พม่าที่ไม่รู้จัก “นักโทษการเมือง” และการปฏิบัติต่อฝ่ายค้านในฐานะ “ศัตรูของรัฐ”

วงเสวนาที่ FCCT อดีตนักโทษการเมืองพม่าชี้รัฐบาลพม่ายังไม่ยอมรับการมีอยู่ของ “นักโทษการเมือง” แม้จะปล่อยนักโทษการเมืองรอบล่าสุดกว่า 200 คน แต่ยังถือว่าเป็นนักโทษคดีอาชญากรรม และหากเป็นผู้นำชนกลุ่มน้อยจะถูกปฏิบัติในฐานะ “ศัตรูของรัฐ” ด้าน “ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ” เสนอให้รัฐบาลชุดใหม่ของพม่ามาดีเบตกับฝ่ายค้านที่กรุงเทพฯ เรื่องการปฏิรูป 

จากซ้ายไปขวา ขิ่น โอมาร์ ผู้ประสานงาน Burma Partnership, ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตวุฒิสมาชิก และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ โก โบ จี เลขาธิการสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า

 

เมือวันที่ 26 ต.ค. ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย มีการแถลงข่าวโดยนักกิจกรรมพม่าเพื่อเรียกร้องให้สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนชะลอการตัดสินใจให้พม่าเป็นประธานอาเซียน หลังรัฐบาลชุดใหม่ของพม่าแสดงเจตจำนงต้องการเป็นประธานอาเซียนในปี 2557

โดยก่อนหน้านี้พม่ามีกำหนดรับตำแหน่งประธานหมุนเวียนของอาเซียนตั้งแต่ปี 2548 แต่ก็ถูกเลื่อนไป หลังจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) ขู่คว่ำบาตรการประชุมอาเซียน หากพม่าซึ่งมีประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นประธานอาเซียน

ปล่อยนักโทษการเมืองล่าสุด 237 คน
แต่อีก 1,700 คนยังถูกจองจำ

โดยนายโก โบ จี อดีตนักโทษการเมือง ปัจจุบันเป็นเลขาธิการสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า (AAPPB) กล่าวถึงสถานการณ์นักโทษการเมืองในพม่าล่าสุด หลังจากที่พม่าได้ปล่อยตัวนักโทษ 6 พันคน เมื่อ 13 ต.ค. ที่ผ่านมาว่า เท่าที่รวบรวมข้อมูลได้รัฐบาลพม่าได้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองออกมาล่าสุด 237 คน ขณะที่ยังมีนักโทษการเมืองอีกกว่า 1,700 คนที่ยังถูกจองจำ

ขณะที่การอภัยโทษที่เกิดขึ้น รัฐบาลพม่าเรียกว่าเป็นการอภัยโทษให้กับ “นักโทษคดีอาชญากรรม” (Criminal Prisoners) ไม่ใช่ “นักโทษการเมือง” (Political Prisoners) นอกจากนี้แม้แต่ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ก็ไม่ยอมรับการมีอยู่ของนักโทษการเมือง เช่นเดียวกับที่ล่าสุด ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของพม่า ให้สัมภาษณ์วิทยุ VOA ก็ไม่ยอมรับว่ามีนักโทษการเมืองในพม่า

ทั้งนี้นายโก โบ จี เปิดเผยว่าข้อมูลการปล่อยนักโทษการเมืองรอบล่าสุดของทางการพม่า ค่อนข้างคลุมเครือ ไม่มีการประกาศข้อมูลต่อสาธารณะว่าปล่อยใครบ้าง ทางสมาคม AAPPB ต้องส่งคนไปตามเรือนจำต่างๆ เพื่อสอบถามนักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวว่าใครบ้างที่ต้องคดีทางการเมือง ทั้งนี้ในพม่ามีเรือนจำกว่า 42 แห่ง และมีค่ายใช้แรงงานกว่า 109 แห่ง

 

เผยนักโทษการเมืองถูกส่งไปเป็นลูกหาบที่แนวหน้า
ขณะที่ผู้นำชนกลุ่มน้อยถูกปฏิบัติในฐานะ “ศัตรูของรัฐ”

เลขาธิการสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า ยังระบุด้วยว่า สภาพความเป็นอยู่ของนักโทษการเมืองในพม่าอยู่ในสภาพที่เลวร้าย มีกรณีของนักโทษการเมืองรายหนึ่งที่ถูกจับในปี 2551 โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าเขาถูกทางการจับ จนกระทั่งเขาเพิ่งได้รับการปล่อยตัว โดยช่วงที่ถูกจับกุม เขาถูกส่งไปแนวหน้า เพื่อไปเป็นลูกหาบให้ทหารพม่า และเขาเหยียบกับระเบิดจนเสียขาไปหนึ่งข้าง โดยเขาได้รับเงินชดเชยจากการเสียขาประมาณ 6 เหรียญสหรัฐ (180 บาท) นอกจากนี้ยังมีกรณีที่พระสงฆ์ซึ่งถูกทางการจับกุม และถูกส่งไปในค่ายใช้แรงงานและเสียชีวิตด้วย

