ควันหลงกระแสก่อการร้าย เศรษฐกิจการเมืองระดับโลกสู่ชีวิตประจำวัน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

หลังจากผ่านวันครบรอบเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐและโลกไปในเดือนกันยายนที่ผ่านมาอันได้แก่ ครบ 10 ปี เหตุก่อการร้าย 11 กันยา 2544และ ครบ 5 ปี รัฐประหาร 19 กันยา 2549 ควันหลงและมรดกของภัยก่อการร้ายยังเหลือค้างอยู่ในรูปแบบของมาตรการป้องกันเหตุวินาศกรรมต่างๆ และมาตรการรักษาความปลอดภัยของสถานที่สำคัญ

มาตรการรักษาความมั่นคงของรัฐไทยและสหรัฐอเมริกามีความเชื่อมโยงอยู่หลายประการ ทั้งในแง่ การมองว่าสิ่งใดเป็นภัยคุกคาม มาตรการตอบโต้และป้องกันภัย รวมถึงข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้ เทคโนแครตด้านความมั่นคง ฯลฯ

ซึ่งหากย้อนไปทำการศึกษาประวัติศาสตร์จะพบว่าไทยมีความสัมพันธ์และได้รับอิทธิพลการจัดกองทัพและหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงมาจากสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะในช่วงสงครามเย็น เป็นอย่างมาก

กระแสตื่นกลัวการก่อการร้ายสากล และสารพัดมาตรการรักษาความปลอดภัยได้ถูกเปิดโปงและวิเคราะห์อย่างกว้างขวางว่าได้นำไปสู่การใช้ความรุนแรง และมีการใช้งบประมาณไปเป็นจำนวนมากเพื่อทุ่มลงไปกับกิจกรรมเหล่านั้นคนไทยคงจำเครื่อง CTX และ GT200 ได้ดี ไม่ต่างจากชาวอเมริกันที่ต้องอยู่กับวิกฤตการขาดดุลงบประมาณ จนสหรัฐถังแตกอยู่ในเวลานี้

สิ่งหนึ่งที่เป็นเหมือนยันต์คุ้มกันให้กับความล้มเหลวและสิ้นเปลืองของกิจกรรมด้านความมั่นคง คือ การอ้างเรื่องความไม่มั่นคงจากภัยคุกคามซึ่งภัยคุกคามเหล่านี้ได้สร้างความหวาดกลัวให้กับคนจำนวนไม่น้อยจนยินยอมจำกัดสิทธิของตนเองไปให้กับรัฐ หรือหน่วยงานต่างๆ ในนามของ “มาตรการรักษาความปลอดภัย”

ภัยคุกคามทั้งหลายที่เคยเผชิญกันมาในสังคมต่างๆ ล้วนแล้วแต่พิสูจน์ว่าสามารถสลายหรือลดทอนความรุนแรงโดยใช้สันติวิธี และมาตรการที่เป็นธรรมเปิดพื้นที่ให้กับทุกฝ่ายได้ถกเถียงเพื่อสร้างกติกาในการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจกันใหม่ และกำหนดสถานะบทบาทบนฐานของการมีส่วนร่วม

ปัจจุบันองค์กรของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือธุรกิจเอกชน ได้ใช้ข้ออ้างเรื่อง “ความไม่มั่นคง” หรือ “ภัยคุกคาม” สร้างมาตรการความปลอดภัยหลากหลายรูปแบบมาใช้กับประชาชนที่มีกิจกรรมกับหน่วยงานเหล่านั้น

กิจกรรมที่ยังคงภาวะระวังภัยขั้นสูงอยู่ คือ การคมนาคมทางอากาศ มาตรการรักษาความปลอดภัยในสนามบินถูกนำมาล้อเลียนในภาพยนตร์ต่างประเทศหลายเรื่องและในสารคดีบางเรื่องก็ชี้ให้เห็นว่ามีการเลือกปฏิบัติในมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบางธุรกิจมากกว่าธุรกิจอื่น เช่น พกไม้ขีด ไฟแช็ค ขึ้นเครื่องได้ แต่น้ำนมที่เป็นของเหลวกลับต้องมีภาระตรวจสอบมากจนผู้โดยสารเลือกที่จะไม่นำไปดีกว่า

ผมได้ประสบเหตุการณ์ดังกล่าวหลายครั้ง เนื่องด้วยปีนี้จะต้องเดินทางไปกลับเส้นทาง เชียงใหม่-ขอนแก่น โดยต้องผ่าน กรุงเทพฯ ก่อน อยู่หลายรอบสิ่งที่ปรากฏคือ หากนั่งเครื่องบินสายการบินเดียวกันทั้ง 4 เที่ยว จะต้องตรวจความปลอดภัยเพียงสองครั้ง คือ ตรวจ ณ ต้นทางเชียงใหม่ขามา และ ณ ต้นทางขอนแก่นในขากลับโดยไม่ต้องตรวจซ้ำที่กรุงเทพฯ ทั้งสองขาแต่หากเดินทางด้วยสายการบินต่างกัน ทุกท่านจะตรวจความปลอดภัย 4 ครั้ง คือ เพิ่มการตรวจที่กรุงเทพฯ มาทั้งขาไปและขากลับ

สิ่งที่พนักงานสายการบินหนึ่งที่มีบริการครอบคลุมทั้งสองเส้นทางกล่าวอ้างคือ “หากเดินทางกับเราทุกเที่ยวบินก็ได้รับการตรวจจากเจ้าหน้าที่ของเรา ณ ต้นทางแล้วไม่ต้องตรวจซ้ำอีก แต่ถ้ามากับสายการบินอื่น เราต้องตรวจซ้ำ”

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ใครมาต่างสายการบิน ต้องเดินจากทางออกด้านในสนามบินสุวรรณภูมิออกมายังด้านนอกเพื่อตรวจความปลอดภัยก่อนที่จะเดินกลับไปที่ประตูทางออกด้านใน รวมระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร สองรอบก็ปาไปเกือบ 7 กิโลเมตรและเป็นที่น่าฉงนว่าการให้เดินออกมาจะอันตรายกว่าให้อยู่ด้านในหรือไม่และเหตุใดคนที่เดินทางมาด้วยสายการบินเดียว 4 เที่ยวไม่ต้องถูกตรวจซ้ำเหมือนคนที่ใช้บริการสายการบินอื่น

สิ่งที่สายการบินบางแห่งกล่าวอ้างความปลอดภัยระหว่างการเปลี่ยนสายการบินเพื่อต่อเครื่องบินอีกสายการบินหนึ่งโดยบังคับให้ผู้โดยสารที่ตรวจความความปลอดภัยมาจากสนามบินต้นทางแล้ว และอยู่ด้านในของสนามบินพร้อมจะขึ้นเครื่องต่อต้องเดินออกไปด้านนอกเพื่อทำการตรวจความปลอดภัยอีกครั้งจึงจะขึ้นเครื่องได้นั้นจึงดูเป็นการสร้าง “ต้นทุน” และ “อุปสรรค” ให้กับผู้ที่ใช้สายการบินอื่น มากกว่าเหตุผลเรื่องความปลอดภัย

การใช้ข้ออ้างเรื่องความปลอดภัย ความไม่มั่นคง ล้วนแต่เป็นการกล่าวอ้างที่เกิดขึ้นโดยปราศจากการตรวจสอบเจตจำนงที่แท้จริงของมาตรการเหล่านั้น โดยอาศัยการสร้างภาวะความหวาดกลัวจากภัยคุกคาม และขาดเหตุผลรองรับ ดังนั้นเราจะต้องร่วมกันตรวจสอบถึงการดำรงอยู่ของภาวะความหวาดกลัวเช่นว่า และมาตรการทั้งหลายที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติ และการกีดกันทางการค้าแอบแฝงที่ได้สร้างความอยุติธรรมให้กับประชาชน และเป็นการสกัดกั้นการแข่งขันที่เป็นธรรมในโลกเสรี

 

หมายเหตุ: ภาพประกอบจาก The Wandering Angel (CC BY 2.0)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท