นักปรัชญาชายขอบ: “โครงสร้างโคตรอคติ”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

อ่านข้อความข้างล่างนี้ คิดว่าความเห็นของใครมีอคติครับ? หลายคนคงบอกว่า คำพูดของอาจารย์เกษียร สะท้อนให้เห็นความมีอคติของคุณหญิงกัลยาอย่างชัดเจน เมื่อเรานึกตามคำพูดนั้นแล้วเห็น “ภาพ” นายกฯยิ่งลักษณ์ร้องไห้เพราะมีอารมณ์ร่วมกับความทุกข์ของประชาชน กับ “ภาพ” ใบหน้าเฉยชาที่สะท้อนความไร้มนุษยธรรมของอดีตนายกฯอภิสิทธิ์ในกรณี 91 ศพ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่า อาจารย์เกษียรพูดอย่างปราศจากอคติ สำหรับผมบอกตามตรงว่าไม่ทราบครับ และไม่เห็นความจำเป็นต้องไปวิเคราะห์ว่าใครพูดอะไรเขามีอคติหรือไม่ ผมดูจากเนื้อหาสาระและเหตุผลของเขาเป็นหลัก ฉะนั้น ข้อความข้างบนนี้ผมเห็นด้วยกับอาจารย์เกษียร ไม่ใช่เพราะผมเชื่อว่าอาจารย์เกษียรไม่มีอคติ หรือเห็นว่าคุณหญิงกัลยามีอคติ แต่เพราะเห็นว่าเหตุผลของอาจารย์เกษียรดีกว่า มีน้ำหนักน่ายอมรับกว่า “อคติ” (bias) หรือ “ความลำเอียง” ความโน้มเอียง มันคือภาวะทางจิตวิทยา หรือธรรมชาติของจิตใจมนุษย์ นักปรัชญาบางคน (เช่น ค้านท์) เชื่อว่ามนุษย์สามารถใช้เหตุผลบริสุทธิ์ (pure reason) ตัดสินสิ่งต่างๆ อย่างปราศจากอารมณ์ความรู้สึกหรืออคติต่างๆ ได้ แต่นักปรัชญาบางคน (เช่น ซาร์ตร์) ไม่เชื่อเช่นนั้น เขาเห็นว่ามนุษย์เลือกที่จะเชื่อความจริงบางอย่างเสมอ เหตุผลเป็นเรื่องที่ตามมาทีหลัง น่าสังเกตว่า ตั้งแต่เกิดความขัดแย้งแบ่งสีมาจนบัดนี้ “อคติ” กลายเป็น “บาปอันใหญ่หลวง” ทางสังคม เพราะทั้งพระสงฆ์ สื่อคุณภาพ นักวิชาการฝ่าย (ที่อ้างว่า) เป็นกลางต่างออกมาเทศนาเตือนว่า ไม่ควรใช้อคติ ควรใช้เหตุใช้ผล กระทั่งตัดสินไปว่าการเลือกข้างคือการเลือกจากอคติที่ยึดความเป็นพวกเหนือหลักการ ความถูกต้อง หรืออุดมการณ์ บางฝ่ายบอกกระทั่งว่า ไม่จำเป็นต้องพิจารณาเหตุผลของนักวิชาการบางคนบางกลุ่ม เช่น อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หรือกลุ่มนิติราษฎร์ ด้วยข้ออ้างที่ว่าไม่เป็นกลาง เข้าข้างเสื้อแดง โดยคนที่บอกเช่นนี้คิดว่าตนเองเป็นกลาง ไม่มีอคติ แต่กลับไม่ย้อนถามตนเองว่า ที่ตนเองไม่เห็นด้วยกับเขาโดยไม่ได้พิจารณาเนื้อหาสาระและเหตุผลของข้อเสนอของเขาอย่างถ่องแท้นั้น ที่จริงแล้วก็เป็นการมีอคติอีกแบบหนึ่ง คืออคติเรื่องรังเกียจในภาพลักษณ์ความเป็นฝักฝ่ายของเขา (โทสาคติ) จนทำให้ไม่พิจารณาเนื้อหาสาระของข้อเสนอของเขาให้เกิดความเข้าใจอย่างชัดแจ้ง (โมหาคติ) ฉะนั้น จึงไม่แน่ว่าพระสงฆ์หรือใครก็ตามที่เอาแต่เทศนาสอนคนไม่ให้มีอคติอย่างนั้นอย่างนี้ ที่จริงโดยคำเทศนานั้นๆ ก็กำลังแสดงถึงความมีอคติอยู่ด้วยเช่นกัน แต่ที่สำคัญกว่าคือ มีการตอกย้ำตลอดมาว่า เพราะนักการเมือง แกนนำมวลชน สื่อ นักวิชาการต่างเลือกข้างกันทั้งนั้นจึงแสดงความคิดเห็น เสนอข่าวอย่างมีอคติ ทำให้ไม่อาจแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ยืดเยื้อได้ แม้ในสถานการณ์น้ำท่วมแต่ละฝ่ายก็ยังใช้อคติต่อกันไม่เลิกรา ผมเองก็เห็นว่า การใช้อคติเหนือเหตุผลนั้นเป็นปัญหาที่ควรแก้ไข แต่มานึกดูให้ดีพระสงฆ์หรือนักวิชาการที่เอาแต่ตำหนิการมีอคติของนักการเมือง สื่อ นักวิชาการเลือกข้างนั้น ที่จริงพวกเขาก็มีอคติเหมือนกัน เพราะพวกเขาไม่เคยตำหนิ “อคติเชิงโครงสร้าง” ทางสังคมการเมืองและวัฒนธรรมที่เป็น “โคตรอคติ” นั่นคือ “โครงสร้างฉันทาคติ” หรือความลำเอียงเพราะรัก หรือเพราะอ้างอิงความรักต่อ “บุคคลพิเศษ” ที่ทำให้สถานะ อำนาจ บทบาทของบุคคลพิเศษนั้นสูงส่งเหนือมนุษย์ทั่วไป และอยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบใดๆ โครงสร้างโคตรอคติดังกล่าวนี้ทำให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่ใช้อคติเหนือเหตุผลโดยจำเป็น เช่น ประชาชนต้องรักประมุขของรัฐเท่านั้น ไม่มีเสรีภาพที่จะประกาศแก่สาธารณะว่าไม่รัก การไม่มีเสรีภาพที่จะรัก-ไม่รัก นอกจากเป็นเรื่องที่ไร้เหตุผลรองรับอย่างที่สุด หรือเป็นเรื่องอคติที่สุดแล้ว ยังเป็นการบั่นทอนความเป็นมนุษย์ในระดับลึกสุด คือระดับ “ธรรมชาติของความเป็นมนุษย์” เลยทีเดียว เพราะความรักเป็นธรรมชาติของจิตใจที่มีเสรี ไม่ใช่เรื่องที่ควรครอบงำ บังคับ ที่น่าหดหู่คือ โครงสร้างดังกล่าวคือโครงสร้างที่กำราบประชาชนด้วย “ความรัก” และ “อำนาจ” ถ้าคุณรัก คุณศรัทธา ซาบซึ้ง คุณก็กลายเป็นพลเมืองดี หากคุณประกาศตัวว่าไม่รัก วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ หรือนำเสนอความจริงด้านลบ คุณก็จะถูกใช้อำนาจกดข่มปราบปราม ภายในประเทศนี้ เมื่อคุณเปิดทีวี วิทยุ หากวันไหนไม่ได้ฟังเพลง สปอร์ตโฆษณา เรื่องเล่าที่สรรเสริญบุญคุณความดีของบุคคลพิเศษแล้วละก็ ต้องถือว่าผิดปกติ หรือคุณอาจกำลังฝันไปว่าตนเองได้กลายเป็นมนุษย์ต่างดาวไปแล้ว นอกจากจะมีการสรรเสริญบุญคุณความดีของบุคคลที่ตรวจสอบไม่ได้ดังกล่าวแล้ว