Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บางใหญ่ (20 ต.ค.54) แฟ้มภาพ: ประชาไท กล่าวได้ว่า อำนาจของกองทัพบกในการเมืองไทยนั้นได้หยั่งรากลึกจากการที่เหล่าบรรดานายพลผู้ก่อรัฐประหารเกือบ 20 ครั้งที่ผ่านมา กระทำการได้ “สำเร็จ” ทุกวันนี้ กองทัพบกจึงมีสถานะเสมือนองค์กรกึ่งอิสระที่ไม่ขึ้นต่อรัฐบาล และผลงานในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมในครั้งนี้ก็ได้ช่วยตอกย้ำสถานะ “พิเศษ” ของกองทัพบกในสังคมไทยให้มั่นคงยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ความชื่นชมต่อกองทัพบกโดยไม่เข้าใจหลักประชาธิปไตยในหมู่ประชาชนจำนวนหนึ่งของสังคมก็สะท้อนให้เห็นว่า การที่จะให้ทหารอยู่ใต้อำนาจรัฐบาลพลเรือนเป็นเรื่องที่กระทำได้ยากลำบากในประเทศนี้ ผู้เขียนไม่ปฏิเสธถึงการปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งและน่าชื่นชมของบรรดาเหล่าทหารในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย แต่สิ่งที่มาพร้อมกับน้ำที่ท่วมและการปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือของทหารก็คือการพูดคุยในหมู่คนจำนวนหนึ่งในทำนองตอกย้ำความเชื่อที่ว่า ทหารเป็นองค์กรกึ่งอิสระและควรมีบทบาทพิเศษที่ไม่ขึ้นกับรัฐบาล เนททิเซ่นจำนวนหนึ่งได้แสดงความเห็นในช่วงสองสามอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า บทบาทของทหารดีกว่ารัฐ ซึ่งสะท้อนความเห็นอันแปลกประหลาดที่ว่ากองทัพมิใช่ส่วนหนึ่งของรัฐ ทุกวันนี้ เราอาจกล่าวได้ว่า นอกจากอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ ก็ยังมีอำนาจของสถาบันทหารที่ดูเหมือนจะกลายเป็นฐานันดรสี่ตัวจริง เสียงจริง ที่มีสภาพกึ่งอิสระ หรืออิสระ และมักอ้างตนเป็นผู้ “ปกป้อง” ราชบัลลังก์ และประเทศ หากสังคมคิดว่า บรรดานายพลที่บ้าอำนาจ และไม่รู้สึกผิดอะไรกับการก่อรัฐประหาร เป็นปัญหาหนักอึ้งต่อระบอบประชาธิปไตย จนรัฐบาลพลเรือนไม่สามารถทำอะไรได้ก็ขอให้ตระหนักด้วยว่า บรรดาประชาชนที่ชื่นชอบ เชียร์ทหารให้ก่อการรัฐประหารและปกครองประเทศก็ถือได้ว่าเป็นเหรียญอีกด้านหนึ่งของปัญหาเดียวกัน คนเหล่านี้ทำให้ทหารมีบทบาทอย่างมากในการเมืองและสังคมไทยและโน้มน้าวให้สังคมยอมรับบทบาทพิเศษของทหารเป็นเรื่องปกติ ในขณะที่การจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไร้ความสามารถและน่าผิดหวัง สังคมก็ได้ยินเสียงผู้ที่ต้องการเห็นทหารกลับมาปกครองประเทศอีกครั้ง ยกตัวอย่างเช่น มีผู้อ่านที่เขียนจนหมายถึงบรรณาธิการลงในหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ฉบับวันที่ 10 พ.ย. 2554 ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งเป็นภาษาอังกฤษแปลได้ว่า “หากระบอบประชาธิปไตยจะถูกเว้นวรรคชั่วคราว ผมก็ไม่คิดว่า จะมีเสียงต่อต้านมากเท่าไหร่ (หากมันจะอยู่ในกรอบเวลาที่สั้น)…” ลงชื่อ Songdej Praditsmanont เมื่อต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา วาสนา นาน่วม นักข่าวสายทหารชื่อดัง บอกผู้ฟังผ่านวิทยุ เอฟเอ็ม 101 ว่า กองทัพบกไม่ได้ย้ายรถถังเก่าๆ ที่มักเห็นเวลาก่อรัฐประหารออกไปจากกรุงเทพฯ ทั้งหมด ถึงแม้จะห่วงน้ำท่วม เพราะต้องเก็บไว้ในกรุงเทพฯ บ้าง เผื่อจำเป็นต้องมีปฏิบัติการพิเศษ ซึ่งคุณวาสนาใช้คำว่า “ลับ ลวง พราง” และนักข่าวผู้นี้ก็กล่าวต่อไปว่า ทหารบกกลัวว่า หากเอารถถังออกนอกกรุงเทพฯ จนหมด อาจมีปัญหาในการนำรถถังกลับมาในอนาคต มุมมองเช่นนี้ สะท้อนความคิดที่ว่า บทบาท “พิเศษ” ของทหารในการเมือง เป็นเรื่อง “ปกติ” สามารถพูดกับสาธารณะและสังคมยอมรับได้ ไม่มีใครตะขิดตะขวงใจ ซึ่งรวมถึงกองทัพบกด้วย อย่างไรก็ตาม กองทัพบกก็มิได้นิ่งดูดาย หลังจากที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจรายงานข่าวภายใต้หัวข่าว “กองทัพประเมิน 12 เหตุผลขาดภาวะผู้นำ การเมืองครอบงำ นายกฯ สอบตกแก้น้ำท่วม” ในวันที่ 7 พ.ย. ที่ผ่านมา ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบก โดยพลตรีพลภัทร วรรณภักตร์ หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบกได้เขียนจดหมายถึงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ลงวันที่ 7 พ.ย. ว่า ข่าวที่หนังสือพิมพ์นำเสนอไปนั้น มิได้เป็นความจริง การที่ทหารให้คะแนนนายกรัฐมนตรีว่า สอบผ่าน หรือ สอบตกนั้น หากเป็นจริงย่อมเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดมาก ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และอีกเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ สื่ออย่างหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจก็มิได้รู้สึกตะขิดตะขวงใจอันใดในการเสนอข่าว ที่ตอกย้ำความเชื่อในบทบาทอัน “พิเศษ” และกึ่งอิสระของกองทัพบก (ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม) คงไม่มีใครปฏิเสธว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้น แก้ปัญหาน้ำท่วมและช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมได้ไม่มีประสิทธิภาพ และรัฐบาลปัจจุบันก็ดูเหมือนจะมีนักการเมืองที่ไม่น่าไว้วางใจอยู่จำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม คนที่เชื่อว่าทหารคือคำตอบจะต้องมองไปให้ไกลกว่าแค่ความพึงพอใจในระยะสั้น เพราะการที่ประชาชนออกมาเรียกร้องให้ทหารยึดอำนาจหรือมีบทบาทพิเศษในสังคมจนไม่มีใครควบคุมอยู่นั้น ย่อมนำมาซึ่งปัญหาต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ เพราะว่าทหารนั้นมิได้มาจากการเลือกตั้งและไม่สามารถถูกตรวจสอบหรือเปลี่ยนออกได้เหมือนนักการเมืองที่ต้องตอบและรับผิดชอบต่อเสียงของประชาชน และหากมีรัฐประหารเกิดขึ้นอีก ก็ไม่มีหลักประกันอันใดว่า ผู้คนจำนวนเป็นล้านๆ ในสังคมนี้จะยอมรับการปกครองโดยทหารอีก โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงเหตุการณ์ช่วงห้าถึงหกปีที่ผ่านมา ตั้งแต่มีรัฐประหาร2549 จนถึงเหตุการณ์นองเลือดเมื่อปีที่แล้ว โดยที่ทหารมีบทบาทสำคัญในการใช้อาวุธสงครามลงมือกับคนเสื้อแดง ทุกวันนี้จะส่งทหารกลับกรมกองนั้นยากลำบากเต็มทน และความพยายามของรัฐบาลที่จะแก้กฎหมายกลาโหม เพื่อที่รัฐบาลพลเรือนจะสามารถโยกย้ายทหารชั้นผู้ใหญ่ได้ตามระบอบประชาธิปไตยเหมือนนานาอารยประเทศ ก็ยังถูกต้านอยู่ ปัญหาเรื่องบทบาทพิเศษของกองทัพบกในการเมืองไทยนั้น ไม่สามารถที่จะไปโทษเพียงแต่บรรดานายทหารที่ไม่ยอมรับหลักการประชาธิปไตยหรือเห็นแก่ผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง หากสังคมจะต้องหันมาทำความเข้าใจกับบรรดาประชาชนจำนวนมิน้อยที่ทำตัวเป็นกองเชียร์สนับสนุนสถานะและบทบาทพิเศษของทหารอย่างคลั่งไคล้ จนกระทั่งระบอบประชาธิปไตยไทยไม่สามารถหยั่งรากลงได้อย่างที่ควรจะเป็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net