รายงาน: ปฏิบัติการโจมตีศูนย์ทนายฯ เตือนภัยถล่มเมืองชายแดนใต้

ในห้วงประมาณ 10 วัน ตั้งแต่ช่วงวันครบรอบ 7 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส 25 ตุลาคม 2554 เป็นต้นมา เกิดเหตุไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้รวมแล้วไม่ต่ำกว่า.... ครั้ง กว่า 86 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 21 คน บาดเจ็บ 98 ราย ขณะเดียวกัน กำลังจะถึงวันอีดิ้ลฮัฎฮา วันสำคัญทางศาสนาอิสลามอีกวันหนึ่ง ซึ่งปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน 2554 ในห้วงเดียวกันนั่น มีปรากกฎการณ์หลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติการเปลี่ยนตัวเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2554 จากนายภาณุ อุทัยรัตน์ เป็นพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ไปจนถึงการเคลื่อนไหวคัดค้านการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้กันอย่างคึกคักของกลุ่มองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่ แต่การเรียกร้องดังกล่าวก็ยังถูกท้ายทาย เดินสายคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปัจจุบัน พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือเรียกง่ายว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูกประกาศใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มาเป็นครั้งที่ 25 แล้ว โดยมีอายุการใช้ครั้งละไม่เกิน 3 เดือน ครั้งล่าสุดมีอายุตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน ถึงวันที่ 19 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2550 อันเป็นกฎหมายพิเศษที่ฝ่ายรัฐใช้ในการแก้ปัญหาความไม่สงบ ถูกต่อต้านจากหลายกลุ่มองค์กร เนื่องจากเห็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐใช้โอกาสในการละเมิดสิทธิผู้ถูกควบคุมตัว จนนำมาสู่การเสียชีวิตของผู้ถูกควบคุมตัวมาแล้วรายคน หนึ่งในองค์กรที่เป็นหัวหอกหลักในการคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านกำหมายแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ร่วมทั้งเป็นทนายความให้กับจำเลยในคดีความมั่นคงร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม การเคลื่อนไหวคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างคึกคักครั้งล่าสุด มีขึ้นหลังจากการควบคุมตัวนายนิเซ๊ะ นิฮะ อายุ 43 ปี นักกิจกรรมที่เคยผ่านการเคลื่อนไหวในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อปี 2535 ที่บ้านเลขที่ 32/5 หมู่ที่ 3 ตำบลตะลุโบะ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี เมื่อช่วงรุ่งเช้าของวันที่ 16 กันยายน 2554 โดยทหารกลุ่มหนึ่ง โดยอ้างการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก จากนั้น นายนิเซ๊ะถูกนำตัวไปควบคุมในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี จนเกือบครบ 7 วัน ในวันที่ 22 กันยายน 2554 นายนิเซ๊ะก็ถูกตำรวจสถานีตำรวจภูธรกะพ้อ อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี ขอควบคุมตัวต่อตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และถูกย้ายไปควบคุมตัวที่ศูนย์พิทักษ์สันติ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่โรงเรียนตำรวจภูธร 9 จังหวัดยะลา ระหว่างที่ถูกควบควบคุมตัวที่ศูนย์พิทักษ์สันติ นายนิเซ๊ะ ได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งด้วยลายมือลงในกระดาษขาวส่งให้ญาตินำออกมาเปิดเผยต่อสังคม เป็นจดหมายที่มีแต่ร่องรอยพับจนเล็ก พร้อมลงลายมือชื่อ ระบุวันที่ 1 ตุลาคม 2554 มีเนื้อหาว่า “ข้าพเจ้านายนิเซ๊ะ นิฮะ ยังมีสติสมัญชญะดี ร่ายกายแข็งแรง หลังจากนี้ถ้าหากมีอะไรในกระบวนการซักถามในชั้น พ.ร.