และหากเป็นผู้นำชนกลุ่มน้อย จะไม่ถูกปฏิบัติแบบนักโทษ แต่จะถูกถือว่าเป็นศัตรูของรัฐ (Enemy of the State) โดยมีกรณีที่ผู้นำชาวกะเหรี่ยงถูกทางการพม่าจับ และไม่ถูกนำไปควบคุมตัวในเรือนจำ แต่ถูกส่งไปควบคุมตัวในค่ายทหารที่เมืองเชียงตุง รัฐฉานแทน หรือผู้นำทางการเมืองที่มีชื่อเสียงอย่างเช่น มิ้นโกหน่าย หรือ ขุนทุนอู ซึ่งเป็นผู้นำชาวไทใหญ่ ก็ถูกส่งไปควบคุมตัวในเมืองชนบทห่างไกล

นายโก โบ จี กล่าวว่า ยังคงมีนักโทษการเมืองกว่า 1,700 คนในเรือนจำ โดยในจำนวนนี้ยังมีอดีตนายกรัฐมนตรีขิ่น ยุ้นต์ ซึ่งเป็นผู้นำในรัฐบาลทหารพม่า อดีตผู้นำนักศึกษาที่ประท้วงในปี 2531 รวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ผู้นำพระสงฆ์ซึ่งมีบทบาทในการประท้วงรัฐบาลเมื่อปี 2550 อย่างพระ อะชิน กัมบิระ (Ashin Gambira) ก็ยังคงถูกจองจำด้วย โดยทางสมาคม AAPPB พยายามจะหาข้อมูลของนักโทษการเมืองเหล่านี้ แม้ว่าทางการพม่าจะปกปิดข้อมูลก็ตาม

 

เรียกร้องทางการพม่ายอมรับว่ามีนักโทษการเมือง-ปล่อยตัว
และล้างข้อมูลอาชญากรเพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตปกติ

ทั้งนี้เลขาธิการสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า เรียกร้องต่อรัฐบาลพม่า 3 ข้อคือ 1. เรียกร้องให้ทางการพม่ายอมรับการมีอยู่ของนักโทษการเมือง 2. ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด 3. ลบล้างข้อมูลอาชญากร (Criminal Record)

โดยที่เรียกร้องให้ลบล้างข้อมูลอาชญากรเนื่องจาก หากไม่มีการลบล้างข้อมูลดังกล่าว อดีตนักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวก็จะไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ หรือดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ เช่น นักโทษการเมืองที่ประกอบอาชีพทนาย ถึงได้รับการปล่อยตัว แต่หากไม่มีการลบล้างข้อมูลอาชญากร เขาก็จะไม่สามารถมีใบอนุญาตประกอบอาชีพทนายได้ หมอก็จะไม่สามารถมีใบประกอบโรคศิลป์เพื่อประกอบอาชีพได้ หากเป็นนักศึกษาก็จะกลับไปเรียนให้สำเร็จการศึกษาไม่ได้ ในกรณีที่เป็นนักการเมืองก็ไม่สามารถตั้งพรรคการเมืองได้ หากยังมีข้อมูลอาชญากรติดตัวอยู่

 

“ไกรศักดิ์” เสนอให้รัฐบาลใหม่พม่ามาดีเบตเรื่องปฏิรูปในไทย
ฝ่ายค้านตั้งปมทางการพม่ารีบเป็นประธานอาเซียนก่อนจัดการเลือกตั้ง 1 ปี

ในการเสวนาดังกล่าวยังมี นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนางขิ่น โอมาร์ (Khin Ohmar) นักกิจกรรมชาวพม่า ผู้ประสานงาน Burma Partnership ด้วย

โดยนายไกรศักดิ์กล่าวว่า “เราควรท้าทาย ‘รัฐบาลใหม่’ ที่เนปยิดอว์ และเชิญเขามาที่นี่ เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปของพวกเขา และดูว่าจะมีข้อมูลประเภทไหนที่เราจะใช้สนทนาและตอบโต้ด้วย”

เขากล่าวด้วยว่าฝ่ายค้านพม่าซึ่งลี้ภัยในประเทศไทยต้องมีพลวัตมากกว่านี้และ “ยอมรับด้วยท่าทีที่ระมัดระวังว่า มีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นในพม่า”

อย่างไรก็ตาม นักกิจกรรมพม่ายังคงตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความพยายามของรัฐบาลพม่า ที่ต้องการล้างภาพของตัวเองในเวทีระหว่างประเทศด้วยการปล่อยนักโทษการเมือง โดยขิ่น โอมาร์ (Khin Ohmar) ตั้งคำถามว่า ทำไม รัฐบาลพม่าถึงต้องกำหนดเส้นตายภายในปี 2557 เพื่อเป็นประธานอาเซียน โดยกล่าวว่า จะมีตัวชี้วัดอื่นหรือไม่ว่ารัฐบาลพม่ากำลังต้องการ ‘ใบรับรอง’

“ที่จริงแล้ว จะมีการสับเปลี่ยนเป็นประธานอาเซียนในปี 2559 แต่จะมีการเลือกตั้งในพม่าอีกครั้งในปี 2558” ขิ่น โอมาร์กล่าว “ทำไมพวกเขาจึงรีบเร่งตอนนี้? ทำไมไม่รอจนกว่าจะมีการเลือกตั้งที่เสรีและโปร่งใสก่อน”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท