Skip to main content
sharethis

ตัวแทนจากภาคประชาสังคมเรียกร้องรัฐบาลทั่วโลกสั่งห้ามส่งออกเทคโนโลยีที่นำไปใช้ปราบปรามพลเมือง โดยออกกฎหมายที่มีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนให้บริษัทต่างๆ ในประเทศปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณขององค์กรที่จะไม่ทำลายพลเมืองประเทศอื่นๆ และคุ้มครองให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียม เมื่อสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ในการประชุมระดับโลกว่าด้วยธรรมาภิบาลอินเทอร์เน็ต (Internet Governance Forum - IGF) ณ สหประชาชาติ ประเทศเคนยา กลุ่มตัวแทนจากภาคประชาสังคมร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลทั่วโลกเกี่ยวกับนโยบายด้านอินเทอร์เน็ตในฐานะเครือข่ายอันทรงพลังเพื่อส่งเสริมขบวนการประชาธิปไตยดังที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ Amira Yahyaoui บล็อกเกอร์และนักเคลื่อนไหวด้านเสรีภาพอินเทอร์เน็ตจากประเทศตูนิเซีย เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ในนามกลุ่มภาคประชาสังคมที่เข้าร่วมประชุม ซึ่งมาจาก บาห์เรน เบลารุส บราซิล แคนาดา จีน ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย อิหร่าน มาเลเซีย ไนจีเรีย ปากีสถาน รัสเซีย ไทย และสหรัฐอเมริกา ใจความหลักในแถลงการณ์ เรียกร้องต่อรัฐบาลประชาธิปไตยทั่วโลกให้สั่งห้ามมิให้ส่งออกเทคโนโลยีที่นำไปใช้ปราบปรามพลเมือง โดยขอให้รัฐบาลออกกฎหมายที่มีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนให้บริษัทต่างๆ ในประเทศของตนเองสามารถปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณขององค์กรที่จะไม่ทำลายพลเมืองประเทศอื่นๆ และคุ้มครองให้เกิดสนามการแข่งขันที่เท่าเทียม นอกจากนี้ ตัวแทนภาคประชาสังคมจากประเทศต่างๆ ยังเรียกร้องให้ผู้ให้บริการร่วมส่งเสริมขบวนการประชาธิปไตย ซึ่งต้องเปิดให้มีการสื่อสารทางสังคมออนไลน์ที่ปลอดภัย นั่นคือต้องรักษาสิทธิความเป็นส่วนตัวและสิทธิที่จะไม่เปิดเผยชื่อด้วย แถลงการณ์ตัวแทนภาคประชาสังคมโลก ว่าด้วยธรรมาภิบาลด้านอินเทอร์เน็ต ปี 2554 แถลงการณ์นี้จัดเตรียมให้ Amira Yahyaoui แห่งตูนิเซียเป็นผู้กล่าวในฐานะตัวแทนภาคประชาสังคมจากหลายภูมิภาค 30 ก.ย. 2554 กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ก่อนอื่น เราขอแสดงความยินดีที่มีโอกาสได้มาประชุมในที่ประชุมว่าด้วยธรรมาภิบาลด้านอินเทอร์เน็ต (Internet Governance Forum - IGF) ที่ประเทศเคนยา ในฐานะชาวตูนิเซีย ดิฉันมีโอกาสได้เห็นกับตาถึงขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพในทวีปแอฟริกาที่ได้รับประโยชน์จากวิธีการสื่อสารใหม่ๆ เมื่อมีการประชุมสุดยอดโลกว่าด้วยสังคมสารสนเทศ (World Summit on the Information Society - WSIS) ที่ประเทศดิฉันเมื่อปี 2548 รัฐบาลในสมัยนั้นคิดว่าเป็นการประชุมที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบเผด็จการของตนเอง แต่เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนั้นจำนวนมาก เช่นเดียวกับคนจำนวนมากในห้องประชุมแห่งนี้ พวกเราที่มาจากตูนิเซียและต้องการอนาคตใหม่จึงได้รับแรงบันดาลใจมากมายจากเพื่อนต่างชาติที่คอยให้กำลังใจและสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพของพวกเรา ในโอกาสที่มีผู้เข้าประชุมจากทั่วโลก และต่างคนต่างมีความสัมพันธ์กันอย่างหลากหลาย เป็นเหตุให้การประชุมครั้งนั้นส่งผลสะเทือนต่อรัฐบาลที่กดขี่ปราบปราม ตรงข้ามกับความคาดหวังของระบอบเผด็จการ เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอุทาหรณ์ให้กับเผด็จการในที่อื่นๆ ว่าพวกเขาจะไม่ประสบความสำเร็จในการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของชุมชนโลกที่มีการสื่อสารกันอย่างงดงาม เป็นครั้งแรกที่ดิฉันได้เข้าร่วมการประชุม IGF ในฐานะส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้สนับสนุนเสรีภาพด้านอินเทอร์เน็ต เรามาจากประเทศต่าง ๆ อย่างเช่น บาห์เรน เบลารุส บราซิล แคนาดา จีน ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย อิหร่าน มาเลเซีย ไนจีเรีย ปากีสถาน รัสเซีย ไทย ตูนิเซีย และสหรัฐอเมริกา ในท่ามกลางความหลากหลาย เราเห็นชอบร่วมกันดังนี้ เราขอเรียกร้องให้ประเทศประชาธิปไตยทั้งหลาย นำนโยบายและกฎหมายมาใช้เพื่อป้องกันไม่ให้ระบอบเผด็จการกดขี่ประชาชนได้ต่อไป ซึ่งรวมถึงการสั่งห้ามอย่างเป็นระบบไม่ให้ส่งออกเทคโนโลยีไปยังรัฐบาลที่นำเทคโนโลยีเหล่านั้นไปใช้ปราบปรามพลเมืองของตนเอง จรรยาบรรณที่กำหนดขึ้นโดยสมัครใจของบริษัทขนาดใหญ่นับเป็นก้าวย่างในเชิงบวก แต่ในอีกด้านหนึ่งรัฐบาลในแต่ละประเทศก็ควรออกกฎหมายที่เข้มแข็งเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณเหล่านั้นด้วย บางบริษัทได้ให้ความเห็นว่า ยินดีหากจะมีกฎหมายเช่นนั้นเพื่อให้สนามแข่งขันเท่าเทียมกัน นักกิจกรรมและพลเรือนทั่วโลก โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในประเทศเผด็จการ ต้องการพื้นที่ที่ปลอดภัยและเปิดเผยเพื่อการสื่อสาร รวมทั้งการสื่อสารทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ เราได้เห็นแล้วว่าเครือข่ายเช่นนั้นเป็นเครื่องมืออันทรงพลังเพื่อต่อต้านการปราบปราม ผู้ให้บริการจึงควรพยายามส่งเสริมให้ขบวนการประชาธิปไตยสามารถสื่อสารกันในลักษณะที่ปลอดภัยได้ ด้วยเหตุดังกล่าว สิทธิความเป็นส่วนตัวและสิทธิที่จะไม่เปิดเผยชื่อจึงเป็นปัจจัยหลักเพื่อประกันความปลอดภัยดังกล่าว การจำกัดสิทธิเหล่านั้นให้กระทำได้โดยกำหนดเป็นข้อยกเว้น โดยเฉพาะกรณีที่มีเงื่อนไขพิเศษและมีการกำหนดเป็นกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิอย่างชัดเจนและเป็นไปโดยสอดคล้องกับหลักการปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ผู้เผด็จการมักมีข้ออ้างสวยหรูเพื่อจำกัดเสรีภาพของเรา บ้างก็อ้างความมั่นคงในราชอาณาจักร บ้างก็อ้างการต่อต้านฝ่ายหัวรุนแรง บ้างก็อ้างการปกป้องศีลธรรม การคุ้มครองวัฒนธรรม การเคารพต่อศาสนา หรือการคุ้มครองเจ้าพนักงานจากการดูหมิ่น ข้ออ้างเหล่านี้ได้ถูกใช้เป็นเหตุผลสนับสนุนการจำกัดสิทธิมนุษยชนของเรา ทั้งโดยผ่านการเซ็นเซอร์และการปิดกั้นการเข้าถึง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางเวทีธรรมาภิบาลอินเทอร์เน็ตควรแสดงจุดยืนคัดค้านอย่างเข้มแข็ง ข้อเรียกร้องที่สำคัญเหล่านี้ไม่ใช่เป็นข้อกังวลทั้งหมดของประชาคมสิทธิมนุษยชน แต่หากได้รับการตอบสนอง ย่อมจะมีส่วนส่งเสริมบรรยากาศธรรมาภิบาลด้านอินเทอร์เน็ตอย่างชัดเจนในโลก ขอบคุณค่ะ Asante sana ที่มา: http://www.ilaw.or.th/node/1248 ที่มาภาพ: freefotouk (CC BY-NC 2.0)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net