ยังมีการนำคุณคาวมดีนั้นมาเปรียบเทียบให้เห็นความชั่วช้าของนักการเมืองที่ประชาชนเลือกซึ่งตรวจสอบได้ วิจารณ์ได้ ด่าได้ ถอดถอนหรือจับเข้าคุกได้ มีการเปรียบเทียบแม้กระทั่งว่าหากประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยสากลแล้วคนไทยคิดว่า จะมีผู้นำประเทศซึ่งมาจากนักการเมืองเป็นคนดีเท่าบุคคลพิเศษนี้หรือ นี่คือการเปรียบเทียบที่อคติสุดๆ จะว่าไปแล้ว โครงสร้างโคตรอคตินี้ ทำให้ประชาชนไม่สามารถให้เหตุผลแสวงหาเป้าหมายทางสังคมการเมืองที่ดีกว่า เพราะเป้าหมายถูกให้มาหรือถูกกำหนดเอาไว้อย่างตายตัวแล้วภายใต้กรอบของความรัก (จงรักภักดี) และอำนาจที่แตะไม่ได้ ฉะนั้น ประชาชนจึงต้องเชื่อถือ รัก ซาบซึ้ง พึ่งบารมี เท่านั้น เห็นอคติกันเป็นประจำอยู่ไม่ใช่หรือครับว่า ในประเทศนี้มีกลุ่มคนที่คัดค้านการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษของพวกอื่น แต่พวกตนจะถวายฎีการกล่าวโทษรัฐบาลที่แก้ปัญหาน้ำท่วมไม่สำเร็จ ไม่ต้องเอ่ยถึงว่ามีคนไล่คนอื่นออกจากบ้านของพ่อ ทั้งที่โดยเหตุผลแล้วที่นี่คือบ้านของเราทุกคน และเราควรรักใครในฐานะพ่อแม่ก็เฉพาะเป็นผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูเรามาเท่านั้น ฉะนั้น พระสงฆ์หรือใครก็ตามที่เอาแต่เทศนาหรือวิจารณ์ว่า นักการเมือง สื่อ นักวิชาการที่เลือกข้างมีอคติ แต่ไม่สนใจ ไม่เป็นทุกข์เป็นร้อนกับ “โครงสร้างโคตรอคติ” พระสงฆ์หรือใครเหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นกลางจริงๆ หรอก ไม่ใช่ผู้ไม่มีอคติหรอกครับ แต่พวกเขากำลังเทศนาหรือวิจารณ์อย่างมีอคติต่างหาก จะว่าไปแล้ว ภายใต้โครงสร้างโคตรอคตินี้ มันทำให้ทุกคนจำเป็นต้องมีอคติทางการเมืองไปโดยปริยาย เพราะถ้าคุณรักคุณซาบซึ้ง คุณก็อวยอย่างเดียว ถ้าไม่รักไม่ซาบซึ้งก็ประกาศแก่สาธารณะไม่ได้ วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้ แม้อ้างว่าเป็นกลางก็เป็นไม่ได้ เพราะไม่สามารถพูดถึงทุกฝ่ายทั้งแง่ลบแง่บวกได้อย่างเท่าเทียม ฉะนั้น เสียเวลาเปล่าที่จะวิจารณ์ว่าฝ่ายใดๆ มีอคติ เพราะคนวิจารณ์ก็มีอคติเต็มๆ ภายใต้ “โครงสร้างโคตรอคติ” ที่กำหนดให้ต้องเป็นเช่นนั้น การต่อสู้ทางความคิดในสถานการณ์ที่เป็นจริงในปัจจุบันต้องสู้กันด้วยเหตุผลของแต่ละฝ่ายว่า ฝ่ายไหนมีเหตุมีผลดีกว่ากัน หรือเหตุผลฝ่ายไหนที่สามารถนำไปสู่การแก้ไขโครงสร้างโคตรอคติที่ครอบงำสังคมอยู่ได้จริงกว่า!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท