Skip to main content
sharethis

\องอาจ เดชา\" สัมภาษณ์ \"คำรณ คุณะดิลก\" นักการละครหนึ่งในผู้บุกเบิก \"พระจันทร์เสี้ยวการละคร\" ทั้งเรื่องการละคร และการสื่อสารแนวราบ โดยเขายังเชื่อว่าละครมีพลังอยู่ \"แต่อย่าประเมินสูง\" ‘คำรณ คุณะดิลก’ ถือว่าเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกวงการละคร ‘พระจันทร์เสี้ยว’ ปัจจุบันวิถีเขายังคงวนเวียนเกี่ยวกับสื่อการละครอยู่ และเฝ้ามองกลุ่มละครรุ่นใหม่อยู่ด้วยความสนอกสนใจ ล่าสุด เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเขาได้เข้าร่วมงานกิจกรรมเสวนา ละครเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริงหรือ? ซึ่งมูลนิธิสื่อชาวบ้าน(มะขามป้อม) ร่วมกับภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดขึ้น ณ โรงละครมะขามป้อม อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยมีนักวิชาการ นักการละคร ศิลปินหลายแขนง 20 ชาติเข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง เขาบอกว่า เรื่องของละครมันหนีไม่พ้นเรื่องของมนุษย์ เรื่องของมนุษย์มันจะเจอกับเหตุการณ์ทุกรูปแบบ ซ้ายขวาหน้าหลัง ในลักษณะของเผด็จการ แต่การครอบงำมันไม่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของมนุษย์ มันไม่เห็นศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ไม่เห็นการยอมรับความแตกต่างอย่างแท้จริง นี่มันเป็นเรื่องที่ต้องอยู่ในการเล่าเรื่องแบบละคร ในฐานะที่อาจารย์เป็นรุ่นปรมาจารย์ในการทำสื่อละคร มองละครว่ายังสามารถใช้หรือว่าทำประโยชน์ให้กับสังคมอย่างไรบ้าง ? มันก็อยู่ขึ้นกับทัศนะคติที่เรามองโลก ถ้าเรามองว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันสัมพันธ์กัน เหมือนผลสะท้อนของผีเสื้อขยับปีกสะเทือนถึงดวงดาว ก็ต้องขยับด้วยทั้งกายทั้งใจ ดังนั้น จริงๆแล้วศิลปะการละครคือการเล่าเรื่องราวต่างๆ เป็นการเล่าเรื่องรูปแบบหนึ่ง โดยมากคนเราตกเป็นทาสของเรื่องเล่าในอดีตเรื่องเล่า เล่ากันมาตั้งแต่สมัยเริ่มต้นเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติแล้วก็เปลี่ยนให้คนนี้เป็นเทพเจ้าฝ่ายดี ฝ่ายเลวเข้ามา ศาสนาเริ่มเข้ามา เริ่มมีเรื่องเล่าอะไรต่างๆ เข้ามา แล้วเรื่องเล่าพวกนี้มันยึดครองให้ระบบคุณค่าส่วนตนของเรา เป็นตัวกำหนดว่าเราจะมองโลกแค่ไหน เราจะเปิดกว้างไหม เราจะเห็นเฉพาะให้สิ่งที่เราต้องการจะเห็น เพราะฉะนั้น มันมีเรื่องเล่าที่ถูกคนเล่าสร้างความหมายไว้เยอะแยะ แล้วเป็นความหมายที่สอดคล้องกับกลไกที่มีอำนาจทางสังคม อย่างเรื่องการให้ความหมายของข่าวออกมา หรือคนพูดกันก็ตาม มันถูกให้ความหมายมาแล้วดังนั้น หน้าที่ของเรา ก็คือ บางครั้งในการเล่าเรื่อง เราต้องแย่งชิงการให้ความหมายที่ถูกต้องกลับมา ละครในฐานะเป็นเรื่องเล่า เราก็ต้องเข้าไปแย่งชิงการให้ความหมายกลับมา มันขึ้นอยู่กับใครเป็นคนเล่าเรื่อง ถ้าเรามีโอกาสเล่าเรื่อง มีโอกาสการแย่งชิงการให้ความหมายได้ คือหลักการให้ความหมายใหม่ของเรา หรือการเอาเรื่องเดิมมาเล่าใหม่ในมุมมองอีกแบบหนึ่งได้ มีหลายคนยังคงมองว่าละคร (โดยเฉพาะยุคก่อน) ยังอยู่เฉพาะในแวดวงของชนชั้นสูง ? มันอยู่ที่ว่าเรามองศิลปะการละครยังไง ศิลปะการละครมันมีหลากหลายรูปแบบ เราก็จะเห็นละครนอก ละครใน ในลักษณะของชาวบ้านการเล่าเรื่องสนุก การเชิดหนังตะลุงชาวบ้านก็มีของเขาอยู่ แต่ในยุคหนึ่งสมัยจอมพล ป. เอาเข้ามาที่ศูนย์กลาง เป็นชนชั้นสูงบ้าง แต่ถ้าอยากจะให้มันเป็นแบบแผนอย่างเดียวกันมันก็ทำลายลักษณะที่เราอยากให้มันเกิดการกระจายทางอำนาจ ทางวัฒนธรรม เดี๋ยวนี้ทางอีสาน เซิ้งกระติบข้าว ก็สะบัดตูดแบบกรมศิลป์กันหมด ซึ่งจริงๆ แล้วมันมีมากกว่านั้น แต่เราชอบมุ่งไปทางด้านการแสดงออก พอเราเริ่มทำละครจริงๆ ก็คือในฐานะที่เราเป็นคนเล่าเรื่อง เราต้องตระหนักเสมอเลยว่า เอาเรื่องนี้มาเล่าตอนนี้ ที่ตรงนี้ กับคนอย่างนี้ แล้วไงล่ะ เพราะอะไรล่ะ ทำไมถึงเอาเรื่องนี้มา เพราะอะไร มันจะต้องมีอย่างนี้ อยู่ตรงนี้เอง มันก็เป็นการที่เราเข้าไปมีส่วนปฏิสัมพันธ์กับเรื่องของสังคม เรื่องของละครมันหนีไม่พ้นเรื่องของมนุษย์ เรื่องของมนุษย์มันจะเจอกับเหตุการณ์ทุกรูปแบบ ซ้ายขวาหน้าหลัง ในลักษณะของเผด็จการ แต่การครอบงำมันไม่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของมนุษย์ มันไม่เห็นศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ไม่เห็นการยอมรับความแตกต่างอย่างแท้จริง นี่มันเป็นเรื่องที่ต้องอยู่ในการเล่าเรื่องแบบละคร และต้องอยู่ในกระบวนการของการฝึกฝนของการละครด้วย ไม่ใช่เรามองที่จะให้เปลี่ยนแปลงข้างนอก การเปลี่ยนแปลงองค์กรการเปลี่ยนแปลงปัจเจกบุคคลต้องมี เรามีโอกาสที่เข้าไปปะทะกับปัญหาหรือปรากฏการณ์ เราเรียนรู้ปัญหาและปรากฏการณ์นั้น เราเปลี่ยนความคิดข้างในหน้าที่พอเราเปลี่ยนแล้ว เราก็อยากจะจำลองสภาพปรากฏการณ์อันนี้ เคลื่อนย้ายมันข้ามพื้นที่และกาลเวลาไปสู่อีกคนหนึ่ง ถ้าเราสามารถจำลองได้ดี ก็เหมือนกับเขาไปปะทะกับปรากฏการณ์โดยตรง แล้วเขาก็จะเปลี่ยนได้ แล้วก็จะมีเรื่องราวการเคลื่อนไหวของสังคม การเก็บข้อมูลในการทำละครก็สำคัญเหมือนกัน ? ใช่ ที่สำคัญก็คือว่าข้อมูล ข้อเท็จจริงมันไม่สามารถเปล่งประกายความหมายได้อย่างเต็มที่ อย่างยกตัวอย่างเรื่องเขื่อนปากมูน บางคนบอกไม่ค่อยรู้เรื่องราวเลย เรื่องเขื่อนปากมูนนี่ออกมามาเยอะเลยนะ แต่มันไม่โดนใจ แต่เรื่องยายไฮ มันโดน เรื่องปู่เย็นมันโดนใจ และการโดนใจมันทำให้เราได้แนวร่วม ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงแนวร่วมขึ้นไป ดังนั้นถึงบอกว่าข้อเท็จจริงไม่มีความหมาย ตราบใดที่คุณยังไม่ทำตามกระบวนการการเรียงร้อยเรื่องราว และการนำเสนอที่น่าสนใจ เร้าใจ ตรึงใจ มันถึงจะเปล่งความหมายได้ เราบอกว่า โลกนี้คือละคร บางคนบอกว่ามันเฟค (ปลอม) ไม่ใช่ จริงๆ แล้วในละครมันมีความจริงยิ่งกว่าชีวิตจริง เพราะในละคร ถ้าเราจัดการนำเสนอที่ดี เราจะตัดสิ่งซึ่งไม่เป็นสารัตถะออก คนเราวันหนึ่งอาจจะช่วงชีวิตสักครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมงที่เรามองต้นหญ้า เห็นอะไร บทกวีผุดขึ้นในใจ ช่วงเวลานั้นแหละมันมีสารัตถะ มันเป็นความจริง แล้วละครเราจับสารัตถะมาเรียงร้อย แล้วทำให้มันเข้มข้นขึ้นในเวลาจำกัด อาจารย์ยังเชื่อมั่นในพลังของละครอยู่ไหม ? มี ยังมีพลังอยู่ แต่ว่าอย่าประเมินตนเองสูง การต่อสู้ของพวกเรา (นักทำละคร) เราเป็นชนกลุ่มน้อย มันต้องสะสม มันต้องระยะยาว ไม่สามารถเห็นเปลี่ยนพลิกผัน มันต้องค่อยๆ เริ่มสร้างขึ้นมา แต่แน่นอน เราก็ต้องต่อสู้กระทุนนิยมต่างๆ ที่มันก็มาแรง ดังนั้น การเคลื่อนไหวการละคร มันก็ต้องเคลื่อนไหวไปพร้อมกับวัฒนธรรมร่วมกันด้วย ต้องจัดการตัวของมันเองให้แข็งขึ้น สังคมมันเปลี่ยนไปเยอะ เปลี่ยนไปอีกรูปแบบหนึ่งแน่นอน เราจะต้องเห็นการปะทะกันระหว่างทุนนิยมกับแนวพอเพียง มาถึงตอนนี้ อาจารย์มองกลุ่มละครรุ่นใหม่ตอนนี้ยังไงบ้าง ? กลุ่มละครรุ่นใหม่ตอนนี้ มันเริ่มการขยายตัวตามแนวราบ แนวกว้างมาก ดังนั้นลักษณะการรียูเนียน (การกลับมารวมกันใหม่) มันต้องประเมินตนเอง ต้องประเมินให้ชัดเจน ต้องวางยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนว่า ยุทธศาสตร์ของสื่อภาคประชาชนคืออะไรแน่ ยุทธศาสตร์ของสื่อภาคประชาชน ที่สำคัญที่สุด คือ การปลดปล่อยภาคประชาชนจากการครอบงำของสื่อกระแสหลัก การปลดปล่อยประชาชนจากการครอบงำของสื่อโทรทัศน์ การแย่งชิงการให้ความหมายใหม่ของศิลปะการละคร แม้กระทั่งสิ่งที่เราคิดว่าดี ถูกต้อง เราก็จะไม่ยัดให้เขา อันนั้นเป็นเผด็จการ โฆษณาชวนเชื่อ เราทำอย่างนี้ปัจเจกชนผู้รักสื่อไม่เติบโต เราต้องไปปฏิสัมพันธ์กับเขา ให้เขามีโอกาสเข้ามาร่วม มีโอกาสคิด มีโอกาสกระจายออกมาประเมินจากข้างใน ดูเหมือนว่าอาจารย์จะหันมาสนใจละครชาวบ้าน หรือสื่อทางเลือกมากขึ้น ? ในการเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งหมด ถ้าเผื่อเอาผลสำเร็จ ก็ต้องให้คนดีขึ้น ไม่ว่าคุณจะใช้วิธีที่เลวร้ายยังไง ถ้าเผื่อมรรคหรือทิศทางตรงนี้มันไม่ถูกต้อง แล้วอย่าไปหวังผลว่าสุดท้ายมันจะออกมาถูกต้องได้เด็ดขาด ละครของสื่อทางเลือกเราพูดกันว่า เลือกเล่นบนลานดิน แม้ไร้ศิลป์แต่มีศักดิ์ ยุคสมัยชังเรานัก แต่เรารักประชาชน ความจำเป็นของเราเพื่อสนองความต้องการมันน้อยนิดเดียว แต่ตอนนี้ที่มันมากเพราะว่าเราต้องการสนองความต้องการเกี่ยวสังคม แค่ลำพังบ้าน ที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค เราสามารถจัดการได้ง่ายๆ แต่ยิ่งความต้องการขั้นต่ำของคุณมากแค่ไหน อิสรภาพของคุณก็น้อยลง ถ้าเราทำให้ความต้องการขั้นต่ำของเราให้น้อยลง เราก็มีอิสรภาพในการที่จะทำงานอะไรมากมาย เราสามารถปรับแปรการเคลื่อนไหวได้ในระดับแท็กติก หลังๆ มานี้ ก็อยู่ที่ว่าเรา (นักวิชาการการละคร) มีปัญญาเทรนด์คนผู้ปฏิบัติการของเราให้ลงลึกแค่ไหน ให้มีความเข้าใจในตัวเองมากแค่ไหน ไม่อย่างนั้นเราก็เป็นตัวที่ให้ดาบเขาไปฟาดฟันเรากับเพื่อนฝูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันที่สอนละครทั้งหลายแหล่ ปลีกตัวคนเข้าโทรทัศน์ ทำโฆษณา เขาก็สอนตามฝรั่งที่ว่ากันมาไปทางด้านนั้น แต่ไม่มีมิติของมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net