"คนหนุ่มสาว 3 ยุคในขบวนประชาธิปไตย" จากหลัง 6 ตุลาฯ ถึงพฤษภา 53

ประเดิมเปิดร้านหนังสือและพื้นที่สังสรรค์ทางความคิด BooK Re:public ด้วยเสวนาคนหนุ่มสาวในขบวนการประชาธิปไตย จากเรื่องราวและความเห็นจองวิทยากร 3 ยุคสมัย ตั้งแต่ยุคหลัง 6 ตุลาฯ ข้ามมายุคพฤษภาฯ 35 ที่มีการขยายพื้นที่ของกลุ่มภาคประชาชน มาจนถึง พฤษภาฯ 53 ยุคที่ เมื่อนักศึกษาเห็นว่าบ้านเมืองเรามีอะไรผิดปกติ

เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมา ในงานเปิดตัวร้านหนังสือ Book Re:public และโครงการ Café Democracy ที่ จ.เชียงใหม่ ในชื่อกิจกรรม “อ่านออกเสียง ครั้งที่ 1” มีการจัดเสวนาหัวข้อ “คนหนุ่มสาวสามยุคในขบวนการประชาธิปไตย” ตามกำหนดการเวลา 17.00 น. โดยมีวิทยากรคือ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สืบสกุล กิจนุกร นักวิจัยอิสระ และ สุลักษณ์ หลำอุบล อดีตนักกิจกรรม สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย

อรรถจักร เล่าถึงอดีตของตนในสมัยช่วงเป็นนักศึกษา ว่าตนเคยทำงานเป็นการ์ดให้กับนักศึกษา เหมือนเป็นจิ๊กโก๋ธรรมดา แต่ก็อ่านหนังสือฝ่ายซ้ายมามาก จากนั้นจึงชวนเสวนาว่า เราจะเข้าใจนักศึกษาช่วงหลังยุค 6 ต.ค. 2519 ได้อย่างไร

“มีคนพยายามเรียกพวกเราว่าเป็นช่วงยุคแสวงหาครั้งที่ 2” อรรถจักรกล่าว โดยบอกอีกว่าแกนนำนักศึกษาในสมัยนั้นคือ ม.มหิดล และที่ต้องเรียกว่ายุคแสวงหาครั้งที่ 2 เพราะมีความพยายามต้องการให้การทำงานกลับไปเป็นแบบฝ่ายซ้ายเดิม

“ซึ่งท้ายสุดแล้วมันล้มเหลว มันไม่เกิดการแสวงหา” อรรคจักรกล่าว

ยามเมื่อยังยึดติดกับซ้ายเก่า

อรรถจักรกล่าวต่อว่า หากลบคำว่ายุคแสวงหาครั้งที่ 2 ออกไป เราก็สามารถเรียกยุคนี้ได้ว่ายุคปลาย พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) เนื่องจากขบวนการนักศึกษายุคนี้ส่วนใหญ่ถูกจัดตั้งโดย พคท. ดังนั้นการเคลื่อนไหวถึงออกไปในแนวทางที่ พคท. เสนอมา เช่น การเคลื่อนไหว ‘ปลดปล่อยนกพิราบ’ ในช่วง 2520 เคลื่อนไหวเรื่องรื้อฟื้นสโมสรนักศึกษา ซึ่งเป็นรูปแบบเดิมกับการเคลื่อนไหวของนักศึกษาก่อนหน้านี้

อรรถจักรเล่าต่อว่า การเคลื่อนไหวจัดตั้งองค์กรนักศึกษา สำเร็จในปี 2522 ก็สร้างแบบแผนวัฒนธรรมขบวนการนักศึกษาเดิม คือร้องเพลงฝ่ายซ้าย มีดนตรีเพื่อชีวิตเกิดขึ้นมา เช่น วงฟ้าสาง ซอมพอ ลุกทุ่งมุสลิม-แฮมเมอร์ ดังขึ้นมา แต่ที่ดังที่สุดคือลูกทุ่งเปลวเทียน

“ลูกทุ่งเปลวเทียนของ มช. ได้สร้างความตื่นเต้นมากๆ ให้กับธรรมศาสตร์ ด้วยการมีมาร์ช พคท. โบกธงเหมือนเหมาเลย” อรรถจักรกล่าว

อรรถจักรบอกว่า กลุ่มนักศึกษาเหล่านี้ได้เคลิ่อนไหวในแบบฝ่ายซ้ายอย่างเข้มข้น แต่กลับขยายตัวไม่ออก ค่อยๆ เล็กลง ขยายการจัดตั้งได้น้อยลง จนกระทั่งถึงปี 2523-2524 เมื่อ พคท. ล่ม ขบวนการนักศึกษาเหล่านี้ก็สลายหายไป เนื่องจากเหตุการณ์ 6 ต.ค. ทำให้นักศึกษาฝ่ายซ้ายถูกมองในภาพลบ หลังปี 2520 มีนักศึกษาจำนวนไม่มากนักที่โดดเข้ามาสู่การเคลื่อนไหวเพื่อสังคม เป็นจุดที่ทำให้นักศึกษาผูกพันกับสังคมน้อยลงจนถึงปัจจุบัน

อรรถจักรเล่าต่อว่า เหลืออยู่ที่เดียวที่ยังผูกพันกับสังคม นั่นคือที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เนื่องจากมีสายจัดตั้งเข้าไปที่รามฯ เยอะสายมากจนกระทั่งมั่วไปหมด แม้การเลือกตั้งสโมสรนักศึกษาครั้งแรกฝ่ายซ้ายจะชนะเกือบทั้งหมดแต่ก็เคลื่อนอะไรไม่ค่อยได้ ที่สำคัญที่สุดคือช่วงปลาย พคท.คือ การขึ้นมาของ พลเอกเปรม ตินสูลานนท์  หลังปีพ.ศ.2520 เกิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใหม่ ที่ถูกค้ำจุนโดย ‘เปรมาธิปไตย’ ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นจากสมัย พลเอกเปรม และเรื่องนี้ยังไม่มีใครศึกษาอย่างจริงจัง

เมื่อซ้ายเก่าล่ม แนวคิดจิตวิญญาณเข้ามาแทนที่

“ขบวนการนักศึกษาที่ผมเข้าไปร่วมด้วยเป็นแค่ส่วนเสี้ยวของขบวนการนักศึกษาทั้งหมด แต่บังเอิญว่า ไอ้พวกส่วนเสี้ยวนี้มันทะลึ่ง คิดว่าตัวเองเป็นกองหน้าประชาชนแบบเดิม ดังนั้นพวกนี้ก็จะแตกแยกกับตัวเองมากขึ้นๆ” อรรถจักรกล่าว จากนั้นยังบอกอีกว่า ข่าวเรื่องการที่แกนนำ พคท. นำเงินไปใช้เป็นส่วนตัว ยิ่งทำให้ความศรัทธาใน พคท. หายไป หลังจากนั้นจึงเกิดกระแสฝ่ายขวาขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม อรรถจักรกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงช่วงนี้สำคัญตรงที่มันเปิดโลกให้กว้างขวางกว่าเดิม หลังจากขบวนการนักศึกษาล่มไปในยุคนั้นพร้อมกับ พคท. มันทำให้เกิดแนวคิดเรื่องจิตวิญญาณขึ้นมาในสังคมไทย เกิดหนังสือปรัชญาเต๋า ปรัชญาเซน นักศึกษาถือหนังสือพวกนี้เป็นว่าเล่น เพราะมันได้ตอบปัญหาให้กับนักศึกษาในช่วงนั้น รวมถึงมีกระแสสันติอโศกโผล่ขึ้นมา

อรรถจักรเล่าว่า “นักศึกษาที่เป็นฝ่ายบู๊ในยุคนั้นโดดเข้าไปอยู่สันติอโศกเยอะมาก ครั้งหนึ่งเคยเป็นการ์ดให้นักศึกษา ต่อมาโดดเข้าไปกินมังสวิรัต ใส่เสื้อไม่รีดอะไรทำนองนี้ คนที่พยายามจะสู้อยู่ก็ส่งคนไปดึงกลับ ปรากฏว่าคนที่ส่งไปกลายเป็นสันติอโศกหมดเลย”

อรรถจักรเล่าต่อว่า นิตยสาร ‘โลกหนังสือ’ ก็ขยายตัวในช่วงนั้น นักศึกษาอ่านเป็นจำนวนมาก ส่วนนักศึกษาที่ยังผูกพันอยู่กับสังคม ก็ทำให้เกิดอีกหนึ่งขบวนการคือ คอส. (มอส. หรือ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ในปัจจุบัน) เอ็นจีโอ และบัณฑิตอาสาของธรรมศาสตร์ หนทางที่จะทำเพื่ออุดมคติของตัวเองเหลือแต่ทางนี้

“ช่วงนั้นก็เจ็บ ก็เฮิร์ท กันมาก...” อรรถจักรกล่าว “...ความใฝ่ฝันที่จะทำมันมี แต่สุดท้ายมันก็ฝืนกระแสไม่ได้ เราก็เดินออกมาแบบนี้”

ไม่ใช่ในนามนักศึกษา แต่เป็นในนามพลเมืองคนหนึ่ง

อรรถจักรบอกอีกว่าหลังปี 2525 มีปัจจัยต่างๆ คือการขยายตัวของรัฐ อุดมการณ์ของรัฐใหม่ การขยายตัวของเศรษฐกิจที่ทำให้คนมีงานทำมากขึ้น ร่ำรวยมากขึ้น ทั้งหมดนี้เข้าไปสู่ขบวนการนักศึกษาทำให้ความผูกพันระหว่างนักศึกษากับสังคมลดลง

“ในปัจจุบันนี้การเคลื่อนของนักศึกษาแบบที่เป็นขบวนมันไม่มีทางเกิดขึ้น” อรรถจักร กล่าว “แต่มันจะมีหน่ออิสระ หน่ออิสระเหล่านี้จะสร้างมูฟเมนท์ได้หรือไม่ก็ต้องมาเชื่อมกับพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ดังนั้นกระบวนการตรงนี้เขาไม่ได้สร้างมาในฐานะนักศึกษา แต่เป็นในฐานะเป็นพลเมืองคนหนึ่ง นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แตกต่างจากยุคผมโดยสิ้นเชิง”

ทำไมมีแต่คนพูดถึง 14 ตุลาฯ

ด้านสืบสกุล กิจนุกร นักวิจัยอิสระเริ่มต้นกล่าวว่า พอพูดคำว่านักศึกษา เป็นคำที่มีความหมายทรงพลังมากในเมืองไทย และมันถูกสร้างความหมายขึ้นมาเปลี่ยนไปตามบริบทวัฒนธรรมไทย เช่น หากเราพูดถึงยุค 14 ตุลา เราก็จะคิดถึง ‘พลังบริสุทธิ์’ เร่งเร้าให้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง คิดถึงคำว่าสามประสาน ‘นักศึกษา–กรรมกร–ชาวนา’

สืบสกุลตั้งข้อสังเกตว่า เวลาเราพูดถึงนักศึกษา เรามักจะนึกถึงแต่เหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 เท่านั้นใช่หรือไม่ ในฐานะชัยชนะของการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ในขณะที่เหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ยังจินตนาการไม่ออกว่าเราให้ความหมายกับการต่อสู้ของนักศึกษาสมัยนั้นอย่างไรบ้าง

สืบสกุลกล่าวว่าเวลาเราพูดถึงนักศึกษาในยุคนี้ เราจะนึกถึง “ผู้บริโภคในระบบทุนนิยมตัวยง” และชวนตั้งคำถามว่าคำว่านักศึกษาหมดความหมายไปตั้งแต่ 14 ต.ค. แล้วจริงหรือไม่

จากนั้นสืบสกุลจึงเล่าประสบการณ์สมัยตนเป็นนักศึกษาช่วงเหตุการณ์พฤษภา 35 ว่า ในยุคนั้น พคท. เลิกต่อสู้แล้ว เรามีนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง มีเศรษฐกิจเฟื่องฟู แต่แล้วก็มีการรัฐประหารในปี 2534 ทำให้ในปี 2535 มีการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย นักศึกษาก็เข้าไปร่วมในนาม สนนท. “แต่ว่านักศึกษาไม่ใช่หัวหอกการต่อสู้ทางการเมืองอีกต่อไปแล้ว” สืบสกุลกล่าว

ยุคของเอ็นจีโอ

“ผมคิดต่อจากอาจารย์อรรถจักร์ว่า แล้วใครล่ะที่เป็นนักแสดงตัวใหม่...ไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจากเอ็นจีโอ” สืบสกุลกล่าว เขาเสริมว่านักกิจกรรมเหล่านี้ไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจากนักศึกษา 14 ตุลาฯ - 6 ตุลาฯ

สืบสกุลกล่าวต่อว่า หลังจากแนวคิดเอ็นจีโอเริ่มลงหลักปักฐานในไทย ก็มีสื่อมวลชนและนักวิชาการขึ้นมามีบทบาทสำคัญในสังคมมากขึ้น แต่ประเด็นที่ถกเถียงกันไม่ใช่เรื่องว่าเราจะเป็นสังคมนิยมหรือทุนนิยม หันมาพูดถึงเรื่องผลกระทบจากปัญหาที่เกิดจากการพัฒนา เรากำลังพูดถึงเรื่องการมีส่วนร่วมในการพัฒนามากกว่า บทบาทของสื่อและวงการวิชาการก็เปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านได้มาพูดถึงปัญหาของตัวเอง และนำมาสู่เรื่องใหม่ๆ เช่นเรื่อง ป่าชุมชน เป็นต้นแบบต่อมาของงานวิจัยไทยบ้าน งานวิจัยท้องถิ่นในยุคปัจจุบัน

สืบสกุลบอกว่า หลังพฤษภาทมิฬมีแนวคิดชนชั้นกลางขึ้นมาอธิบายอีกชุดหนึ่งว่า เป็นผู้ต่อสู้เรียกร้องเพื่อประชาธิปไตย นักศึกษาหายไปแน่นอน คนหนุ่มสาวหายไปแน่นอน แต่นักศึกษาจะไปอยู่เป็นกลุ่มชมรม มีกลุ่มที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเช่นไปคัดค้านเรื่องเขื่อน มีกลุ่ม คจก. ที่ทำเรื่องการจัดการทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรม การทำลายธรรมชาติ โดยนักศึกษาจะเข้าไปร่วมขบวนการผ่านการเข้าร่วมกับเอ็นจีโอ

สืบสกุลให้ความเห็นว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นการต่อสู้ทางการเมืองในระดับรัฐ หรือการต่อสู้ทางชนชั้นอีกต่อไปแล้ว แต่หันมาจับการเมืองเรื่องการพัฒนา “นักศึกษาในยุคผมตั้งแต่ 2535 เป็นต้นมา เราไม่ได้เป็นพระเอก ไม่ได้เป็นตัวเอก ฉะนั้นการคาดหวังให้นักศึกษาเป็นหัวเอก หัวหอก กองหน้า ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะได้จริงหรือเปล่า”

จากนั้นสืบสกุลจึงตั้งข้อสังเกตว่า บทบาทของนักศึกษาในปัจจุบันมีการถกเถียงทางการเมืองมากกว่ายุคเขา ซึ่งมีการเข้าร่วมขบวนการทางการเมืองทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดง

“ตอนสมัยพฤษภา 35 เราก็พูดว่าทหารกลับกรมกองไปแล้ว ซึ่งปรากฏว่าเราคาดการณ์ผิด ตอน 19 กันยาฯ 49 มันก็โผล่มาอีกรอบหนึ่ง ก็ได้แต่หวังว่านักสังคมวิทยา นักประวัติศาสตร์ รวมถึงนักมานุษยวิทยา จะคาดการณ์ผิดว่านักศึกษาหมดพลังไปแล้ว” สืบสกุลกล่าว

องค์กรนักศึกษาหมดพลังในการนำ แต่ยังมีนักศึกษาสนใจการเมือง

ส่วน สุลักษณ์ หลำอุบล หรือฝ้าย อดีตนักกิจกรรมสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เล่าว่า เมื่อตนเข้ามาเรียนเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ก็เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยาฯ 49 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่มีผลทางความคิดต่อนักศึกษาที่ร่วมทำกิจกรรมด้วยหลายคน เรียกว่าหลายคนตาสว่างจากเหตุการณ์นี้

“เราโตมากับเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน เราโตมาจากเฟสบุ๊ค เราโตมาจากสมศักดิ์ เจียมฯ สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้คนรุ่นฝ้าย หรือคนที่สนใจการเมืองในรุ่นฝ้ายเติบโตขึ้นมา” สุลักษณ์กล่าว “ถึงจะมีความหลากหลาย แต่ก็มีจุดร่วมกันอยู่”

สุลักษณ์กล่าวต่อว่า เราไม่ได้เติบโตมาจากการจัดตั้งของสายต่างๆ เช่นในอดีต ทำให้อยู่ในเงื่อนไขต่างจากในอดีต มีการใช้โซเชียลมีเดียในการถกเถียงเรื่องราวต่างๆ ขณะเดียวกันการใช้อินเตอร์เน็ตก็ทำให้ดูเป็นปัจเจกมากขึ้น ไม่ได้รวมตัวในรูปแบบที่มี เอ็นจีโอหรือ พคท. จัดตั้งลงมา วิธีการทำกิจกรรมนักศึกษาแบบเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกค่าย การร้องเพลงค่าย หนังสือรับน้องใหม่เชิงปลุกใจก็จะไม่ค่อยมีในรุ่นนี้

สุลักษณ์เล่าต่อว่า รัฐประหาร 19 ก.ย. มีผลทำให้คนในรุ่นเธอจำนวนมากเข้ามาทำกิจกรรม การที่ไม่มีการจัดตั้งแนวความคิดก็ค่อนข้างกระจัดกระจาย โดยตัวสุลักษณ์เองเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองมาเรื่อยๆ ตั้งแต่กลุ่มประชาธิปไตยไม่ใช่แค่กิ๊กในจุฬาฯ มาจนถึงสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สนนท. ตัวสนนท. เองก็ไม่ใช่องค์กรนำที่แข็งแรงอะไรมาก แต่เขาก็พยายามที่จะยื่นมือออกไปหาเพื่อนนักศึกษาที่สนใจการเมือง

สุลักษณ์มองว่า กลุ่มหัวหอกนักศึกษาต่างๆ หมดประสิทธิภาพในการนำไปแล้ว แต่ก็ยังมีนักศึกษาที่สนใจทำกิจกรรมทางการเมืองอยู่ ก็จะกลายเป็นกลุ่มอิสระเล็กๆ น้อยๆ ตามมหาวิทยาลัย ที่ไม่ได้มีอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายอะไรชัดเจน

“การที่นักศึกษาไม่ได้ดำรงอยู่ในภาพใหญ่ มันอาจจะโยงไปได้ถึงขบวนการฝ่ายซ้าย หรือความสามารถของฝ่ายซ้ายในการอธิบายสังคมว่ามีอยู่แค่ไหน ไม่ใช่แค่ในสังคมไทย แต่ในมุมมองสากล” สุลักษณ์กล่าว “ฉะนั้นขบวนการแบบสามประสานในสมัยก่อนที่ยึดโยงมาจากฝ่ายซ้ายมันก็อ่อนลงไปแล้ว ”

เพราะบ้านเมืองนี้มีอะไรผิดปกติ

สุลักษณ์มองว่าอุดมการณ์ของนักศึกษาสมัยนี้จะออกไปในเชิง ‘ลิเบอรัล’ (เสรีนิยม) มากกว่า การเกิดรัฐประหารทำให้พวกเขาเห็นความผิดเพี้ยนของสถาบันทางการเมืองหลายๆ แห่ง ซึ่งอาจจะเรียกว่าผิดเพี้ยนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

“สังคมที่คนรุ่นฝ้ายอยากจะเห็น มันไม่ใช่สังคมที่เป็นซ้ายแบบซ้ายคอมมิวนิสต์ หรือซ้ายสังคมนิยมแบบแต่ก่อน แต่เราต้องการประชาธิปไตยที่ไม่มีอำนาจนอกระบบแทรกแซงเท่านั้นเอง” สุลักษณ์กล่าว

สุลักษณ์กล่าวต่ออีกว่า นักศึกษาเห็นขบวนการเสื้อแดงเป็นขบวนการที่เป็นประชาธิปไตยสำหรับรุ่นเรา นักศึกษาทีโตมากับรุ่นนี้ก็จะมีความเห็นใจหรือสนับสนุนเสื้อแดงไม่มากก็น้อย

ส่วนประเด็นที่ว่า แรงบันดาลใจให้นักศึกษารุ่นนี้เข้ามาทำกิจกรรมคืออะไร สุลักษณ์บอกว่า นักศึกษารุ่นนี้อาจจะมีชีวิตความเป็นอยู่สุขสบาย ต้องยอมรับว่า นักศึกษาส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง ไม่ต้องดิ้นรนมาก แต่การที่นักศึกษาเข้ามาร่วมกิจกรรมทางการเมือง มีสาเหตุ คือการเห็นเหตุการณ์ฆาตกรรมใจกลางเมืองมหานครอย่างกรุงเทพฯ ในปี 2552-2553 เราเห็นคนจำนวนมากถูกปราบปราม มีคนจำนวนมากเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม มีคนถูกจับเข้าคุกด้วยกฎหมายหมิ่นฯ หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

“เด็กรุ่นฝ้ายอาจจะไม่ได้อ่านจิตร ภูมิศักดิ์ ไม่ได้อ่านเช กูวาร่า หรืออ่านหนังสืออะไรที่เป็นแรงบันดาลใจขนาดนั้น” สุลักษณ์กล่าว “แต่เหตุการณ์ทางการเมืองที่มันเห็นอยู่ชัดๆ ว่าบ้านเมืองเรามีอะไรผิดปกติ” สุลักษณ์

สุลักษณ์กล่าวทิ้งท้ายว่า ผลสะเทือนของกิจกรรมอาจไม่ได้มาจากปริมาณของนักศึกษา แต่สิ่งที่จะสามารถเกิดผลสะเทือน คือความแหลมคมที่นำเสนอต่อสังคม เช่นเดียวกับกรณีของกลุ่มนิติราษฎร์ อยู่ที่ว่านักศึกษาจะฝึกตัวเองเป็นปัญญาชนที่สามารถสร้างผลสะเทือนทางความคิดในแง่นั้นได้อย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท