Skip to main content
sharethis

พรรคประชาธิปัตย์เสนอ 8 แนวทางแก้ไขน้ำท่วม ด้าน “นาวิน ต้าร์” อาจารย์เกษตรศาสตร์ อดีตนักร้องดัง แนะรัฐฯ เตือนสถานการณ์น้ำท่วมให้ชัดเจน แปลกใจคนมองมุมกลับอยากให้ท่วมๆ ไปเลยแทนที่จะต้องมาเหนื่อยกับการลุ้นจะท่วมไม่ท่วม 6 พ.ย. 54 - สำนักข่าวไทยรายงานว่านายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่าพรรคขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม 8 ข้อ ให้รัฐบาลดำเนินการคือ 1.ให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงกับประชาชน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับรู้ในสิ่งที่ต้องเผชิญ 2.ขอให้รัฐบาลมีความชัดเจนเรื่องการจัดทำแผนอพยพและการจัดตั้งศูนย์อพยพที่มีประสิทธิภาพ 3.การดูแลความปลอดภัยให้ประชาชน ในขณะที่ประชาชนต้องอพยพออกจากบ้าน ตำรวจควรจัดชุดปฏิบัติการเพื่อเข้าดูแลพื้นที่ที่รัฐบาลสั่งอพยพ โดยจัดให้มีเรือท้องแบนสำหรับการออกตรวจดูแลความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเพียงพอ 4.การชดเชยความเสียหายให้ประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ในเส้นทางที่น้ำไหลผ่านหรือท่วมขัง โดยควรประกาศมาตรการชดเชยที่เพียงพอและเหมาะสม เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าหลังจากสถานการณ์คลี่คลายแล้ว จะสามารถฟื้นฟูและมีหลักประกันในการกลับมาใช้ชีวิตให้เป็นปกติโดยเร็ว 5.รัฐบาลควรมีมาตรการเสริมอื่น ๆ ในการอำนวยความสะดวกกับประชาชนในการใช้ชีวิตในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้ เช่นการยกเลิกการเก็บค่าบริการทางด่วน ค่าบริการรถโดยสารสาธารณะ รถไฟฟ้า BTS รถไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อลดภาระให้ประชาชนที่ยังจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร 6.รัฐบาลควรมีมาตรการที่ชัดเจนในการควบคุมปริมาณและราคาของสินค้าจำเป็นให้เพียงพอเหมาะสม โดยตั้งศูนย์กระจายสินค้าราคาถูกในแต่ละพื้นที่ ชุมชน เพื่อให้ประชาชนที่ประสบภัยสามารถเข้าถึงสินค้าได้ง่าย ราคาประหยัด บรรเทาปัญหาค่าครองชีพในขณะนี้ 7.เรียกร้องให้รัฐบาลจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังด้านสาธารณสุข เพราะน้ำที่ท่วมขังเวลานานเริ่มน้ำเสีย อาจเกิดสถานการณ์โรคที่มากับน้ำ และ 8.รัฐบาลควรใช้โอกาสที่ประชาชนจำนวนมากต้องอพยพออกนอกพื้นที่จัดโครงการฝึกอาชีพ หรือฝึกอบรมความรู้ ทักษะทางวิชาชีพเพิ่มเติมที่สอดคล้องกับความต้องการแรงงานหลังน้ำลด เพื่อให้ประชาชนมีงานรองรับและรัฐก็จะได้ประโยชน์จากการใช้แรงงานในการฟื้นฟูและบูรณะสิ่งต่าง ๆ ของประเทศภายหลังน้ำลด. “ต้าร์” แนะรัฐฯ เตือนน้ำท่วมให้ชัดเจน ประชาชนจะได้รับมือทัน ด้าน ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า “ต้าร์ นาวิน เยาวพลกุล” ในฐานะอาจารย์ภาคคณะวิชา เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า... “จากนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาเรารู้สึกเลยว่าคนเหนื่อยกับความไม่แน่นอนจากเหตุการณ์นี้ ฉะนั้นรัฐบาลต้องพยายามทำอะไรก็ได้ที่ทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตช่วง1-2 เดือนต่อจากนี้เป็นชีวิตที่แพลนมาแล้ว การแก้ไขของรัฐบาลต้องเตือนให้แน่ให้ชัดว่าเขาจะต้องทำอย่างไรกับสถานการณ์ตอนนี้ แบบนี้ ถ้ารัฐบาลเตือนได้แบบนี้ชีวิตของประชาชนก็จะมีความสุขมากขึ้น” “มองๆ ไปมันก็เป็นเรื่องตลกดี ในมุมมองของพฤติกรรมของประชาชนที่มองปัญหาน้ำท่วม แรกเริ่มเรามองที่ความเสี่ยงก่อนว่าจะท่วมหรือว่าไม่ท่วมก่อน มากน้อยแค่ไหนอย่างไรแล้วเราค่อยมานั่งบริหารความเสี่ยงตรงนั้นว่าเราจะสามารถจัดการกับมันได้มากน้อยแค่ไหน\ \"แต่ความตลกในเชิงพฤติกรรมของคนปัจจุบันตอนนี้คือคนกลับไปคิดว่ามันเหนื่อยกับการที่จะบริหารความเสี่ยงที่มีระยะเวลานานมาก สู้ให้ตอนนี้มันท่วมรู้แล้วรู้รอดไปเลย หรือสู้บอกมาเลยดีกว่าว่าจะท่วมหรือไม่ท่วมดีกว่าให้มานั่งลุ้น นี่คือความคิดของคนส่วนใหญ่” “ที่ว่ามันตลกก็เพราะในค่าของความเสี่ยง ต้นทุนของความเสี่ยงมันสูงมากกว่ากว่าการให้น้ำท่วมไปเลย คนคิดแบบนี้ก็แปลกดีนะ มันเป็นรูปแบบการตอบสนองพฤติกรรมของประชาชนที่ตอนนี้คิดแบบนี้ มันตลกดี มันเป็นความคิดที่อยู่นอกกรอบ มันเสี่ยงต่อความคาดหมายของคน หมายถึงคนกรุงเทพฯ ที่ต้องมานั่งลุ้นมากกว่าการที่น้ำจะท่วมจริง”"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net