Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์กายภาพ วิศวกรและนักเศรษฐศาสตร์ มีบทบาทอย่างมากต่อการให้ความเห็น และเสนอมาตรการจัดการน้ำท่วม ในฐานะนักวิชาการทางสังคม ผมจะเสนอประเด็นการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำท่วมในทางสังคมวิทยา หรืออาจเรียกว่า สังคมวิทยาของน้ำท่วม (Sociology of Flooding) ดังต่อไปนี้

สถานการณ์น้ำเท่าที่มีตัวเลขจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2554 รายงานว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต 381 ราย สูญหาย 2 คน กระทบ 63 จังหวัด 651 อำเภอ ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 3,009,012 ครัวเรือน 9,903,222 คน

ขณะที่กรุงเทพมหานครประมาณการว่าจะมีประชาชนในเขตกรุงเทพที่กำลังจะได้ รับผลกระทบต่อจากนี้อีก 3.5 แสนคน รวมแล้วคิดเป็นร้อยละ 16 หรือ 1 ใน หกของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งยังไม่รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบในทางอ้อม จากความสัมพันธ์ทางสังคม เศรษฐกิจ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง พึ่งพา กับหน่วยทางสังคมที่ประสบภัย

การขอความช่วยเหลือผ่านศูนย์ข้อมูลเพื่อขอความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย พบว่ามีการขอรับความช่วยเหลือนับตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม ถึงวันที่ 29 ตุลาคม ประมาณ 3,640 ครัวเรือน แต่ได้รับความช่วยเหลือแล้ว โดยเฉลี่ยร้อยละ 1 หรือ 36.4 ครัวเรือน เท่านั้น!!!

ดังนั้นไม่เพียงจำนวนผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้จะมากมายมหาศาล กว่าความขัดแย้งระหว่างสีเหลือง – แดง แล้ว รัฐบาลยังผิดพลาดในการจัดการแก้ปัญหาทั้ง 3 ส่วน คือ การจัดการน้ำ การช่วยเหลือผู้ประสบภัย และการฟื้นฟูเยียวยา ในมุมมองทางสังคมวิทยาดังต่อไปนี้

1. การกั้นน้ำไม่ให้ท่วมพื้นที่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ มากกว่าจะกั้นน้ำไม่ให้ท่วมพื้นที่ที่มีมูลค่าทางสังคม ซึ่งเป็นการตอกย้ำเรื่องของชนชั้น ความเหลื่อมล้ำ ทำให้มีประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในภาคครัวเรือนจำนวนมาก ลองดูภาพนี้นะครับ พื้นที่สูงเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบขณะที่กั้นน้ำไม่ให้ไหลมาสู่ที่ต่ำ


2. รัฐบาลละเลยการปกป้องสาธารณูปโภคพื้นฐาน ได้แก่ ถนน (ถนนสายเอเชียถูกตัดขาดมานับแต่เริ่มท่วมที่อยุธยา) ทางเดินเท้า ไฟฟ้า ประปา ตลาด เส้นทางรถไฟ สนามบิน โดยไม่คิดว่าจะก่อสร้างทดแทน หรือกำหนดพื้นที่บริการสาธารณูปโภคพื้นฐานเหล่านี้ขึ้นชดเชย แต่มุ่งเน้นไปที่การปกป้อง ภาคอุตสาหกรรมหน่วยราชการ เพียงอย่างเดียว นอกจากนั้นการปกป้องพื้นที่ต่าง ๆ สะท้อนว่าขาดการวางแผนแผนอย่างรอบด้าน รัดกุม (แม้แต่ ศปภ. เองยังต้องอพยพหนีน้ำ) การไม่ใส่ใจกับระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานทำให้ภาคครัวเรือนเกิดปัญหาการขาด อาหาร น้ำ ไฟฟ้า และไม่สามารถเดินทางออกมาจากที่พักอาศัยหลังน้ำท่วมได้ ทั้งนี้สืบเนื่องจากรัฐบาลมุ่งเน้นให้ประชาชน “หนีน้ำ” คือการอพยพคนออกก่อนที่จะเกิดน้ำท่วม มากกว่าจะใช้มาตรการให้ประชาชน “อยู่ร่วมกับน้ำ” ซึ่งเปรียบเสมือนขว้างงูไม่พ้นคอ เพราะในที่สุดผู้ที่เคลื่อนย้ายออกไปก็จะต้องกลับเข้ามาก่อนสถานการณ์น้ำจะ คลี่คลายเพราะไม่สามารถใช้ชีวิตนอกบ้านได้เป็นเวลานานแรมเดือน

3. การเคลื่อนย้ายประชาชนออกมาที่ศูนย์พักพิง โดยใช้มาตรการกีดกัน สร้างอุปสรรคไม่ให้ประชาชนอาศัยอยู่ในบ้าน ขัดกับระบบทางสังคมของครอบครัวไทย ซึ่งมีลักษณะเป็นชุมชน เป็นพื้นที่เกษตรกรรม มีสัตว์เลี้ยง และมีญาติพี่น้องอาศัยอยู่โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และเด็ก ทำให้ครัวเรือนจำนวนมากไม่ต้องการเคลื่อนย้ายออกมา หรือแม้เคลื่อนย้ายออกมาก็จะพยายามกลับเข้าไปใหม่เพราะเป็นห่วงผูกพัน “บ้าน” ในฐานะพื้นที่ความสัมพันธ์ ซึ่งไม่ใช่ทรัพย์สินทางเศรษฐกิจอย่างที่รัฐบาล และสื่อมวลชน ใช้เป็นเหตุผลตำหนิผู้ที่ไม่เคลื่อนย้ายออกมา

4. เมื่อมีมาตรการให้คนหนีน้ำ มากกว่าจะอยู่กับน้ำ จึงทำให้รัฐไม่สนใจความจำเป็นพื้นฐานสำหรับคนที่ไม่อพยพ ขาดแคลนอาหาร ไม่สามารถเดินทางได้ ผู้ป่วยเรื้อรัง คนชรา ทำให้เป็นภาระของลูกหลาน ที่ต้องกลับเข้าไปช่วย และคอยส่งน้ำ อาหาร

5. การแก้ปัญหา สะท้อนความไร้ศักยภาพของรัฐบาล ที่ขาดทั้งกำลังคน แรงงาน และมันสมอง หน่วยงานที่โดดเด่นที่สุดคือ กองทัพ แม้ว่าภารกิจจะมีเพียงเสริมกระสอบทราย และช่วยเหลือการขนส่ง เคลื่อนย้าย ประชาชนเท่านั้น แต่ประชาชนก็เป็นหนี้บุญคุณล้นเหลือ ขณะที่พยายามจะบอกตลอดเวลาว่าจัดการกับน้ำได้ ไม่เคยเตรียมการรองรับความรุนแรง สถานะการจลาจล (chaos) ที่อาจจะเกิดขึ้น ภาพถ่ายดาวเทียมนี้ (28 ตุลาคม 2554) สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า กรุงเทพมหานครจะเผชิญปัญหาน้ำท่วมที่หนักหน่วง เพราะมวลน้ำที่ยังไม่ไหลลงมามีอีกจำนวนมหาศาล มากกว่าพื้นที่กรุงเทพมหานครหลายเท่าตัว แต่รัฐบาลกลับบอกว่าน้ำจะลดในกลางเดือน พฤศจิกายน !!


6. เมื่อประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อรัฐ ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก สำหรับการขึ้นมาเป็นรัฐบาล ตามทฤษฎีสัญญาประชาคม เมื่อรัฐไม่สามารถรักษาสัญญาได้ ก็ไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาลไว้ให้สิ้นเปลือง ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมาซึ่งถูกเสนอผ่านทางสื่อมวลชน ทำให้สังคมรับรู้ว่า ประชาชนรวมตัวกันปกป้อง ช่วยเหลือกันเอง ในระดับองค์กรธุรกิจ ชุมชน และระดับปัจเจกชน (จิตอาสา) รวมทั้งสถาบันการศึกษามากกว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ผ่านหน่วยราชการ กระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ ดังนั้นรัฐบาลจึงเสมือนไม่ได้ทำอะไร นอกจากประกาศเตือน และสั่งปิด-เปิดประตูระบายน้ำ ขณะที่ปัญหาทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีทีท่าว่าจะเบาบางลง ยิ่งเมื่อน้ำเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานครความรุนแรงทางสังคมจะยิ่งทวีความ รุนแรงยิ่งขึ้น เพราะสถานการณ์ใดที่กระทบต่อพื้นที่กรุงเทพมหานครจะมีผลกระทบที่รุนแรงกว่า พื้นที่อื่นเสมอ แม้ระดับความรุนแรงจะเท่ากัน

7.จะเห็นได้ว่า รัฐไม่เคยประกาศ มาตรการเยียวยาที่ชัดเจน และไม่เคยประกาศแผนระยะปานกลาง นอกจากแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการประกาศอพยพผู้คน และเสริมแนวกระสอบทราย ซึ่งเป็นการตั้งรับและลดสถานการณ์ความตึงเครียดเฉพาะหน้ารายวัน จนมีคำกล่าวที่พูดกันติดปากว่า 'เอาปัญญาชนกรอกถุงทรายเอาปัญญาควายบริหาร' เราเห็นภาพ คณะรัฐมนตรี หรือคนใน ศปภ. นั่งแถลงข่าวในศูนย์ ขึ้นเครื่องบินตรวจน้ำท่วม หรือลงพื้นที่ดูการทำคันกั้นน้ำที่แตกแล้ว ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นการตั้งรับเหตุการณ์ คือเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว บรรดาคนเหล่านี้จึงลงพื้นที่หรือแสดงการกระทำ ซึ่งต่างจากผู้ว่า กทม. ทหาร และประชาชน ที่ทำงานเตรียมการรองรับน้ำที่กำลังจะเข้ามาปะทะ ซึ่งกลายเป็นเรื่องพ้นความจำเป็นที่จะมีรัฐบาลอยู่ต่อไป เพราะหน้าที่ของรัฐบาลคงไม่ใช่แค้ “ประกาศให้อพยพคน” และนั่งคิดมาตรการต่าง ๆ ให้คนออกจากบ้าน เช่น ประกาศวันหยุด ซึ่งสร้างเป็นการเก็บสั่งสมปัญหาตามมาให้เพิ่งพูนขึ้นอีกมากมาย

8. มาตรการจัดการน้ำ และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย สะท้อนความไม่เท่าเทียมเหลื่อมล้ำตลอดเวลา จะเห็นได้จากการกั้นน้ำไม่ให้เข้ากรุงเทพตั้งแต่แรก ข่าวการกักเก็บ เครื่องอุปโภค บริโภค ที่กระจายอย่างไม่ทั่วถึง และเลือกปฏิบัติ นอกจากนั้นประสบการณ์ของผู้เขียนเองจากการมีส่วนร่วมเป็นผู้อพยพหนีน้ำ ก็สะท้อนชัดเจนในเรื่องนี้ แน่นอนว่ามาตรการฟื้นฟูเยี่ยวยาที่กำลังจะมีขึ้นต่อไปก็จะยิ่งตอกย้ำความ เหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมให้หนักหน่วงขึ้น

9. ในทางจิตวิทยามีความแตกต่างกันมาก ระหว่างความรู้สึกเมื่อเราเห็นคนแช่น้ำในภาพถ่าย โทรทัศน์ กับความรู้สึกของผู้ที่ยืนแช่น้ำอยู่ ซึ่งทำให้การประเมินความรุนแรง ระหว่างผู้ให้ความช่วยเหลือ กับผู้รับความช่วยเหลือมีความแตกต่างกันอย่างมาก สื่อมวลชน เจ็ทสกี เรือให้ความช่วยเหลือที่เข้าไปในพื้นที่อุทกภัยอาจช่วยบำบัดเยียวยาทาง กายภาพ แต่ผู้ที่ได้รับแจกสิ่งของไม่ทั่วถึง หรือถูกละเลยไม่ให้ความช่วยเหลือทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม จะก่อให้เกิดความชิงชังระหว่างผู้ประสบอุทกภัยที่มีต่อผู้ที่เข้าไปช่วย เหลือเพื่อหวังถ่ายทำ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อธุรกิจของตนเอง ดังเช่น การที่นักข่าวไปไต่ถามเชิงข่มขู่ให้คนชราที่ห่วงทรัพย์สินออกจากบ้าน โดยบอกว่าจะรับออกไปด้วย “ถ้าไม่ไปตอนนี้จะไม่มีคนมาช่วย” แสดงถึงการแสดงตนว่ามีสถานะเหนือกว่าที่ผู้ประสบภัยจะต้องทำตาม

10. สิ่งสำคัญมากคือ คณะรัฐมนตรีไม่เคยพิจารณามาตรการฟื้นฟูเยียวยาภาคประชาชนเลย จากการติดตาม มติ ครม. ตลอดเดือน ตุลาคม มีเพียงมติ ครม. 25 ตุลาคม ที่เพิ่งมาพิจารณา มาตรการบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัยและฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงผู้ประกอบการต่าง ๆ แต่ไม่เคยกล่าวถึงมาตรการเยียวยาภาคประชาชน ครัวเรือนผู้ประสบภัยเลย สะท้อนวิธีคิดแบบไม่ลงรายละเอียด และไม่เข้าใจสภาวะ จิตวิทยาสังคม ในมุมของประชาชน รวมทั้งไม่เคยถามความคิดเห็นของชุมชนในการจัดการน้ำ

11. ความรุนแรง และความขัดแย้งยังไม่ปะทุขึ้นในการรับรู้ก็เนื่องจาก พื้นที่อยุธยา ปทุมธานี ซึ่งถูกปล่อยปะละเลยหลังน้ำท่วมเข้ากรุงเทพก็ไม่มีใครไปสนใจเสนอข่าวแล้ว ขณะที่การเสนอข่าวก็มุ่งความสนใจไปที่ระดับน้ำ มากกว่าความขัดแย้งทางสังคมและความล้มเหลวของรัฐบาล (ซึ่งเข้าใจได้) แต่ความอ่อนล้า สิ้นแรง ของภาคประชาชนที่ต้องต่อสู้กับน้ำท่วม ทั้งภาวะขาดแคลนน้ำ อาหาร ภาวะของแพง โรคระบาด การตัดขาดจากญาติมิตร ความตึงเครียดของชุมชนที่ต้องเฝ้าระวังการ รื้อคันกั้น หรือการก่อคันกั้นใหม่ ตลอดจนความผิดพลาดซ้ำซากของคำสั่ง และประกาศต่าง ๆ ของรัฐ เมื่อสถานการณ์เข้าสู่การฟื้นฟูเยียวยา คาดว่ารัฐบาลจะเผชิญการต่อต้านอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น และข่าวความขัดแย้ง แย่งชิง ทะเลาะกัน รวมทั้งความล้มเหลวของรัฐบาลจะปะทุขึ้นให้เห็นอย่างชัดเจน

โดยสรุป รัฐบาลแก้ปัญหาด้วยมุมมองทางวิทยาศาสตร์กายภาพ วิศวกรรมศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ โดยละเลยมุมมองทางจิตวิทยาสังคม ไม่ให้ความสำคัญกับคน และผลกระทบทางสังคม ความผิดพลาดของนโยบายที่ผมเห็นขัดแย้งกับรัฐบาลและสื่อมวลชนก็คือ ต้องทำให้ประชาชนอยู่กับน้ำให้ได้ในระยะยาว ไม่ใช่ให้ประชาชนหนีน้ำ ดังนั้นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนคือ สร้างสาธารณูปโภคขึ้นมาทดแทนในส่วนที่ถูกน้ำท่วม โดยใช้สถานที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง เช่น ทางด่วน ดอนเมืองโทลล์เวย์ จังหวัดที่น้ำไม่ท่วม ให้เป็นสถานที่ตั้ง ตลาดชั่วคราว สถานีขนส่งชั่วคราว ตลอดจนโรงพยาบาลสนาม คลังสินค้า และเร่งเปิดเส้นทางคมนาคมเพื่อการขนส่งสินค้าโดยฟื้นฟูเส้นทาง และก่อสร้างเส้นทางใหม่ขึ้นทดแทน นอกจากนั้นทำให้วิถีชีวิตคนให้ดำรงอยู่ได้ในภาวะน้ำท่วม เช่น ยกระดับทางเดินเท้า การจัดบริการขนส่งทางเรือ การส่งเสริมให้เกิดการค้าขายทางเรือโดยภาคเอกชน อย่าไปตัดน้ำ ตัดไฟ แต่หามาตรการผลิตทดแทนให้เพียงพอหากเสียหายเพราะน้ำท่วม โดยเตรียมศูนย์พักพิงไว้สำหรับผู้ที่ต้องการจะย้ายออกเท่านั้น ที่สำคัญอย่าไปเสริมคันกั้นปิดเส้นทางน้ำ เพราะยิ่งจะทำให้ภัยพิบัติดำรงอยู่กับเรายาวนานไม่ผ่านพ้นไปเสียที

ดังนั้นผมไม่เชื่ออย่างที่สื่อพยายามจะประโคมว่าวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้จะนำไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ในทางตรงข้ามมันกลับจะทำให้เกิดการแบ่งแยกแตกต่างและความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้นและจะย้อนกลับมาถามถึงความชอบธรรมในการบริหารประเทศของรัฐบาลเอง หากยังคงดำเนินการอยู่เช่นนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net