Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ทันทีที่รัฐบาล ประกาศตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบทุกภัย หรือ ศปภ. ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ของประเทศไทยในปีนี้ ภาคเอกชนนำโดย มูลนิธิกระจกเงา ก็ได้เชื่อมโยงองค์กรเครือข่ายด้านจิตอาสาและอาสาสมัครจำนวนมาก จัดตั้ง ศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ภาคประชาชน หรือ ศปภ. ภาคประชาชน ขึ้นมาเช่นกัน ด้วยหวังว่าจะเป็นการหนุนเสริม ทั้งในด้านของการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ การเยียวยา และการบริหารจัดการอาสาสมัคร ให้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ และนี่ คือการรายงานจากสถานี ศปภ. ภาคประชาชน ว่าเราเป็นใคร คิดอะไร และกำลังทำอะไรอยู่ มูลนิธิกระจกเงากับการจัดการภัยพิบัติ เมื่อ 7 ปีก่อนเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ ถล่มภาคใต้ของประเทศไทย มูลนิธิกระจกเงา ลงพื้นที่ประจำการที่จังหวัดพังงา โดยมีภารกิจสำคัญในการฟื้นฟูและช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยใช้กระบวนการจัดการอาสาสมัครเข้าไปดำเนินงานในพื้นที่ จนกระทั่งมีการจัดตั้ง ศูนย์อาสาสมัครสึนามิ เป็นสำนักงานส่วนภูมิภาคของ มูลนิธิกระจกเงา ในภาคใต้ และทำงานในพื้นที่มากกว่า 3 ปี บริหารจัดการงานฟื้นฟู และงานด้านสิทธิ โดยมีอาสาสมัครหมุนเวียนกันไปปฏิบัติงานในพื้นที่มากกว่า 10,000 คน งานจัดการภัยพิบัติภาคประชาชน จึงถือเป็นภารกิจที่มูลนิธิกระจกเงา มีประสบการณ์ และพร้อมที่จะเป็นกระจกสะท้อนมุมมองที่เกิดขึ้นในอุทกภัยใหญ่ครั้งนี้เช่นกัน ก้าวแรก ศปภ. ประชาชน 8 ตุลาคม 2554 รัฐบาลได้จัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ศปภ. ที่สนามบินดอนเมือง โดยมูลนิธิกระจกเงา ได้เข้ามาสำรวจหน้างานในพื้นที่ทันที และภารกิจแรกในการประเดิมงานภาคประชาชน คือ การช่วยทหารประสานงานเหตุฉุกเฉิน กรณีการอพยพคนป่วยและผู้สูงอายุ ที่โทรมาขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน ศปภ. 1111 กด 5 โดยวันแรกรับเคสที่ต้องประสานงานการช่วยเหลือมา 7 กรณี จนกระทั่งทุกวันนี้ประสานการช่วยเหลือเรื่องอพยพผู้ประสบอุทกภัยมาแล้วไม่น้อยกว่า 1,000 กรณี นวัตกรรมภาคประชนต่อการจัดการอุทกภัย ศปภ.ภาคประชาชน บริหารจัดการงานโดยผ่านอาสาสมัคร ทั้งแบบชั่วคราวและแบบระยะยาว โดยมีองค์กรเครือข่ายจิตอาสาเป็นแนวร่วม มีอาสาสมัครจากทุกสาขาวิชาชีพมาร่วมกิจกรรม ศปภ.ภาคประชาชน แบ่งโครงสร้างการทำงานออกเป็นสองส่วน คือ ฝ่ายปฏิบัติการส่วนหน้า และ ฝ่ายสนับสนุนส่วนหลัง โดยปฏิบัติการส่วนหน้า คือ การระดมอาสาสมัครปฏิบัติภารกิจในหน้างานที่ต้องเผชิญเหตุเฉพาะหน้าและเร่งด่วน เช่น อาสาสมัครจัดทำกระสอบทราย กองเรืออพยพประชาชน กองรถอพยพประชาชน และอาสาสมัครประจำศูนย์อพยพ ส่วนฝ่ายสนับสนุนส่วนหลัง เป็นเสมือนฐานการบัญชาการและบริหารจัดการ เชื่อมโยง งานส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์ประสานเหตุฉุกเฉินที่รับแจ้งเรื่องการขออพยพประชาชนจาก สายด่วน 1111 กด 5 ของรัฐบาล , ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยระดับตำบล (ศปภ.ตำบล) ที่จัดทำฐานข้อมูลตำบล เพื่อค้นหาผู้ประสานงานหลักและทรัพยากรในพื้นที่ในการตอบโต้กับปัญหาอย่างรวดเร็ว และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อสนับสนุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการปฏิบัติภารกิจของหน่วยกู้ชีพ ที่ออกช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการบริหารจัดการอาสาสมัครในการทำเสื้อชูชีพและแพจากขวดน้ำ สำหรับจ่ายแจกให้ประชาชนเพื่อลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุในการจมน้ำ ซึ่งตลอดระยะเวลาการตั้ง ศปภ.ภาคประชาชนที่ผ่านมา มีอาสาสมัครมาร่วมงานกับเราไม่น้อยกว่า 6,000 คน ศูนย์อาสาสมัครลอยฟ้า เดินหน้าภารกิจภารประชาชน แม้ว่าน้ำจะได้ไหลเข้าท่วมสนามบินดอนเมือง จนทำให้ ศปภ. และศปภ.ภาคประชาชน จำเป็นต้องย้ายฐานปฎิบัติการออกจากที่นั่น แต่ภารกิจยังคงต้องดำเนินต่อไป ศปภ.ภาคประชาชน เตรียมเปิดศูนย์อาสาสมัครลอยฟ้า บนทางด่วนโทลเวย์ เพื่อเป็นชุมชนอาสาสมัครที่จะให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งงานทีมกองเรืออพยพผู้ประสบภัย อาหารสมัครจัดทำเสื้อชูชีพและแพจากขวดน้ำ ตลอดจนแนว ขยายแนวคิด การทำ Flood Shop ร้านค้าราคายุติธรรมในพื้นที่ประสบภัย สำหรับประชาชนในเมืองที่ไม่ประสงค์จะอพยพ เพื่อให้สามารถซื้อสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิตได้ในระหว่างที่น้ำท่วมบ้าน และไม่เป็นภาระของหน่วยงานรัฐในการไปส่งอาหารในพื้นที่ เรียกว่า ใช้เศรษฐกิจ แก้วิกฤติผู้ประสบภัย ร่วมเป็นอาสาสมัครภาคประชาชน ศปภ.ภาคประชาชน ยังพร้อมจะเปิดรับอาสาสมัครจำนวนมาก ทั้งอาสาสมัครระยะสั้น-อาสาสมัครระยะยาว และนักศึกษาฝึกงาน มาลุยทั้งงานระดมแรงงาน งานระดมความคิด งานช่วยเหลือชีวิตผู้ประสบภัย สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ สายด่วนมูลนิธิกระจกเงา โทร 090-41805-25 ถึง 29 หรือสนับสนุนภาคประชาชนในการปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย กับ กองทุนภัยพิบัติภาคประชาชน ชื่อบัญชี “มูลนิธิกระจกเงา” เลขที่บัญชี 040-2-37446-1 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาซอยไชยยศ.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net