ก. ข้าฯ นายนิเซ๊ะ นิฮะ จะไม่ให้การใดทั้งสิ้น นอกจากจะยืนยันคำให้การเดิม ถ้าหากเกิดอะไรขึ้นแก่ข้าฯ ไม่ว่าร่างกายหรือชีวิต หรือกรณีใดก็ตาม ข้าฯ ขอเขียนหนังสือนี้เป็นลายลักษณ์อักษรไว้เป็นหลักฐาน เพื่อดำเนินการต่อไป” พร้อมทิ้งท้ายว่า “ขอคัดค้านพ.ร.ก.” เมื่อจดหมายน้อยของนายนิเซ๊ะ ถูกนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ 17 องค์กร ซึ่งต่อมากลายเป็นเครือข่ายประชาสังคมใต้ค้านพ.ร.ก.ฉุกเฉิน นำโดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้ออกแถลงการณ์มีข้อเรียกร้องสำคัญ คือ ให้รัฐบาลยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อมาในวันที่ 4 ตุลาคม 2554 เจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวนายนิเซ๊ะ ก่อนถึงวันที่ศาลจังหวัดปัตตานี นัดไต่สวนการควบคุมตัวโดยมิชอบตามที่ทนายจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมและญาติได้ยื่นคำร้องคัดค้านการควบคุมตัวต่อศาล ในวันที่ 5 ตุลาคม 2554 วันต่อมา นายสุทธิพงศ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เปิดแถลงข่าวถึงผลกระทบจากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยมีนายนิเซ๊ะ ร่วมแถลงด้วย โดยระบุว่า มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้รับเรื่องร้องเรียนเรื่องผลกระทบ จากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษของเจ้าหน้าที่รัฐ จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2554 ทั้งสิ้น 2,338 เรื่องโดยร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมาน 282 เรื่อง ขณะที่ มีคดีความมั่นคงที่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมเป็นทนายจำเลย 495 เรื่อง เป็นคดีที่ศาลพิพากษาแล้ว 122 เรื่อง แยกเป็นคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษ 33 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 27.04 ส่วนคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้อง มีจำนวนมากถึง 87 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 72.95 ขณะที่องค์กรในเครือข่าย อย่างเครือข่ายบัณฑิตอาสาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (INSOUTH) มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น กิจกรรม “เตะพ.ร.ก.” Say No Emergency Decree โดยมีผู้ร่วม 80 คน ที่สนามฟุตบอลนานาชาติหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2554 จากนั้นวันที่ 22 ตุลาคม 2554 จัดคาราวานรถโบราณ รณรงค์คัดค้านพ.ร.ก.ฉุกเฉิน “Classis Rally Say no Emergency Decree” ตระเวนไปตามเส้นทางต่างๆ ในจังหวัดปัตตานี ผ่านอำเภอยะรัง มายอ ปะนาเระ สายบุรี ยะหริ่ง ปลายทางที่บ้าน InSouth อำเภอเมือง มีรถโบราณเข้าร่วมประมาณ 100 คัน ในคาราวานนี้ มีกลุ่ม INSouth Junior ซึ่งเป็นเครือข่ายเยาวชนระดับมัธยมศึกษาที่เป็นคณะกรรมการในโรงเรียนเอกชน สอนศาสนาอิสลามในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสงขลา เข้าร่วมด้วย นายกริยา มูซอ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กล่าวว่า การจัดคาราวานรถโบราณ เป็นการรณรงค์ให้ประชาชนระดับรากหญ้าได้รับรู้ว่า ตอนนี้มีบุคคลกลุ่มหนึ่งออกมาคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว ซึ่งเป็นชนชั้นกลางและชาวบ้าน ครั้นถึงวันครบรอบ 7 ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส 25 ตุลาคม 2554 สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) จัดโครงการหยุดละเมิดมนุษยชนยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “7 ปี รำลึกตากใบ……ละหมาดฮายัตอหิงสา” ที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ ต่อเนื่องไปจนถึง การจัดเวทีสาธารณะ วาระประชาชน : ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2554 ที่ห้องห้องประชุมอาคารวิทยนานาชาติ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ของเครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเวทีที่มีนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมกว่า 1,500 คน ไฮไลท์ของเวทีอยู่ในช่วงบ่ายที่ให้ ผู้ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 5 คนมาเล่าเหตุการณ์ที่ตนเองประสบ ได้แก่ นายนิเซ๊ะ นิฮะ นายสักรี สาและ ผู้ที่ถูกควบคุมตัวพร้อมกับอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ที่เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของทหาร และสุกรี อาดัม เป็นต้น รัฐย้ำยังจำเป็นต้องใช้ ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งพ.อ.ปริญญา ฉายดิลก โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 4 และพ.ต.อ.ชอบ คิสาลัง รองผู้บังคับการสอบสวนสืบสวน ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างยืนยันถึงความจำเป็นของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อที่ประชุมสภาประชาสังคมชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2554 ที่ห้องประชุม 1 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้จังหวัดยะลา พ.อ.ปริญญา ระบุว่า พระราชกำหนดฉบับนี้เป็นเครื่องมือสำคัญของฝ่ายความมั่นคง ในการต่อสู้กับฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบ เนื่องจากสามารถเชิญตัวมาซักถามและปล่อยตัวได้เลย ถ้ากฎหมายอาญาปกติ เมื่อมีการเชิญตัวต้องแจ้งข้อหา แทนที่เรื่องจะยุติแค่การพูดคุย ก็ต้องดำเนินคดีตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนด ทำให้เยิ่นเย้อเสียเวลา ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชาวบ้านมากกว่า พ.ต.อ.ชอบ ให้ความเห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังควรใช้อยู่ เพราะผลจากการเชิญตัวที่ผ่านมา ทำให้ได้ข้อมูลจากแนวร่วมเยอะมาก ขณะที่การจับกุมดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา ค่อนข้างทำได้ลำบาก เพราะขาดพยานหลักฐาน เนื่องจากไม่ใครยอมเป็นพยานให้กับพนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ผู้ถูกจับกุม ถูกตัดสินปล่อยตัวเป็นส่วนใหญ่ ตนยืนยันว่าผู้ที่ถูกดำเนินคดี ล้วนแต่จับกุมถูกตัวทั้งสิ้น วินาศกรรมรับ 7 ปีตากใบ ทว่า ในขณะที่การเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรเหล่านั้นเป็นไปอย่างเข้มข้นนั้น ความรุนแรงในพื้นที่ก็พุ่งแรงเช่นกัน ก่อนถึงวันครบรอบ 7 ปีตากใบ เพียง 2 วัน เกิดเหตุระเบิดร้านมินิมาร์ท 2 จุด ในอำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส และเหตุยิงถล่มจุดตรวจบ้านยะกัง ในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส มีผู้เสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บสาหัส 8 ราย ส่วนผู้ก่อเหตุเสียชีวิต 1 คน ถึงเป็นเห็นการณ์ใหญ่ครั้งหนึ่ง กระทั่งถึงวันครบรอบ 25 ตุลาคม 2554 ตั้งแต่ช่วงค่ำวันนั้น เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิด 21 ลูก ในเขตเทศบาลนครยะลา ตั้งแต่เวลาประมาณ 18.30 – 23.00 น. แต่สามารถเก็บกู้ได้ 5 ลูก มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 50 คน โดยมีอาการสาหัส 15 ราย เสียชีวิต 3 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ก่อเหตุ 2 ราย ยังไม่นับรวมเหตุการณ์อื่นๆ อีกประปราย ส่วนในพื้นที่รอบนอก พบใบปลิวถูกทิ้งไว้จำนวนมาก มีข้อความว่า “เผามัสยิดกรือแซะ หะยีสุหลง ตากใบ อีหม่ามยะผา ไอร์ปาแย บ้านกาโสด ฆ่าเยาวชนด้วยอาวุธหนัก 4 X 100 ฆ่าผู้นำชุมชน วางระเบิดกุโบร์โต๊ะอาเย๊าะและอีกมากมาย” ส่วนอีกแผ่นเขียนว่า “ตากใบ 25/10/2004 อุสตาซ ครูสอนศาสนา นักเรียน นักศึกษา ประชาชน” ถัดมาวันที่ 30 ตุลาคม 2554 เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดใน 6 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส รวม 14 จุด ตั้งแต่เวลา 17.50 น.-18.20 น. รวมเกิดเหตุระเบิด แต่ไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต แยกเป็นเหตุระเบิด 9 จุด ลอบวางเพลิง 4 จุด และยิงหม้อแปลงไฟฟ้า 1 จุด แน่นอนว่า หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ยังได้ใช้กฎอัยการศึก และพ.ร.ก.ฉุกเฉินในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไปแล้วหลายราย ขณะที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจจังหวัดยะลา แจ้งเตือนเครือข่ายภาคประชาชนและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ให้เฝ้าระวังการก่อเหตุร้ายของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบภายในบริเวณเขตชุมชนย่านการค้า ย่านชาวไทยพุทธ ในตัวเมืองยะลา ระหว่างวันที่ 6-12 พฤศจิกายน 2554 ซึ่งเป็นช่วงเฉลิมฉลองเทศกาลวันรายอฮัจญ์ของมุสลิม ส่วนในจังหวัดปัตตานี หน่วยข่าวความมั่นคงแจ้งเตือนว่า กลุ่มก่อความไม่สงบเตรียมก่อความไม่สงบในพื้นที่อำเภอมายอ ยะหริ่ง กะพ้อและสายบุรี โดยมีการเตรียมระเบิดไว้แล้ว 30 ลูก ทั้งชนิดแสวงเครื่องแบบตั้งเวลา ชนิดกด ชนิดเหยียบและซุกไว้ในรถจักรยานยนต์ นอกจากนี้ มีรายงานอีกว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้เข้ามาสำรวจพื้นที่เป้าหมายในการลอบวางระเบิดใน 8 จุด ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี โดยส่วนใหญ่เป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบชุดใหม่ กว่า 20 คน มาจากพื้นที่รอยต่อระหว่างอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานีกับอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา บุกสำนักงานโจมตีศูนย์ทนายมุสลิม การเคลื่อนไหวคัดค้านพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และองค์กรในเครือข่ายก็ถูกท้าทาย เมื่อมีกลุ่มบุคคล ที่ระบุว่ามาจากองค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หรือ อ.ต.ร. นำโดยนายพิทักษ์นิติภูมิ ดอเหะ ซึ่งแจ้งว่าเป็นผู้ช่วยประธานใหญ่องค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (อ.ต.ร.) เดินทางมายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2554 พร้อมกับยื่นนามบัตร ระบุว่า ทำหน้าที่ผู้ประสานงานฝ่ายจัดตั้ง–อบรมภาคใต้ โดยอ.ต.ร. มีสำนักงานตั้งอยู่บ้านเลขที่ 163/15 ซอยเสนานิคม 1 ถนนพหลโยธิน 32 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 จดหมายเปิดผนึกฉบับดังกล่าวระบุว่า มีทนายความของศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานีบางคน เรียกรับเงินจากชาวบ้านเพื่อดำเนินการทางคดี ไม่รับผิดชอบต่อลูกความ ไม่ไปศาล และไม่ช่วยยื่นเรื่องเพื่อดำเนินการทางคดีให้ลูกความ พร้อมกับเรียกร้องให้ศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดปัตตานี ชี้แจงกรณีคดีที่ยังค้างคาอยู่อีก 3 คดี นายสากีมัน เบญจเดชา ทนายความประจำมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานีพร้อมผู้ช่วยทนายความอีก 5 คน จึงได้ร่วมกันชี้แจง ยืนยันว่าข้อมูลที่ทางตัวแทนกล่าวอ้างนั้น เป็นการเข้าใจผิด โดยระบุว่ามีเพียง 2 คดีและจำเลย 3 คน ที่ทนายความของศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานีรับผิดชอบ ทุกคดีมีความคืบหน้า โดยเฉพาะคดีดำที่ 0226/2551 ทางทนายความของศูนย์ฯ ดำเนินการสิ้นสุดศาลมีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้ว ส่วนคดีดำที่ 2262/2554 ศาลนัดสืบพยานวันที่ 22–23 มีนาคม 2555 “ส่วนคดีดำที่ 212/2554 คดีแดงที่ 212/2554 เป็นคดีผิดพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 คดี ที่ยกขึ้นมากล่าวหาศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดปัตตานี ไม่ใช่คดีความมั่นคง จึงไม่เข้าเงื่อนไขการรับช่วยทางคดีของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมมาตั้งแต่ต้น เห็นได้ชัดเจนว่า การกล่าวหามาจากความเข้าใจผิด” นายสากีมันชี้แจง เวลาประมาณ 15.00 น. วันเดียวกัน มีชายไม่ทราบชื่อว่าจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แจกใบปลิว “เสียงจากประชาชนภาคใต้” มีข้อความกล่าวหาศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดปัตตานีว่า เรียกรับเงินจากชาวบ้าน จนทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนเป็นหนี้สิน ขณะที่คดีความไม่คืบหน้า มีกี่ทิ้งคดี ซ้ำเติมความทุกข์ให้กับผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายอนุกูล อาแวปูเต๊ะ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี ระบุว่า เป็นการจงใจโจมตีและทำลายชื่อเสียงของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี หลังจากมีการร้องเรียนและแจกจ่ายใบปลิว “โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้” พยายามติดต่อนายพิทักษ์นิติภูมิ ตามหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ระบุไว้ในนามบัตร ที่มอบให้เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี แต่ไม่มีการตอบรับ ต่อมามูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีทนายความของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานีไม่รับผิดชอบการทำคดี ทำให้จำเลยและญาติได้รับความเดือดร้อนหรือไม่ ขณะเดียวกัน ได้เข้าแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี เปิดคลิปยูทูปถล่มซ้ำ ขณะที่ในโลกออนไลน์ มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอโจมตีมูลนิธิศูนย์ทนายมุสลิมด้วยเช่นกัน เช่น คลิปที่ชื่อว่า คัดค้าน พรก. ใครได้(เสีย) ทางเว็บไซด์ http://www.youtube.com/ ความยาว 09.57 นาที อัปโหลดโดย Naachannel1 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2554 มีเนื้อหาที่พูดถึงการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของเจ้าในหน้าที่รัฐและการโจมตีมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ในคลิปดังกล่าว มีการสัมภาษณ์ชาวบ้านคนหนึ่ง ซึ่งระบุว่า การใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่กระทบกับคนทั่วไปพร้อมกับมีการนำเสนอภาพความเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ที่เรียกร้องให้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ภาพเหตุการณ์ไม่สงบ ภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ภาพของชาวมุสลิม เป็นต้น เนื้อหาในคำบรรยายในช่วงแรกๆ ระบุว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเครื่องมือหนึ่งในการแก้ปัญหาความไม่สงบได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และเป็นกฎหมายทางเลือกที่ใช้ในการเปิดทางเพื่อให้มีการพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ที่ถูกระบุหรือสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับความรุนแรง เพื่อหาข้อเท็จจริง ซึ่งที่ผ่านมาการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ช่วยให้บุคคลไม่ต้องรับโทษมาแล้วหลายราย จากนั้นจึงเริ่มโจมตีมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ที่รณรงค์ปลุกกระแสให้ยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษในการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงความพยายามในการนำไปสู่การเขียนรายงานเสนอต่อองค์การสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศ โดยระบุว่า มีการนำเสนอข้อมูลบางด้านและบิดเบือนข้อเท็จจริง ซึ่งไม่รู้ว่ามีวัตถุประสงค์อื่นใดแอบแฝงหรือไม่ ในคลิปยังระบุว่า การนำนายนิเซ๊ะ นิฮะ ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ภายใน 30 วัน และให้หน่วยงานมีหนังสือยอมรับผิดต่อความผิดพลาดเผยแพร่ต่อสาธารณะ รวมทั้งให้รัฐชดเชยค่าเสียหายต่อผู้ที่ถูกควบคุมตัวว่า เป็นการสร้างกระแสกดดันเพื่อช่วยเหลือพวกพ้องตนเอง และยังโจมตีว่ามูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมพยายามยกระดับตนเองเพื่อเรียกร้องงบประมาณ พร้อมกับตั้งคำถามว่า ศูนย์ทนายความมุสลิมมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ก่อเหตุรุนแรงหรือไม่ เพราะให้ความสำคัญต่อการช่วยเหลือผู้ก่อเหตุร้ายมากกว่าช่วยเหลือผู้บริสุทธิ์ ตอนท้ายของคลิป ได้ขึ้นชื่อ “กลุ่มประชาชน ผู้รักความเบ็นธรรม” อ.ต.ร.คือใคร? โลโก้องค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ นามบัตรของนายพิทักษ์นิติภูมิ ดอเหะ จากการตรวจสอบในอินเตอร์เน็ต พบว่า มีหลายองค์กรที่มีชื่อในลักษณะเดียวกัน แต่มีองค์กรที่ใช้ชื่อย่อว่า อ.ต.ร. อยู่ 2 องค์กร ดังนี้ องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (อ.ต.ร.) ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า LAW ENFORCEMENT INVESTIGATION ORGANIZATION (LEIO) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ 163/15 ซอยเสนานิคม 1 ถนนพหลโยธิน 32 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 อีเมล : LEIO_THA@Hotmail.com แต่ค้นไม่พบเว็บไซด์ที่ใช้ชื่อองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โลโก้ขององค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (อ.ต.ร.) ตามที่ปรากฏในนามบัตรของนายพิทักษ์นิติภูมิ พบว่า เป็นรูปธงไตรรงค์ มีพาน 2 ชั้นอยู่ด้านขวา มีข้อความภาษาไทยและอังกฤษ 3 แถว อยู่ด้านล่าง แถวแรก คำว่า อ.ต.ร. แถวที่ 2 องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และแถวที่ 3 LAW ENFORCEMENT INVESTIGATION ORGANIZATION อีกองค์กรที่ใช่ชื่อย่อ อ.ต.ร.คือ องค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (ภาคประชาชน) พบว่ามี 2 เว็บไซด์ที่ใช้ชื่อองค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (ภาคประชาชน) เว็บไซด์แรกคือ http://leio-lawbiss.net/index.php ระบุว่ามีสำนักงานเลขที่ 56/43 หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านสวน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี 20000 โทร 085-1818 033 , 089-2333 088 โทรสาร. 038-797 205 อีเมล : leio.ngo-worldcz@hotmail.com อีกเว็บไซด์ http://www.ongkarn-leio.org/index_main.php ระบุว่า สำนักงานเลขที่ 12/7 ถนนพลับพลาไชย แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100 โทร 02-2230351 โทรสาร 02- 2230352 เปิดทำการ วันจันทร์-เสาร์ เวลา 09.00 - 16.00 น. อีเมล : ngo-leio@hotmail.com และระบุชื่อดร.อนันต์ บูรณวนิช เป็นประธานใหญ่องค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (ภาคประชาชน) ทั้ง 2 เว็บไซด์ ใช้โลโก้เดียวกัน คือ ธงไตรรงค์ มีพาน 2 ชั้นอยู่ด้านขวา มุมธงด้านขวาทั้งด้านบนและด้านล่างครอบพาน ส่วนด้านล่างมีอักษรย่อ อ.ต.ร. ส่วนองค์กรอื่นที่มีชื่อในลักษณะเดียวกัน เช่น องค์การตรวจสอบอำนาจรัฐ (สากล) ในเว็บไซด์ http://www.ongkarn-avoi.org/ ระบุว่ามีสำนักงานเลขที่ 4/1391 หมู่บ้านสหกรณ์ ถนนเสรีไทย 57 แยกที่ 40 แขวงบึงกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ 10240 โทร.02-379-6530, 085-689-2288, 089-769-9989, 087-981-8366 แฟกซ์ 02-379-6530, 02-933-2811 เปิดทำการเวลา 10.00 - 15.00 น. ในวันราชการ เว้นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ องค์กรส่งเสริมการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐภาคประชาชน (อ.ส.ป.ช.) มีนายปิยะ พระเสนา รักษาการประธานองค์กร เว็บไซด์คือ http://hi-thaksin.weebly.com สำนักงาน เลขที่ 472 โชคชัย 4(10) ลาดพร้าว 53 แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร 10230 บัตรประจำตัว อ.ต.ร. ของนายเจะมือหามะสุกรี โต๊ะซากู รวบ 3 หนุ่มค้าใบกระท่อมพกบัตร อ.ต.ร. ตำรวจสภ.ควนมีดสงขลาจับกุม 3 ผู้ค้าใบกระท่อมพบหัวหน้าทีมพกบัตรองค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐหรือ อ.ต.ร.เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ตรวจค้น ขณะขนใบกระท่อม 40 กิโลกรัมมากับรถเก๋งจากมาเลเซียส่ง3 จว.ชายแดนใต้ เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 พล.ต.ต.ชนสิษฎ์ วัฒนวรางกูร ผบก.ภ.จว.สงขลา พร้อมด้วย พ.ต.อ.เอกภพ ประสิทธิ์วัฒนชัย รอง ผบก.ภ.จว.สงขลา ได้สั่งการให้ พ.ต.อ.สุริยา ปัญญามัง ผกก.สภ. ควนมีด และร.ต.ท.นิกร สุกใส รอง สว.สส. ร.ต.ต.บรรจบ ช่วยรอดหมด ผบ.มว.ฉก.ตชด.4343 นำกำลังเจ้าหน้าที่ตั้งจุดตรวจบนถนนสายนาทับ-ท่าคลอง หมูที่ 4 ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นเส้นทางเลียบชายทะเลเชื่อมต่อระหว่างอ.เมือง กับ อ.จะนะ หลังได้รับรายงานว่าจะมีการลักลอบขนใบกระท่อมมาตามเส้นทางดังกล่าว ต่อมาเจ้าหน้าที่พบรถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้า โคโรล่า สีแดง ทะเบียน 7ฉ-0135 กทม.ซึ่งเป็นรถต้องสงสัยตามที่ได้รับแจ้งวิ่งผ่านมาจึงได้เรียกตรวจค้น โดยพบชายสามคนนั่งมาภายในรถ ประกอบด้วย นายอัสมี สะแม อายุ31 ปี อยู่บ้านเลขที่ 16/43 ม.7 ซ.ไทย-จังโหลน 16 ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา คนขับ นายเจะมือหามะสุกรี โต๊ะซากู อายุ 38 ปี อยู่บ้านเลขที่93 ม.1 ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา นั่งเบาะข้าง และนายมะหะมะซอยฟี รูปายี อายุ27 ปี อยู่บ้านเลขที่10/35 ม.2 ซ.รุ่งทรัพย์ 1 ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา นั่งอยู่เบาะหลัง แต่ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ขอตรวจค้น นายเจะมือหามะสุกรี ได้นำบัตรองค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หรือ อ.ต.ร.สองใบ โดยใบแรกมีตำแหน่งเป็นผู้ตรวจสอบพิเศษ และใบที่สองมีตำแหน่งเป็นประธาน ม.1 ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ออกมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอผ่านทาง เจ้าหน้าที่พบพิรุธจึงได้ตรวจค้นรถอย่างละเอียดปรากฏว่าพบใบกระทอสดห่อยด้วยถุงพลาสติกสีขาเป็นมัด บรรจุใส่ถุงพลาสติกสีดำ8 ถุง หนัก40 กก.ซุกซ่อนอยู่ที่ช่องเก็บของท้ายรถ จึงได้ควบคุมตัวทั้งสามคนเอาไว้ สอบสวนรับสารภาพว่าใบกระท่อมทั้งหมดถูกส่งมาจากประเทศมาเลเซียและตนทั้งสามขับรถไปรับมาจากชายแดนไทยมาเลเซียบ้านด่านนอก ต.สำนักขาม อ.สะเดา ในราคากิโลกรัมละ500 บาท เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับกลุ่มวัยรุ่นในพื้นที่อ.เทพา และบางส่วนจะส่งไปยัง3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในราคากิโลกรัมละ700-800 บาท เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวทั้งสามคนดำเนินคดีในข้อหามียาเสพติดให้โทษประเภทที่5 ใบกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย พ.ต.อ.สุริยา ปัญญามัง ผกก.สภ.ควนมีด เผยว่า ขณะนี้มักจะมีกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดโดยเฉพาะใบกระท่อมมักจะพกบัตรองค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในการขนถ่ายซึ่งเจ้าหน้าที่จับกุมได้หลายรายในรอบเดือนที่ผ่านมา ที่มา : http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=173561&categoryID=419

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท