Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วิกฤตอุทกภัย ภาคกลาง ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร เดินทางมาถึงช่วงกลางของวิกฤต การกู้ภัย การช่วยเหลือตนเอง การพึ่งพาอาศัยกัน และความทุกข์ลำเค็ญของผู้ประสบภัย เป็นที่ประจักษ์ชัด ความพยายามของรัฐ ท้องถิ่น และผู้มีจิตอาสา ต่างทุ่มเทอย่างสุดกำลัง แต่ผลลัพธ์ที่เห็นยังห่างไกลจากการจะพาวิกฤตนี้ให้ผ่านพ้นไปด้วยดี จากประสบการณ์น้ำท่วมหาดใหญ่ ในพื้นที่แคบๆแต่ประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก กว่าจะผ่านพ้นวิกฤต มีทั้งทุกข์ สุข ความขัดแย้ง และการวิวาทะต่อกัน แต่ท้ายสุดเราก็ผ่านพ้นวิกฤตทั้งโดยการพึ่งตนเอง พึ่งพาอาศัยกัน และการช่วยเหลือคลี่คลายจากองค์กรรัฐท้องถิ่น รัฐบาลกลาง และที่สำคัญการเข้ามาช่วยของผู้มีจิตอาสา ทั้งจากภาคประชาชนและองค์กรท้องถิ่นอื่นๆ การจัดการความช่วยเหลือที่เข้ามาทั้งในช่วงวิกฤตและภาวะน้ำลด จะเป็นโอกาสสำคัญในการคลี่คลายวิกฤต องค์กรท้องถิ่นและองค์กรสาธารณกุศล จิตอาสา มีศักยภาพ องค์กรท้องถิ่นเจ้าบ้านส่วนใหญ่บอบช้ำทั้งในส่วนขององค์กรและพนักงาน หากสามารถประสานการช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะพบคุณูปการของช่วยเหลือกัน อย่างไรก็ตามองค์กรช่วยเหลือหลายองค์กร มีความเป็นอิสระในเชิงความคิดและ วิธีปฏิบัติงาน การสนับสนุนให้เขาได้ดำเนินการ โดยตระหนักในความปรารถนาดี ก็จะช่วยให้เกิดความสอดคล้องเหมาะสมได้ไม่ยาก ความยากคือการประสานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดของการช่วยเหลือจนกระทั่งภาวะน้ำลด ซึ่งจะมีปัญหาทั้งทางสาธารณูปโภคและสุขอนามัยต่างๆตามมาอีกมากมาย การสร้างระบบการช่วยเหลือกันของท้องถิ่น โดยเฉพาะการช่วยเหลือกทม.และปริมณฑลจะยากกว่าในอดีตที่ผ่านมา ที่มีการช่วยเหลือกันแบบจิตอาสาและท้องถิ่นเจ้าภาพเป็นกลไกประสาน การนำศักยภาพท้องถิ่นและชุมชนทั้งประเทศมาช่วย จึงต้องการประสานและดำเนินการอย่างเป็นระบบ จึงจะช่วยให้การคลี่คลายวิกฤตเป็นไปอย่างต่อเนื่องและลดปัญหาผลกระทบหลังน้ำท่วมได้มากขึ้น และจะนำไปสู่สังคมไทยที่พึ่งพาอาศัยกันกันได้ในอนาคต ทำไมผู้เขียนให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เหตุที่เลือกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพราะองค์กรปกครองส่นท้องถิ่นแต่ละแห่งมีกลไกดำเนินงานต่างๆคล้ายคลึงกัน เพียงแต่ขนาดอาจจะแตกต่างกัน แม้ว่าเขาอาจจะเล็ก แต่เขาเป็นหนูที่สามารถช่วยราชสีห์ได้ เขามีงานสุขาภิบาล อนามัยสิ่งแวดล้อม มีบรรเทาสาธารณภัย มีบริการทั้ทางสังคมและการปกครอง การประสานเขาเพื่อช่วยวิกฤตจะไม่เกินกำลัง และในปัจจุบันมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งเล็กและใหญ่หลายพันแห่ง ดำเนินการอย่างไร 1. กระทรวงมหาดไทย ในฐานะองค์กรแม่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพ 2. กทม.จำแนกเขต/แขวง ออกเป็นพื้นที่ย่อยๆ 3. มหาดไทย – กรมส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่น จัดกลุ่ม เทศบาล อบต. ในพื้นที่ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มๆ 4. การดำเนินการในข้อ 2 – 3 จะได้พื้นที่/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบ 400 – 500 พื้นที่/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5. มหาดไทย จับคู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศในสัดส่วน 1 พื้นที่/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบกับ 3 – 4 พื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบ ( มาจาก เหนือ, กลาง, ใต้, อีสาน) 6. นัดหมาย/ประสาน/ประชุม ระหว่างองค์กรสนับสนุนกับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และจัดระบบการหมุนเวียนการช่วยเหลือจากองค์กรเหล่านั้น 7. เนื่องจากสัดส่วนองค์กรสนับสนุนเป็น 4:1 เขาจะสามารถหมุนเวียนกันมาช่วยเหลือคลี่คลายได้อย่างต่อเนื่องในช่วงหลังน้ำลดได้สัก 1 – 2 เดือน โดยที่พื้นที่ตนเองไม่ได้รับผลกระทบมากนัก 8. องค์กรประสานระดับประเทศต้องจัดระดับการประสานงานทั้งในระดับประเทศ ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น เพื่อรองรับการเข้าร่วมของแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนองค์กรท้องถิ่นเจ้าภาพต้องเตรียมผู้ประสานทั้งในระดับเทศบาล อบต. ลงไปถึงระดับชุมชน เพื่อให้ผู้มาเยือนได้รับการอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานถึงระดับพื้นที่อย่างทั่วถึง 9. องค์กรผู้เหย้า เตรียมบุคลากร งบประมาณ (สำหรับการช่วยเหลือและการดูแลตนเอง ) เครื่องไม้เครื่องมือ สิ่งช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพื่อกู้เมืองมาช่วยอย่างเต็มศักยภาพ พร้อมหมุนเวียนมาช่วย โดยดูแลตนเองไม่ให้เป็นภาระกับเจ้าบ้าน ปีนี้ไม่มีดูงาน มีแต่ไปช่วยงาน 10. แล้วเราจะฝ่าข้ามไป ทหาร องค์กรระดับชาติต่างๆ และองค์กรเอกชน ยังคงมีบทบาทสำคัญ เช่นการระดมกำลังพล ทำความสะอาดเมือง การช่วยเรื่องโครงสร้าง ถนนหนทาง สาธารณูปโภค การรักษาพยาบาล การควบคุมป้องกันโรค การจัดหาสิ่งสนับสนุน การสงเคราะห์ต่างๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกัน เน้นการครอบคลุมพื้นที่หลักที่ได้แบ่งกันดูแลและทำภาระกิจเสมือนการดูแลประชาชนในพื้นที่ของเขา ซึ่งเขามีประสบการณ์สูง องค์กรและผู้มีจิตอาสาต่างๆ ไม่ได้หายไปไหนกระบวนการฟื้นฟูนี้ โดยเขาอาจปฏิบัติงานโดยร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่นภายนอกที่เข้ามาตามกรอบแผนงาน หรือดำเนินการตามความสามารถ ความสนใจเฉพาะของเขา โดยได้รับการประสานให้เกิดประโยชน์สูงสุด เคยมีคนถามถึงว่าเมื่อกระจายอำนาจแล้วส่วนภูมิภาคและส่วนกลางอยู่ที่ใด ในมุมมองของผู้เขียน ภารกิจในการประสานและเติมเต็มการแก้ปัญหาให้ลุล่วงไป คือบทบาทของเขา เขาอยู่ที่นี่ – ผู้ประสานความร่วมมือ หนทางคลี่คลายวิกฤตจึงไม่ได้อยู่ในมือของ ศปภ. ผู้ว่าราชการการจังหวัดหรือกทม. เพียงอย่างเดียว การประสานเอาศักยภาพของท้องถิ่นและชุมชนทั้งมวล มาเลือกใช้อย่างเหมาะสม จะเป็นวิถีของการอยู่ร่วมกันทั้งในเบื้องนี้และเบื้องหน้า และจะพาเราทั้งมวลผ่านวิกฤตครั้งนี้ ไม่ยากจนเกินไป จากบทความเดิมชื่อ: มหาอุทกภัย: ศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนทั้งมวล หนทางคลี่คลายวิกฤต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net