สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 12 - 18 พ.ย. 2554

น้ำท่วมผู้ประกอบการกระทบกว่า 2.8 หมื่นแห่ง นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า จากปัญหาน้ำท่วมที่กระทบ 21 จังหวัดทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบแล้ว 28,533 แห่ง โดยลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1,019,616 คน ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสถานประกอบการเปิดกิจการแล้ว 5,387 แห่ง และลูกจ้างกลับเข้าทำงาน 116,450 คน ทำให้มีแรงงานได้รับผลกระทบจริง อยู่ที่ 903,166 คน มีลูกจ้างของสถานประกอบการถูกเลิกจ้าง ใน จ.พระนครศรีอยุธยา 10 แห่ง จ.ปทุมธานี 4 แห่ง และ จ.ฉะเชิงเทรา 1 แห่ง รวม 15 แห่ง ถูกเลิกจ้างแล้ว 4,510 คน ขณะที่โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ในการรับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมไปทำงาน ในจังหวัดอื่น เป็นการชั่วคราว 2-3 เดือน มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้ว 530 แห่ง ใน 41 จังหวัด และมีตำแหน่งงานว่างรองรับ 66,443 อัตรา มีลูกจ้างเข้าร่วมโครงการ 11,054 คนในสถานประกอบการ 64 แห่ง ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.labour.go.th (ไอเอ็นเอ็น, 13-11-2554) เอกชนอ้อนรัฐแบกค่าจ้างครึ่งหนึ่ง / “สิ่งทอ”ยันไม่ปลด พนง.แม้ซมพิษน้ำท่วม นายสุกิจ คงปิยาจารย์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยว่า ทางสมาคมฯมีโรงงานสมาชิกเกือบ 100 แห่งที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณ ถ.เพชรเกษม รวมยอดคนงานหลายหมื่นคน แต่โรงงานทั้งหมดยังพร้อมรับผิดชอบแรงงานทั้งหมด แม้จะไม่ได้ดำเนินธุรกิจตามปกติ เพื่อรักษาแรงงานไม่ให้ออกไปจากระบบ เพราะหากไม่จ่ายเงินค่าจ้าง แรงงานกลับบ้าน หรือหันไปประกอบธุรกิจอื่น เมื่อกลับสู่ภาวะปกติจะเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานตามมา “ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 75 โรงงานมีสิทธิ์ที่จะไม่จ่ายค่าจ้างได้ แต่ทุกโรงงานเกรงว่าหากไม่จ่ายค่าจ้าง แรงงานจะหนีออกไปจากระบบ และจะไม่มีแรงงานเมื่อน้ำลดลงในภายหลัง อย่างไรก็ตามภาครัฐเคยเสนอนโยบายว่าจะช่วยเหลือค่าแรงครึ่งหนึ่งกับทุกโรง งานที่รับแรงงานที่ประสบภาวะวิกฤติน้ำท่วมเข้าทำงาน โดยให้จ่ายเงินเดือนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างเดิม ซึ่งสมาคมฯได้ทำเรื่องถึงกระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม ให้ช่วยออกค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่งดังกล่าว ถ้ารัฐช่วยค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่งโรงงานก็จะจ่ายค่าจ้างประมาณ 36%” นายสุกิจ กล่าว (แนวหน้า, 13-11-2554) ก.แรงงาน นำผู้แทนไอแอลโอลงพื้นที่อยุธยาสำรวจแรงงาน-หามาตรการช่วยเหลือ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.)แจ้ง ว่า นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยนายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และผู้แทนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ)ลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรี อยุธยาในช่วงบ่ายวันนี้ เพื่อสำรวจความเสียหายด้านแรงงาน และหามาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟู ทั้งนี้ ไอแอลโอประสานขอความร่วมมือจากกระทรวงแรงงาน เป็นตัวกลางเชื่อมข้อมูลระหว่างนายจ้าง ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้ ซึ่งไอแอลโอมุ่งเน้นการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานในรูปแบบการส่งเสริมอาชีพต่างๆ อย่างไรก็ตามในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถือเป็นหนึ่งจังหวัดที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีสถานประกอบการกว่า 5,200 แห่ง ผู้ใช้แรงงานกว่า 373,000 คน และได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั้งหมด ขณะเดียวกันถือว่าเป็นจังหวัดที่มีการจ้างงานมาก ซึ่งมีทั้งลูกจ้างประจำ และซับคอนแทค (เหมาช่วง) ที่หลายฝ่ายกังวลว่าการช่วยเหลืออาจไม่ทั่วถึง เนื่องจากขณะนี้มีผู้ใช้แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วกว่า 3,000 คน จากสถานประกอบการ 10 แห่ง การลงพื้นที่ครั้งนี้ ไอแอลโอ เสนอกรอบความช่วยเหลือ 4 แนวทาง ได้แก่ 1.การดูแลให้เกิดการจ้างงานโดยเร็ว 2.การช่วยเหลือแรงงานว่างงาน 3.การฝึกทักษะพัฒนาอาชีพ 4.การช่วยเหลือสถานประกอบกิจการขนาดเล็ก โดยไอแอลโอ และกระทรวงแรงงานจะใช้เวลา 2 วัน (15-16 พ.ย.54) ในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลความเสียหาย ก่อนจะกำหนดมาตรการช่วยเหลือ และนำมาตรการดังกล่าวเป็นต้นแบบในการกำหนดความช่วยเหลือในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป (อินโฟเควสท์, 15-11-2554) คนงานนิคมอุตสาหกรรมโรจนะฮือประท้วงนายจ้างเบี้ยวค่าแรง ตัวแทนพนักงานจากบริษัทมินอิก จำกัด และบริษัทเอ็มยู ประเทศไทย จำกัด ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา กว่า 300 คน ชุมนุมประท้วงที่บริเวณหน้าศูนย์ราชการจ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเรียกร้องให้นายจ้างเร่งจ่ายเงินประจำงวดแรกของเดือนพ.ย.คือประจำวัน ที่ 14 พ.ย.อันเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายแรงงาน นายศักดิ์ชัย บูรณะ เจ้าหน้าที่วางแผนการผลิตของบริษัท มินอิก จำกัด เปิดเผยว่า พนักงานของบริษัทฯ ในเครือกว่า 300 คนได้มายื่นเรื่องร้องเรียนต่อจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีพนักงาน ของบริษัทฯ ไม่ได้รับเงินเดือนงวดแรกของเดือนพ.ย. ซึ่งกำหนดแล้วนายจ้างต้องจ่ายให้ในวันนี้ แต่ปรากฏว่าไม่มีการจ่ายเงินโดยนายจ้างให้เหตุผลว่า ขณะนี้โรงงายยังปิดทำการเพราะน้ำท่วมและต้องรอให้น้ำลดลงและเปิดโรงงานเป็น ปกติก่อนจึงจะจ่ายเงินคืนให้หรืออาจจะต้องรอไปอีกประมาณ 6 เดือน อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้นายจ้างรับปากว่าจะจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรง งานมาตรา 75ให้กับพนักงานอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะเปิดโรงงานอย่างเป็นทางการ รวมถึงในเดือนต.ค.นายจ้างได้จ่ายเงินให้กับพนักงานถึง 100% ประกอบกับพนักงานดังกล่าวไม่สามารถไปยื่นขอรับเงินชดเชยกับสำนักงานประกัน สังคมได้เนื่องจากนายจ้างยังไม่ได้เลิกจ้าง สำหรับบริษัท มินอิก จำกัด และ บริษัท เอ็มยู ประเทศไทย จำกัด เป็นบริษัทที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะและมีปัญหาข้อพิพาทแรงงานลักษณะ เดียวกัน โดยทั้ง 2โรงงานมีพนักงานรวมทั้งหมด 1,900 คน ผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ป้อนให้กับนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินและส่งออกไปขายยัง ประเทศมาเลเซีย สร้างรายได้ให้กับประเทศหลายร้อยล้านบาทในแต่ละปี ด้านนายวรรณรัตน ศรีสุกใส หัวหน้าสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ภายหลังสหภาพแรงงานเป็นตัวแทนเข้าหารือว่า ทางสำนักงานสวัสดิการฯจะเจรจาให้นายจ้างช่วยเหลือเยียวยาพนักงานให้เกิดความ ยุติธรรมมากที่สุด เพราะมองว่าหากนายจ้างไม่จ่ายเงินให้พนักงานเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องพร้อม กันนี้ ได้แสดงความเห็นใจทั้งสองฝ่ายที่ต่างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยครั้ง นี้ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 21 พ.ย.จะเชิญนายจ้าง ชาวไต้หวันของทั้ง 2 โรงงานมาหารืออีกครั้ง นอกจากนี้หลังทราบข้อตกลง กลุ่มพนักงานของ 2 โรงงาน ได้แยกย้ายกลับบ้านโดยสันติและจะกลับมาฟังคำตอบอีกครั้งในวันที่ 21 พ.ย.หากผลการประชุมของเจ้าของโรงงานไม่เป็นที่น่าพอใจจะนัดรวมตัวพนักงาน ทั้งหมดประท้วงและอาจขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อชี้ให้เห็นสภาพที่แท้จริงของผลกระทบเมื่อน้ำท่วมโรงงาน (โพสต์ทูเดย์, 16-11-2554) ปลัดแรงงานยันลูกจ้างในอยุธยา-ปทุมธานี-ฉะเชิงเทราไม่ถูกลอยแพ วันนี้ (16 พ.ย.) นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน(รง.) เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานมีมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดต่างๆโดย ให้ความสำคัญกับการรักษาสภาพการจ้างให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เลิกจ้างแรงงาน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การเลิกจ้างยังไม่ได้รุนแรง ยังเป็นไปตามที่ประเมินไว้โดยขณะนี้มีแรงงานเพียงประมาณ 4.5 พันคนในสถานประกอบการ 15 แห่งในจ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานีและฉะเชิงเทราที่ถูกเลิกจ้าง ทั้งนี้ ล่าสุดกระทรวงแรงงานได้ออกมาตรการช่วยจ่ายค่าจ้างให้แก่แรงงานที่เดือดร้อน น้ำท่วมแทนนายจ้างรายละ 2 พันบาทโดยมีเงื่อนไขสถานประกอบการที่จะร่วมโครงการต้องอยู่ในพื้นที่ประสบ ภัยน้ำท่วมตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัย พิบัติ และต้องเซ็นลงนามเอ็มโอยูและจ่ายค่าจ้างไม่น้อยร้อยละ 75 เพื่อชะลอการเลิกจ้างและเป็นการช่วยรักษาสภาพการจ้าง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสภาพการณ์ขณะนี้คงไม่มีนายจ้างรายใดอยากเลิกจ้าง ดังนั้น กระทรวงแรงงานจึงคิดโครงการนี้ขึ้นมา “ตอนนี้มีทั้งแรงงานที่ได้รับค่าจ้างร้อยละ 75 บางคนก็ได้รับค่าจ้างร้อยละ 50 ก็เข้าใจดีว่าลูกจ้างอยู่ในภาวะที่ลำบาก แต่เห็นว่าในช่วงวิกฤตเช่นนี้ ทุกฝ่ายก็ต้องอดทน บางครั้งก็ต้องยอมเสียสละเพื่อจะได้อยู่รอดทั้งสองฝ่าย”ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว นพ.สมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงแรงงานมีโครงการต่างๆที่ช่วยเสริมรายได้ให้แก่แรงงาน เช่น โครงการเพื่อนช่วยเพื่อนจ้างงานชั่วคราวแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมให้ไปทำงาน ในพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วมเป็นเวลา 3 เดือน โครงการจ้างงานเร่งด่วนจ่ายค่าจ้างวันละ 150 บาทต่อวัน โครงการอบรมเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานวันละ 120 บาท ซึ่งโครงการเหล่านี้จะทำให้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงที่รอการฟื้นฟูโรง งาน รวมทั้งได้จัดหาตำแหน่งงานว่างรองรับแรงงานกว่า 1 แสนอัตราเพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้างให้มีงานทำ อย่างไรก็ตาม มาตรการของรัฐบาลก็กำลังเร่งช่วยเหลือโรงงานให้กลับมาเปิดกิจการโดยเร็วที่ สุด นอกจากนี้ ในส่วนของแรงงานที่อยู่นอกพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม แต่ได้รับผลกระทบจากการที่โรงงานในพื้นที่น้ำท่วมต้องปิดกิจการชั่วคราวนั้น ทางกระทรวงแรงงานจะนำไปพิจารณาเพื่อหามาตรการเยียวยาและให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้ เบื้องต้นจะต้องให้ความช่วยเหลือแรงงานในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมซึ่งเป็นผู้ เดือดร้อนเฉพาะหน้าก่อน (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 16-11-2554) สถานทูตญี่ปุ่นในกทม.ออกวีซ่าแรงงานไทย สำนักข่าวโยมิอูริ ของ ญี่ปุ่น รายงาน สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย เริ่มออกวีซ่าชั่วคราว ให้แก่พนักงานชาวไทยของบริษัทญี่ปุ่น ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม เดินทางไปทำงานในญี่ปุ่นแล้ว ทางการญี่ปุ่นออกมาตรการช่วยเหลือฉุกเฉินดังกล่าว เมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งจะทำให้มีแรงงานไทยหลายพันคน เดินทางไปทำงานชั่วคราวในญี่ปุ่น เพื่อชดเชยการผลิตที่สูญเสียไป รายงานระบุว่า มีบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง ได้รับอนุมัติเอกสารการเดินทาง สำหรับพนักงานชาวไทย จำนวน 7 คน โรงงานของบริษัทดังกล่าว ต้องปิดตัว เพราะน้ำท่วม และมีแผนจะส่งพนักงานเดินทางไปทำงานที่ญี่ปุ่น ในปลายสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ บริษัทคาดหวังว่า จะสามารถส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าได้โดยเร็ว จากการส่งพนักงานชาวไทย ไปทำงานในญี่ปุ่น รายงานระบุว่า มีบริษัทญี่ปุ่นราว 460 บริษัท ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมในไทย (ไอเอ็นเอ็น, 16-11-2554) กมธ.สวัสดิการห่วงแรงงานถูกน้ำท่วมไม่ได้เงินเดือน-ตกงาน (17 พ.ย.) ที่กระทรวงแรงงาน นางนันทนา ทิมสุวรรณประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวหลังการประชุมร่วมกับนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับการดูแลช่วยเหลือแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมและการดำเนินงาน ตามนโยบายของรัฐบาลว่า ตนและคณะกมธ.สวัสดิการสังคมฯ เป็นห่วงแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมจะมีปัญหาในเรื่องการไม่ได้รับเงินเดือน และการถูกเลิกจ้าง รวมถึงการดูแลแรงงานต่างด้าวที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ยังได้สอบถามเกี่ยวกับนโยบายของกระทรวงแรงงานในหลายเรื่องไม่ว่าจะ เป็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท การรับงานไปทำที่บ้าน การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำ และการดูแลแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศไม่ให้ถูกหลอก “เท่าที่ได้ฟังการชี้แจงเรื่องมาตรการดูแลแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วม ของกระทรวงแรงงานก็เห็นว่าสามารถทำได้ดี แต่ก็มีปัญหาในเรื่องของแรงงานที่เดือดร้อนจากถูกน้ำท่วมอยู่กระจัดกระจายทำ ให้การประสานงานการให้ความช่วยเหลือในโครงการต่างๆ ของกระทรวงแรงงานทำได้ไม่เต็มที่” นางนันทนากล่าว นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) กล่าวว่า ทางคณะ กมธ.สวัสดิการสังคม สภาฯ มีข้อห่วงใยในเรื่องการไม่ได้รับเงินเดือนและการถูกเลิกจ้าง รวมถึงการดูแลแรงงานต่างด้าวที่ได้รับผลกระทบซึ่งกระทรวงแรงงานได้ชี้แจง มาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่ เช่น มาตรการชะลอการเลิกจ้าง โดยช่วยจ่ายเงินเดือนแทนนายจ้างให้แก่ลูกจ้างรายละ 2,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งโครงการนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลกว่า 600 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ปัญหาแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมถูกเลิกจ้างยังมีน้อยมากซึ่ง ข้อมูลเวลานี้มี 15 บริษัทใน 3 จังหวัด ได้แก่ อยุธยา ปทุมธานี และฉะเชิงเทรา เลิกจ้างประมาณ 4,500 คน ขณะเดียวกัน นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ก็เริ่มฟื้นฟูกิจการแล้ว โดยในวันที่ 21 พ.ย.นี้ ตนและผู้บริหารกระทรวงแรงงาน จะลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อทำกิจกรรม “บิ๊กคลีนนิ่งเดย์” และคาดว่านิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จะฟื้นตัวเป็นลำดับถัดมา นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานมีมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เช่น โครงการจัดหาตำแหน่งงานรองรับ ซึ่งมีตำแหน่งงานรองรับกว่า 1.3 แสนอัตรา แต่ขณะนี้มีแรงงานเข้าร่วมโครงการเพียง 288 คนเนื่องจากส่วนใหญ่ยังกังวลเรื่องปัญหาน้ำท่วม, โครงการยกระดับฝีมือแรงงานลูกจ้าง โดยจะได้รับเบี้ยเลี้ยงวันละ 120 บาท เป็นเวลา 10 วันได้รับงบประมาณจากรัฐบาลมาแล้ว 61 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายจะมีแรงงานเข้าร่วม 1.5 หมื่นคน และเตรียมจะขยายเพิ่มเป็น 3.5 หมื่นคน, โครงการจ้างงานเร่งด่วน มีค่าตอบแทนวันละ 150 บาท เป็นระยะเวลา 20 วัน ตั้งเป้าหมายที่ 2.3 หมื่นคน เป็นต้น นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่ยังไม่ได้รับเงินเดือนในเดือน ต.ค. 2554 ขอให้แจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ของสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดหรือในเขต พื้นที่ เพื่อเร่งดำเนินการติดตามให้นายจ้างจ่ายเงินเดือนให้ส่วนในงวดถัดไป ตั้งแต่เดือน พ.ย.เป็นต้นไป ก็ขอให้นายจ้างแจ้งเข้าร่วมโครงการชะลอการเลิกจ้างเพื่อจะได้รับความช่วย เหลือในการช่วยจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างรายละ 2,000บาท เป็นเวลา 3 เดือน นอกจากนี้ กสร.มีแนวคิดจะจัดทำฐานข้อมูลของผู้ใช้แรงงานแบบครบวงจรเพื่อที่เมื่อเกิด ภาวะวิกฤตจะได้ติดต่อแรงงานได้โดยจะนำรูปแบบนี้ไปแนะนำให้นายจ้างทั่วประเทศ ดำเนินการเนื่องจากปัญหาน้ำท่วมทีผ่านมาถือเป็นบทเรียนเพราะไม่สามารถติดต่อ ลูกจ้างที่กระจัดกระจายได้จึงทำให้ไม่ทราบสถานภาพการจ้างงานที่ชัดเจน (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, ‏17-11-2554) ญี่ปุ่นขอให้รัฐบาลไทยสนับสนุนฟื้นฟูหลังเหตุมหาอุทกภัย 4 ประเด็นหลัก นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า จากการพบปะกับรัฐมนตรีด้านการค้าและอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลได้ตกลงที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่อยู่ตามนิคมอุตสาหกรรม ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 4 ข้อหลัก คือ หากเครื่องมือ เครื่องจักรถูกน้ำท่วมเสียหาย ต้องติดตั้งทดแทน รัฐบาลจะงดเว้นอากรนำเข้า กรณีผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศจะต้องเข้ามาช่วยฟื้นฟูการผลิต รัฐบาลจะออกวีซ่าหรือ Work Permit ให้ ขณะที่อะไหล่ต่างๆ ที่ผลิตในประเทศ ถ้าได้รับผลกระทบ จะยกเว้นอากรนำเข้าให้แก่โรงงานเหล่านั้น ขณะเดียวกันจะอนุญาตให้คนไทยหลายพันคนอาจจะต้องเดินทางไปปฏิบัติงานในบริษัท แม่หรือในประเทศอื่นที่มีการผลิต เพื่อความต่อเนื่องของการผลิตซึ่งจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาฝีมือแรงงานของไทย ด้วยอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ประเทศต่างๆ ต่างแสดงความเห็นใจ และเข้าใจในสถานการณ์ของไทย ต่อปัญหามหาอุทกภัยครั้งใหญ่นี้ โดยไทยต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น ระบายน้ำออกอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันคลี่คลายสถานการณ์ (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 18-11-2554)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท