มกุฎ อรดี:อนาคตของเด็กไทยในมือ'แทบเล็ต'

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

มีผู้แสดงความเห็นจำนวนมาก เรื่องแทบเล็ตงบประมาณ ๑,๖๐๐ ล้านบาท ซึ่งข่าวว่าคณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการไปแล้วและได้รับคำยืนยันจากผู้เกี่ยวข้องว่า ซื้อแน่ เรื่องนี้ ครั้นจะตอบความเห็นทุกความเห็น ก็ไม่มีเวลามากพอ จึงขอสรุปรวบมาตอบรวมกันไว้ ที่นี้ ๑. เหตุใดไม่ควรใช้แทบเล็ตในเด็กชั้น ป.๑ มีนักวิชาการพูดไว้ในที่ต่างๆ แล้ว ความเห็นส่วนใหญ่ทั้งไทยและต่างชาติก็คือ ทำให้ธรรมชาติของเด็กเสียไป ควรเริ่มใช้ในวัยหลังจากที่เด็กเริ่มเรียนรู้ตามธรรมชาติแล้ว ได้รู้จักใช้อวัยวะอย่างธรรมชาติแล้ว เช่น อย่างเร็วก็ประถมปลาย หรือมัธยมต้น ๒. วัยที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย คือ มัธยมต้น หรือมหาวิทยาลัย เพราะมีแหล่งข้อมูลที่ให้ค้นคว้ามากมาย แต่เด็ก ป.๑ ยังหาประโยชน์จากการใช้ข้อมูลด้านความรู้ได้ไม่มาก ดังที่กระทรวงผู้เกี่ยวข้องเองก็บอกว่า วิชาต่างๆ ที่จะใส่ในแทบเล็ต ๘ วิชานั้น ยังใส่ไม่หมด ใส่ได้ไม่ครบ ยังจะต้องซื้อหนังสือกระดาษให้เรียนอยู่นั่นเอง ๓. จะดีกว่าหรือไม่ หากทำการวิจัยอย่างรอบด้านเสียก่อน อย่าเพิ่งทุ่มซื้อหลายแสนเครื่องเต็มโครงการ หากซื้อเพียง ๑,๐๐๐ เครื่อง เพื่อทำวิจัยในท้องที่หรือกลุ่มเด็กต่างๆ อย่างเต็มรูปแบบด้วยการใช้จริงเหมือนในโครงการจริง เพื่อประเมินผลว่ามีอะไรบกพร่องก็แก้ไขได้ หากทุ่มไปทีเดียวนับแสนเครื่องและเกิดผิดพลาดอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะเสียหายมาก เงินจำนวน ๑,๖๐๐ ล้านบาทก็สูญในชั่วพริบตา ๔. ใครจะรับรองว่า กรณีแทบเล็ตครั้งนี้จะไม่เหมือนกับกรณีคอมพิวเตอร์เอื้ออาทร ที่เมื่อประชาชนซื้อไปแล้ว ไม่นาน เครื่องเสีย ซ่อมไม่ได้ กลายเป็นขยะคอมพิวเต้อร์ เมื่อถึงเวลานั้นก็โทษกันไปโทษกันมาระหว่างรัฐบาลกับประชาชน กรณีแทบเล็ตนี้ เด็กอายุ ๖-๗ ขวบ เด็กวัยนี้ มีข้อมูลหรือไม่ว่าทำของหลุดมือหรือทำของหล่นง่ายแค่ไหนเมื่อเทียบกับเด็กอายุ ๑๔ ปี ขึ้นไป ๕. มีผู้แสดงความเห็นกันมากว่า บางประเทศก็แจกแทบเล็ตให้เด็กใช้ เช่น อินเดีย เกาหลีใต้ หรือรวันดา เป็นต้น กรณีทั้ง ๓ ประเทศนี้ มีรายละเอียดต่างกัน ประเทศอินเดีย และประเทศเกาหลีใต้ เป็นผู้ผลิตแทบเล็ตส่งออกรายใหญ่ของโลก เมื่อผลิตแล้วก็ต้องขาย วิธีการขายแทบเล็ตไม่เหมือนสินค้าอย่างอื่น เพราะเป็นสินค้าราคาแพง และหากจะขายก็ต้องขายเป็นล็อตใหญ่จึงจะคุ้ม ไม่เหมือนสินค้าขายปลีกทั่วไป การตลาดของอินเดียและเกาหลีใต้ ในการขายแทบเล็ตไปยังตลาดโลก ใช้วิธีเดียวกัน คือ ใช้เด็กของตนเป็นผู้สาธิต เพื่อให้เป็นที่เชื่อถือว่า แทบเล็ตนั้นดีจริงจึงใช้กับเด็กในชาติตน ใช้กับลูกหลานของตน และเมื่อเชิญตัวแทนรัฐบาลจากประเทศต่างๆ ไปดูงาน ก็นำไปดูงานยังโรงเรียนที่เด็กใช้แทบเล็ต ได้เห็นของจริง เห็นเด็กใช้แทบเล็ตจริง การแจกแทบเล็ตของอินเดียและเกาหลีใต้ จึงเป็นการลงทุนที่ได้ผลระยะยาวหลายอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่มีใครเคยได้ยินเลยก็คือ เหตุผลทางการค้าการประชาสัมพันธ์ ส่วนประเทศรวันดานั้น สืบเนื่องจากสงครามกลางเมืองระหว่างทศวรรษ ๑๙๙๐ ประมาณว่า ประชากร ๗ ล้าน ๕ แสน ฅน ถูกสังหารโหดมากกว่า ๑ ล้าน ฅน มีเด็กหลายแสนฅนเป็นกำพร้า ในค่ายอพยพต่างๆ มีฅนตายวันละมากกว่า ๒,๐๐๐ ฅน เด็กทั้งเล็กใหญ่ต้องเผชิญสภาวะโหดร้าย สภาพจิตเสียหายไปหมด เมื่อสหประชาชาติเข้าช่วยเหลือ การจัดวิธีการเรียนของเด็กก็พยายามหลีกเลี่ยงรูปแบบเดิม เพื่อไม่ให้เด็กนึกถึงสภาพเดิมเมื่อครั้งอยู่ในโรงเรียนและฝ่ายตรงข้ามเข้ามาจับฆ่าทีละฅน เด็กทุกฅนที่รอดมามีภาพเหล่านั้นติดตา ตัวอย่างทั้ง ๓ ประเทศนี้ จะเห็นว่าการใช้แทบเล็ตในเด็กชั้นประถม มีเหตุผลของตนเอง เพื่อประโยชน์ไม่เพียงเรื่องการศึกษาอย่างเดียว แต่รวมทั้งการค้า การอุตสาหกรรมด้วย เช่นอินเดียและเกาหลีใต้ หรือกรณีซับซ้อนอย่างยิ่งของรวันดา หน่วยงานของรัฐและเอกชนทั้งรัฐบาลอินเดียและเกาหลีใต้ เชื้อเชิญบุคคลในรัฐบาลต่างๆ จากประเทศทั่วโลกไปดูงานเรื่องการศึกษาชั้นประถม เน้นดูงานเรื่องแทบเล็ตและการศึกษาแนวใหม่เป็นพิเศษ ประเทศต่างๆ นับหลายสิบหรือนับร้อยประเทศเหล่านั้น แม้แต่ประเทศร่ำรวยของโลก ก็ไม่มีข่าวว่าตัดสินใจใช้นโยบายให้เด็กประถม ๑ ใช้แทบเล็ตเรียนแทนหนังสือกระดาษอย่างเป็นนโยบายหลักชนิดพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ประเทศที่เคยใช้เครื่องคอมพิวเต้อร์อย่างเป็นเรื่องปกติธรรมดาเมื่อกว่า ๑๐ ปีก่อน จนถึงขั้นพูดกันว่า \ฅนสิงโปร์ใช้คอมพิวเต้อร์ มีคอมพิวเต้อร์ทุกฅนยิ่งกว่ามีรองเท้าแตะ\" เพราะเป็นสิ่งธรรมดา แต่หลังจากนั้น จนบัดนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ก็ไม่ตื่นเต้นเรื่องคอมพิวเต้อร์หรือแทบเล็ตอีกต่อไป แต่เน้นเรื่องการศึกษาในระบบหนังสือพื้นฐาน เช่นห้องสมุดสาธารณะมากเป็นพิเศษ ชาวสิงคโปร์อย่างน้อยก็ ๒ ฅน เคยเล่าว่า รัฐบาลสิงคโปร์เห็นปัญหาหลังจากคอมพิวเต้อร์เฟื่องฟูในกลุ่มเด็กในระยะ ๑๐ ปี โดยเฉพาะด้านพฤติกรรม ความกระด้าง และสุขภาพจิต การให้เด็กเริ่มใช้เครื่องกลตั้งแต่วัยเยาว์นั้น ถ้าไม่ศึกษาให้ถ่องแท้ ไม่วิจัยวิเคราะห์ให้ดี อาจกล่าวได้ว่า ในระยะยาว ผลได้ไม่เท่าเสีย เช่นงานวิจัยในประเทศใหญ่ๆ เคยเปิดเผยบ้างแล้ว จะดีหรือไม่ ถ้าการแจกแทบเล็ตเพื่อให้เด็ก ป.๑ ใช้ ในประเทศไทยจะล่าไปสัก ๑ ปี แต่ระหว่างนี้พยายามศึกษาวิจัยหาผลจากการใช้ในเบื้องต้นเสียก่อนว่า ได้ผลดีวิเศษจนคุ้มค่าจะลงทุน แม้เรามิใช่ประเทศผลิตแทบเล็ตเอง แต่ต้องซื้อเขามาทุกเครื่อง และหากเสีย ซ่อมได้ก็ดีไป ถ้าซ่อมไม่ได้ก็ต้องซื้อใหม่อีก ก็ตาม มีผู้อ้างว่า ประเทศไทยเป็นประเทศผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ของโลก แต่นั่นก็คือชิ้นส่วน ผลิตแล้วต้องส่งไปให้เจ้าของสินค้า แม้นำชิ้นส่วนออกมาจากโรงงานได้ก็มิได้มีค่ามากไปกว่าเศษขยะ เพราะนำไปใช้ประกอบอะไรไม่ได้ ประเทศไทยจึงยังภาคภูมิใจในฐานะ 'ผู้รับจ้างด้านแรงงานผลิตวัสดุคอมพิวเต้อร์' อยู่นั่นเอง และคิดไกลไปอีกก้าวหนึ่งหรือไม่ว่า เครื่องมือการเรียนของเด็ก ป.๑ ที่ราคาแพงนี้ หากอยู่ในมือของเด็กครอบครัวยากจน แล้ววันหนึ่งเกิดทำตกน้ำ หรือหล่นหาย หรือตกแตก พ่อแม่ของเด็กไม่มีปัญญาซื้อใหม่ เด็กฅนนั้นจะเรียนหนังสือในชั้นเรียนอย่างไร เพราะการเรียนการสอนดำเนินไปด้วยแทบเล็ต แต่เด็กไม่มีเครื่องมือเรียนชนิดนั้น ปัญหาด้านอื่นๆ ที่จะตามมา เช่น ปัญหาด้านจิตใจ จะแก้ไขอย่างไร ประการสำคัญที่ไม่ได้พูดถึงอย่างเชื่อมสัมพันธ์กันก็คือ ทุกปีจะต้องจัดงบประมาณซื้อแทบเล็ต อย่างน้อยก็จำนวนเท่านี้ และเพิ่มมากขึ้นในปีต่อไป เพราะค่าโปรแกรมค่าซอฟแวร์ต่างๆ ดังที่แจ้งว่าค่าใส่โปรแกรมเครื่องละ ๔๐๐ บาท นั่นหมายถึงจ่ายครั้งเดียวหรือทุกครั้ง และแทบเล็ตในมือเด็กอายุ ๖-๗ ขวบ นั้น จะมีอายุใช้งานได้กี่ปี โดยเฉพาะระบบจอสัมผัสหรือทัชสกรีน อีกประการหนึ่งที่น่าพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน และต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นมาเกี่ยวข้องด้วย ไม่เพียงด้านการศึกษา ก็คือ มีผลงานวิจัยแล้วหรือไม่ว่า เด็กอายุเพียง ๖-๗ ขวบ อยู่กับเครื่องอิเล็คทรอนิคส์ทั้งวัน ตลอดปี เป็นเวลาหลายปี จะเกิดผลเสียต่ออวัยวะส่วนต่างๆ หรือไม่อย่างไร อวัยวะส่วนที่ไวต่อกระแสไฟฟ้าหรือแม่เหล็กของเด็กเล็กจะทนทานได้เท่าผู้ใหญ่หรือไม่ วัสดุที่นำมาผลิตเครื่องแทบเล็ตก็คงไม่ต่างจากเครื่องคอมพิวเต้อร์ และเรามักได้ยินชาติต่างๆ กล่าวถึงสิ่งเหล่านี้กันอย่างหวาดกลัวว่า \"ขยะอิเล็คทรอนิคส์\" นั้นร้ายนักสำหรับชีวิตมนุษย์ เราคิดการณ์ไกลไปถึงอนาคตของเด็กๆ เหล่านั้นหรือไม่ว่า เขากำลังเสี่ยงหรือไม่ และมีใครยืนยันว่าปลอดภัย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ หรือหากเกิดอะไรขึ้นในอนาคต จะทำอย่างไร มีงานวิจัยของไทยสักฉบับหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ และหากมีการวิจัยนั้นแม้เพียง ๑ ชิ้น รายะละเอียดการทดสอบด้วยสิ่งมีชีวิตนั้นกระทำกับสิ่งมีชีวิตใด หรือว่าเราจำเป็นต้องรีบร้อนมี และไม่ต้องวิจัยอะไรเลย แม้แต่ด้านความปลอดภัยของสุขภาพเด็ก ประชาชนนั้นพร้อมจะรับความเอื้ออาทรจากรัฐบาลเสมอ เพราะเชื่อมั่นความปรารถนาดีของรัฐบาล และอยากตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนหวังว่าจะร่วมมือกับรัฐบาลสร้างความเจริญงอกงามรุ่งเรืองของประเทศชาติโดยผ่านเด็กๆ ลูกหลานของตน ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ใส่ใจพิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วนถ่องแท้หรือยังถึงผลดีผลเสียของเครื่องมือเล็กๆ ที่ผลิตขึ้นด้วยวัสดุซับซ้อนและบางชิ้นนั้นมีข้อความกำกับด้วยซ้ำว่าเป็นวัตถุมีพิษ ที่สำคัญ รัฐบาลเคยตั้งคำถามหรือไม่ว่า ประเทศในโลกนับร้อยประเทศ เหตุใดจึงมีแต่ประเทศผู้ผลิตแทบเล็ตเท่านั้นที่ให้เด็กใช้แท็บเล็ตในชั้นประถม อย่างเกาหลีและอินเดีย (ยกเว้นกรณีพิเศษของรวันดา ที่สหประชาชาติจัดให้) เหตุใดประเทศร่ำรวยอีกมากในนับร้อยประเทศของโลกจึงไม่มีนโยบายให้เด็กชั้น ป.๑ ใช้แทบเล็ตหมดทั้งประเทศ การให้เด็กใช้แทบเล็ตแทนหนังสือกระดาษตั้งแต่เรียนชั้น ป.๑ จะช่วยให้เด็กเรียนดี เรียนเก่ง ฉลาดขึ้นจนถึงขั้นประเทศชาติจะเปลี่ยนไปได้คุ้มเกินการลงทุนทุกด้านรวมทั้งวัฒนธรรม อุปนิสัยที่จะดีขึ้น สมองฉลาดขึ้น การเรียนรู้อื่นๆ ล้วนแต่เปลี่ยนไปในด้านดี จนทดแทนหนังสือพื้นฐานได้ แต่เหตุใดทุกประเทศในโลกยังเพียรพยายามจัดการระบบหนังสือ(กระดาษ)สาธารณะอย่างจริงจังตลอดเวลา และทุ่มเทงบประมาณจำนวนมาก เหตุใดประเทศผู้นำด้านการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ การเกษตร และแม้แต่ด้านเศรษฐกิจของโลกซีกเอเซีย เช่น อินเดีย จีน และประเทศเร่งพัฒนาอย่างเวียดนาม เกาหลีใต้ จึงส่งเสริมพัฒนาหนังสือ(กระดาษ)อย่างไม่ลดละ เหตุใดประเทศไทยจึงไม่มีเป้าหมายเป็น'ผู้ผลิต'แทบเล็ตเหมือนประเทศอินเดียเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว เสียก่อน จนเมื่อผลิตได้เองแล้ว จึงแจกฅนของตนเพื่อขายออกนอกประเทศและทั่วโลก เรามีนโยบายว่าจะแจกของแปลกชิ้นหนึ่งให้เด็ก ของนั้นเป็นสิ่งดีมีประโยชน์ แต่เด็กและพ่อแม่ผู้ปกครองยังไม่รู้เลยว่า ข้างในของสิ่งนั้นประกอบด้วยอะไร นอกจากประโยชน์มหาศาลจนถึงขั้นจะเปลี่ยนโลกได้แล้ว จะมีโทษอะไรด้วยหรือไม่ หากมีโทษทั้งในระยะสั้นและโดยเฉพาะระยะยาว จะแก้ไขอย่างไร หรือมีวิธีป้องกันโทษเสียแต่ต้นมือหรือไม่ เราแน่ใจแล้วหรือว่า ของชิ้นนั้นไำม่มีโทษจนถึงกับต้องเป็นภาระหนักในอนาคต โดยเฉพาะภาระในจิตใจ ในสุขภาพของเด็กเอง ซึ่งฅนอื่นจะช่วยแก้ปัญหาก็ยาก หรือช่วยไม่ได้เลย เราไม่ลองหยุดคิดสักชั่วขณะหรือว่า เหตุใดประเทศร่ำรวยและเจริญก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และด้านอื่นๆ ทุกด้านในโลก จึงไม่ประกาศแจกแทบเล็ตให้เด็กชั้น ป.๑ เป็นนโยบายของชาติ มกุฏ อรฤดี ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท