'ใบตองแห้ง' ออนไลน์: นิติเหลิมภิวัตน์

ปุจฉา : ทักษิณเป็นนักโทษแล้วหรือยัง วิสัชฮา: เป็นแล้ว พันธมิตรเรียก นช.ทักษิณมาตั้ง 3 ปีแล้ว น้ำเน่าท่วมกรุงเทพฯ เดือดพล่านขึ้นมาทันที เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวาระจร “ลับ” ได้ลงมติผ่านร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติของนักโทษที่จะเข้าข่ายรับพระราชทานอภัยโทษ ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 ซึ่งตามกระแสข่าว มีหลักเกณฑ์ข้อหนึ่งว่า นักโทษที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษคือ ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี โดยไม่จำเป็นต้องรับโทษมาก่อน และตัดข้อยกเว้นความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช.ออกไป เข้าข่าย “ทักกี้” พอดี โป๊ะเชะ! ข่าวนี้อ้าง “แหล่งข่าว” ในคณะรัฐมนตรี และรายงานตรงกันทุกสำนัก แม้สันนิษฐานว่าตรงกันเพราะนักข่าวสมัยนี้ทำงานด้วยฟอร์เวิร์ดเมล์ แต่เมื่อดับเบิ้ลเช็ค ทริปเปิ้ลเช็ค ก็ค่อนข้างแน่ใจว่าจริง ท่าทีของ ดร.เหลิม ผู้นั่งหัวโต๊ะประชุม ครม.ก็แบะท่ามาก่อนแล้วว่าจะหาช่องอภัยโทษให้ได้ ขณะที่นายกรัฐมนตรีผู้เป็นน้องสาวสวมบท “นารีขี่ ฮ.ไม่มีเรดาร์” ตีตั๋วเที่ยวเดียวไปตรวจน้ำท่วมสิงห์บุรีแล้วอ้างว่ากลับไม่ได้ กลับมาแล้วก็ไม่เข้าประชุม ครม.พิจารณาวาระที่เกี่ยวข้องกับพี่ชาย จึงค่อนข้างแน่ใจได้ 99.99% ว่ามีการร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจริง ที่เหลือ 00.01% คือยังไม่มีใครเห็นตัวร่าง ว่าเป็นไปตามเงื่อนไขดังกล่าวครบทุกข้อหรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นจริง ก็เชื่อขนมกินได้ว่า ยิ่งลักษณ์คงไม่ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยใช้โอกาสเดินทางไปต่างประเทศ แล้วมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาการเป็นผู้ลงนามแทน ไม่ขัดกฎหมายแต่.... พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เป็นกฎหมายที่ออกในวโรกาสมหามงคล ตามประเพณีที่สืบทอดมาแต่โบราณ พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาได้แก่ พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี 9 มิถุนายน 2539 พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 5 ธันวาคม 2542 พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2547 พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี 9 มิถุนายน 2549 พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 และพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกปีที่ 60 วันที่ 5 พฤษภาคม 2553 การพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกา มี 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ พระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว แก่นักโทษที่เหลือโทษน้อย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เจ็บป่วยระยะสุดท้าย ฯลฯ และพระราชทานอภัยโทษลดโทษ 1 ใน 2, 1 ใน 3, 1 ใน 4 ฯลฯ แก่นักโทษที่ประพฤติดี โดยจำแนกตามฐานความผิดที่ต้องโทษ พระราชกฤษฎีกาแต่ละฉบับ มีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามยุคสมัย แต่ก็มีสาระสำคัญบางประการที่สืบทอดมาเกือบทุกฉบับ เช่น ประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากคือ ทุกฉบับจะมีมาตรา 4 กำหนดว่า “ผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ ต้องมีตัวอยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือถูกกักขังไว้ในสถานที่หรือที่อาศัยที่ศาลหรือทางราชการกำหนดในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับติดต่อกันไปจนถึงวันที่ศาลออกหมายสั่งปล่อยหรือลดโทษ หรือนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งปล่อยหรือลดโทษตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้.....” ส่วนที่แตกต่างก็คือเงื่อนไขการอภัยโทษที่เปลี่ยนไป เช่น พรฎ.ปี 2542 มาตรา 6(1) ให้ปล่อยตัว “ผู้ต้องโทษจำคุกไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ซึ่งมีโทษจำคุกตามกำหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่รวมกันไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ” แต่ พรฎ.ปี 2547 เปลี่ยนมาตรา 6(1) ให้ปล่อยตัวผู้ต้องโทษจำคุกที่เหลือโทษไม่เกิน 1 ปี ฉบับหลังๆ ก็ก๊อปกันต่อมา พรฎ.ปี 2542 มาตรา 6(2)จ ให้ปล่อยตัวคนมีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปีบริบูรณ์ โดยต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีหรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษตามกำหนดโทษ แต่ พรฎ.ปี 53 ซึ่งออกโดยพรรคประชาธิปัตย์ มาตรา 6(2)ง กำหนดให้ปล่อยตัว “คนมีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ.... และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องเหลือโทษจำคุกไม่เกินสามปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ หรือเป็นคนมีอายุตั้งแต่เจ็ดสิบปีขึ้นไป” ประเด็นนี้ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตร เคยเขียนลงผู้จัดการออนไลน์วันที่ 12 กันยายน 2554 ว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์วางรากฐานไว้ให้พรรคเพื่อไทยสวมตอต่อ แต่ตอนนั้นปานเทพคาดว่าทักกี้จะใช้เวลาติดคุกไม่กี่ชั่วโมง โดยเดินทางกลับประเทศไทยก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ เพียง 1 วันก็พอ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าเรือนจำ เพียงถูกกักขังอยู่ที่ด่านตำรวจตรวจคนเข้าเมืองก็ถือว่าอยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว (มาตรา 4 “ต้องมีตัวอยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือถูกกักขังไว้ในสถานที่หรือที่อาศัยที่ศาลหรือทางราชการกำหนดในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ”) แต่ถ้า พรฎ.ปี 54 เป็นไปตามกระแสข่าว ทักกี้ก็จะ “เรียนลัดตัดตอน” กลับมางานแต่งลูกสาวโดยไม่ต้องเข้าห้องกรงให้เป็นมลทิน ยั่วพวกสลิ่มทักษิโณโฟเบียให้คลั่งยิ่งกว่าโรคกลัวน้ำ ถามว่าถ้า พรฎ.2554 ไม่มีมาตรา 4 ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ก็ต้องย้อนไปดูกฎหมายแม่ คือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค 7 ว่าด้วยการอภัยโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นเบาและลดโทษ ตั้งแต่มาตรา 259 ถึงมาตรา 261 ทวิ ซึ่งพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษออกตามมาตรา 261 ทวิ “มาตรา 259 ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษอย่างใด ๆ หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าจะทูลเกล้า ฯ ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ ขอรับพระราชทานอภัยโทษ จะยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ได้ มาตรา 260 ผู้มีเรื่องราวซึ่งต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำ จะยื่นเรื่องราวต่อพัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำก็ได้ เมื่อได้รับเรื่องราวนั้นแล้ว ให้พัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำออกใบรับให้แก่ผู้ยื่นเรื่องราว แล้วให้รีบส่งเรื่องราวนั้นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มาตรา 261 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมี หน้าที่ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์พร้อมทั้งถวายความเห็นว่าควรพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดถวายเรื่องราว ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเห็นเป็นการสมควร จะถวายคำแนะนำต่อ พระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องคำพิพากษานั้นก็ได้ มาตรา 261ทวิ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควร จะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษก็ได้ การพระราชทานอภัยโทษตามวรรคหนึ่ง ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา” จะเห็นได้ว่า ป.วิอาญา ไม่ได้กำหนดเลยนะครับว่า การขอพระราชทานอภัยโทษจะต้องกลับมาติดคุกก่อน ส่วนที่ถกเถียงกันเมื่อครั้งเสื้อแดงล่าชื่อกัน 2 ล้านกว่าคนถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษนั้น เป็นระเบียบราชทัณฑ์ที่กำหนดไว้ว่าต้องเป็นผู้ถูกคุมขังอยู่ก่อนเท่านั้น ฉะนั้นถ้าพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ 2554 จะ “แหกคอก” ยกมาตรา 4 ออกไป ก็ไม่ขัด ป.วิอาญาที่เป็นกฎหมายแม่ จะยกระเบียบราชทัณฑ์มาคัดค้านก็ไม่ได้ เพราะพระราชกฤษฎีกามีศักดิ์เป็นกฎหมายที่เหนือกว่าระเบียบของหน่วยงานราชการระดับกรม เพียงแต่มีคำถามว่าทำไม้ ทักกี้จะยอมเปลืองตัวกลับเข้าประเทศมานอนในห้องกักของ ตม.(หรือนอนโรงเรียนพลตำรวจบางเขน) ซัก 2-3 วันไม่ได้ ทำไมต้องทำให้มันวุ่นวายใหญ่โตกว่าที่ควรจะเป็น การตราพระราชกฤษฎีกานี้จึงสรุปได้ในเบื้องต้นว่า ไม่ขัดต่อกฎหมาย รัฐบาลมีอำนาจทำได้ตามกฎหมาย แต่มีความเหมาะสม ชอบธรรมทางการเมืองหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างน้อย รัฐบาลก็ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบทางการเมืองต่อกระแสต้านที่จะลุกฮือขึ้น การยกเว้นความผิด พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษทุกฉบับ จะมีข้อยกเว้นผู้ต้องโทษตามความผิดร้ายแรง ไม่ให้ได้รับการปล่อยตัว แต่ได้รับเพียงการลดโทษ ซึ่งลดโทษน้อยกว่าผู้ต้องโทษในคดีอื่นๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ในมาตรา 8 ของ พรฎ.ทุกฉบับ โดยฉบับแรกๆ จะกำหนดความผิดไว้ในมาตรา 8 นั้น แต่ต่อมามีการเพิ่มฐานความผิดมากขึ้น ก็ทำเป็นลักษณะความผิดท้ายพระราชบัญญัติ ตัวอย่างเช่น มาตรา 8 พรฎ.2542 เขียนตรงๆ ว่า “ภายใต้บังคับมาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษในลักษณะความผิดดังต่อไปนี้ (๑) ความผิดตามมาตรา ๑๙๐ มาตรา ๒๑๘ มาตรา ๒๒๐ วรรคสอง มาตรา ๒๒๒ มาตรา ๒๒๔ มาตรา ๒๗๖ วรรคสอง มาตรา ๒๗๗ มาตรา ๒๗๗ ทวิ มาตรา ๒๗๗ ตรี มาตรา ๒๘๐ มาตรา ๒๘๒ มาตรา ๒๘๓ มาตรา ๒๘๙ มาตรา ๓๑๓ วรรคสอง หรือวรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายอาญา (๒) ความผิดต่อกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ กฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติและกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร ดังต่อไปนี้......” แต่ พรฎ.ปี 2547 มาตรา 8 เปลี่ยนไปเขียนว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 11 นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษตามบัญชีลักษณะความผิดท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ ดังต่อไปนี้.....” ข้างท้ายก็มีบัญชีความผิดเป็นหางว่าว แต่กล่าวโดยสรุปว่า ความผิดร้ายแรงนี้กำหนดแตกต่างกันไปตามยุคสมัย เช่น พรฎ.ปี 2530 (เฉลิมพระชนมพรรษา 60 พรรษา) กำหนดให้ความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และภายนอกราชอาณาจักร อยู่ในความผิดร้ายแรง แต่พอปี 2539 กลับไม่มีความผิดต่อความมั่นคงฯ แต่มีความผิดกฎหมายยาเสพติดเข้ามาแทน และปี 2542 มีกฎหมายป่าไม้เข้ามาแทน เนื่องจากสังคมเริ่มตระหนักถึงกระแสรักษ์โลก ถ้าย้อนไปดู พรฎ.เก่าๆ เช่นปี 2514 (ฉลองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี) ยุคถนอม กิตติขจร หนักกว่าอีก มาตรา 8 เขียนว่า “ผู้ต้องโทษในลักษณะความผิดดังต่อไปนี้ ไม่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ (๑) ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร และความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา ............................. (๓) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์” ที่น่าสนใจคือ พรฎ.ปี 2553 รัฐบาลประชาธิปัตย์ มีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงต่อราชอาณาจักร มาตรา 107-135 (รวม 112) กลับมาติดโผ ทั้งที่หายไปร่วม 20 ปี ขณะที่ พรฎ.ปี 2549 รัฐบาลทักษิณ เพิ่มความผิดฐานก่อการร้าย ซึ่งก็ติดโผเรื่อยมาจนถึง 2553 ส่วนความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตนั้น ปี 2542 ไม่มี (ตอนนั้นยังไม่มี ป.ป.ช.) เพิ่งมีครั้งแรกในปี 2547 แล้วก็มีต่อมาทั้งปี 2549,2550,2553 ถามว่าถ้า พรฎ.2554 ตัดออกแล้วขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ก็ไม่ขัดหรอกครับ เพราะมีการเพิ่มลดมาทุกฉบับ แต่มันไม่ใคร่สวยตรงที่ความผิดฐานนี้มีอยู่ในทั้ง พรฎ.ปี 47 และ 49 ซึ่งผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรื่องการเมือง อย่าอ้างพระราชอำนาจ พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษแตกต่างจากการพระราชทานอภัยโทษตาม ป.วิอาญา มาตรา 259-261 ซึ่งเป็นการขอพระราชทานอภัยโทษรายบุคคล พูดง่ายๆ ว่าฎีกาเสื้อแดงเข้าข่ายมาตรา 259-261 ขอพระราชทานอภัยโทษให้ทักษิณคนเดียว แต่การออก พรฎ.ตามมาตรา 261 ทวิ ไม่ได้ระบุชื่อทักษิณ เพราะมีผู้เข้าข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษ (ทั้งปล่อยตัวและลดโทษ) ตามเงื่อนไขต่างๆ 2 หมื่นกว่าคน โดยหลัง พรฎ.บังคับใช้จะมีการตรวจสอบรายชื่อส่งศาลให้สั่งปล่อยตัวหรือลดโทษ เพียงแต่ผู้สูงอายุ 62 ที่เข้าเงื่อนไขต้องโทษจำคุก 2 ปี ในความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช. อยู่ระหว่างหลบหนี และลูกสาวกำลังจะแต่งงาน คงมีเพียงคนเดียว คริคริ ป.วิอาญามาตรา 261 กับ 261 ทวิ แม้เขียนคล้ายกันคือ “ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเห็นเป็นการสมควร จะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องคำพิพากษานั้นก็ได้” กับ “ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควร จะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษก็ได้” แต่ที่ต่างกันก็คือ 261 ทวิ เพิ่มว่า “การพระราชทานอภัยโทษตามวรรคหนึ่ง ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา” ผมเห็นว่าตรงนี้ทำให้มีความแตกต่างในเรื่อง “พระราชอำนาจ” แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 187 บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย” แต่เราจะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้มีบทบัญญัติให้พระมหากษัตริย์แสดงความไม่เห็นชอบ ต่อร่างพระราชกฤษฎีกาที่คณะรัฐมนตรี “ถวายคำแนะนำ” รัฐธรรมนูญให้อำนาจพระมหากษัตริย์แสดงความไม่เห็นชอบ (หรือสิทธิ VETO) เฉพาะร่างพระราชบัญญัติตามมาตรา 151 เท่านั้น (และยังให้อำนาจรัฐสภาลงมติยืนยัน 2 ใน 3) ย้ำว่า นอกจากร่างพระราชบัญญัติแล้ว รัฐธรรมนูญไม่ได้มีบทบัญญัติให้พระมหากษัตริย์แสดงความไม่เห็นชอบ ต่อพระราชกำหนด หรือร่างพระราชกฤษฎีกา หรือแม้แต่การโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามที่คณะรัฐมนตรีหรือองค์กรต่างๆ เสนอ เพียงแต่ในฐานะองค์ประมุข หากเกิดความไม่ชัดเจนในกระบวนการ (เช่นกรณีคุณหญิงจารุวรรณ ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแบบค้างคา) ในหลวงก็ไม่ลงพระปรมาภิไธย (ซึ่งเป็นเพราะปัญหากระบวนการ ไม่ใช่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบตัวบุคคล) ต้องยอมรับว่าเรื่องพระราชอำนาจในกฎหมายไทยมีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน เป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่นอกจากการอิงหลักการประชาธิปไตยแล้ว อีกวิธีหนึ่งที่สามารถเทียบเคียงได้คือดูจากการปฏิบัติ ที่ในหลวงทรงปฏิบัติมาตลอด 65 ปี และทรงมีพระราชดำรัสไว้ชัดเจนในเรื่องมาตรา 7 ว่าพระองค์ไม่ได้มีพระราชอำนาจที่จะทำตามอำเภอใจ ถ้าเราดูย้อนหลังตลอด 65 ปีจะเห็นว่าในหลวงทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชกฤษฎีกาทุกฉบับที่คณะรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ นั่นแปลว่าอะไร แปลว่าการออกพระราชกฤษฎีกาใดๆ เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบ อย่าเอาสถาบันมาเกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่นพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง 2 เมษา 2549 พรรคไทยรักไทยเคยอ้างพระราชอำนาจ แต่ อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ก็ยืนยันว่าอ้างไม่ได้ เพราะการลงพระปรมาภิไธยไม่ได้หมายความว่าในหลวงเห็นชอบให้เลือกตั้งวันที่ 2 เมษา คณะรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ มาตามกระบวนการ ในหลวงก็ทรงลงพระปรมาภิไธย พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษก็เช่นกัน แม้ชื่อ พรฎ.ระบุว่า “พระราชทานอภัยโทษ” แต่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆ เมื่อเงื่อนไขหลักการนั้นๆ เอื้อให้ทักษิณ คณะรัฐมนตรีก็เป็นผู้รับผิดชอบ หากทรงลงพระปรมาภิไธย คุณก็จะอ้างไม่ได้ว่า ในหลวงทรงเห็นชอบ ประเด็นนี้ต่างกับการพระราชทานอภัยโทษตามมาตรา 261 ซึ่งในทางปฏิบัติ สำนักราชเลขาธิการจะเข้ามามีส่วนพิจารณาประวัติและความประพฤติของนักโทษ การพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคลจึงอาจกล่าวได้ว่าเป็น “พระราชอำนาจ” (น่าจะเป็นเพราะประเพณีที่สืบทอดมาแต่โบราณ พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าชีวิต มีทั้งอำนาจประหารชีวิตและให้อภัย เมื่อเปลี่ยนระบอบ อำนาจตุลาการเป็นของศาล แต่ยังคงอำนาจให้อภัยไว้ที่พระมหากษัตริย์ โดยถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณ) ที่พูดเรื่องนี้ไม่ใช่อะไรหรอกครับ เพราะผมไม่เห็นด้วยที่ ดร.เหลิมอ้าง “พระราชอำนาจ” ขณะที่ฝ่ายต่อต้านเช่นไทยโพสต์ก็พาดหัวอย่างไม่สมควรว่า “ทักษิณบังคับในหลวง” เรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง ถ้าจะฟัดกันก็ฟัดกันเลย อย่าอ้างสถาบัน การออก พรฎ.เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล ในหลวงไม่เกี่ยว แต่ก็ไม่ใช่การ “บังคับ” ถ้าพูดอย่างนั้น พระราชกฤษฎีกาทุกฉบับในประเทศไทยก็ “บังคับในหลวง” เพราะระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถือว่าพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้สิทธิพระมหากษัตริย์ VETO ร่างพระราชกฤษฎีกา เว้นเสียแต่มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ถ้าเช่นนั้นก็อาจยับยั้ง ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยจนกว่าจะมีความชัดเจน ตุลาการภิวัตน์ VS นิติเหลิม ถามว่าทำไมจึงต้องรีบเร่งเอาทักษิณกลับบ้าน ทั้งที่รัฐบาลกำลังอ่วมอรทัยกับน้ำท่วม เงื่อนไขทางการเมืองมีหลายองค์ประกอบ ไปวิเคราะห์กันเอง แต่เงื่อนไขทางกฎหมายคือ การออกพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษทำได้เฉพาะวโรกาสมหามงคล ซึ่งนานๆ จะมีครั้ง ผมไม่แน่ใจว่าปีหน้า ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา สมเด็จพระบรมราชินีนาถ จะมี พรฎ.พระราชทานอภัยโทษหรือไม่ แต่ถ้าผ่านพ้น 12 สิงหาปีหน้าไป ก็ต้องรออีก 4 ปี จึงถึงวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปีในปี 2559 และ 84 พรรษา สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในปีเดียวกัน จากนั้นปี 2560 หรืออีก 6 ปีก็จะถึงวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา ของในหลวง ถ้าตกรถเที่ยวนี้ ถ้าไม่มีตั๋วปีหน้า ก็อีก 5 ปีเชียวนะครับ กว่าจะได้กลับมาอุ้มหลาน ถามว่าเห็นด้วยไหม ในฐานะผู้สนับสนุนนิติราษฎร์ แก้ไขรัฐธรรมนูญ “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร” ตามหลักการประชาธิปไตย แน่นอนว่าผมไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมหรือวิธีการไต่ไปข้างคูของ “นิติเหลิม” แต่ถ้าถามว่ารู้สึกอย่างไร ผมก็จะบอกว่า “สะใจดี” เพราะตอนที่พวกนิติแหลโจมตีนิติราษฎร์ ผมก็บอกแล้วว่ารัฐบาลไม่เลือกใช้แนวทางนิติราษฎร์หรอก เขาจะหาวิธีเรียนลัดตัดตอนตามสไตล์ทักษิณ แล้วเป็นไง เห็นไหมล่ะ หัวหน้าพรรคแมลงสาบโวยวายว่า นี่เป็นการทำลายหลักนิติรัฐ ผมก็ไม่ได้บอกว่านี่เป็นการใช้อำนาจโดยชอบธรรม แต่จะบอกว่าหลักนิติรัฐถูกทำลายไปโดยรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แล้ว และถูกกระทืบซ้ำโดยคำวินิจฉัยของตุลาการภิวัตน์ในหลายๆ คดี (อ.วรเจตน์เรียกคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทยว่า “ประกาศคณะรัฐประหารในรูปคำวินิจฉัย”) พวกพันธมิตรอ้างว่าหลักนิติรัฐถูกทำลายไปตั้งแต่คดีซุกหุ้น ผมเห็นด้วยว่าคดีซุกหุ้นทำให้หลักซวนเซ แต่ยังไม่ล้ม มาล้มเอาตอนรัฐประหารต่างหาก และหลังจากนั้นก็ถูกยำจนจำทางกลับบ้านไม่ได้ สื่อกระแสหลักพากันประณามว่า นี่คือวิธีการอันอัปลักษณ์ อัปยศ แต่ถามว่าวิธีการใช้ปืนใช้รถถังยึดอำนาจ แล้วตั้งฝ่ายตรงข้ามมาสอบสวน ชงลูกให้ตุลาการภิวัตน์วินิจฉัยว่า “ไม่ทุจริตแต่ติดคุก” คุณเรียกว่าอะไร เรียกว่าความถูกต้องชอบธรรมกระนั้นหรือ คุณอาจพูดได้ว่านี่คือการใช้อำนาจทางการเมืองลบล้างความผิดของบุคคล แต่ถามว่าความผิดฐาน “ไม่ทุจริตแต่ติดคุก” นั้นได้รับการยอมรับว่ายุติธรรมในหัวใจผู้คนหรือไม่ ยกเว้นแต่ผู้คนที่ถูกปลุกให้มีแต่อคติและความเกลียดชังท่วมท้น ถ้าพูดให้ถูก นี่ก็คือการ “ใช้อำนาจทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของปวงชน ลบล้างความผิดให้บุคคลที่ถูกกระทำโดยอำนาจนอกระบบ” ซึ่งถ้าบอกว่าต่างฝ่ายต่างไม่ถูกต้องชอบธรรม อำนาจการเมืองยังมีฐานที่มาโดยชอบกว่า ย้ำว่าผมไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้ แต่ทำไงได้ ในเมื่อไม่มีใครเอาด้วยกับการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องตามหลักการตามแนวทางนิติราษฎร์ มันก็กลับไปสู่วิธีการแก้ปัญหาแบบบ้านๆ ดิบๆ เหมือนสังคมที่ไม่มีหลัก นั่นคือ กลับไปสู่การเอาชนะกันด้วยกำลังอำนาจ วัดกันว่าใครมีพวกมากกว่า ในการต่อสู้ทางการเมืองที่จะรุนแรง หรือกระทั่งบ้าคลั่ง นับแต่นี้เป็นต้นไป ว่าแต่ ขอเตือนพวกเสื้อเหลือง พวกสลิ่มเฟซบุค และพรรคแมลงสาบไว้ว่า การต่อสู้ของพวกคุณคงจะลำบากซักไม่หน่อย ถ้าพวกคุณคิดหวังแต่จะให้มีการรัฐประหาร หรือให้มีอุบัติเหตุใดล้มรัฐบาล หรือตั้งเป้าจะไปสู่การล้มระบอบด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง เพราะมันมีแต่อับจน ไม่มีคนสนับสนุน ไม่ว่านานาชาติ หรือแม้แต่ “อำมาตย์” ส่วนหนึ่งก็ดูเหนื่อยล้า และอยากประนีประนอมกับอำนาจจากการเลือกตั้งมากกว่า เพราะนอกจากจะมีการตั้งธงทอง จันทรางศุ เป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคาร ก็ยังทำให้พวกเสื้อเดงเชียงใหม่มึนตึ้บ เมื่อชื่อ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ตกหายไปจากโผย้ายผู้ว่าฯ เฉยเลย แต่จะมีอะไรซับซ้อน พลิกผัน หลอกกันอีกทีหรือไม่ ต้องตามจับตาอย่ากระพริบ ใบตองแห้ง 17 พ.ย.54

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท