Skip to main content
sharethis

ชาว ต.ท้ายตลาด จ.ลพบุรีซึ่งอยู่กับน้ำมาพักใหญ่บอกเล่าความเป็นอยู่ช่วงน้ำท่วม และความกังวลใจเกี่ยวกับอาชีพการงานหลังน้ำลด เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ผู้สื่อข่าวสำรวจพื้นที่ประสบอุทกภัย พูดคุยกับชาว ต.ท้ายตลาด อ.เมือง จ.ลพบุรี ซึ่งย้ายจากบ้านที่มีน้ำท่วมสูง มาอาศัยที่วัดท่าข้ามเป็นเวลาเดือนกว่าแล้ว ระดับน้ำปัจจุบันอยู่ที่ 1-2 เมตร ประชาชนต้องสัญจรทางเรือ คนที่นี่เคยประสบอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2538 มาในปีนี้ มวลน้ำขนาดใหญ่ได้ไหลท่วมหมู่บ้านตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 ก.ย.เป็นต้นมา ชาว ต.ท้ายตลาด คนหนึ่ง ซึ่งมีอาชีพรับจ้างทำการเกษตร เล่าว่า เธอและสามีพร้อมวัวอีก 2 ตัวได้ย้ายมาอยู่ที่ศาลาการเปรียญวัดท่าข้ามร่วมกับชาวบ้านอีกหลายสิบชีวิตมาได้ราว 1 เดือนแล้ว และนอกจากศาลาการเปรียญ ยังมีอาคารเรียน รวมทั้งโรงครัวที่ถูกแปลงสภาพเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราวของชาวบ้านกว่า 100 ครอบครัว โดยสถานการณ์ล่าสุดเมื่อน้ำลดระดับลง ชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้กลับไปเก็บกวาดทำความสะอาดบ้านเรือน แต่สำหรับบ้านของเธอซึ่งเป็นบ้านชั้นเดียวนั้นยังจมอยู่ใต้น้ำ เธอเล่าด้วยว่า ทุกปีน้ำไม่ท่วมขนาดนี้ และในครั้งนี้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นเร็วมาก โดยน้ำมาตั้งแต่ตอนตี 3 แล้วเพิ่มระดับเรื่อยๆ จนกระทั่ง 6 โมงเช้ารู้สึกว่าอยู่ไม่ได้ เธอกับสามีจึงพาวัว 3 ตัวลุยน้ำออกมาจากบ้าน แต่กระแสน้ำแรงมากและด้วยความพะว้าพะวงทำให้เธอต้องสูญเสียวัวตัวหนึ่งไปกับสายน้ำ และยังไม่รู้ว่าจะได้รับการชดเชยหรือไม่ อย่างไร เธอกล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้เธอรู้สึกกังวลมากว่าจะเอาเงินที่ไหนมาซ่อมบ้านที่จมน้ำเสียหาย และจะทำมาหากินอะไรต่อไป แต่เวลาที่ผ่านไปทำให้พอทำใจได้ โดยคำถามสำคัญของเธอในขณะนี้คือเมื่อน้ำแห้งแล้วชาวบ้านจะได้รับความช่วยเหลืออะไรบ้าง ศาลาการเปรียญกลายสภาพเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว ทองเจือ เขียวทอง ชาว ต.ท้ายตลาด เล่าว่า น้ำท่วมมาตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน โดยไหลบ่ามาทีเดียวในช่วงกลางคืนประมาณตี 3 ทำให้เก็บของไม่ทัน พอเช้า จะเก็บของ น้ำก็สูงถึงเอวถึงคอแล้ว ทำให้ทำอะไรไม่ได้ ออกมาได้แต่ตัวกับวัวอีก 5 ตัว และค่อยดำน้ำไปเอาเสื้อผ้ามาในภายหลัง ขณะนี้อาศัยอยู่ที่วัดท่าข้ามมาเดือนกว่าแล้ว เขาเองทำบ่อปลาและสวนไผ่ลงทุนไปเป็นแสน ประเมินรายได้ที่กำลังจะได้จากผลผลิตที่กำลังเก็บและแปรรูปแล้ว ราวสองแสนบาท ตอนนี้ก็เสียหายลอยไปกับน้ำหมด ทองเจือเล่าว่า คนที่นี่ส่วนใหญ่ มีอาชีพรับจ้าง ไม่มีอาชีพที่แน่นอน ที่เลี้ยงหมูเลี้ยงไก่แบบชาวบ้านทั่วไปมีเยอะ ส่วนที่เป็นฟาร์ม มีราว 4-5 ฟาร์ม หมูจมน้ำตายไป 7,000 ตัว ไก่ตายเรือนแสน วัว 5 ตัวจมน้ำตายเพราะย้ายใส่แพแล้วแพล่ม