Skip to main content
sharethis

‘ศูนย์ราชการฯ’ ปิดรับผู้อพยพ ส่งต่อไปอาคาร 19 ปี กสท. ‘ศูนย์ฯ ดอนเมือง’ ทยอยย้ายผู้อพยพไป ‘ชลบุรี’ ขณะที่ผู้ประสบภัยบางส่วนยังอยู่ มธ.รังสิต ส่วน ครม.ให้หมื่นครอบครัวอยู่ฟรีบ้านพักอุทยาน ระดมเครื่องสูบน้ำช่วยกรุง วันนี้ (25 ต.ค.54) เว็บไซต์กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เผยว่า ขณะนี้ พม.ได้จับมือกับกระทรวงการศึกษาธิการ (ศธ.) จัดตั้งศูนย์พักพิงเพิ่มเติมเฉพาะกรุงเทพมหานคร 86 แห่ง โดยให้ความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทุกเขตพื้นที่ ได้แก่ คลองเตย คลองสามวา จตุจักร จอมทอง ดอนเมือง ดุสิต ธัญบุรี บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ บางกะปิ บางเขน บางแค บางซื่อ บางนา บางบอน บางพลัด บึงกุ่ม ประเวศ พญาไท พระโขนง พระนคร พลับพลาไชย มีนบุรี ยานนาวา ราชเทวี ราษฎร์บูรณะ ลาดกระบัง วังทองหลาง สาทร สามเสน สายไหม หนองแขม หนองจอก และเขตห้วยขวาง โดย พม.ให้การสนับสนุนที่นอนและเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบภัยในศูนย์พักพิงทุกแห่ง สำหรับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เปิดศูนย์พักพิงเพิ่มเติมโดยการเคหะแห่งชาติในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 6 แห่งได้แก่ 1.การเคหะชุมชนหนองจอก จำนวน 1,200 คน 2.การเคหะชุมชนร่มเกล้า จำนวน 1,500 คน 3.การเคหะชุมชนพรพระร่วงประสิทธิ์ จำนวน 865 คน 4.เอื้ออาทรวัดสาขลา จ.สมุทรปราการ จำนวน 3,000 คน 5.เอื้ออาทรเศรษฐกิจ 1 จ.สมุทรสาคร จำนวน 1,200 คน 6.เอื้ออาทรเศรษฐกิจ2 จำนวน 3,000 คน สำหรับประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ สามารถสอบถามได้ที่ พม.(ศปภ.ดอนเมือง) โทร. 0-2504-3050 ‘ศูนย์ราชการฯ’ ปิดรับผู้อพยพ - ส่งต่อไปอาคาร 19 ปี กสท. ขณะที่เนชั่นทันข่าวรายงานว่า ศูนย์พักพิงภายในศูนย์ราชการฯ ประกาศปิดรับผู้พักพิงเพิ่มเติมแล้ว เนื่องจากมีผู้เข้าพักพิงเต็มพื้นที่ทั้ง 3 เฟส จำนวนมากถึง 2,540 คน อย่างไรก็ตามยังมีผู้ประสบภัยทยอยเดินทางมาจากหลายพื้นที่ที่น้ำเริ่มหลากเข้าท่วม โดยเฉพาะประชาชนย่านหลักหก ทั้งด้วยรถโดยสารรถประจำทางของทางราชการ และรถยนต์ส่วนตัว ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้ไปพักที่ศูนย์พักพิงในอาคาร 19 ปี ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือCAT ล่าสุดมีประชาชนจากย่านหลักหกเข้ามาพักแล้วกว่า 200 คน ซึ่งศูนย์นี้จะรับผู้พักพิงได้ประมาณ 500 คน เท่านั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณศูนย์พักพิงของ CAT นั้น เดิมคือศูนย์กีฬา โดยเปิดพื้นที่ชั้น 1 บริเวณสนามแบดมินตันเป็นพื้นที่นอน และนำกระดาษกล่องมาทำเป็นที่กั้น แยกเป็นล็อคเพื่อจัดที่นอนให้เป็นสัดส่วน สำหรับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในจุดนี้ วาสนา วิสฤตาภา อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ให้ข้อมูลว่ามีทั้ง พม., นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ, มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และมูลนิธิพุทธฉือจี้ ซึ่งการดูแลผู้พักพิงจะใช้แนวทางเดียวกับที่ศูนย์ราชการฯ คือมีการลงทะเบียนแบ่งแยกการพักเป็นแบบครอบครัวหรือชายหญิง และหญิงโสด มีสมุดเบิกของใช้ส่วนตัวไว้และมีบัตรประจำตัวทุกคน ทยอยย้ายผู้อพยพจาก ‘ศูนย์ฯ ดอนเมือง’ ไป ‘ชลบุรี’ นอกจากนั้นยังมีรายงานข่าวจากศูนย์พักพิงผู้ประสบภัย อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ 2 ท่าอากาศยานดอนเมือง ว่ามีเจ้าหน้าที่จาก พม.ได้แจ้งผู้อพยพที่พักพิงในศูนย์ฯ ให้ลงทะเบียนเพื่อย้ายไปยังสถาบันการพลศึกษา ชลบุรี ที่จะรองรับผู้อพยพได้ถึง 4,000 คน เนื่องจากน้ำได้ท่วมบริเวณ ถ.วิภาวดีรังสิต และมีปริมาณน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผู้สมัครใจลงทะเบียนกว่า 500 คน จาก 4,131 คน โดยจะมีรถของ ขสมก.ให้บริการไปส่ง และผู้ที่ลงทะเบียน จะได้รับอาหารแห้งพร้อมมุ้งติดตัวไปยังศูนย์พักพิงที่ จ.ชลบุรีด้วย นอกจากนี้ทั้งนี้ยังมีศูนย์พักพิงที่ จ.สมุทรสาคร และ จ.นครปฐม ส่วนผู้อพยพที่ต้องการเดินทางกลับภูมิลำเนาสามารถลงทะเบียนไว้ก่อนแต่ต้องรอความชัดเจนเรื่องสถานที่จึงจะเคลื่อนย้ายได้ สำหรับ จ.ชลบุรี นอกจากจะมีศูนย์อพยพที่ สถาบันพลศึกษา ชลบุรีแล้ว ยังมีอีก 7 แห่ง ประกอบด้วย ด้วย 1.ศูนย์ศึกษาพัฒนาชุมชน ชลบุรี 2.ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 2 3.มณฑลทหารบกที่ 14 4.ค่ายลูกเสือวชิราวุธ 5.สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 6.สวนสัตว์เปิดเขาเขียว และ 7.เทศบาลตำบลหนองไม้แดง รวมทั้งหมดรองรับได้กว่า 8,300 คน ผู้พักพิงจาก ‘มธ.รังสิต’ ถึง ‘สนามราชมังกีฬาสถาน’ วันเดียวกัน ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม (ศปภ.) แจ้งว่าศูนย์พักพิงที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน มีผู้ประสบภัยย้ายมาจากศูนย์พักพิง มธ.รังสิต มาอาศัยแล้วกว่า 500 คน ซึ่งการกีฬาแห่งประเทศไทย ได้จัดสถานที่รับรองไว้ 3 จุด คือ บริเวณห้องพักนักกีฬาใต้สนามกีฬาโซน E อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์และการกีฬา และอาคารพักพิงนักกีฬา 300 เตียง โดยคาดว่าในวันนี้ (25 ต.ค.54) จะมีมาเพิ่มอีก 1,500 คน ด้านนายกนกพันธ์ จุลเกษม ผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เปิดเผยว่าเช้านี้จะมีการประชุมประเมินสถานการณ์ เพื่อให้การดูแลผู้อพยพมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการจัดการเรื่องขยะ ส่วนการดูแลความปลอดภัย นอกจากเจ้าหน้าที่ รปภ.ของกกท. ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 50 นาย ที่มาดูแลความปลอดภัยภายในบริเวณโดยรอบด้วย ผู้ประสบภัยบางส่วนยังอยู่ มธ.รังสิต เนชั่นทันข่าวรายงานด้วยว่า ประชาชนที่เข้ามาพักในศูนย์พักพิงชั่วคราวผู้ประสบปัญหาอุทกภัย บริเวณยิมเนเซี่ยม 1 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) เริ่มทยอยเดินทางออกเพื่อขึ้นรถยีเอ็มซีของทหาร และรถ ขสมก.ที่ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับความร่วมมือจาก ขสมก.ที่จะนำรถเมล์ของ ขสมก.กว่า 200 คันมารับประชาชนที่บางส่วนจะเดินทางกลับภูมิลำเนา เนื่องจากปริมาณน้ำเริ่มลดแล้วในบางพื้นที่ แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังต้องพักที่ศูนย์พักพิงแห่งนี้เพื่อรอเวลาที่น้ำจะลดและเดินทางกลับภูมิลำเนา ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตเปิดเผยว่า ศูนย์พักพิงชั่วคราวที่ยิมเนเซี่ยม1 ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสต์แห่งนี้ ยังไม่มีการปิดศูนย์พักพิงผู้อพยพแต่อย่างใดยังคงมีประชาชนบางส่วนพักอยู่ แต่อาจจะไม่สะดวกเหมือนเช่นเคย เพราะน้ำได้เข้ามาท่วมพื้นที่ส่วนที่อยู่รอบๆ ศูนย์อพยพ และท่วมบริเวณที่เคยใช้เป็นที่รับประทานอาหารของผู้อพยพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต้องประกาศให้ประชาชนที่เข้ามาพักในศูนย์นี้ได้ทราบว่า ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมีรถรับส่งประชาชนกลับภูมิลำเนาหากพื้นที่ใดปริมาณน้ำเริ่มลดผู้ใดมีความประสงค์ที่จะเดินทางกลับให้ลงทะเบียนไว้ และหากผู้ประสบภัยคนใดยังไม่ต้องการที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนา ทางเราได้ประสานกับทาง ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่จะเปิดสนามราชมังคลากีฬาสถาน ให้ผู้ประสบภัยพักพิงในด้านทิศเหนือ ตะวันออก และตะวันตก ในห้องพักนักกีฬาและห้องสำนักงาน รวมทั้งเปิดอาคารที่ทำการ กกท.หลังเดิมให้เป็นที่พักด้วย และได้จัดเตรียมให้ใช้ชุดเครื่องนอนสำหรับนักกีฬาเยาวชนแห่งชาติที่มีจำนวนกว่า 7,000 ชุด และยังมีที่ศูนย์การทหารม้า ค่ายอดิศร อ.เมือง จ.สระบุรี อีกหนึ่งแห่งที่ยังเปิดรองรับผู้อพยพที่ได้รับความเดือดร้อน ปริญญา เปิดเผยต่อไปอีกว่า ยังคงมีผู้อพยพบางส่วนที่เป็นประชาชนใน จ.ปทุมธานี ที่ยังขอปักหลักอยู่ในศูนย์อพยพที่ยิมเนเซี่ยม1 แห่งนี้ เพราะเป็นสถานที่ใกล้บ้าน สามารถเดินทางไปตรวจดูทรัพย์สิน หรือของมีค่าที่บ้านได้ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยยืนยันยังคงมีน้ำและไฟฟ้าใช้ตามปกติ ครม.ให้หมื่นครอบครัวอยู่ฟรีบ้านพักอุทยาน ระดมเครื่องสูบน้ำช่วยกรุง ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า ครม.ไฟเขียว ให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมพักบ้านพักในอุทยานแห่งชาติใกล้ กทม.กว่า 30 แห่ง รวม 10,000 ครอบครัว ฟรี พร้อมสั่งระดมเครื่องสูบน้ำจากทั่วประเทศมาช่วยกรุงเทพฯ สูบน้ำออก นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ครม.อนุมัติ ตามที่กระทรวงทรัพยากรฯเสนอให้ผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมไปเข้าพักในบ้านพักของอุทยานแห่งชาติได้ฟรี ซึ่งมีกว่า 30 แห่ง ในจังหวัดใกล้กรุงเทพฯ เช่น ฉะเชิงเทรา กาญจนบุรี ราชบุรี ปราจีนบุรี ซึ่งมีบ้านรองรับได้ประมาณ 10,000 ครอบครัว โดยติดต่อได้ที่ ศปภ.เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.เป็นต้นไป ซึ่งบ้านพักของอุทยานแห่งชาติมีทั้งที่เป็นทะเลและภูเขา นายปรีชา กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกัน ครม.เห็นชอบตามที่ตนเสนอให้กระทรวงมหาดไทยติดต่อนำเครื่องสูบน้ำของทุกจังหวัดทั่วประเทศที่ไม่ประสบอุทกภัยหรือจาก 56 จังหวัด ระดมเข้ามาช่วยสูบน้ำช่วยกรุงเทพฯ ซึ่งแต่ละจังหวัดมีเป็นร้อยเครื่อง ซึ่งกระทรวงทรัพยากรฯ จะเป็นแม่งานในการติดตั้งเครื่องสูบน้ำตามคำแนะนำของกรมทรัพยากรน้ำ และให้เจ้าหน้าที่ของสำนักทรัพยากรน้ำแต่ละภาคที่ไม่ประสบอุทกภัยเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาช่วยกันดูแลระบบระบายน้ำ รวมแล้วได้ประมาณ 500 คน ขณะเดียวกันได้สั่งเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติที่มี 30,000 คน มาช่วยเหลือการอพยพของประชาชนโดยให้ผลัดเวรเป็นวันละ 3 กะ กะละ 10,000 คน ให้หมุนช่วยเหลือกันตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net