เปิดตัวกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) /เริ่มประชุมนัดแรกหลังน้ำท่วม

ครม.รับทราบคำสั่งคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ เรื่องตั้งกรรมการ 10 คน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีตั้งนายอุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ว่าล่าสุด ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์ที่ผ่านมา ครม.ได้รับทราบคำสั่ง คอ.นธ.ที่ 1/2554 เรื่องการแต่งตั้งกรรมการ คอ.นธ.จำนวน 10 คน ลงนามโดยนายอุกฤษ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา ประกอบด้วย 1.นายเรวัต ฉ่ำเฉลิม อดีตอัยการสูงสุด 2.นายประสิทธิ์ โฆวิไลกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 3.นายจำนงค์ สวมประคำ ส.ว.สรรหา 4.นายกำชัย จงจักรพันธุ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ 5.นายนัทธี จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ 6.นายกมลินทร์ พินิจภูวดล 7.นายชาติชาย สุทธิกลม รองปลัดกระทรวงยุติธรรม 8.นายธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา 9.น.ส.รื่นฤดี สุวรรณมงคล รองผู้อำนวยการสำนักกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม และ 10.นายสุชาติ สิงห์ทอง นอกจากนี้ยังมีการจัดทำเว็บไซต์ www.nrlcthailand.org เพื่อให้สามารถติดตามการทำงานของ คอ.นธ.ได้อย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้ นายอุกฤษ มงคลนาวิน ได้นัดกรรมการกรรมการ คอ.นธ.ทั้ง 10 คน มารับประทานอาหารร่วมกัน เพื่อแนะนำตัวและทำความรู้จัก แต่ยังไม่มีการนัดประชุมกันอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้นายอุกฤษ ประธาน คอ.นธ.ได้เคยนัดประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันที่ 2 พฤศจิกายน เพื่อหารือเรื่องกรอบการทำงานแต่ท้ายสุดก็แจ้งยกเลิกเพราะเห็นว่าอยู่ระหว่างสถานการณ์น้ำท่วม 000 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมพ.ศ.๒๕๕๔ เพื่อผดุงหลัก นิติธรรมและส่งเสริมให้มีการใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม ความเสมอภาคและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล กับทั้งเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในการใช้กฎหมายของประเทศอันจะนำไปสู่ สังคมที่มีความเป็นปกติสุข สมควรให้มีคณะกรรมการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีความอิสระและเป็นกลาง เป็นผู้ดำเนินการศึกษาและเสนอแนะแนวทาง มาตรการ และกระบวนการต่าง ๆตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดโดยระเบียบนี้ อาศัย อำนาจตามความในมาตรา ๑๑ (๖) และ (๘) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงวางระเบียบไว้ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมพ.ศ. ๒๕๕๔” ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๓ ในระเบียบนี้ “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ “สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ ข้อ ๔ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า “คอ.นธ.” โดยให้คณะกรรมการดำเนินการตามแนวทาง ดังต่อไปนี้ (๑) ศึกษาประเด็นปัญหาเกี่ยวกับกฎหมาย กฎ และการใช้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม (๒) รับฟังข้อมูลและความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นการมีส่วนร่วมของสาธารณชนและภาคส่วนต่าง ๆ และสร้างความตระหนักให้กับสังคมเกี่ยวกับหลักนิติธรรม (๓) เสนอแนะแนวทาง มาตรการ และกระบวนการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาตาม (๑) ข้อ ๕ คณะกรรมการ ประกอบด้วย (๑) ประธานกรรมการซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ (๒) กรรมการจำนวนไม่เกินสิบสองคน ซึ่งประธานกรรมการแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีผลงานหรือเคยปฏิบัติงานที่ แสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของคณะกรรมการ ให้ประธานกรรมการแต่งตั้งเลขานุการหนึ่งคน และผู้ช่วยเลขานุการจำนวนไม่เกินสองคน ข้อ ๖ ประธานกรรมการและกรรมการ มีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับระยะเวลาการใช้บังคับระเบียบนี้ ในกรณีที่ประธานกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ให้กรรมการอื่นพ้นจากตำแหน่งด้วยและให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งประธานกรรมการใหม่ ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่จนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการใหม่ ข้อ ๗ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ประธานกรรมการและกรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ (๑) ตาย (๒) ลาออก (๓) เป็นบุคคลล้มละลาย (๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (๕) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ข้อ ๘ การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม ให้ ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม การ วินิจฉัยของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนนถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด ข้อ ๙ ในการดำเนินการตามข้อ ๔ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) ศึกษา วิจัย และเสนอแนะแนวทาง มาตรการ และกระบวนการต่าง ๆ เพื่อผดุงหลักนิติธรรมและเสริมสร้างการใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม ความเสมอภาค และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลกับทั้งเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในการ ใช้กฎหมายของประเทศ (๒) เสนอผลการดำเนินการตาม (๑) และจัดทำรายงานความคืบหน้าของการทำงานทุกรอบหกเดือน รวมทั้งรายงานสรุปผลเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจต่อคณะรัฐมนตรี (๓) จัดให้มีเวทีสาธารณะ การประชุม เพื่อรับฟังข้อมูลและความเห็น และให้การศึกษากับสังคมเป็นระยะ ๆ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของสาธารณชนและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของคณะกรรมการ (๔) เชิญผู้แทนหน่วยงานของรัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริง หรือให้จัดส่งเอกสารหรือข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณา (๕) แต่งตั้งที่ปรึกษาคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน ข้อ ๑๐ การประชุมของคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน ให้นำความในข้อ ๘ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ ๑๑ ให้มีสำนักงานเป็นหน่วยงานภายในสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม ให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานจากข้าราชการกระทรวงยุติธรรม ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของสำนักงาน และรับผิดชอบในการปฏิบัติงานของสำนักงานขึ้นตรงต่อปลัดกระทรวงยุติธรรม ข้อ ๑๒ ให้สำนักงานมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) รับผิดชอบในงานธุรการ งานวิชาการ งานการประชุม งานประชาสัมพันธ์ และงานเลขานุการของคณะกรรมการ ที่ปรึกษาคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน (๒) ศึกษาและรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานของคณะกรรมการ ที่ปรึกษาคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน (๓) ประสานงานกับบุคคล องค์กร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ (๔) ปฏิบัติงานหรือดำ เนินการอื่นใดตามที่คณะกรรมการ ที่ปรึกษาคณะกรรมการคณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน มอบหมาย ข้อ ๑๓ ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานของสำนักงานนายกรัฐมนตรีอาจมีคำสั่งให้ข้า ราชการ พนักงานราชการ หรือลูกจ้างของส่วนราชการ ไปช่วยปฏิบัติงานที่สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ข้อ ๑๔ ให้หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการและสำนักงาน ให้เป็นไปตามระเบียบนี้ ข้อ ๑๕ ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการตามระเบียบนี้ตามความจำเป็น ข้อ ๑๖ ค่าตอบแทนของคณะกรรมการ ที่ปรึกษาคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการและคณะทำงาน ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ข้อ ๑๗ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับมีกำหนดระยะเวลาสองปี นับแต่วันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ข้อ ๑๘ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามระเบียบนี้ สั่ง ณ วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ข้อมูลบางส่วนจาก: มติชนรายวัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท