Skip to main content
sharethis

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters without Borders) ซึ่งเป็นองค์กรสากลที่รณรงค์สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก เปิดตัวแคมเปญใหม่ รณรงค์ปัญหาเสรีภาพการแสดงออกและการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารในประเทศไทย เวียดนาม และเม็กซิโก เน้นเป้าหมายการรณรงค์เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว ที่มา: www.censorship-paradise.com แคมเปญดังกล่าว เปิดตัวด้วยรูปภาพแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามทั้งสามประเทศ และมีข้อความ เช่น “Fuck Democracy. Book a Vacation in Thailand” (ช่างมันประชาธิปไตย มาพักร้อนที่ประเทศไทยดีกว่า) โดยมีคำอธิบายประกอบว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะดูเป็นประเทศที่สวยงามและน่าไปพักร้อน แตในความเป็นจริง การบอกความจริงแก่ผู้อื่นในประเทศนี้ อาจทำให้คุณเผชิญการจำคุกได้ถึง 20 ปี โดยเฉพาะนักข่าวและบล็อกเกอร์ และมีข้อความเรียกร้องให้ผู้อ่านอย่าเพิกเฉยต่อการเซ็นเซอร์ในประเทศเหล่านี้ โปสเตอร์ดังกล่าว จะถูกนำไปเผยแพร่และรณรงค์ตามป้ายโฆษณาต่างๆ ทั่วอินเตอร์เน็ต และจะถูกนำไปตีพิมพ์ลงในนิตยสารต่างๆ ทั่วประเทศฝรั่งเศสด้วย ชอง ฟรองซัวส์ จูลยาร์ด เลขาธิการองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน กล่าวว่า เป้าหมายของการรณรงค์นี้ คือเพื่อให้ผู้คนตระหนักรู้ก่อนที่จะเดินทางไปพักร้อนยังประเทศดังกล่าว “เราไม่ได้เรียกร้องให้มีการบอยคอตต์ประเทศเหล่านี้ แต่เราอยากให้นักท่องเที่ยวรู้ว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลัง เราได้เลือกมาสามประเทศ ซึ่งเป็นแดนสวรรค์ของนักท่องเที่ยว แต่เป็นแดนนรกสำหรับผู้สื่อข่าว นั่นคือ เม็กซิโก เวียดนาม และไทย” เขากล่าว ทั้งนี้ จากการจัดลำดับเสรีภาพสื่อขององค์กรดังกล่าว ประเทศไทย ถูกจัดอยู่ในลำดับ 153 จากทั้งหมด 178 ประเทศ โดยลำดับ 1 หมายถึงประเทศที่มีเสรีภาพสือสูงสุด ส่วนเม็กซิโกและเวียดนาม ถูกจัดอยู่ในลำดับ 136 และ 165 ตามลำดับ ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน รายงานว่า ในปีที่ผ่านมา ในประเทศไทย มีพลเมืองเน็ตสองรายแล้วที่ถูกจับด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หลังจากรัฐบาลใหม่รับตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม 2554 คือ สุรภักดิ์ (ขอสงวนนามสกุล) ที่ถูกจับในเดือนกันยายน ด้วยข้อความและรูปภาพในเฟซบุ๊ก และอำพล (ขอสงวนนามสกุล) ซึ่งถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความทางมือถือที่มีเนื้อหาหมิ่นเบื้องสูง (sms) ไปยังอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ ส่วนในประเทศเวียดนาม ปรากฎว่า สถานการณ์ด้านเสรีภาพสื่อหลังการประชุมสมัชชาครั้งใหญ่ครั้งที่ 11 ของพรรคคอมมิวนิสค์เวียดนาม ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนผูนำในเดือนมกราคมที่ผ่านมานั้น ยังไม่ดีขึ้นแต่อย่างใด การจับกุมฝ่ายค้านยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่วนสื่อทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ และวิทยุ อยู่ภายใต้การควบคุมโดยรัฐบาลทั้งหมด ฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐบาล เช่น เลอ คอง ดินห์ ทนายความที่แสดงความเห็นต่างในอินเตอร์เน็ต และเงียน เทียน ทรึง บล็อกเกอร์และนักเคลื่อนไหวฝ่ายค้าน ถูกตัดสินให้จำคุก 5 ปี และ 7 ปีตามลำดับ หลังจากถูกจับกุมด้วยข้อหา “หมิ่นประมาทพรรค” “โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐ” และ “เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net