รำลึก7ปีตากใบ จี้เลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เกือบเที่ยงวันที่แดดจ้า ของวันที่ 25 ตุลาคม 2554 นักศึกษากลุ่มหนึ่งราว 100 กว่า ทยอยลงจากรถสองแถวรับเหมาจากสายต่างๆ เดินมุ่งหน้าไปยังบริเวณที่ตั้งสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งบัดนี้เหลือเพียงที่โล่งว่างเปล่าภายในรั้วกั้น ด้านหน้าคือสนามเด็กเล่น มีพื้นที่ไม่ถึง 1 ไร่ เป็นจุดหมายปลายทางของนักศึกษาชายหญิงจากมหาวิทยาลัยต่างๆในภาคใต้กลุ่มนี้ พวกเขาเข้าไปจัดแถวยืนรอเป็นระเบียบบนผืนเสื่อที่หยิบยืมมา ต่างหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ตำรวจนายหนึ่งเข้ามาร่วมในแถวด้วย ส่วนเหล่าทหาร ตำรวจและชายฉกรรจ์นอกเครื่องแบบอีกหลายสิบต่างก็ยืนมอง “ต้องขอโทษพวกเราด้วย ตอนนี้โรงพักถูกรื้อเพื่อสร้างใหม่ ทำให้นักศึกษาที่จะอาบน้ำละหมาดไม่สะดวก” เจ้าของสถานที่อย่าง พ.ต.อ.นิตินัย หลังยาหน่าย ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ แจ้งให้นักศึกษาทราบ ครั้งหนึ่งเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ที่นี่มีแต่คนนอนหมอบถอดเสื้อเรียงรายไปจนถึงในแม่น้ำ ก่อนหน้านั้นไม่กี่นาที ผู้คนเรือนพันต่างมาชุมนุมที่นี่ ต่างตะโกนโห่ร้องให้ปล่อยตัวชาวบ้านที่ถูกจับ บ้างก็ชูป้ายข้อความโจมตี การเจรจาเกิดขึ้นหลายครั้ง คำประกาศป่าวร้องของเจ้าหน้าที่ให้เลิกชุมนุมดูจะไม่เป็นผล ทันใดนั้น ความโกลาหลก็เกิดขึ้น เมื่อรถดับเพลิงเริ่มฉีดน้ำเข้าใส่ผู้ชุมนุม เสียงปืนดังรัวขึ้นเป็นระยะๆ อย่างน่ากลัว สิ้นเสียงปืน ผู้คนที่นอนหมอบถูกสั่งให้ถอดเสื้อ แล้วถูกสั่งคลานขึ้นไปนอนหมอบต่อบนรถบรรทุกทหาร มีทั้งถูกผลัก ถูกดึงขึ้นรถยีเอ็มซี แต่บางคนนอนแน่นิ่งและมีเลือดไหล “รออีกห้านาที ถึงเวลาเราจะละหมาดปกติก่อน จากนั้นก็จะละหมาดฮายัต เพื่อขอพรแก่พระเจ้า ตามด้วยการอ่านอัรวาฮ หรืออ่านบทสวดเพื่ออุทิศผลบุญแด่ผู้สูญเสีย” เสียงจากแกนนำนักศึกษาป่าวประกาศ พิธีละหมาดฮายัต “ส่วนวัตถุประสงค์ของการละหมาดฮายัตครั้งนี้ คือการขอพรจากพระเจ้าให้ประธานสันติภาพแก่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเร็ว ขอให้พระเจ้าดลใจให้รัฐบาลและมีผู้มีอำนาจยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเร็ว และขอให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้โดยเร็ว” แกนนำนักศึกษาประกาศ เมื่อถึงเวลา เสียงอาซานก็ดังขึ้น เพื่อป่าวประกาศว่าถึงเวลาละหมาดแล้ว นักศึกษาผู้ทำหน้าที่โต๊ะอิหม่ามก็ยืนนำหน้าเป็นผู้นำละหมาด ต่อเนื่องไปจนถึงการละหมาดฮายัติจนเสร็จ แล้วจึงให้นักศึกษาทุกคนนั่งล้อมเป็นวงกลมแยกกันชายหญิง บทสวดซึ่งมาจากโองการในคำภีร์อัลกุรอ่านก็เริ่มขึ้น พิธีอ่านบทสวดรำลึกผู้เสียชีวิต ส่วนนักศึกษาหญิงอีกกลุ่มนั่งถือป้ายข้อความที่สื่อถึงการเรียกร้องให้มีการยกเลิกการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 รวมทั้งกฎหมายพิเศษอื่นๆ ที่มีการบังคับใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งสองกิจกรรมเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการหยุดละเมิดมนุษยชนยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “7 ปี รำลึกตากใบ……ละหมาดฮา ยัตอหิงสา” จัดโดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทั้งวิทยาเขตปัตตานีและวิทยาเขตหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นต้น เข้าร่วมประมาณ 120 คน กิจกรรมนี้เริ่มจากการรวมตัวกันที่สำนักงานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมของโครงการฯ จากนั้นเวลาประมาณ 11.00 น. จึงออกเดินทางไปยังสถานีตำรวจภูธรตากใบ หลังเสร็จพิธีนายกิตติศักดิ์ ปัตตานี ประธานโครงการ กล่าวกับผู้เข้าว่า กิจกรรมนี้ต้องการแสดงให้เห็นว่า ความรุนแรงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ การใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เท่ากับลืมความเป็นมนุษย์ ตนต้องการให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดสันติสุขโดยเร็ว แต่สันติภาพก็ไม่ได้มาด้วยการรอคอย จากนั้นจึงเชิญพ.ต.อ.นิตินัย หลังยาหน่าย มาพบปะกับกลุ่มนักศึกษาอีกครั้ง โดยยืนยันว่า การทำกิจกรรมของนักศึกษาที่อยู่ภายใต้กฎหมาย สามารถกระทำได้ สำหรับการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เป็นนโยบายของรัฐบาล ตนเป็นเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง สำหรับตนต้องการให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดความสงบโดยเร็วที่สุด ถึงเวลาแยกย้ายกันแล้ว นักศึกษาทุกคนต่างก็ไปตั้งแถวบนถนนที่คั่นกลางระหว่างโรงพักตากใบกับสนามเด็กเล่น แล้วเดินหันหน้าไปทางทิศตะวันตกมุ่งสู่ที่จอดรถสองแถว เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ถนนสายนายมีรถบรรทุกทหารขนาดใหญ่จอดเรียงรายกว่า 100 คัน แต่ละคันอัดแน่ไปด้วยผู้ชุมนุมที่อ่อนล้าจากการถือศีลอด โดยเฉพาะคันท้ายๆ ที่ออกเดินทางในช่วงเวลาตะวันกำลังจะตกดิน โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ไกลออกไปกว่า 130 กิโลเมตร คือค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เป็นเหตุการณ์ที่นำมาสู่การเสียชีวิตของผู้ชุมนุมระหว่างการขนย้ายถึง 78 คน กลายเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจให้คนในพื้นที่ รวมทั้งคนต่างประเทศเป็นอย่างมาก แผ่นซีดีบันทึกเหตุการณ์ถูกนำไปเผยแพร่กระจายต่อๆ กันไป เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ยังคงค้างคาใจคนในพื้นที่มาจนทุกวันนี้ เอกสารโครงการหยุดละเมิดมนุษยชนยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “7 ปี รำลึกตากใบ……ละหมาดฮายัดอหิงสา” ระบุว่า เหตุการณ์นี้ ยังเป็นบาดแผลในใจของผู้ได้รับผลกระทบ ประชาชนส่วนใหญ่ยังตั้งข้อสงสัยกับการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ทหารว่า ทำไมต้องใช้มาตรการแข็งกร้าว ด้วยการสลายการชุมนุมเรียกร้องด้วยสันติวิธี เป็นความผิดพลาดที่โทษใครไม่ได้หรือ เอกสารโครงการระบุอีกว่า สิ่งที่ทำให้ประชาชนสิ้นหวังกับกระบวนการยุติธรรมของรัฐคือ คำสั่งของศาลจังหวัดสงขลา ในคดีไต่สวนการตายของทั้ง 78 คน เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 คือการระบุว่า พวกเขาเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะนำเสนอกิจกรรมในเชิงสัญลักษณ์สันติวิธี มีรูปแบบที่สร้างสรรค์ เพื่อให้สังคมตระหนักถึงการใช้ความรุนแรงว่า มีผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างไร หลังจากศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งในคดีนี้แล้ว ปรากฏว่าพนักงานอัยการเองก็ไม่สั่งฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ทั้งหมด เหตุการณ์ตากใบ เป็นเหตุการณ์ใหญ่ไม่กี่เหตุการณ์ที่มีคนจัดงานรำลึกทุกปี แม้กระทั่งกับเหตุไม่สงบ เพราะทุกครั้งที่ถึงวันครบรอบเหตุการณ์ตากใบ มักมีเหตุรุนแรงครั้งใหญ่ๆ เกิดขึ้นด้วยเสมอ วันครบรอบเหตุการณ์ตากใบปี 2554 ก็เช่นกัน นับตั้งแต่เหตุระเบิดร้านสะดวกซื้อในตัวเมืองนราธิวาส ก่อนวันครบรอบ 1 วัน ซึ่งนำมาสู่การเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้านรวม 7 คน ถัดมาอีกวันซึ่งตรงกับวันครบรอบพอดี เกิดเหตุระเบิด 30 กว่าจุดในตัวเมืองยะลา มีคนตายไป 3 คน เจ็บอีกว่า 50 คน ยังไม่นับผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงวันเดียวกัน ใช่ว่า 25 ตุลาคม จะเป็นวันครบรอบเหตุการณ์ตากใบเพียงวันเดียว แต่ยังมีอีกวันที่ตรงกับวันครบรอบเหตุการณ์นี้ด้วย ตามปฏิทินอิสลาม ซึ่งยึดตามการโคจรของดวงจันทร์ หรือเรียกว่า จันทรคติ ทำให้มีจำนวนวันน้อยกว่าปีที่ยึดตามการโคจรของดวงอาทิตย์ หรือสุริยคติ อยู่ 11 วัน การรำลึกเหตุการณ์ตากใบของปี 2554 ตามปฏิทินอิสลาม จึงตรงกับวันที่ 11 สิงหาคม 2554 หรือวันที่ 11 เดือนรอมฎอน ปีฮิจเราะห์ศักราช 1432 ในวันนี้ ซึ่งตรงกับเดือนแห่งการณ์ถือศีลอดของชาวมุสลิม กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ ร่วมกับ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ จัดงานทำบุญ(อัรเวาะห์) เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ เนื่องในโอกาสครบรอบ 7 ปีเหตุการณ์ตากใบ ที่โรงเรียนตาดีกาบ้านจาเราะ ตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส “และพวกเจ้าจงอย่าท้อแท้ และจงอย่าเสียใจ และพวกเจ้านั้นคือผู้ที่สูงส่งยิ่ง หากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธา” วรรคหนึ่งในคำภีร์อัลกุรอาน ซูเราะฮ์ อาละอิมรอน (3:139) ปรากฏบนป้ายไวนิล ในงานรำลึกเหตุการณ์ตากใบครบรอบ 7 ปี มุมหนึ่งของงานก็มีชาวบ้านอีกกลุ่ม ต่างช่วยกันทำอาหารด้วยความทุ่มเท เพื่อเลี้ยงต้อนรับ ทั้งร่วมกันละศีลอดสำหรับแขกผู้มาเยือนและทั้งพี่น้องร่วมชะตาชีวิตเดียวกัน “ในการทำบุญ(อัรเวาะห์) ครั้งนี้ เราตั้งใจอุทิศผลบุญนี้ให้ผู้สูญเสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบทุกคน”นางแยน๊ะ สะแลแม หรือ ก๊ะแยน๊ะ ตัวแทนชาวบ้านและผู้ได้รับผลกระทบ ระบุ ลูกชายของก๊ะแยนะ เป็นหนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีข้อหาเป็นแกนนำผู้ชุมนุม ร่วมกับคนอื่นอีก 57 คน แม้คดีนี้ถูกถอนฟ้องในเวลาต่อมา แต่นั่นก็เป็นผลกระทบอย่างหนึ่ง แม้งานนี้เป็นการรำลึกเหตุการณ์ตากใบ แต่ในงานไม่ได้มีเพียงผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบอย่างเดียว ยังมีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อื่นๆด้วย นางสาวดวงสุดา นุ้ยสุภาพ คือหนึ่งในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบที่เข้าร่วมงานนี้ เธอนับถือศาสนาพุทธ สูญเสียพ่อจากการถูกลอบยิงในปี 2547 จากนั้นก็สูญเสียปู่กับตาจากด้วยการถูกลอบฆ่าอย่างโหดเหี้ยม เมื่อปี 2550 เธอมองว่า เธอสามารถก้าวข้ามความห้วงเวลาแห่งความทุกข์ได้ ด้วยการให้อภัย มองทุกคนในฐานะความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าผู้นั้นจะนับถือศาสนาใด ทุกคนยังคงมีทุกข์ สุข เจ็บหรือตายเหมือนกัน ค่ำลง เสียงอาซานดังขึ้น ได้เวลารับประทานอาหาร แต่รอมฎอนเมื่อ 7 ปีที่แล้ว บางคนไม่มีแม้โอกาสได้ละศีลอด คดีตากใบไปถึงไหนแล้ว ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้จัดทำสรุปความคืบหน้าของคดีสำคัญๆ ไว้ในหนังสือแถลงข่าวผลงานรอบ 6 เดือน ของศอ.บต.ใหม่ 9 งานก้าวหน้าเพื่อชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ซึ่งรวมถึงคดีตากใบด้วย ดังนี้ สถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส ได้ดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุจากการชุมนุมที่สถานีตำรวจภูธรตากใบ จำนวน 99 คน สามารถจับกุมตัวได้ 58 คน ผู้ต้องหาหลบหนีและได้ออกหมายจับ 34 คน ผู้ต้องหาเสียชีวิต 7 คน ต่อมามีคำสั่งงดการดำเนินคดี และถอนฟ้องจำเลย การดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐ 1) การดำเนินการทางอาญากับเจ้าหน้าที่รัฐกรณีผู้ต้องหาเสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม คณะกรรมการสอบสวน เห็นว่าเจ้าหน้าที่ได้กระทำไปตามอำนาจหน้าที่ และตามคำสั่งของผู้มีอำนาจ มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือกลั่นแกล้งบุคคลใดให้ได้รับความเสียหาย พนักงานสอบสวน มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา เพราะไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด และอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง และมีคำสั่งให้งดการสอบสวนแล้ว 2) การดำเนินการทางอาญากับเจ้าหน้าที่รัฐ กรณีการตายระหว่างการควบคุมตัวผู้ก่อเหตุจากอำเภอตากใบไปค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ศาลฎีกามีคำสั่งโอนการพิจารณาคดีไปยังศาลจังหวัดสงขลา และศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่ง เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ว่า ผู้ตายทั้ง 78 คนตายที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ ขาดอากาศหายใจระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ พนักงานสอบสวนได้สอบสวนชันสูตรพลิกศพแล้ว มีความเห็นว่า การเสียชีวิตไม่ได้เป็นผลมาจากการกระทำผิดอาญา จึงมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องและผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี มีความเห็นชอบตามความเห็นของพนักงานสอบสวน จึงไม่มีการดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ ส่วนสำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นว่า ถ้าดำเนินคดีแล้วไม่มีประโยชน์ต่อสาธารณะ จึงมีคำสั่งยุติการดำเนินคดี การดำเนินคดีแพ่ง ญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม 30 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายทั้งสิ้น 22,637,999.57 บาท จากกระทรวงกลาโหม กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง และจังหวัดนราธิวาส จำเลยที่ 1 - 6 กรณีกระทรวงมหาดไทย โจทก์และจำเลยร่วมกันไกล่เกลี่ยเป็นเงิน 6,935,500 บาท (เฉลี่ยได้รายละประมาณ 23,000 บาท) เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2550 และได้ถอนฟ้องจำเลยที่ 3 - 6 และได้ทำสัญญาประนีประนอมกับจำเลย 1, 2 ด้วยคดีจึงยุติทุกคดี ในส่วนของกระทรวงกลาโหมและกองทัพบก ได้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตกลงยินยอมชำระเงินแก่โจทก์ จำนวน 42,201,000 บาท จำนวน 79 ราย เพื่อเป็นค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นและค่าขาดไร้อุปการะ มีหลักเกณฑ์ คือ ให้คู่สมรสเดือนละ 1,500 บาท จนอายุครบ 60 ปี ให้บิดามารดา เดือนละ 1,500 บาท คนใดคนหนึ่งจนอายุครบ 70 ปี กรณีอายุเกิน 70 ปี ให้ 2 ปี ให้บุตรเดือนละ 1,500 บาท จนอายุครบ 20 ปี ค่าปลงศพให้รายละ 30,000 บาท กรณีความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิดของกองทัพบก เห็นว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ผู้ใดกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว จึงไม่มีการดำเนินคดีแพ่งเรียกให้ชดใช้เงินแก่รัฐกับเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ คณะกรรมการมีมติยุติเรื่อง การเยียวยาค่าเสียหาย หลังเกิดเหตุ มีหน่วยงานรัฐเข้าไปช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโดยได้จ่าเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ดังนี้ กรมบัญชีกลาง ออกสลากพิเศษ ช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 85 ศพ ครอบครัวละ 100,000 บาท รวม 85,000,000 บาท กองทัพภาค 4 ส่วนหน้า จ่ายเงินช่วยเหลือค่าจัดการศพทั้ง 85 ศพ ศพละ 10,000 บาท เป็นเงิน 850,000 บาท กรณีผู้เสียชีวิตไม่มีญาติมารับศพให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสเป็นผู้รับเงินช่วยเหลือ แทน จังหวัดนราธิวาส จ่ายเงินสงเคราะห์ครอบครัวและการศึกษาของบุตรแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต จำนวน 64 ศพ ครอบครัวละ 6,000 บาท เป็นเงิน 384,000 บาท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท