ำลด ทุกภาคส่วนควรระดมสมองกันคิดแก้ไขปัญหาน้ำอย่างจริงๆ จังเสียที ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ภาคเอกชน ประชาชน แล้วกำหนดเป็น “วาระแห่งชาติ” และจัดทำ Master Plan เพื่อเป็นแนวทางรับมือปัญหาน้ำท่วมในปีต่อๆ ไป หากไม่มีแผนป้องกันล่วงหน้าแล้วละก็...คราวหน้าธรรมชาติคงเอาคืนอีกนับเท่าทวีคูณ ฉันเชื่อแน่ว่าจะหนักหน่วงกว่าปีนี้อีกหลายเท่า เป็นต้นว่าต้องมีการรวบรวมข้อมูลในช่วงปฏิบัติการขณะวิกฤติน้ำท่วมหนักๆ ตลอดจนการประเมินข้อผิดพลาดต่างๆ ในแผนปฏิบัติการของ ศปภ. ทั้งนี้ควรสรุปออกมาโดยละเอียดเขียนเป็นรายงานแล้วเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับรู้ ตลอดจนเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อเป็นแนวทางในการสร้างเป็นนโยบายระดับชาติ อันเป็นเรื่องต้นๆ ที่รัฐบาลจำต้องให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลนี้หรือต่อจากนี้ไปก็เถอะ อย่างไรเสียปัญหาประชาชนก็ต้องมาก่อน การส่งต่อข้อมูลจากรัฐบาลเก่าสู่รัฐบาลใหม่ต้องทำภายใต้เจตนาที่จริงใจกับปัญหาและประชาชน การกั๊กข้อมูลเพื่อหวังผลทางการเมืองเป็นเกมการเมืองที่สุดสกปรก การดองปัญหาชาติและประชาชนมาเพื่อต่อรองทางการเมืองเป็นการสิ้นคิดอย่างถึงที่สุด ตลอดจนหน่วยงานซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับการบริหารและจัดการน้ำจำต้องออกมาเปิดเผยข้อมูลกับประชาชนเสียทีว่าที่ผ่านมีการจัดการน้ำเช่นไร ทำไมปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งมันจึงเกิดซ้ำซากอย่างที่ผ่านมาก อะไรเวิร์ค อะไรไม่เวิร์คต้องกล้าพอที่ยอมรับและทบทวน การใคร่ครวญหาทางแก้ไขคงไม่มีใครประณามได้ลงขอ และ....ขอเถอะพอที หากคิดไม่ออก บอกไม่ถูกว่าควรทำอะไร หรือพูดดีๆ ไม่ได้ ก็อย่าชักใบให้เรือเสีย.....เพราะเรือลำนี้บรรทุกพลเมืองไทยหลายล้านชีวิตเลยนะท่าน ภารกิจครั้งสำคัญเดิมพันทั้งชีวิต...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net