บ้างที่เอาลงจากศาลาไปถูกงูกัดตายก็มี เท่าที่สอบถามเพื่อนๆ ที่ทำเกษตรพันธสัญญา ต่างยังติดต่อกับบริษัทไม่ได้ ว่าบริษัทคิดอย่างไร ก่อนหน้านี้ บริษัทมานำไก่ไปก็ยังไม่ได้ชั่ง เพราะยังไม่ถึงกำหนด เพื่อนๆ ต่างกังวลว่า บริษัทจะฟ้องเรียกค่าเสียหายไหม ทั้งยังเป็นทุกข์ว่าจะเอาพันธุ์ข้าวที่ไหนมาทำนาต่อ และยังมีหนี้สินติดค้างสถาบันการเงินหลายราย ด้านความช่วยเหลือ ทองเจือบอกว่า จากการพูดคุยกับกลุ่มที่ทำนา ซึ่งนาเสียหายหมด คิดว่าจะตั้งกองทุนพันธุ์ข้าวกัน รวมถึงทำโครงการขอไก่พันธุ์ไข่ให้ชาวบ้านจับกลุ่มเลี้ยง เพื่อมีรายได้เสริมและมีอาหารให้เด็ก ส่วนพวกเลี้ยงปศุสัตว์ ทำโครงการขอเครื่องอัดฟาง หั่นหญ้า ทำหญ้าหมัก เมื่อเกิดอุทกภัย จะได้ไม่เดือดร้อน เพราะตอนนี้ต้องไปหาฟางจากทางเพชรบูรณ์ให้วัวควายกิน ชาวบ้านนำวัวมาเลี้ยงบนศาลาการเปรียญ วัดท่าข้าม โรงเลี้ยงไก่ถูกน้ำท่วมเสียหาย นิรันดร์ โตจาด ชาวบ้านในพื้นที่ กล่าวถึงความเดือดร้อนจากอุทกภัยครั้งนี้ว่า เวลากว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมาเขายังไม่ได้รับเงินค่าจ้างจากบริษัท ซึ่งเป็นโรงงานผลิตไก่สดตั้งอยู่ที่ ต.ช่องสาริกา อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เนื่องจากน้ำท่วมทำให้เขาไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้ขณะที่โรงงานยังเปิดทำงานอยู่ แต่เขาก็ได้โทรลางาน ส่งเอกสารและถ่ายรูปยืนยันความเดือดร้อนส่งไปให้ทางบริษัทนายจ้างแล้ว โดยก่อนหน้านี้ทางบริษัทบอกว่าจะให้ความช่วยเหลือ แต่เขาและชาวบ้านอีกหลายคนที่ทำงานในบริษัทเดียวกันยังไม่ได้รับอะไรเลย แม้จะถือว่าโชคดีที่บริษัทยังให้คงฐานะเป็นพนักงานอยู่ “ไม่ใช่ว่าเราอยากจะเอาเปรียบคนอื่นๆ ไม่ได้ทำงานแต่เรียกร้องเอาเงินเดือน แต่เราเดือดร้อนจริงๆ” นิรันดร์ กล่าว พร้อมให้ข้อมูลด้วยว่า เขาเป็นพนักงานขับรถทำงานในบริษัทดังกล่าวมา 2 ปี โดยก่อนหน้าที่จะเกิดน้ำท่วมทางบริษัทจะจัดรถรับส่งพนักงานถึงที่แต่เมื่อเกิดน้ำท่วมรถดังกล่าวก็หยุดรับส่ง ทำให้เขาต้องเดินทางไปทำงานเอง ซึ่งค่าใช้จ่ายในการเดินทางไป-กลับกว่า 150 บาท ไม่คุ้มกับค่าแรงวันละ 192 บาทที่ได้รับ นิรันดร์ กล่าวด้วยว่า การที่เขาต้องออกมาเรียกร้องความช่วยเหลือเนื่องจากเดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่าย และเห็นว่าภรรยาซึ่งทำงานอยู่ที่ บริษัทเอคโค่ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร จ.พระนครศรีอยุธยา ถูกน้ำท่วมไม่ได้ทำงานเช่นเดียวกันแต่ทางบริษัทก็จ่ายค่าจ้างเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ขณะที่หลายคนที่ทำงานในโรงงานอื่นก็ได้ค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา เขาได้พูดคุยกับชาวบ้านที่มีปัญหาเหมือนๆ กันแต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร อีกทั้งไม่แน่ใจว่าการมีประกันสังคมจะสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้าง ภายในวัด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net