Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วิกฤตอุทกภัยไทยปีนี้โด่งดังในระดับนานาชาติ เพราะสื่อมวลชนต่างชาติแพร่ภาพนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่งจมน้ำไปทั่วโลก คนไทยได้เรียนวิชาภูมิศาสตร์นอกหลักสูตรกระทรวงศึกษาฯพร้อมกับชาวต่างชาติผ่าน สื่อมวลชน ได้รู้ว่าไทยมีนิคมฯ ในพื้นที่เสี่ยงต่ออุทกภัยมากมาย ได้เห็นภาพน้ำท่วมถึงท้องเครื่องบินที่สนามบินดอนเมือง ทำให้ต้องลุ้นกันว่าสนามบินสุวรรณภูมิจะจมน้ำไหม? กำเนิดสนามบินสุวรรณภูมิและนิคมอุตสาหกรรม โครงการสนามบินสุวรรณภูมิเริ่มต้นเมื่อ 50 ปีที่แล้วในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ [1] กระทรวงคมนาคมเริ่มเวนคืนที่ดินในบริเวณที่เรียกกันว่า“หนองงูเห่า”ตั้งแต่ยุครัฐบาลสฤษดิ์ สนามบินแห่งใหม่จึงได้ชื่อว่า“สนามบินหนองงูเห่า” หลังเวนคืนและการก่อสร้างระยะแรกก็มีการทบทวนว่าจะสร้างสนามบินหนองงูเห่ากันจริงๆหรือไม่ ในที่สุดการก่อสร้างจริงจังก็เริ่มต้นในยุครัฐบาลอานันท์ 1 หรือรัฐบาลรสช.ซึ่งเป็นรัฐบาลชั่วคราวหลังคณะรสช.ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลชาติชาย การก่อสร้างแล้วเสร็จในยุครัฐบาลทักษิณ 1 เมื่อต้นรัฐบาลทักษิณ 2 สนามบินใหม่ได้รับพระราชทานชื่อทางการว่า“สนามบินสุวรรณภูมิ” สนามบินใหม่เปิดบริการเต็มรูปแบบเพียง 9 วันหลังจากที่รัฐบาลทักษิณ 2 โดนรัฐประหาร ภูมิศาสตร์ของหนองงูเห่าคือแอ่งน้ำ ความหมายของ“หนอง”อ้างอิงได้จากสุภาษิตที่ว่า“เรือล่มในหนองทองจะไปไหน” [2] แม้จะถมที่ดินก่อนสร้างสนามบินแล้ว สนามบินใหม่ยังเสี่ยงต่ออุทกภัยถ้าไม่ทำกำแพงกั้นน้ำสูงๆด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เพราะที่ดินรอบสนามบินเป็นที่ต่ำซึ่งรองรับน้ำตามธรรมชาติ ทำให้เกิดคำถามว่าในอดีตบรรดาสถาปนิกไทยไม่ต่อต้านโครงการสนามบินใหม่กันหรือ? ดิฉันคิดว่าสถาปนิกจำนวนมากไม่น่าจะเห็นด้วยกับโครงการสนามบินหนองงูเห่าแต่ไม่กล้าต่อต้านเพราะหวาดกลัวอำนาจของรัฐบาลทหาร ไม่ว่าภูมิศาสตร์ของสนามบินใหม่เป็นอย่างไร โครงการสนามบินใหม่เป็นจุดขายสำคัญของผู้พัฒนานิคมฯตั้งแต่ยังไม่เริ่มสร้างสนามบิน ด้วยเหตุนี้นิคมฯยุคแรกจึงอยู่ไม่ไกลจากหนองงูเห่า ผู้พัฒนานิคมฯคือบริษัทเอกชนและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ก่อตั้งโดยรัฐบาลถนอม นิคมฯแห่งแรกของไทยคือนิคมฯนวนครของเอกชนในจ.ปทุมธานี (เปิดปี2514) [3] นิคมฯต่อมาเป็นนิคมฯของกนอ. กล่าวคือ นิคมฯบางชันที่เขตคันนายาวและมีนบุรี (เปิดปี 2515) นิคมฯบางปูทีจ.สมุทรปราการ (เปิดปี 2520) ส่วนนิคมฯภาคตะวันออกเริ่มจากนิคมฯแหลมฉบัง (เปิดปี 2525) ซึ่งพัฒนาควบคู่กับท่าเรือแหลมฉบังในจ.ชลบุรี [4] นโยบายที่ส่งเสริมการพัฒนานิคมฯที่สุดคือสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนจากบีโอไอ (BOI) หรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนซึ่งถือกำเนิดในรัฐบาลสฤษดิ์ อาทิ นโยบายยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล นโยบายยกเว้นหรือลดหน่อยอากรขอเข้าสำหรับเครื่องจักร ฯลฯ [5] ความสำเร็จของนิคมฯรุ่นแรกทำให้ราคาที่ดินใกล้นิคมฯรุ่นแรกปรับตัวสูงขึ้นและผลักดันให้นิคมฯรุ่นหลังห่างไกลจากหนองงูเห่ามากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีนิคมฯในหลายจังหวัดจากเหนือลงใต้ดังต่อไปนี้ ลำพูน พิจิตร อยุธยา นครราชสีมา สระบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี กรุงเทพฯ ชลบุรี ราชบุรี ระยอง สมุทรปราการ สมุทราสาคร สงขลา และปัตตานี มีทั้งนิคมฯที่พัฒนาโดยกนอ. นิคมฯเอกชน และนิคมฯที่กนอ.พัฒนาร่วมกับเอกชน นิคมอุตสาหกรรมในภาคอีสาน ปัจจุบันภาคอีสานมีนิคมฯแห่งเดียวคือนิคมฯสุรนารีที่จ.นครราชสีมาซึ่งเป็นนิคมฯเอกชน ในอดีตกนอ.เคยพัฒนานิคมฯที่จ.ขอนแก่นร่วมกับเอกชนแต่กนอ.ถอนตัวไปเพราะขาดทุน เอกชนทำนิคมฯต่อไปแต่กลายเป็นนิคมฯร้าง โครงการนิคมฯของกนอ.มักโดนเอ็นจีโอต่อต้านด้วย 2 เหตุผล หนึ่งคือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สองคือเรียกร้องให้คนท้องถิ่นมีส่วนร่วมตัดสินใจ ดิฉันเห็นด้วยกับเหตุผลที่สอง ส่วนเหตุผลแรกนั้นดิฉันคิดว่าเอ็นจีโอตัดสินใจแทนคนท้องถิ่นไม่ได้ ผลดีจากนิคมฯที่ชัดเจนคือการสร้างงาน ถ้านิคมฯขอนแก่นประสบความสำเร็จก็อาจจะทำให้คนขอนแก่นบางกลุ่มเลิกเห็น“เขยฝรั่ง”เป็นบันไดไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต [6] [7] ดิฉันไม่ทราบว่านิคมฯ(ร้าง)ที่ขอนแก่นจมน้ำเหมือนนิคมฯโรจนะและนิคมฯนวนครหรือไม่ แต่ขอนแก่นก็ไม่ได้รอดพ้นจากอุทกภัยครั้งนี้ จังหวัดอื่นในภาคอีสานที่รอดพ้นจากวิกฤตอุทกภัยน่าจะเหมาะต่อการสร้างนิคมฯมากกว่า เช่น สกลนคร และจังหวัดบนที่สูงระหว่างภาคอีสานและภาคเหนืออย่างเลยหรือเพชรบูรณ์ ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากต่อความสำเร็จของนิคมฯคือระบบขนส่งสินค้า ขอนแก่นได้เปรียบสกลนคร เลย และเพชรบูรณ์ตรงที่สนามบินมีเทียวบินมากกว่า แต่ดิฉันคิดว่าไม่ควรใช้สนามบินเป็นจุดขายของนิคมฯเพราะขนาดของไทยไม่ใหญ่โตแบบสหรัฐฯและการขนส่งสินค้าด้วยเครื่องบินราคาแพง รถไฟฟ้ารางคู่แบบญี่ปุ่นเหมาะสมต่อการขนส่งสินค้าบนบกมากกว่าเครื่องบินและจะช่วยสร้างชุมชนด้วย ปัจจุบันสหรัฐฯอาศัยทั้งเครือข่ายรถไฟฟ้าและรถบรรทุกเพื่อขนถ่ายสินค้าจากท่าเรือ นอกจากนี้จีนซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับสหรัฐฯก็พัฒนาระบบขนส่งระหว่างภูมิภาคด้วยรถไฟฟ้าเช่นกัน ทั้งรัฐบาลจีนและรัฐบาลญี่ปุ่นสนใจสนับสนุนด้านทุนถ้าไทยหันมาพัฒนาเครือข่ายรถไฟฟ้าระหว่างภูมิภาคอย่างจริงจัง อิทธิพลของสงครามต่อภูมิศาสตร์การพัฒนา กองทัพญี่ปุ่นสร้างทางรถไฟที่กาญจนบุรีเพื่อลำเลียงทหารและอาวุธไปตีพม่าในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ฉันใด รัฐไทยก็สร้างทางรถไฟและทางหลวงแผ่นดินสู่ภาคอีสานเพื่อรวมศูนย์อำนาจการเมืองฉันนั้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างทางรถไฟไปโคราชหลังเซ็นสนธิสัญญาเบาวริง หรือการสร้างทางหลวงแผ่นดินสู่ภาคอีสานในยุคสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนามร่วมกับกองทัพสหรัฐฯ สนามบินมากมาย (ซึ่งปัจจุบันหลายแห่งการเป็นสนามบินพาณิชย์แต่บางแห่งก็กลายเป็นสนามบินร้าง) ถือกำเนิดในยุคสงครามเย็นเพื่อลำเลียงปัจจัยให้กองทัพสหรัฐฯ แต่ในยุคสงครามเย็นสกลนคร เลยและเพชรบูรณ์ไม่มีบทบาททางเศรษฐกิจมากเพราะมีเขตที่จัดเป็น “พื่นที่สีแดง”ทำให้มีความเสี่ยงสูงและไม่ดึงดูดการลงทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน สงครามเย็นจบลงตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว แต่รัฐไทยโดยเฉพาะกองทัพไทยยังไม่ปรับตัวเข้ากับสมดุลใหม่ของระบบเศรษฐกิจโลก การก่อสร้างสนามบินใหม่ที่หนองงูเห่าซึ่งเป็นมรดกจากรัฐบาลเผด็จการทหารในอดีตและหยุดไประยะหนึ่งได้เริ่มต้นอีกครั้งด้วยมติครม.รัฐบาลอานันท์ 1 หรือรัฐบาลรสช.ซึ่งเป็นรัฐบาลชั่วคราวหลังรัฐประหาร ปัจจุบันทหารอากาศยังร่วมบริหารสนามบินสุวรรณภูมิในลักษณะที่คล้ายคลึงกับการบริหารสนามบินดอนเมือง การบริหารดังกล่าวแตกต่างจากการบริหารสนามบินพาณิชย์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะกองทัพในประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ร่วมบริหารสนามบินพาณิชย์ มาสายดีกว่าไม่มา (Better late than never.) บทบาทของกองทัพในการประสานงานกับรัฐบาลให้ทหารเกณฑ์และพลทหารระดับนายสิบช่วยบรรเทาวิกฤตอุทกภัยนั้นเป็นนิมิตหมายที่ดี แต่นั่นเป็นเพียงก้าวเล็กๆสู่การปรับตัวของกองทัพในยุคหลังสงครามเย็นที่จบไปตั้ง 20 ปีแล้ว ปัจจุบันกองทัพยังไม่มีท่าทีว่าจะเลิกใช้ทหารเกณฑ์ต่อรองผลประโยชน์จากกระทรวงการคลัง สัปดาห์นี้กองทัพบกเพิ่งเสนอให้กระทรวงการคลังขึ้นเบี้ยเลี้ยงรายวันของทหารเกณฑ์ที่ปฎิบัติการบรรเทาวิกฤตอุทกภัย [7] โปรดสังเกตว่ากองทัพไม่พยายามลดงบประมาณซื้ออาวุธเพื่อขึ้นเบี้ยเลี้ยงให้ทหารเกณฑ์ และกองทัพไม่มีท่าทีว่าจะยกเลิกระบบทหารเกณฑ์เพราะทหารเกณฑ์เป็นฐานอำนาจต่อรองที่สำคัญ (ดิฉันจะอธิบายถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจของระบบทหารเกณฑ์แบบไทยๆในโอกาสหน้า) สงครามเย็นจบไปแล้วดังนั้นไทยไม่จำเป็นต้องรวมศูนย์ทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ ไม่สายเกินไปที่ไทยจะเลิกนโยบาย“กรุงเทพฯคือประเทศไทย”ด้วยการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้ารางคู่เพื่อเชื่อมภาคอีสานกับท่าเรือแหลมฉบังในภาคตะวันออก โครงการดังกล่าวสามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายขนส่งสินค้าจากภาคเหนือและประเทศลาว(ซึ่งเชื่อมต่อกับจีน)ในอนาคต ปัจจุบันสนามบินเชียงใหม่มีเที่ยวบินตรงระหว่างเชียงใหม่และเกาหลีใต้ เกาหลีใต้เป็นศูนย์กลางการบินนานาชาติที่ไม่น้อยหน้าญี่ปุ่นโดยเฉพาะเที่ยวบินเข้าทวีปอเมริกา การขยายสนามบินเชียงใหม่ควบคู่กับการสร้างรถไฟฟ้าเชื่อมภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคตะวันออกน่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจไทยในระยะยาวได้มากกว่าสนามบินสุวรรณภูมิ ถ้าไทยจะขุดคอคอดกระในอนาคตก็ใช้เรือเชื่อมท่าเรือแหลมฉบังกับคอคอดกระได้ นอกจากนี้การพัฒนาระบบขนส่งภาคอีสานจะช่วยถ่ายเทพลเมืองและความแออัดออกจากกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่สำคัญที่สุด บีโอไอควรเลิกสนับสนุนการลงทุนเพิ่มในพื้นที่เสี่ยงต่ออุทกภัยโดยเฉพาะพื้นที่รอบๆสนามบินสุวรรณภูมิ พื้นที่ตามลุ่มน้ำเจ้าพระยา และพื้นที่ใต้เขื่อนขนาดใหญ่ บีโอไอน่าจะหันมาให้สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนโครงการรถไฟฟ้ารางคู่เพื่อเชื่อมภาคอีสานกับท่าเรือที่ภาคตะวันออก และให้สิทธิประโยชน์เพื่อการพัฒนานิคมฯที่จังหวัดทีมีพื้นที่สีแดงในอดีตแต่มีภูมิศาสตร์เหมาะสม ดิฉันไม่สนับสนุนให้ทั้งกนอ.และเอ็นจีโอเป็นผู้ตัดสินใจสร้างหรือไม่สร้างนิคมฯ พลเมืองในแต่ละจังหวัดควรมีสิทธิพิจารณาข้อเสนอจากกนอ.และตัดสินใจกันเอง เราย้าย“มรดกเจ้าคุณปู่”อย่างสนามบินสุวรรณภูมิและนิคมฯในเขตอุทกภัยไปที่อื่นไม่ได้ ทำได้อย่างมากแค่ป้องกันอุทกภัยเพื่อทำกำไรจากสนามบินสุวรรณภูมิและนิคมฯให้นานพอที่จะคุ้มทุน ต้องคำนวณว่าค่าป้องกันอุทกภัยเท่าไรและต้องทำกำไรจาก“มรดกเจ้าคุณปู่”อีกกี่ปีถึงจะคุ้มทุน ส่วนนิคมฯเก่าที่คุ้มทุนแล้วบีโอไอควรให้สิทธิประโยชน์เพื่อสนับสนุนให้บริษัทในนิคมฯย้ายไปนิคมฯอื่นที่ปลอดอุทุกภัย หมายเหตุ [1] ประวัติความเป็นมาของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ [2] พจนานุกรมฉบับราชบัณทิตยสถานฉบับปี พศ. 2542 ซึ่งเกิดหลังสุภาษิตไทยให้คำจำกัดความของคำว่า”หนอง”ว่า (1) แอ่งน้ำ หรือ (2) นํ้าเลือดเสียกลายเป็นสีขาวข้นที่กลัดอยู่ตามแผลและฝี [3] นิคมฯนวนคร [4] ข้อมูลนิคมฯที่กนอ.มีส่วนร่วมพัฒนา [5] สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน [6] กนอ.รุดรับฟังเหตุผลขอจัดตั้งนิคมฯขอนแก่น (19 มีนาคม 2553) [7] \เขยฝรั่ง\" มาร์ติน วีลเลอร์ เปิดอกโต้ข้อกล่าวหาต่างด้าว \"แย่งที่ดิน\" (30 มิถุนายน 2554) [8] กองทัพเล็งเพิ่มเบี้ยเลี้ยงทหารช่วยน้ำท่วมเป็น 214บาทต่อวัน (1 พฤศจิกายน 2554)"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net