TCIJ: เครือข่ายชาวบ้านจากอุดรฯ เดินทางมาเยี่ยม “จินตนา นักต่อสู้เพื่อชุมชน”

ให้กำลังใจชาวประจวบฯ สู้ต่อ ด้าน ‘ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ’ ร้องกระบวนการยุติธรรมไทยต้องหันกลับมาดูแล ‘นักต่อสู้เพื่อชุมชน’ ส่วน ‘ประสาร มฤคพิทักษ์’ เผยพร้อมร่วมผลักดันกฎหมายที่เป็นธรรมให้ชุมชน วานนี้ (26 ต.ค.54) เมื่อเวลา 10.00 น. เครือข่ายชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดอุดร จำนวนกว่า 50 คน เดินทางมาเยี่ยมนางจินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่เรือนจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ภายหลังจากที่ศาลฎีกามีคำสั่งจำคุก โดยไม่รอลงอาญา เป็นระยะเวลา 4 เดือน เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา ในคดีการต่อสู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าหินกรูด นางมณี บุญรอด ตัวแทนเครือข่ายชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า นางจินตนา เป็นนักต่อสู้เพื่อการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดประจวบฯ ซึ่งต่อสู้เพื่อวิถีชีวิตของชุมชน เพื่อส่วนรวม ไม่ได้ต่อสู้เพื่อตัวเอง ส่วนตัวจึงรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมกับเรื่องที่เกิดขึ้น นางมณี กล่าวฝากถึงเครือข่ายพันธมิตรสิ่งแวดล้อมประจวบฯ ด้วยว่า ขอให้สู้ต่อไป และต้องอดทน เพราะว่าการเคลื่อนไหวของชาวบ้านเป็นการทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม ทางเครือข่ายชาวบ้านจากจังหวัดอุดรธานี จะเป็นกำลังใจให้ตลอด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดอุดรธานี ได้ตั้งขบวน ระยะทางประมาณ 100 เมตร เพื่อเดินเท้าเข้าสู้บริเวณหน้าเรือนจำ จากนั้นได้อ่านบทกลอน แด่ จินตนา แก้วขาว ‘ไกรศักดิ์’ ร้องกระบวนการยุติธรรมไทยต้องหันกลับมาดูแล ‘นักต่อสู้เพื่อชุมชน’ นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เดินทางเข้าเยี่ยมนางจินตนา และกล่าววิพากวิจารณ์ผลการตัดสินที่ผ่านมาว่า ไม่มีความชอบธรรม เพราะเป็นการตัดสินลงโทษชาวบ้านที่เป็นผู้รักษาทรัพยากรของชาติ หากดูไปถึงเจตนาของการกระทำดังกล่าว ถือเป็นสิ่งที่มีความถูกต้องมีความชอบธรรม และเป็นสิทธิของชุมชนที่จะต้องกระทำ เช่น กรณี จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีการเรียกร้องของกลุ่มชาวบ้านเรื่องโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จนมีมติยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถึง 3 โรง การเรียกร้องและการกระทำของชาวบ้านกับการเลือกอนาคตของชุมชน หากมีโครงการเกิดขึ้นในพื้นที่จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อชีวิตของพวกเขา ตรงนี้ถือได้ว่ากระทำดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ว่าด้วยเรื่องสิทธิชุมชน ซึ่งชุมชนมีอำนาจในการตัดสินใจ แต่ที่ผ่านเรื่องของกฎหมายยังไม่ได้มีการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โดยจะเห็นว่าสังคมไทยเองในระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา มีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิชุมชนจำนวนมากที่นำไปสู่การจับกุมดำเนินคดี และอีกหลายๆ เหตุการณ์ความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรง และการสูญเสีย เช่น คดีการทำร้ายแกนนำชาวบ้านจนเสียชีวิต ในกรณีการคัดค้านยกเลิกใบประกอบกิจการโรงงานถ่านหินและท่าเรือขนถ่ายถ่านหินในจังหวัดสมุทรสาคร เป็นต้น ซึ่งในทุกวันนี้ เรื่องก็เงียบได้ไป โดยยังไม่ได้รับความเป็นธรรม นายไกรศักดิ์ แสดงทัศนะด้วยว่า สังคมไทย โดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรม จะต้องหันกลับมาดูแลกลุ่มคนเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคุ้มครองแกนนำชาวบ้าน โดยเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของรัฐ ซึ่งจะต้องกระทำให้มีความเท่าเทียมและความเสมอภาค เพราะเท่ากับว่ากลุ่มคนเหล่านั้น ได้ช่วยเหลือสังคมไทยในเรื่องการรักษาทรัพยากรของประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นการแบ่งเบาหน้าที่ของรัฐด้วย ดังนั้น ความเป็นรัฐจะต้องมีกฎหมายคุ้มครองกลุ่มคนเหล่านี้อย่างจริงจัง ‘ประสาร’ เผยพร้อมร่วมผลักดันการข้อเสนอกฎหมายที่เป็นธรรมให้กับชุมชน ขณะที่นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาแบบสรรหา ภาควิชาการ กล่าวหลีงจากเข้าเยี่ยมนางจินตนาเมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า สิ่งที่อยากบอกกับนางจินตนา คือ การให้กำลังใจกับการต่อสู้ของพี่น้องภาคประชาชน เพราะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง การรักษาทรัพยากรท้องถิ่นนั้น คือการดำเนินการตามเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะเจ้าของทรัพยากรที่แท้จริงคือพี่น้องประชาชน และนางจินตนาเอง ซึ่งได้ดำเนินการตามบทบาทนั้นอย่างเหมาะสม ทั้งเป็นผู้นำในการรักษาพิทักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น ทั้งการรักษาบ้านเกิดของตนเอง ตลอดจนรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ประจวบฯ เอาไว้ นอกจากนั้น นางจินตนายังมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างแรงบัลดาลใจและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับภาคประชาชนในพื้นที่อื่นๆ ที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิชุมชนของตนเอง นายประสานกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ยังคงเกิดปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งล้อม และคิดว่า การกระทำดังกล่าว คือหน้าที่ของพลเมืองที่ถูกต้องที่ลุกขึ้นมาป้องทรัพยากร ปกป้องชุมชน ปกป้องสิทธิของตนเอง ทั้งนี้ โดยส่วนตัวและแวดวงของสมาชิกวุฒิสภา ได้มีข้อเสนอว่าจะเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมไทย คือจะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมผลักดันและการข้อเสนอกฎหมายที่เป็นธรรม ให้กับชุมชนลุกขึ้นมาจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในสังคมไทยให้มากขึ้น ด้านนางสาวสุมล สุตะวิริยะวัฒน์ สมาชิกวุฒิวุฒิสภา จ.เพชรบุรี ได้กล่าวถึงคดีของนางจินตนาว่า อยากให้เป็นคดีสุดท้ายที่เอาผิดกับคนที่ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยฝากไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่า อย่าให้ภาคประชาชนที่ลุกขึ้นมาเพื่อดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องหมดกำลังใจในการทำความดี บทเรียนกับการต่อสู้ที่ผ่านมา กับการตัดสินถึงแม้ว่าจะไม่มีความชอบธรรม แต่อยากให้มองว่า การจำคุกของคนหนึ่งคนอาจจะมีพลังของคนอีกหลายๆ คน ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีไปสู่สังคมไทย นางสาวสุมลกล่าวด้วยว่า ในฐานะที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเรื่องกฎหมายที่จะให้อำนาจต่อภาคประชาชน เพราะว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังไม่สามารถให้อำนาจในการปฏิบัติ หรือมีข้อจำกัดในหลายๆ ประเด็น ซึ่งทำให้การบังคับใช้กฎหมายที่มีไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึง จึงเสนอให้มีการแต่งตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลในเรื่องการช่วยเหลือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น เพราะจะทำให้กลุ่มทุนหรือโครงการขนาดใหญ่ ทำร้ายชาวบ้านได้น้อยลง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท